วันพืชมงคล 2568 จากคำพยากรณ์ถึงทางรอดยุคโลกเดือด

9 พ.ค. 2568 - 05:45

  • เปิดคำพยากรณ์วันพืชมงคล 2568 “พระโคกินน้ำ-หญ้า-เหล้า” พระยาแรกนาเสี่ยงหยิบ “ผ้า 5 คืบ”

  • เมื่อโลกร้อนกระทบจานข้าวและหลายสิ่งกำลังหายไปจากโต๊ะอาหาร หรือบางอย่างอาจมีอยู่แต่คุณค่าทางโภชนาการลดฮวบ

  • ชวนรู้จักคำว่า “ความมั่นคงทางอาหาร” และ “ความปลอดภัยของอาหาร” ในมุมมองด้านความยั่งยืน

วันพืชมงคล 2568 คำพยากรณ์ “พระโคกินน้ำ-หญ้า” พยากรณ์ว่า น้ำท่าจะบริบูรณ์พอควรพร้อมด้วยธัญญาหาร ผลาหาร ภักษาหาร มังสาหาร อุดมสมบูรณ์ “พระโคกินเหล้า” พยากรณ์ว่า การคมนาคมสะดวกยิ่งขึ้น การค้าขายกับต่างประเทศดีขึ้น ทำให้เศรษฐกิจเจริญรุ่งเรือง

พระยาแรกนาเสี่ยงหยิบได้ “ผ้า 5 คืบ” พยากรณ์ว่าน้ำท่าในปีนี้จะมีปริมาณพอดี ข้าวกล้าในนาจะได้ผลบริบูรณ์ และผลาหาร มังสาหาร จะอุดมสมบูรณ์ดี

royal-ploughing-ceremony-from-prophecy-to-survival-in-global-warming-SPACEBAR-Photo01.jpg
พระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ

สำหรับพระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ หรือพิธีแรกนาขวัญ เป็นพระราชประเพณีสำคัญ วันแห่งความหวังที่สร้างขวัญกำลังใจชาวนาไทย ปีนี้ความหมายของวันพืชมงคลในมุมมองเรื่อง “ความยั่งยืน” ยังสะท้อนถึงความท้าทายใหม่ที่โลกกำลังเผชิญ โดยเฉพาะเรื่องของ “ความมั่นคงทางอาหาร” ในยุคโลกเดือด ความผันผวนของสภาพภูมิอากาศ ตั้งแต่ภัยแล้งที่ยืดเยื้อ ฝนที่ไม่ตกตามฤดูกาล ไปจนถึงสารอาหารในพืชที่ลดลง

เมื่อโลกร้อนกระทบจานอาหาร

การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศส่งผลกระทบต่อผลผลิตทางการเกษตรอย่างชัดเจน พืชหลายชนิดเริ่มปลูกยากขึ้น ผลผลิตลดลงและราคาสูงขึ้น เช่น ข้าว กาแฟ มัทฉะ และอะโวคาโด สิ่งที่เคยกินได้ง่ายๆ กำลังหายไปจากโต๊ะอาหาร ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา หลายคนเริ่มสังเกตได้ว่าอาหารบางเมนูที่เคยหาได้ง่ายกลับมีราคาสูงขึ้น หรือบางอย่างเริ่มขาดตลาดเป็นช่วงๆ ทั้งหมดไม่ใช่เรื่องบังเอิญ หากแต่มันคือผลสะเทือนโดยตรงจาก “โลกร้อน” ที่เริ่มคืบคลานเข้ามาใกล้จานข้าวของเราทุกวัน

ecoeyes_what_you_need_to_know_about_svalbard_global_seed_vault_SPACEBAR_Photo03.jpg

“ข้าว” ซึ่งเป็นอาหารหลักของครึ่งหนึ่งของประชากรโลก กำลังได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงจากอุณหภูมิที่สูงขึ้น งานวิจัยจาก International Rice Research Institute (IRRI) พบว่าเพียงแค่การเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิเฉลี่ย 1°C อาจทำให้ผลผลิตข้าวลดลงถึง 10% ต่อปี นอกจากนี้ยังมีงานศึกษาหลายชิ้นที่ระบุว่า หากอุณหภูมิโลกยังคงเพิ่มขึ้นเช่นนี้ ข้าวบางพันธุ์อาจไม่สามารถเพาะปลูกในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ได้ในอีกไม่กี่สิบปีข้างหน้า

