พล.ต.ท.ไตรรงค์ ผิวพรรณ ผู้บัญชาการสำนักงานพิสูจน์หลักฐานตำรวจ พร้อม พ.ต.อ.วีระยุทธ หิรัญ รองผู้บังคับการกองสรรพาวุธ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้แถลงข่าวชี้แจงกรณีปรากฏภาพเสื้อเกราะของตำรวจ ที่วัสดุด้านในมีลักษณะคล้ายไม้อัดจนทำให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ถึงประสิทธิภาพของเสื้อเกราะ และความโปร่งใส่ในการจัดซื้อยุทธภัณฑ์

โดยการแถลงข่าววันนี้ (24 ก.ค.) ตำรวจได้ไปตามหาเสื้อเกราะที่ปรากฎเป็นข่าวเพื่อนำมาตรวจสอบ โดยพบว่าเสื้อเกราะดังกล่าว มีหมายเลขซีเรียลนัมเบอร์ 8A154338 เคยใช้ในราชการตำรวจจริง โดยเป็นการจัดซื้อเมื่อเดือนเมษายนปี 2553 จำนวน 650 ตัว
เป็นเสื้อเกราะพร้อมแผ่นเกราะแข็งระดับ 3 จำนวน 500 ตัวและเป็นเกราะอ่อนอีก 150 ตัว ยืนยันว่าเกราะทุกตัวเป็นไปตามมาตรฐาน NIJ (National institute of Justice) ประเทศสหรัฐอเมริกา

พล.ต.ท.ไตรรงค์ ยังชี้แจงว่า เสื้อเกราะที่ปรากฏในข่าวเป็นเกราะของสำนักงานตำรวจแห่งชาติจริง แต่เศษไม้ลักษณะสามเหลี่ยมที่วางอยู่บนเกราะยืนยันว่าไม่ใช่ส่วนหนึ่งของเกราะแน่นอน แต่เป็นชิ้นส่วนจากสิ่งใดยังไม่สามารถให้คำตอบได้ เนื่องจากภาพที่โพสต์เป็นการครอปภาพแบบแคบจนไม่เห็นภาพรวมของเสื้อเกราะ

โดยสำนักงานพิสูจน์หลักฐานได้รับแผ่นเกราะที่ปรากฎเป็นข่าวมาชำแหละตรวจสอบโครงสร้าง พบว่า วัสดุของเกราะมีการวางซ้อนกันด้วยผ้าแผ่นบางๆ ซ้อนกันมากกว่า 100 ชั้น และเมื่อถ่ายจากกล้องวีดีโอไมโครสโคป 3D กำลังขยาย 1,500 ขึ้นไป พบว่าวัสดุของเกราะเป็นเส้นใยโพลีเอทิลีน ผสมกับพอลิสไตรลีน อัดด้วยกำลังอัดแน่นความดันสูงจนทำให้ผ้าทั้งหมดรวมตัวกันจึงมีลักษณะเหมือนของแข็ง

พล.ต.ท. ไตรรงค์ อธิบายเพิ่มว่า คุณสมบัติของเส้นใหญ่โพลีเอทิลีน เมื่อผ่านกระบวนการผลิตเทคนิคพิเศษทำให้เกิดความแข็งแรง และมีน้ำหนักเบา เมื่อมาใช้กันกระสุนคุณสมบัติของเส้นใยชนิดนี้ กระสุนจะถูกจับยึดด้วยเส้นใย เส้นใยเหล่านี้จะดูดซับและกระจายพลังงานของหัวกระสุนปืน เป็นผลให้กระสุนนั้นบิดเบี้ยวหรือเสียรูปไปจนไม่สามารถทะลุเกาะได้

หลังตรวจสอบวัสดุ สำนักงานพิสูจน์หลักฐานฯ ได้ทดสอบด้วยการยิงกระสุนจริงใส่เสื้อเกาะโดยใช้กระสุนขนาด 9 มม. ขนาด .357 และขนาด 45 มม. อย่างละ 3 นัดรวม 9 นัด ผลปรากฏว่าเสื้อเกราะทั้ง 3 ตัวสามารถกันกระสุนได้ทั้งหมดไม่มีกระสุนนัดใดทะลุเสื้อเกราะ

หลังการแถลงข่าว พล.ต.ท. ไตรรงค์ ได้ทดสอบยิงกระสุนจริงใส่เสื้อเกราะที่ปรากฎเป็นข่าวอีกครั้ง ด้วยการใช้ปืนพก 3 แบบ ประกอบด้วยกระสุนขนาด 9 มม. , ขนาด .357 แม็กนั่ม และขนาด .45 รวม 8 นัด ในระยะยิง 5 เมตร ซึ่งเป็นระยะที่อาวุธปืนทั้ง 3 ชนิดสามารถแสดงผลความเสียหายได้ดีที่สุด โดยปรากฏร่องรอยกระสุน บริเวณท้อง ไหล่ซ้าย-ขวา และกระสุนทั้งหมดฝังอยู่ในเสื้อเกราะ ไม่ได้ทะลุออกไป

ส่วนวิธีการจัดซื้อจัดจ้าง รองผู้บังคับการกองสรรพาวุธ บอกว่า ใช้วิธีให้ผู้เสนอราคานำแผ่นเกราะมาเสนอพร้อมยื่นราคา จากนั้นจะมีการทดสอบประสิทธิภาพการป้องกันโดยเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องเป็นผู้ยิงทดสอบ เมื่อผ่านเกณฑ์ ผู้ที่เสนอราคาผ่านจะต้องถูกสุ่มตรวจวัสดุของเกราะอีกครั้ง จากหน่วยงานกลาง เพื่อพิจารณาเรื่องเส้นใยวัสดุที่จะต้องมีความแข็งแรงปลอดภัยสูงสุด ซึ่งการจัดซื้อเสื้อเกราะล็อตนี้ได้จัดซื้อในราคาตัวละ 34,000 บาท

นอกจากนี้ การแถลงข่าวครั้งนี้ ยังย้ำว่า การจัดซื้อจัดเสื้อเกราะเป็นไปโดยโปร่งใสตามขั้นตอน ตรวจสอบได้ และยุทธภัณฑ์นี้มีประสิทธิภาพป้องกันได้ถึงระดับ ปืนซุ่มยิง หรือที่รู้จัก ปืน M16 ปืนอาก้า ปืนอาวุธสงคราม และตามระเบียบราชการถือว่าหมดอายุการใช้งานแล้วเมื่อปี 2559 เพราะตามอายุที่กำหนดไว้คือ 5 ปีเท่านั้น ขั้นตอนจากนี้จะเป็นการจำหน่ายและทำลายยุทธภัณฑ์ตามระเบียบราชการ