โครงสร้างทีมหลายชั้น! แฉละเอียดพฤติการณ์ ‘ดิไอคอน’ เข้าข่าย ‘เเชร์ลูกโซ่’

23 พ.ย. 2567 - 04:32

  • แฉละเอียดพฤติการณ์ ‘ดิไอคอน’ โครงสร้างทีมหลายชั้น

  • เน้นหาสมาชิกใหม่เพิ่ม มากกว่าขายของ

  • ตุ๋นเหยื่อ 9 พันคน เสียหายร่วม 3 พันล้าน

  • ‘ดีเอสไอ’ เเจ้งเพิ่มข้อหาใหม่เข้าข่าย ‘เเชร์ลูกโซ่’

  • เพิ่มเวลาฝากขังเป็น 7 ผัด 84 วัน

Revealing_the_details_of_the_case_The_Icon_Group_SPACEBAR_Hero_d23ac2e5ba.jpg

แม้กระแสข่าวคดี ‘ดิไอคอน กรุ๊ป’ จะดูเหมือนเงียบลงไป แต่ยังมีความเคลื่อนไหวอย่างต่อเนื่อง เมื่อพนักงานสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ได้ยื่นคำร้องขอฝากขังครั้งที่ 4 ‘บอสพอล’ วรัตน์พล วรัทย์วรกุล อายุ 41 ปี ประธานบริหาร บริษัท ดิไอคอน กรุ๊ป จำกัด กับพวกรวม 18 ราย ผู้ต้องหาคดีฉ้อโกงประชาชน โดยคำร้องฝากขังครั้งนี้ พนักงานสอบสวนได้เเนบคำร้องเเจ้งข้อกล่าวหาผู้ต้องหาทั้ง 18 คน เพิ่มเติมมาด้วย

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในคำร้องฝากขังครั้งที่ 4 ระบุถึงที่ประชุมคณะกรรมการกลั่นกลองการรับคดีพิเศษ มีมติเมื่อวันที่ 29 ตุลาคม 2567 เห็นว่ากรณีดังกล่าว เข้าข่ายเป็นความผิดตาม พ.ร.ก.การกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน พ.ศ. 2527 ร่วมกันโดยทุจริตหรือโดยหลอกลวงนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่บิดเบือน หรือปลอมไม่ว่าทั้งหมด หรือบางส่วน หรือข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จโดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ประชาชน เป็นการร่วมกันกระทำผิดที่มีลักษณะเป็นกลุ่มขบวนการ มีการแบ่งหน้าที่กันทำอย่างเป็นระบบ คดีมีความยุ่งยากสลับซับช้อน ส่งผลกระทบต่อสังคมในวงกว้างทั่วราชอาณาจักร โดยมีประชาชนได้รับความเสียหายจำนวนมาก ถือว่าเป็นอาชญากรรมทางเศรษฐกิจที่ร้ายแรง ก่อให้เกิดความเสียหายทางเชิงเศรษฐกิจและสังคมในวงกว้างอันมีลักษณะเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.การสอบสวนคดีพิเศษฯ  

ประกอบกับความผิดดังกล่าว เป็นความผิดตามประกาศบัญชีท้ายประกาศ กคพ. (ฉบับที่ 8) เรื่อง กำหนดรายละเอียดของลักษณะของการกระทำความผิดที่เป็นคดีดิพิเศษมาตรา 21 วรรคหนึ่ง (1) พ.ร.บ.การสอบสวนคดีพิเศษฯข้อ 1, 15

จึงเห็นควรเสนออธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ มีคำสั่งให้กรณีดังกล่าวเป็นคดีพิเศษ และมอบกองคดีธุรกิจการเงินนอกระบบเป็นผู้รับผิดชอบดำเนินการสอบสวน