“กาแฟ” ก็ไม่ต่างกัน โดยเฉพาะพันธุ์อาราบิก้าที่ต้องการอากาศเย็นและระดับความสูงเฉพาะ งานวิจัยจาก Climate Institute คาดการณ์ว่า พื้นที่ที่เหมาะสมสำหรับการปลูกกาแฟอาราบิก้าจะลดลง 50% ภายในปี 2050 หากโลกร้อนขึ้นตามอัตราปัจจุบัน ผลกระทบดังกล่าวจะไม่เพียงทำให้ราคากาแฟสูงขึ้น แต่ยังส่งผลต่ออรรถรสการดื่ม เพราะคุณภาพ รสชาติ และความหลากหลายของกาแฟลดลง

“มัทฉะ” “ชาเขียว” “อะโวคาโด” เป็นพืชที่ต้องการสภาพภูมิอากาศเฉพาะและมีความอ่อนไหวต่อการเปลี่ยนแปลงของความชื้นในดินหรืออุณหภูมิ ก็เริ่มมีสัญญาณว่าผลผลิตลดลง และอาจต้องย้ายแหล่งเพาะปลูกไปยังพื้นที่ใหม่ ซึ่งไม่เพียงเพิ่มต้นทุนเท่านั้น แต่ยังทำให้การผลิตอาหารเหล่านี้เสี่ยงต่อความไม่แน่นอนในอนาคตมากขึ้น

โลกร้อนส่งผลให้สารอาหารในพืชลดลง

สิ่งที่น่ากังวลไม่น้อยไปกว่าการลดลงของผลผลิตคือ แม้พืชยังโตได้แต่สารอาหารในพืชหายไป  หรือคุณค่าทางโภชนาการในพืชลดลง เพราะการเพิ่มขึ้นของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในชั้นบรรยากาศส่งผลให้พืชสังเคราะห์น้ำตาลได้มากขึ้น แต่ลดการดูดซึมสารอาหารจากดิน ทำให้สารอาหารในพืชลดลงอย่างมีนัยสำคัญ ผลการศึกษาพบว่าในปี 2004 เมื่อเปรียบเทียบกับปี 1950 พบว่าโปรตีนลดลง 6% และวิตามินบี 2 (ไรโบฟลาวิน) ลดลงมากถึง 38%

งานวิจัยที่ตีพิมพ์ในวารสาร Science Advances โดยทีมวิจัยนานาชาติจากจีน ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย และสหรัฐฯ ชี้ว่า การเพิ่มขึ้นของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในบรรยากาศ ซึ่งเป็นตัวการของภาวะเรือนกระจก ทำให้พืชสังเคราะห์แสงได้มากขึ้นและผลิตน้ำตาลได้เร็วขึ้น แต่ในทางกลับกันกลับลดความสามารถในการดูดซึมสารอาหารที่จำเป็นจากดิน ผลลัพธ์ที่ได้ไม่เพียงแปลว่าเรากินข้าวถ้วยเดิมแต่ได้สารอาหารน้อยลง แต่ยังหมายความว่าเราต้องกินมากขึ้นเพื่อให้ได้สารอาหารเท่าเดิม ซึ่งอาจนำไปสู่ปัญหาอย่าง “โรคอ้วน” และ “ภาวะทุพโภชนาการ” โดยเฉพาะในกลุ่มเปราะบาง เช่น เด็กเล็ก ผู้สูงอายุ และสตรีมีครรภ์

royal-ploughing-ceremony-from-prophecy-to-survival-in-global-warming-SPACEBAR-Photo03.jpg
ภาพ : พุฒิพงศ์ ธัญญพันธุ์

แล้วอาหารจะพอไหมในยุคที่โลกร้อนและเดือด?

เรื่องนี้โลกจับตาและบรรจุอยู่ในวาระเร่งด่วน ประเด็น “ความมั่นคงทางอาหาร” เป็นคำที่ถูกกล่าวถึงในช่วงทศวรรษ 1970 ซึ่งเป็นช่วงที่โลกกำลังเกิดวิกฤตขาดแคลนอาหารอย่างหนัก ทำให้องค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ หรือ FAO ได้ให้นิยมคำว่า “ความมั่นคงทางอาหาร” คือสภาวะที่ทุกคนและทุกช่วงเวลาเข้าถึงอาหารได้อย่างเพียงพอ ไม่ว่าจะด้วยความสามารถทางกายภาพหรือเศรษฐกิจก็ตาม อีกทั้งอาหารที่ได้รับจะต้องปลอดภัย มีคุณค่าด้านโภชนาการต่อร่างกาย เพื่อให้เกิดความพึงพอใจและตอบสนองได้อย่างเหมาะสม

ความมั่นคงทางอาหารจึงไม่เพียงแค่หมายถึงการมีอาหารที่เพียงพอเท่านั้น แต่ยังเกี่ยวข้องกับสุขภาพ สิ่งแวดล้อม ความยากจน และอนาคตของมนุษย์โดยรวม หากขาดความมั่นคงทางอาหาร เป้าหมายอื่นของ SDGs อาจประสบความล้มเหลว เพราะความมั่นคงทางอาหารถือเป็นหนึ่งใน “รากฐาน” ที่สำคัญสำหรับการพัฒนาอย่างยั่งยืน เช่น

