ตำรวจรถไฟ EP.2 ฟื้นชีพหรือรอวันดับสูญ?

5 มีนาคม 2567 - 08:58

railway-police-ep2-resurrect-or-wait-for-the-day-to-die-SPACEBAR-Hero.jpg
  • ชวนคุยกับ ‘อดีตตำรวจรถไฟคนสุดท้าย’ กับความหวังของ ‘ตำรวจรถไฟ EP.2’ ฟื้นชีพหรือรอวันดับสูญ?

เป็นเวลากว่า 4 เดือน ที่ ‘กองบังคับการตำรวจรถไฟ’ เหลือเพียงแค่ชื่อที่ถูกบันทึกไว้ว่าครั้งหนึ่งประเทศไทยเคยมี ‘ตำรวจรถไฟ’ ที่คอยทำหน้าที่ดูแลความปลอดภัยของผู้โดยสารบนขบวนรถไฟและบริเวณสถานีรถไฟมานานกว่า 72 ปี 

แต่เมื่อวานนี้ (4 มี.ค.) ปฐมบท ‘ตำรวจรถไฟ EP.2’ กำลังจะเริ่มขึ้น เมื่อ ‘กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง’ ได้เปิดตัว ‘ศูนย์ป้องกันปราบปรามอาชญากรรมบนขบวนรถไฟ’ หรือ ‘ศปรฟ.’ หน่วยงานใหม่ที่จะเข้ามาทำหน้าที่คอยดูแลความปลอดภัยของผู้โดยสารและป้องปรามเหตุร้ายบนขบวนรถไฟ คล้ายกับที่ตำรวจรถไฟเคยทำ โดยจะดูแลรถไฟ 30 ขบวนต่อวัน ทั้งขบวนรถไฟสายเหนือ (กรุงเทพ-เชียงใหม่) / สายตะวันออกเฉียงเหนือ (กรุงเทพ-หนองคาย) และสายใต้ (กรุงเทพ-หาดใหญ่)

นอกจากนี้ ยังมีการประสานความร่วมมือด้านข้อมูล ข่าวสาร กับการรถไฟแห่งประเทศไทยและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อวิเคราะห์อาชญากรรมที่เกิดขึ้นบนขบวนรถไฟ รวมถึงการติดตามจับกุมบุคคลตามหมายจับ โดยนำเทคโนโลยีสารสนเทศนวัตกรรมใหม่มาปรับใช้ในการปฏิบัติงาน

the-last-railway-policeman-of-nopphawong-station-SPACEBAR-Photo02.jpg
Photo: ‘ร.ต.ท. สมควร ปั้นกันอินทร์’ อดีตสารวัตรป้องกันปราบปราม สถานีตำรวจรถไฟนพวงศ์ หรือที่รู้จักในนาม ‘ตำรวจรถไฟคนสุดท้าย’ ปัจจุบันได้ถูกโอนย้ายไปเป็นตำรวจทางหลวง

แล้วหน่วยงานใหม่นี้ดีกว่า ‘ตำรวจรถไฟ’ ยังไง? 

สเปซบาร์ชวนคุยเรื่องนี้กับ ‘ร.ต.ท. สมควร ปั้นกันอินทร์’ อดีตสารวัตรป้องกันปราบปราม สถานีตำรวจรถไฟนพวงศ์ หรือ ‘ตำรวจรถไฟคนสุดท้าย’ ที่ปัจจุบันได้ถูกโอนย้ายไปเป็นตำรวจทางหลวง มาร่วมแลกเปลี่ยนความเห็นในประเด็นนี้กัน 

‘ร.ต.ท. สมควร’ บอกกับเราว่าส่วนตัวคิดว่าการมี ‘ศูนย์ป้องกันปราบปรามอาชญากรรมบนขบวนรถไฟ ’ หรือ ‘ศปรฟ.’ ช่วยทำให้ความปลอดภัยของผู้โดยสารบนขบวนรถไฟอยู่ในระดับที่ดีขึ้นกว่าเดิม หลังต้องตกอยู่ในภาวะที่ไร้ตำรวจรถไฟมานานากว่า 4 เดือน แต่สิ่งที่น่าห่วงคือความพร้อมของกำลังพลและอุปกรณ์ของเจ้าหน้าที่ที่ยังเห็นว่ามีปัญหาอยู่ และมองว่านอกจากการดูแลความปลอดภัยบนขบวนรถแล้วควรมีเจ้าหน้าที่ประจำภาคพื้นดินคอยดูแลความปลอดภัยที่บริเวณสถานีรถไฟ เหมือนอย่างที่ตำรวจรถไฟเคยทำด้วย