ต่อมาวันที่ 30 ตุลาคม 2567 อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ ได้อนุมัติให้เป็นคดีพิเศษ กระทั่งมีการให้ดำเนินการร้องทุกข์กล่าวโทษดำเนินคดีกับบริษัท ดิไอคอน กรุ๊ป จำกัด ในความผิดฐานร่วมกันประกอบธุรกิจตลาดแบบตรง โดยดำเนินกิจการในลักษณะที่เป็นการชักชวนให้บุคคคลเข้าร่วมเป็นเครือข่ายในการประกอบธุรกิจขายตรงหรือในการประกอบธุรกิจตลาดแบบตรง โดยตกลงว่า จะให้ผลประโยชน์ตอบแทนจากการหาผู้เข้าร่วมเครือข่ายดังกล่าว ซึ่งคำนวณจากผู้เข้าร่วมเครือข่ายที่เพิ่มขึ้น ตามมาตรา 19 รวมถึงความผิดฐานอื่นและบุคคลอื่นที่มีส่วนร่วมในการกระทำความผิด ตามมาตรา 54 แห่ง พ.ร.บ.ขายตรงฯ

ซึ่งจากการตรวจสอบรูปแบบการดำเนินธุรกิจของบริษัท ดิไอคอนฯ พบว่า ได้มีการโฆษณาผ่านเฟซบุ๊กเพื่อชักชวนให้ประชาชน รวมทั้งผู้เสียหายเข้าร่วมธุรกิจกับบริษัทเพื่อสร้างรายได้จากการขายสินค้าออนไลน์

เมื่อผู้เสียหายสนใจและสมัครคอร์สออนไลน์ ราคา 98 บาท จะมีการชักชวนให้เป็นตัวแทนจำหน่ายซึ่งมีลักษณะเครือข่ายเป็นแม่ทีม-ลูกทีม โดยเมื่อสมัครเป็นตัวแทนจำหน่ายแล้ว จะชักจูงให้มีการเปิดบิดบิลในตำแหน่ง ตัวแทนรายย่อย distributor เป็นจำนวนเงิน 2,500 บาท จะได้รับสินค้าและคะแนน จำนวน 10 tp

จากนั้น ผู้ลงทุนจะชักชวนให้เพิ่มการลงทุนเป็นตำแหน่ง Supervisor ด้วยเงินลงทุน 25,000 บาท และตำแหน่ง dealer ด้วยเงินลงทุน จำนวน 250,000 บาท ซึ่งจะได้สินค้าจำนวนหนึ่งและได้คะแนนเพิ่มเป็น 1,050 tp (tp คือ คะแนนของสินค้าแต่ละรายการที่บริษัทฯ เป็นผู้กำหนด โดยใน 1 สินค้า อาจมีคะแนน tp ที่ต่างกัน) อีกทั้งสามารถสร้างเครือข่ายโดยชักชวนให้บุคคลอื่นมาสมัครสมาชิก และจะได้ผลตอบแทนตามจำนวนสมาชิกที่แนะนำมาสมัคร ในส่วนของสินค้านั้น

บริษัทฯ แจ้งว่าจะมีการจัดส่งสินค้าให้สมาชิก แต่ส่วนใหญ่สมาชิกจะฝากสินค้าไว้ในคลังของบริษัทฯ โดยไม่ได้นำสินค้าไปใช้เอง หรือนำไปขายต่อแต่อย่างใด เนื่องจากบริษัทฯ อ้างว่ามีระบบในการรับฝากสินค้าในคลัง เพื่อจัดส่งสินค้าให้กับลูกค้ารายใหม่เมื่อมีคำสั่งซื้อ

อีกทั้งยังปรากฏข้อเท็จจริงว่า ตัวแทนจำหน่ายที่รับสินค้าไป ไม่ได้นำสินค้าไปขายให้กับผู้บริโภคทั่วไป มีเพียงการขายให้กันระหว่างตัวแทนใต้สายงานของตนเอง ซึ่งตามข้อเท็จจริง ในการประกอบธุรกิจบริษัท ดิไอคอนฯ มีลักษณะเป็นการชักชวนและมุ่งเน้นให้หาสมาชิกรายใหม่เพิ่ม มาสมัครเป็นตัวแทนจำหน่ายสินค้า โดยมีการกำหนดเป็นตำแหน่งต่างๆ ได้แก่