  • SDG 1: ขจัดความยากจน หากคนจนต้องใช้รายได้ทั้งหมดเพื่อซื้ออาหาร พวกเขาจะขาดโอกาสในการพัฒนาในด้านอื่นๆ เช่น การศึกษาและสุขภาพ
  • SDG 3: สุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี การขาดอาหารและสารอาหารที่สำคัญจะนำไปสู่ภาวะทุพโภชนาการและโรคเรื้อรัง เช่น โรคเบาหวานและความดันโลหิตสูง รวมถึงการเจริญเติบโตช้าในเด็ก


ecoeyes_what_you_need_to_know_about_svalbard_global_seed_vault_SPACEBAR.jpg
ธนาคารเมล็ดพันธุ์โลก (Svalbard Global Seed Vault

แผนรักษาความปลอดภัยของพืชและแหล่งอาหารโลก

เราเคยนำเสนอเรื่อง ธนาคารเมล็ดพันธุ์โลก หรือ Svalbard Global Seed Vault ในประเทศนอร์เวย์ ที่ได้รับฉายาว่า ห้องนิรภัยวันสิ้นโลก สถานที่เก็บรักษาเมล็ดพันธุ์พืชสำคัญจากทั่วโลก เพื่อปกป้องความหลากหลายทางพันธุกรรมและเป็นหลักประกันความมั่นคงทางอาหารในอนาคต

ห้องนิรภัยวันสิ้นโลกแห่งนี้สนับสนุนเป้าหมาย SDG 2 (Zero Hunger) ยุติความหิวโหย และส่งเสริมเกษตรกรรมที่ยั่งยืน SDG 12 การบริโภคและการผลิตที่ยั่งยืน รวมถึง SDG 13 การรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยการจัดเก็บเมล็ดพันธุ์ในห้องเย็นอุณหภูมิ -18°C ภายใต้สภาพแวดล้อมที่คงที่และปลอดภัย แม้เกิดไฟฟ้าดับ ชั้นดินเยือกแข็งธรรมชาติจะช่วยรักษาเมล็ดพันธุ์ไว้ได้

ปัจจุบันมีการฝากเมล็ดพันธุ์จากทั่วโลกราว 1.4 ล้านตัวอย่าง มากกว่า  6,000 สปีชีส์ ซึ่งไม่รวมพันธุ์ที่ดัดแปลงพันธุกรรมตามกฎหมายของนอร์เวย์ เมล็ดพันธุ์เหล่านี้ไม่เพียงเป็นอาหารในอนาคต แต่ยังสะท้อนวัฒนธรรม วิถีชีวิต และความหลากหลายทางชีวภาพของมนุษย์ สำหรับประเทศไทยได้ส่งเมล็ดพันธุ์เข้าร่วมหลายครั้ง ตั้งแต่ปี 2013 จนถึงปี 2025 ล่าสุดส่งเมล็ดพันธุ์ข้าวไทยกว่า 300 ตัวอย่าง โดยก่อนหน้านั้นได้ส่งพืชท้องถิ่นหลายชนิด เช่น พริก ผักบุ้ง มะเขือเทศ ถั่ว และข้าวโพด

ธนาคารเมล็ดพันธุ์นี้จึงเป็นมากกว่าแหล่งเก็บเมล็ด แต่คือความหวังของมนุษยชาติในวันที่โลกเผชิญวิกฤตอาหาร ภัยพิบัติ หรือสงคราม เพราะเมล็ดเล็กๆ เหล่านี้ อาจเป็นกุญแจสำคัญในการเริ่มต้นใหม่ของโลก

การกระทำที่เป็นรูปธรรมคือหนทางสู่ความยั่งยืน

การรับมือกับวิกฤตโลกร้อนและความมั่นคงทางอาหารต้องการความร่วมมือจากทุกภาคส่วน การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก การส่งเสริมการเกษตรที่ยั่งยืน และการบริโภคอาหารที่หลากหลายและมีคุณค่าทางโภชนาการ เป็นแนวทางที่สามารถช่วยลดผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศได้

วันพืชมงคลในปีนี้ไม่เพียงแต่เป็นประเพณีที่สืบทอดจากบรรพกาล แต่ยังเป็นกระจกสะท้อนความจริง ในโลกที่ร้อนขึ้นเราอาจต้องทำนายมากกว่าฝนฟ้าและผลผลิต แต่ต้องถามตัวเองว่า เรากำลังทำอะไรเพื่อให้โต๊ะอาหารของเราในวันข้างหน้ายังมีอาหารเพียงพอ?

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์