‘หมอมนูญ’ ระบุ PM 2.5 มีมา 100 ปี อย่ากังวลมากเกินไป

22 ม.ค. 2568 - 03:15

  • ‘หมอมนูญ’ ระบุ ‘ฝุ่น PM 2.5’ มีมาเป็น 100 ปี พร้อมยกกราฟโชว์ อย่ากังวลเกินไป

  • แนะ ต้องเรียนรู้จากบทเรียนโควิด 4 ปีที่แล้ว แม้รถวิ่งบนถนนลดลง แต่ค่าฝุ่นกลับไม่ลด เพราะ ‘สภาพภูมิอากาศ’ เป็นปัจจัยสำคัญที่สุด และเรียนรู้ประโยชน์จากการห้ามรถวิ่ง ปิดโรงเรียน WFH ชี้ อาจไม่คุ้มค่าความสูญเสียทางเศรษฐกิจ

  • บอก แม้คนไทยจะหายใจฝุ่น PM 2.5 มาตลอด แต่อายุขัยเฉลี่ยกลับเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง

pm25-dust-doctor-manoon-22jan2025-SPACEBAR-Hero.jpg

นพ.มนูญ ลีเชวงวงศ์ แพทย์เชี่ยวชาญด้านโรคระบบการหายใจและผู้ป่วยหนัก กล่าวถึงสถานการณ์ฝุ่น PM 2.5 ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร โดยระบุว่า มีมานานแล้ว ย้อนหลังไป พ.ศ.2554 ตั้งแต่เริ่มมีการวัดค่าฝุ่น PM 2.5 จะเห็นค่าฝุ่น PM 2.5 อยู่ต่ำกว่าค่ามาตรฐานเดือนเมษายนถึงพฤศจิกายน และสูงกว่าค่ามาตรฐานเดือนธันวาคมถึงมีนาคมทุกปี ซึ่งกราฟแสดงให้เห็นว่า ค่าฝุ่น PM 2.5 แต่ละปี ไม่ได้แย่ลง 

ส่วนทำไมค่าฝุ่น PM 2.5 ถึงได้ขึ้นสูงกว่ามาตรฐานเฉพาะช่วงเดือนธันวาคมถึงเดือนมีนาคม ทั้งที่รถยนต์ก็วิ่งใน กทม.ตลอดทั้งปี ผู้เชี่ยวชาญอธิบายว่า เกิดจากสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลงช่วง 4 เดือนนี้ มีอุณหภูมิผกผัน ทำให้ฝุ่น PM 2.5 ไม่สามารถลอยไปที่อื่นได้

นพ.มนูญ กล่าวอีกว่า ย้อนหลังไป 4 ปี ช่วงเดือนมกราคม 2564 ถ้ายังจำกันได้ มีปรากฏการณ์ที่ไม่เคยเห็นมาก่อน เนื่องจากมีการระบาดของโรคโควิด-19 ระลอกที่ 2 มีคำแนะนำให้คนอยู่บ้าน ทำงานที่บ้าน งดเดินทาง ทำให้ถนนโล่ง จำนวนรถยนต์ที่วิ่งบนท้องถนนใน กทม.ช่วงมกราคม 2564 ลดลงมากถึงร้อยละ 70 แต่ค่าฝุ่น PM2.5 ใน กทม.กลับไม่ลดลง แสดงว่า สภาพภูมิอากาศเป็นปัจจัยสำคัญที่สุด สำคัญกว่าจำนวนรถที่วิ่งบนท้องถนนในการทำให้ค่าฝุ่น PM 2.5 สูงกว่ามาตรฐาน และอยู่นอกเหนือการควบคุมของมนุษย์

473701185_948977090668690_5172402177307550755_n.jpg

ขณะเดียวกัน ค่าฝุ่น PM 2.5 ใน กทม.ขณะนี้อยู่ในระดับสีส้มต่อเนื่อง มีแนวโน้มว่า กทม.จะประกาศห้ามรถตั้งแต่ 6 ล้อขึ้นไปเข้าเขต กทม. สั่งปิดโรงเรียนใน กทม. และประกาศให้ทำงานที่บ้าน เพื่อลดการเดินทาง ลดการปล่อยฝุ่น PM2.5 

นพ.มนูญ กล่าวว่า เราควรเรียนรู้จากบทเรียนที่เกิดขึ้นใน กทม.ช่วงเดือนมกราคม 4 ปี ที่แล้ว ถึงรถวิ่งบนถนนลดลงร้อยละ 70 ค่าฝุ่น PM 2.5 ไม่ได้ลดลง ประโยชน์ที่ได้รับจากการห้ามรถวิ่ง ปิดโรงเรียน ให้ทำงานที่บ้าน รวมทั้งการติดตั้งหอฟอกอากาศ และการพ่นละอองน้ำจากที่สูง ไม่คุ้มค่ากับความสูญเสียทางเศรษฐกิจ เราต้องยอมรับว่า เราอยู่กับฝุ่น PM 2.5 มานานเป็น 100 ปีแล้ว อย่าวิตกกังวลมากเกินไป ค่าฝุ่น PM 2.5 ขึ้นสูงก็ไม่มากเมื่อเทียบกับประเทศอื่น เช่น อินเดีย

ทั้งนี้ ถ้าดูย้อนหลังไป 70 ปี ถึงแม้คนไทยจะหายใจฝุ่น PM 2.5 มาตลอด อายุขัยเฉลี่ยของคนไทยเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากอายุเฉลี่ยแต่ก่อน 50 ปี ปัจจุบันผู้ชายเพิ่มเป็น 73 ปี ผู้หญิงเพิ่มเป็น 80 ปี เชื่อว่า อีก 20 ปีข้างหน้าคาดว่า อายุเฉลี่ยของคนไทยจะเพิ่มขึ้นอีก ผู้ชาย 76 ปี ผู้หญิง 83 ปี

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์