  1. distributor คือ ผู้จัดจำหน่ายรายย่อย ต้องเปิดบิลกับบริษัทฯ  จำนวน 2,500 บาท
  2. supervisor คือ ผู้จัดจำหน่ายรายใหญ่ขึ้นกว่า Distributor ต้องเปิดบิลกับบริษัทฯ จำนวน 25,000 บาท
  3. dealer คือ ผู้จัดจำหน่ายรายใหญ่ ต้องเปิดบิลกับบริษัทฯ จำนวน 250,000 บาท
  4. ตำแหน่ง gold dealer เงื่อนไขการขึ้นตำแหน่ง สะสมไม่ซ้ำสาย 2 dealor
  5. ตำแหน่ง grand dealer เงื่อนไขการขึ้นตำแหน่ง สะสมไม่ซ้ำสาย 3 dealer
  6. ตำแหน่ง platinum dealer เงื่อนไขการขึ้นตำแหน่ง สะสมไม่ซ้ำสาย 4 dealor
  7. ตำแหน่ง presidential dealer เงื่อนไขการขึ้นตำแหน่ง สะสมไม่ซ้ำสาย 6 dealer
  8. ตำแหน่ง wisdom dealer เงื่อนไขการขึ้นตำแหน่ง สะสมไม่ซ้ำสาย 8 dealer
  9. ตำแหน่ง crown dealer เงื่อนไขการขึ้นตำแหน่ง สะสมไม่ซ้ำสาย 9 dealer
  10. ตำแหน่ง royal crown dealer เงื่อนไขการขึ้นตำแหน่ง สะสมไม่ซ้ำสาย 20 dealer

หากมีการแนะนำตัวแทนจำหน่ายรายใหม่ให้ลงทุนในตำแหน่ง dealer จะได้รับผลตอบแทนประมาณ 10,000-15,000 บาทต่อ 1 dealer อีกทั้งหากภายใน 1 เดือน สามารถแนะนำได้ 5 dealer ผู้แนะนำจะได้รับผลตอบแทนเพิ่มจากอัตราส่วนต่างของสินค้าอีก ประมาณ 50,000 บาท และยังได้ขึ้นเป็นตำแหน่ง gold dealer

ทั้งนี้ จากการตรวจสอบพบว่า ‘แม่ทีม’ หรือ ‘บอส’ มีพฤติการณ์ชักชวนให้ผู้เสียหายมาลงทุนเปิดบิล ในราคา 250,000 บาท ซึ่งเห็นได้ว่าวิธีการดำเนินธุรกิจเป็นลักษณะที่ไม่ได้มุ่งเน้นขายสินค้าให้แก่ผู้บริโภคโดยทั่วไป แต่กลับเน้นให้สมาชิกเก่าหาสมาชิกรายใหม่เพื่อเปิดบิล โดยนำผลตอบแทนจากสมัครมาโน้มน้าว จูงใจ รวมทั้งหากชักชวนบุคคลอื่นมาสมัครสมาชิกในจำนวนที่มากขึ้น ก็จะได้รับผลตอบแทนมากขึ้นด้วย

จึงเห็นได้ว่า รายได้ของบริษัทฯ เกิดจากการที่มีผู้มาสมัครสมาชิกโดยเฉพาะสมาชิก dealer ต่อๆ กันไป โดยรายได้ของบริษัทฯ มิได้เกิดจากการขายสินค้าที่แท้จริง ตัวแทนส่วนใหญ่ไม่เคยนำสินค้าไปขายต่อให้กับผู้บริโภคโดยตรง อีกทั้งผู้บริโภคก็ไม่สามารถสั่งซื้อสินค้าผ่านเว็บไซต์ของดิไอคอนฯ ได้

โดยทุกคนจะต้องสมัครเป็นตัวแทน จึงจะสามารถซื้อสินค้าได้ จะเห็นได้ว่าการประกอบธุรกิจของบริษัทฯ ไม่เป็นไปตามที่นายทะเบียนได้อนุญาตให้ประกอบธุรกิจตลาดแบบตรงแต่อย่างใด

