เมื่อวันที่ 26 มิถุนายนที่ผ่านมา นพ.ดิเรก ขำแป้น รองอธิบดีกรมควบคุมโรค ได้เปิดเผยข้อมูลที่น่าสนใจเกี่ยวกับอุบัติบนท้องถนน ในงานประชุมเชิงปฏิบัติการพัฒนาศักยภาพวิทยากรมืออาชีพเพื่อจัดการความปลอดภัยทางถนนในกลุ่มเด็กและเยาวชน (Thailand Road Safety Team) เพื่อขับเคลื่อนวิทยากรมืออาชีพจัดการความปลอดภัยทางถนน พัฒนาหลักสูตร ‘วัคซีนจราจร’ ปรับทัศนคติ ส่งเสริมการสวมหมวกนิรภัย จัดการความปลอดภัยของรถนักเรียน ที่ จ.เชียงใหม่ ว่า จากข้อมูลของ ศูนย์ความร่วมมือด้านข้อมูลการบาดเจ็บ กรมควบคุมโรค พบว่า กลุ่มเด็กและเยาวชนเป็นกลุ่มที่เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนมากที่สุด
ในช่วง 10 ปี ที่ผ่านมา (พ.ศ. 2554 - 2563) มีเด็กและเยาวชนช่วงอายุ 10 - 19 ปี เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนน จำนวน 26,930 คน หรือเฉลี่ยปีละ 2,693 คน และคาดการณ์แนวโน้มว่าจะเสียชีวิตเพิ่มขึ้น
และจากการตรวจสอบข้อมูลเพิ่มเติม จากรายงานของกรมควบคุมโรค เรื่อง เด็กและเยาวชนไทยตายจากอุบัติเหตุทางถนน ยกระดับปัญหาการตายจากอุบัติเหตุทางถนนของเด็กและเยาวชนเป็น ‘วาระเร่งด่วน’ พบมีการคาดการณ์ว่า ‘ถ้ายังแก้ปัญหาแบบเดิม และไม่มีเป้าหมายชัดเจน’ ในอีก 11 ปีข้างหน้า (2563-2573) จะมีเด็กและเยาวชน ‘เสียชีวิต’ ถึง 40,421 คน หรือเฉลี่ยปีละ 3,675 คน/ปี แต่หากลดการตายได้ปีละ 5% ใน 10 ปีจะช่วยชีวิตเด็กและเยาวชนได้ถึง 14,892 คน

รายงานฉบับนี้ ยังระบุปัจจัยการเกิดอุบัติเหตุไว้หลายส่วน ทั้งปัจจัยที่มาจากตัวบุคคล เช่น ความสามารถในการขับขี่รถจักรยานยนต์ การขับเร็ว การถูกคู่กรณีกระทำ ความบกพร่องของยานพาหนะ และสภาพแวดล้อมอื่นๆ พร้อมเสนอแนวทางการลดความสูญเสียว่า หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องพิจารณาหลักสูตรการเรียนรู้ในแต่ละระดับอย่างเหมาะสม ภายใต้คอนเซ็ปต์ ‘มองอันตรายให้ออก บอกความเสี่ยงให้ได้ แก้ไขความเสี่ยงให้เป็น’ เช่น พัฒนาหลักสูตรการขับขี่ยานพาหนะให้เป็น , การเรียนรู้วิธีเอาตัวรอดจากอุบัติเหตุฉุกเฉิน ที่สำคัญต้องมี ‘เจ้าภาพ’ ที่เป็นหน่วยงานหรือสถาบัน ที่ทำหน้าที่ขับเคลื่อนการแก้ปัญหาการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุบนท้องถนนของเด็กและเยาวชนโดยเฉพาะ เพื่อช่วยชีวิตเด็กๆ ให้ได้มากที่สุด

ทั้งนี้ แม้การสูญเสียส่วนหนึ่งจะมาจากปัจจัยส่วนบุคคล แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าความปลอดภัยของเด็กและเยาวชน ส่วนหนึ่งเกิดจาก ‘การถูกกระทำ’ และ ‘การพลั้งพลาดจากผู้ใหญ่’ ไม่ว่าจะเป็นเคสอุบัติเหตุจากรถโรงเรียน หรือโศกนาฏกรรมสุดสะเทือนใจจากเหตุเพลิงไหม้รถบัสนักเรียน รร.วัดเขาพระยา จ.อุทัยธานี ที่กำลังพานักเรียนไปทัศนศึกษา อันเป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิต 23 ราย
ท่ามกลางการตั้งคำถามของสังคมว่า เมื่อไหร่ประเทศไทยจะสอบผ่านเรื่องการถอดบทเรียนสักที? ถึงเวลาแล้วหรือยังที่นำประสบการณ์ต่างๆ มาแก้ไขให้เป็นรูปธรรมอย่างแท้จริง เพราะประเทศไทยเองก็มีหน่วยงานที่อยู่ในความดูแลของภาครัฐ ภาคประชาสังคม ภาคเอกชน และองค์กรอิสระ สถาบันต่างๆ ที่กำกับดูแล ควบคุม และสะท้อนปัญหาเกี่ยวกับความปลอดภัยของเด็กๆ การดูแลรับมือเหตุฉุกเฉิน ความปลอดภัยของการให้บริการรถสาธารณะ และความปลอดภัยบนท้องถนน อยู่เป็นจำนวนมาก อาทิ
- ศูนย์อำนวยความปลอดภัยทางถนน
- กรมขนส่งทางบก กระทรวงคมนาคม
- กระทรวงศึกษาธิการ
- สำนักงานตำรวจแห่งชาติ
- กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย
- กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข
- กองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)
จึงน่าตั้งคำถามว่า เหตุใด ‘ภาครัฐ’ ยังคงพูดถึงการถอดบทเรียนเดิมๆ แบบซ้ำซาก โดยไม่อาจแก้ปัญหาให้สำเร็จเป็นรูปธรรมได้ แม้จะมีข้อมูลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเป็นขุมกำลังอยู่มากมาย
และแน่นอนว่าหน้าที่ในการแก้ปัญหาไม่ได้มีแค่ ‘ภาครัฐ’ ที่ต้องรับผิดชอบเพียงอย่างเดียว เพราะการแก้ปัญหาเหล่านี้จะสำเร็จไม่ได้เลย หากผู้ที่เกี่ยวข้องไม่ช่วยกันปฏิบัติตามกฎหมายและหน้าที่ของตัวเองให้ดี โดยเฉพาะผู้ประกอบการรถบัส หรือผู้ให้บริการรถสาธารณะ หากละเลยการตรวจสอบสภาพรถให้ปลอดภัยและพร้อมใช้งาน คงไม่ใช่ครั้งสุดท้ายที่การเดินทางด้วยยิ้มและเสียงหัวเราะของเด็กๆ จะจบลงด้วยเสียงสะอื้นของพ่อแม่ที่ต้องถูกพรากดวงใจไปอย่างไม่มีวันหวนคืน