




รภัสสิทธิ์ ภัทรสิริชัยสิน รองประธานมูลนิธิรณรงค์ฯ พาตัวแทนผู้เสียหายกว่า 20 คน จาก 500 คน เข้าให้ข้อมูลกับพนักงานสอบสวน ที่ ศูนย์รับแจ้งความกองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง (บช.ก.) หลังมีการลงทุนเปิดบิลกับบริษัทเครือข่ายชื่อดังที่มีดาราเป็นผู้บริหาร ของขายไม่ออกแต่ต้องหาลูกทีมเพิ่มลักษณะคล้ายลูกโซ่ ซ้ำถูกให้เซ็นเอกสารปิดปากห้ามแจ้งความ
เอ (นามสมมติ) หนึ่งในผู้เสียหาย เปิดเผยว่า เริ่มจากการเห็นตามโฆษณาทางทีวีหรือผ่านโซเชียล ว่าบริษัทดังกล่าวมีการเปิดสอนการทำธุรกิจออนไลน์ฟรี 50 -100 ท่านแรก หรือว่าค่าเรียน 98-99 บาท เมื่อตนสนใจลงเรียนตนจึงสมัคร โดยในวันที่ 3 ของการเรียนจะมีระดับแม่ทีมลงมาสอนและแนะนำให้ทำธุรกิจอ้างว่าสร้างรายรายได้อีกกระเป๋า โดยเสียค่าสมัครเพื่อร่วมธุรกิจ 2,500 บาท จะได้สินค้า และมีระบบหลังบ้านให้ทั้งหมด
จากนั้นจะมีแม่ทีมนัดมาเรียนที่โรงเรียน และมีการชักจูงให้อัพเลเวลโดยต้องเพิ่มเงิน 25,000 บาท เมื่ออัพเลเวลแล้วก็จะมีการชักชวนหว่านล้อมเพิ่มให้จ่ายเพิ่ม 250,000 บาท จะได้เป็นแม่ทีมรายใหญ่หรือดีลเลอร์ โดยอ้างว่าจะได้กำไรมากขึ้น ต้นทุนต่ำลง และจะได้ไปเที่ยวต่างประเทศ
นอกจากนี้ยังมีการจัดงานอีเว้นท์นำดาราชื่อดังมาสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ผู้ร่วมลงทุน จนทำให้ตนเกิดความมั่นใจจึงตัดสินใจร่วมลงทุน กระทั่งตนขายสินค้าไม่ออก และมีการแนะนำให้ตนหาลูกทีมมาเพิ่มเพื่อกระจายสินค้า และอ้างว่าหากหาได้ 5 คน จะได้เป็นระดับโปรดีลเลอร์อัพเกรดตัวเอง จึงเริ่มรู้แล้วว่านี่ไม่ใช่การขายปลีก แต่เป็นในลักษณะการแชร์ลูกโซ่ โดยทุกครั้งที่ชักชวนจะมีการกล่าวอ้างว่า
”ถ้าคุณไม่ร่วมจะพลาด คุณจะทำเงินล้านหล่นหาย ถ้าหากคุณอยากได้รายได้หลักแสนหลักล้าน จะต้องหาคนมาเพิ่ม“ เอ กล่าว และแม้ตนเองจะเป็นระดับดีลเลอร์ แต่ก็ต้องยิงแอดหานักเรียนเอง รวมแล้วค่าเสียหายของตนเป็นเงินประมานกว่า 2 แสนบาท
ขณะที่ บี (นามสมมติ) อีกหนึ่งผู้เสียหาย กล่าวว่า เคยตัดสินใจคิดสั้นฆ่าตัวตาย เนื่องจากได้ลงทุนไปจำนวนเงินกว่า 200,000 บาท เครียดเนื่องจากมีการกู้หนี้ยืมสินมาลงทุน แต่สินค้าที่ตนนำมาสต๊อกกลับขายไม่ได้ ขณะนี้สินค้ากองอยู่ที่บ้านจนหมดอายุ
โดยตัวบอสใหญ่มักใช้วลี “ขยันผิดที่ 10 ปีก็ไม่รวย” มาชักจูงให้ ให้คนหลงเชื่อ”
ขณะที่ รภัสสิทธิ์ เปิดเผยว่า วันนี้ได้พาผู้ที่ได้รับผลกระทบประมาณ 20 คน จาก 500 คนในกลุ่มที่รวบรวมได้ จากการเข้าไปร่วมธุรกิจกับบริษัทนี้ เข้ามาให้ข้อมูลกับทางตำรวจในประเด็นที่เกิดขึ้น ว่าเหตุใดธุรกิจขายตรงเครือข่ายถึงทำให้เกิดผลกระทบกับประชาชนจำนวนมาก และในส่วนของเรื่องกฎหมายก็ต้องตำรวจตรวจสอบว่าบริษัทนี้ จะเข้าข่ายฉ้อโกงประชาชนหรือไม่ ผิดในเรื่องของแชร์ลูกโซ่หรือไม่ ตาม พรก.กู้ยืม ที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน
เข้าข่ายความผิดตามพ.ร.บ.คุ้มครองผู้บริโภคหรือไม่ ที่มีการโฆษณาเกินจริงหรือเป็นเท็จ และผิดเพราะขายตรงและการตลาดแบบตรงหรือไม่ นอกจากนี้ยังมีเรื่องของพ.ร.บ.คอมฯ ร่วมด้วยหรือไม่
ทั้งนี้มีผู้เสียหายบางส่วนเคยมาแจ้งความไว้แล้ว แต่ยังไม่ได้มีการดำเนินคดี เพราะผู้เสียหายบางส่วนได้มีการไปขอความช่วยเหลือกับบุคคลกลุ่มหนึ่ง ที่มีการไปตกลงกับทางบริษัทดังกล่าว ให้จ่ายคืนผู้เสียหาย 50% และต้องให้ผู้เสียหายเซ็นเอกสารสัญญาปิดปากไม่ให้แจ้งความ
อย่างไรก็ตามอยากเรียนผู้เสียหายว่าหากคดีนี้เป็นอาญาแผ่นดิน แม้จะมีบันทึกข้อตกลงยอมความ ก็ไม่สามารถยอมความได้ ดังนั้นไม่ต้องกลัวให้เข้าแจ้งความได้เลย