จากข้อเท็จจริงของพฤติการณ์และการกระทำของบริษัท ดิไอคอนฯ ซึ่งได้รับจดทะเบียนการประกอบธุรกิจตลาดแบบตรง แต่ประกอบธุรกิจมีลักษณะเป็นการชักชวนให้บุคคลเข้าร่วมเป็น เครือข่ายในการประกอบธุรกิจโดยตกลงว่าจะให้ผลประโยชน์ตอบแทนจากการหาผู้เข้าร่วมเครือข่ายดังกล่าวซึ่งคำนวณจากจำนวนผู้เข้าร่วมเครือข่ายที่เพิ่มขึ้น และมีรูปแบบการดำเนินธุรกิจในลักษณะมีตัวแทนหลายชั้นผ่านตัวแทนขายตรงหรือผู้จำหน่ายอิสระ เป็นการฝ่าฝืนมาตรา 19, 20  ต้องระวางโทษตามมาตรา 46, 48 แห่ง พ.ร.บ.ขายตรงฯ

คำร้องฝากขังฯ ระบุถึงข้อเท็จจริงที่ปรากฏในการสืบสวนสอบสวนในชั้นนี้ รับฟังได้ความว่า บริษัท ดิไอคอนฯ กับพวก ใช้มีการโฆษณาหรือประกาศให้ปรากฏต่อประชาชนหรือกระทำด้วยประการใดๆ ให้ปรากฏกับบุคคลตั้งแต่ 10 คน ขึ้นไป ด้วยการโฆษณาบนเฟซบุ๊คของบริษัทหรือของสมาชิก เพื่อชักชวนประชาชนทั่วไปเข้าเรียนหลักสูตรอบรมออนไลน์ที่บริษัทจัดขึ้น รวมถึงการสัมมนา หรือการบอกกล่าวปากต่อปากนำไปสู่การเชิญชวนบุคคลดังกล่าวเข้าร่วมธุรกิจเป็นตัวแทนขายสินค้าให้กับบริษัท ดิไอคอนฯ ด้วยการเปิดรับเข้าเป็นสมาชิกเพื่อซื้อสินค้าของบริษัทไปจำหน่ายต่อ โดยมีการให้สัญญาว่าจะจ่ายหรืออาจจ่ายผลตอบแทนตามแผนธุรกิจที่กำหนด 

จึงเป็นการ ‘กู้ยืมเงิน’ โดยมี บริษัท ดิไอคอนฯ เป็น ‘ผู้กู้ยืมเงิน’ และมีผู้สมัครเป็นสมาชิกในการร่วมธุรกิจเป็นตัวแทนขายสินค้าเป็น ‘ผู้ให้กู้ยืมเงิน’ ตามนิยามในมาตรา 3 ของ พ.ร.ก.การกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชนฯ และในการดำเนินธุรกิจเน้นการระดมสมาชิกเข้ามาเป็นเครือข่ายในระดับต่างๆ โดยเฉพาะระดับ dealer โดยจูงใจด้วยผลตอบแทนที่สูงประกอบกับผลตอบแทนในการประกอบธุรกิจในระดับ dealer get dealer ขั้นต่างๆ มีผลตอบแทนคำนวณเมื่อคำนวณเป็นอัตราดอกเบี้ยแล้วพบว่ามีอัตราสูงมาก ตั้งแต่ร้อยละ 48-480 ต่อปี

ทั้งที่ช่วงเกิดเหตุคดีนี้อัตราดอกเบี้ยสูงสุดของสถาบันการเงินตามกฎหมายว่าด้วยดอกเบี้ยเงินให้กู้ยืมของสถาบันการเงินสูงเพียงร้อยละ 4 ต่อปี จึงเป็นผลตอบแทนที่มีอัตราดอกเบี้ยที่สูงว่าที่ พ.ร.ก.การกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชนฯ มาตรา 4 วรรคหนึ่ง กำหนดไว้

พร้อมกันนี้ ได้เปลี่ยนลำดับผู้ต้องหาตามลำดับความสำคัญของพฤติการณ์ในคดี ประกอบด้วย

