ฝนชุ่มฉ่ำทั่วกรุง ขณะที่ 8-10 พ.ค.ไทยยังเจอฝนอีก

7 พ.ค. 2567 - 04:06

  • กรมอุตุฯ เผย ประเทศไทยมีพายุฝนฟ้าคะนอง ลมกระโชกแรง และลูกเห็บตกบางแห่ง ขอให้ประชาชนระวังอันตรายจากพายุฤดูร้อน

  • ส่วนกรุงเทพฯและปริมณฑล อากาศร้อนในตอนกลางวัน มีฝน 30%

  • ขณะที่ 8-10 พ.ค. ประเทศไทยยังมี ‘ฝนตกหนัก’ บางพื้นที่

rain-7may24-SPACEBAR-Hero.jpg

กรมอุตุนิยมวิทยาพยากรณ์อากาศ 24 ชั่วโมงข้างหน้า แนวพัดสอบของลมตะวันออกเฉียงใต้และลมใต้พัดปกคลุมบริเวณภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออก และด้านตะวันออกของภาคเหนือและภาคกลาง ขณะที่ประเทศไทยมีอากาศร้อนถึงร้อนจัด ลักษณะเช่นนี้ทำให้บริเวณดังกล่าวมีพายุฤดูร้อนเกิดขึ้น โดยมีลักษณะของพายุฝนฟ้าคะนอง ลมกระโชกแรง และลูกเห็บตกบางแห่ง รวมถึงอาจมีฟ้าผ่าเกิดขึ้นได้บางพื้นที่ ขอให้ประชาชนระวังอันตรายจากพายุฤดูร้อน โดยหลีกเลี่ยงการอยู่ในที่โล่งแจ้ง ใต้ต้นไม้ใหญ่ สิ่งปลูกสร้าง และป้ายโฆษณาที่ไม่แข็งแรง สำหรับเกษตรกรควรเตรียมการป้องกันและระวังความเสียหายที่อาจจะเกิดต่อผลผลิตทางการเกษตรและอันตรายต่อสัตว์เลี้ยงไว้ด้วย

สำหรับลมตะวันตกเฉียงเหนือและลมตะวันออกเฉียงใต้พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ภาคใต้ และอ่าวไทย ทำให้ภาคใต้มีฝนตกหนักบางแห่ง ส่วนชาวเรือควรหลีกเลี่ยงการเดินเรือในบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองไว้ด้วย

ขณะที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล อากาศร้อนในตอนกลางวัน โดยมีพายุฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 30 ของพื้นที่ กับมีลมกระโชกแรง และลูกเห็บตกบางแห่ง อุณหภูมิต่ำสุด 27-30 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 35-38 องศาเซลเซียส จากนั้น ในวันที่ 8 - 12 พ.ค. กรุงเทพฯ และปริมณฑล ยังมีพายุฝนฟ้าคะนองร้อยละ 40- 60 กับมีลมกระโชกแรงบางแห่ง และมีฝนตกหนักบางพื้นที่

ทั้งนี้ ในช่วงวันที่ 8 - 10 พ.ค. 67 แนวพัดสอบของลมตะวันออกเฉียงใต้และลมใต้ยังคงพัดปกคลุมประเทศไทยตอนบน ทำให้บริเวณดังกล่าวยังคงมีฝนฟ้าคะนอง กับมีลมกระโชกแรงบางแห่ง รวมทั้งมีฝนตกหนักบางพื้นที่

202405071100_rad.jpg

อย่างไรก็ตาม ในช่วงวันที่ 7-13 พ.ค.67 การกระจายของฝน จะเพิ่มขึ้นบริเวณประเทศไทย จากอิทธิพลแนวสอบของลมพัดปกคลุม ภาคเหนือ ภาคกลาง เนื่องจากอิทธิพลของมวลอากาศเย็นที่แผ่ลงมาปกคลุมจีนตอนใต้และเวียดนามตอนบน พอคลายร้อนได้บ้าง กลุ่มฝนจะเคลื่อนตัวจากทางด้านตะวันออกไปตะวันตกในช่วงแรก ต้องระวังพายุฤดูร้อน ส่วนภาคใต้ ลมตะวันออกจะเริ่มพัดปกคลุมมีกำลังแรงขึ้น ทำให้มีฝนปานกลางถึงหนักบางพื้นที่ ยังต้องระวังพายุฝนฟ้าคะนอง และติดตามประกาศเตือนภัยจากกรมอุตุนิยมวิทยาอย่างใกล้ชิด

จากนั้น ในช่วงวันที่ 14-16 พ.ค.67 ทางด้านทะเลอันดามันเริ่มมีลมตะวันตกเฉียงใต้พัดปกคลุม ฝนยังมีต่อเนื่อง เป็นสัญญาณก่อนการเปลี่ยนฤดู แต่ต้องดูเงื่อนไขอื่นๆ ประกอบในการประกาศเข้าสู่ฤดูฝน โดยอาจมีการเปลี่ยนแปลงได้ภายใต้สถานการณ์ปรากฎการณ์เอลนีโญกำลังอ่อน

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์