“พอมาตั้งเป็นศูนย์ฯ หนึ่งกำลังพลก็น้อยไม่พอ เครื่องไม้เครื่องมือก็แทบจะไม่มี อย่างเมื่อวานผู้บังคับบัญชาที่มาเป็นผู้อำนวยการศูนย์ฯ ยังเรียกร้องขออุปกรณ์ แค่อุปกรณ์สำนักงานยังไม่มีเลย แล้วถามว่าเป็นแบบนี้จะไปดูแลความปลอดภัยในประชาชนอย่างเต็มที่ได้อย่างไร”

ร.ต.ท. สมควร กล่าว

สำหรับที่ตั้งของ ‘ศปรฟ.’ ในส่วนที่เป็นงานบริหาร ‘ร.ต.ท. สมควร’ อธิบายว่าจะอยู่ที่กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง ส่วนฝ่ายปฏิบัติการที่คอยดูแลขบวนรถไฟจะอยู่ที่ กองกำกับการ 2 และกองกำกับการ 4 กองบังคับการตำรวจรถไฟเดิม ที่อยู่บริเวณหลังสถานีกลางบางซื่อ

ส่วนกำลังพลของ ‘ศปรฟ.’ จากข้อมูลที่มี ทราบว่ามีทั้งหมดประมาณ 200 นาย (เดิมตำรวจรถไฟเคยมี ประมาณ 600 นาย) แบ่งเป็นฝ่ายบริหารและฝ่ายปฏิบัติการ ในจำนวนนี้ส่วนใหญ่เป็น ‘อดีตตำรวจรถไฟ’ ที่ยังรักในการทำหน้าที่เดิมของตัวเองอยู่ แต่ด้วยความไม่ชัดเจนทั้งเรื่องความมั่นคงของหน่วยงานที่อนาคตไม่รู้ว่าจะถูกยุบหรือไม่ รวมถึงความชัดเจนในภาระงาน ขั้นตอนการย้ายสังกัด หรือแม้แต่จำนวนกำลังพลของศูนย์ฯ ที่ยังไม่ชัดเจน จึงทำให้อดีตตำรวจรถไฟหลายคนที่แม้จะอยากกลับมาทำหน้าที่เดิมในหน่วยงานใหม่ รู้สึกไม่มั่นใจที่จะย้ายมาสังกัดในหน่วยงานนี้

“คำว่าศูนย์มันเป็นปีต่อปี มันไม่ได้หมายความเป็นศูนย์แล้วจะอยู่ยาวได้ตลอด ไม่มีใครให้ความมั่นใจได้ แต่การรถไฟฯ พูดมาชัดเจนเลยว่าศูนย์ต้องมีต่อไป แล้วมันอาจมีเพิ่มเป็นกองบังคับการตำรวจรางก็ว่ากันไป แต่ตรงนี้ไม่มีใครให้ความชัดเจนกับผู้ปฏิบัติได้ แต่ส่วนตัวผมคิดว่าน่าจะไปต่อประมาณนั้น เพราะตอนนี้ความเป็นไปได้ที่ การรถไฟฯ จะจัดตั้ง รปภ. มันเป็นไปไม่ได้แล้ว ก็คงต้องใช้ตำรวจ นั้นแหละคือเหตุผลที่ผมพูดมาแต่แรกว่า ยุบไปเพื่ออะไร”

ร.ต.ท. สมควร กล่าว

ท้ายที่สุดแล้ว ‘ศูนย์ป้องกันปราบปรามอาชญากรรมบนขบวนรถไฟ’ จะทำหน้าที่แทน ‘ตำรวจรถไฟ’ ได้ดีแค่ไหน ผู้เขียนคิดว่าเรื่องนี้คงต้องปล่อยให้เวลาเป็นเครื่องพิสูจน์กันต่อไป แต่สิ่งที่เกิดขึ้นย่อมทำให้อดคิดไม่ได้ว่าแล้วที่ผ่านมาจะยุบ ‘ตำรวจรถไฟ’ ไปเพื่ออะไร?

หากการยุบครั้งนี้ เป็นการทำเพื่อสนองต่อคำสั่งของ ‘พ.ร.บ.ตำรวจฉบับใหม่’ ต้นเหตุสำคัญของการยุบตำรวจรถไฟ ที่มีจุดมุ่งหมายเพื่อหวังปฏิรูปองค์กรตำรวจให้ดีขึ้น ก็น่าถูกตั้งคำถามกลับว่าการปฏิรูปที่ขาดการวางแผนและขาดการคำนึงถึงผลกระทบที่ตามมาอย่างถี่ถ้วนนั้น อาจทำให้ องค์กร ประเทศ และประชาชนเสียประโยชน์และเสียเวลาโดยใช่เหตุได้ หรือแท้จริงแล้วเหตุผลของปฏิรูป ‘ผู้ที่ได้รับประโยชน์’ อาจไม่ใช่สิ่งที่เรากล่าวถึงก่อนหน้านี้?

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์