  1. บริษัท ดิไอคอนกรุ๊ป จำกัด โดย วรัตน์พล วรัทย์วรกุล ผู้มีอำนาจดำเนินการแทนนิติบุคคล (เดิมคือผู้ต้องหาที่ 18) เป็นผู้ต้องหาที่ 1
  2. วรัตน์พล หรือ บอสพอล วรัทย์วรกุล (เดิมคือผู้ต้องหาที่ 19) เป็น ผู้ต้องหาที่ 2
  3. จิระวัฒน์ หรือ บอสแล็ป แสงภักดี (เดิมคือผู้ต้องหาที่ 1) เป็นผู้ต้องหาที่ 3
  4. กลด หรือ บอสปีเตอร์ เศรษฐนันท์ (เดิมคือผู้ต้องหาที่ 2) เป็นผู้ต้องหาที่ 4
  5. ปัญจรัศม์ หรือ บอสปัน กนกรักษ์ธนพร (เดิมคือผู้ต้องหาที่ 3) เป็นผู้ต้องหาที่ 5
  6. ฐานานนท์ หรือ บอสหมอเอก หิรัญไชยวรรณ (เดิมคือผู้ต้องหาที่ 4) เป็นผู้ต้องหาที่ 6
  7. นัฐปสรณ์ หรือ บอสสวย ฉัตรธนสรณ์ (เดิมคือผู้ต้องหาที่ 5) เป็นผู้ต้องหาที่ 7
  8. ญาสิกัญจณ์ หรือ บอสโซดา เอกชิสนุพงศ์ (เดิมคือผู้ต้องหาที่ 6) เป็นผู้ต้องหาที่ 8
  9. นันท์ธรัฐ หรือ บอสโอม เชาวนปรีชา (เดิมคือผู้ต้องหาที่ 7) เป็นผู้ต้องหาที่ 9
  10. ธวิณทร์ภัส หรือ บอสวิน ภูพัฒนรินทร์ (เดิมคือผู้ต้องหาที่ 8) เป็นผู้ต้องหาที่ 10
  11. กนกธร หรือ บอสแม่หญิง ปูรณะสุคนธ์ (เดิมคือผู้ต้องหาที่ 9) เป็นผู้ต้องหาที่ 11
  12. เสาวภา หรือ บอสซูมมี่ วงษ์สาชา (เดิมคือผู้ต้องหาที่ 10) เป็นผู้ต้องหาที่ 12
  13. เชษฐ์ณภัฏ หรือ บอสทอมมี่ อภิพัฒนกานต์ (เดิมคือผู้ต้องหาที่ 11) เป็นผู้ต้องหาที่ 13
  14. หัสยานนท์ หรือ บอสป๊อป เอกชิสนุพงศ์ (เดิมคือผู้ต้องหาที่ 12) เป็นผู้ต้องหาที่ 14
  15. วิไลลักษณ์ หรือ บอสจอย ยาวิชัย หรือ เจ็งสุวรรณ (เดิมคือผู้ต้องหาที่ 13) เป็นผู้ต้องหาที่ 15
  16. ธนะโรจน์ หรือ บอสอ็อฟ ธิติจริยาวัชร์ (เดิมคือผู้ต้องหาที่ 14) เป็นผู้ต้องหาที่ 16
  17. ยุรนันท์ หรือ บอสแซม ภมรมนตรี (เดิมคือผู้ต้องหาที่ 15) เป็นผู้ต้องหาที่ 17
  18. พีชญา หรือ บอสมีน วัฒนามนตรี (เดิมคือผู้ต้องหาที่ 16) เป็นผู้ต้องหาที่ 18
  19. กันต์ หรือ บอสกันต์ กันตถาวร (เดิมคือผู้ต้องหาที่ 17) เป็นผู้ต้องหาที่ 19

กระทั่งวันที่ 11 พฤศจิกายน 2567 คณะพนักงานสอบสวนคดีพิเศษ ได้เข้าแจ้งข้อกล่าวหาและฐานความผิดเพิ่มเติมแก่ผู้ต้องหาทุกรายให้ทราบว่า “ร่วมกันกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน, ร่วมกันประกอบธุรกิจขายตรงประกอบธุรกิจตลาดแบบตรงในลักษณะที่เป็นการชักชวนให้บุคคลเข้าร่วมเป็นเครือข่ายในการประกอบธุรกิจโดยตกลงว่าจะให้ผลประโยชน์ตอบแทนจากการหาผู้เข้าร่วมเครือข่ายดังกล่าวซึ่งคำนวณจากจำนวนผู้เข้าร่วมเครือข่ายที่เพิ่มขึ้น, ร่วมกันประกอบธุรกิจขายตรงโดยไม่ได้รับอนุญาต”

ผู้ต้องหาทั้งหมด ให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา

โดยผู้ต้องหาที่ 2 ขอให้การเป็นหนังสือภายใน 15 วัน นับแต่วันที่รับทราบข้อกล่าวหาการกระทำของผู้ต้องหา เป็นความผิดตาม พ.ร.ก.การกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชนฯ ซึ่งมีอัตราโทษตามมาตรา 12 ต้องระวางโทษจำคุก ตั้งแต่ 5-10 ปี และปรับตั้งแต่ 5 เเสน-1 ล้านบาท และปรับอีกไม่เกินวันละ 1 หมื่นบาท ตลอดเวลาที่ยังฝ่าฝืนอยู่, พ.ร.บ.ขายตรงฯ และที่แก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 19, 20 ซึ่งมีโทษอัตราโทษตามมาตรา 46 ต้องระวางโทษจําคุกไม่เกิน 5 ปี และปรับไม่เกิน 5 แสนบาท และมาตรา 47 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 1 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และปรับอีกวันละไม่เกิน 1 หมื่นบาท ตลอดเวลาที่ยังฝ่าฝืนอยู่ ประกอบประมวลกฎหมายอาญามาตรา 83, 91

อย่างไรก็ตาม ด้วยครบกำหนดเวลาฝากขังครั้งที่ 3 (22 พ.ย. 2567) แต่การสอบสวนยังไม่เสร็จสิ้น จะต้องสอบปากคำพยาน จำนวน 4,500 ปาก, พยานฝ่ายผู้ต้องหา จำนวน 400 ปาก ต้องรอผลการตรวจสอบธุรกรรมทางการเงินจากธนาคารต่างๆ, รอผลการตรวจสอบจากศูนย์ชื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลและการวิเคราะห์, รอการตรวจสอบเอกสารที่ได้ทำการยึดไว้, ตรวจสอบเอกสารและวัตถุของกลางของเจ้าหน้าที่ตำรวจกองบัญชาการสอบสวนกลาง และรอผลการตรวจวัตถุพยานทางอิเล็กทรอนิกส์ของกลาง จึงขออนุญาตศาลให้ฝากขังผู้ต้องหานี้ไว้ระหว่างการสอบสวนต่ออีก 12 วัน นับแต่วันที่ 23 พฤศจิกายน- 4 ธันวาคมนี้

พร้อมคัดค้านการประกันตัวผู้ต้องหา เนื่องจากคดีนี้เป็นคดีที่มีอัตราโทษสูง ประกอบกับมีผู้เสียหายจำนวนเบื้องต้นประมาณ 9,000 ราย มูลค่าความเสียหายจำนวนถึง 2,956,274,931 บาท ซึ่งผู้ต้องหาอาจหลบหนีได้หรือไปยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐาน

ศาลอาญาพิจารณาคำร้องเเล้ว อนุญาตให้ฝากขังได้

สำหรับกรณีที่พนักงานสอบสวน มีการเเจ้งข้อหาเพิ่มเติม ซึ่งเป็นข้อหาที่มีอัตราโทษถึง 10 ปี เเละศาลอนุญาตฝากขังในข้อหาดังกล่าวเเล้ว จะทำให้สามารถยื่นฝากขังผู้ต้องหาได้ 7 ครั้ง (84 วัน) จากเดิมที่สามารถยื่นฝากขังได้ 4 ครั้ง (48 วัน)

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์