‘องค์กรลับเด็กช่าง’ ภัยสังคมสู่ภัยความมั่นคง?

23 พ.ย. 2566 - 09:58

  • อุปนายกสมาคมศิษย์เก่าอุเทนถวาย เผย ‘องค์กรลับเด็กช่าง’ มีอยู่จริงและมีมานานแล้ว

  • แนะแก้ปัญหานี้อย่างจริงจัง และเพิ่มบทลงโทษเยาวชนที่ทำผิดให้แรงขึ้น ก่อนที่ปัญหานี้จะกลายเป็นภัยความมั่นคงของชาติ

  • นักวิชาการ ชี้ ปัญหาความขัดแย้งระหว่างสถาบัน เป็นเรื่องทัศนคติและความเชื่อแบบผิดๆ ที่ถูกรุ่นพี่ปลูกฝั่งมาแบบรุ่นต่อรุ่น

secret-student-organization-social-danger-to-security-danger-SPACEBAR-Hero.jpg

จากเหตุอุกอาจกลางเมือง กลุ่มเด็กช่างไล่ยิงคู่อริกลางถนนจนเสียชีวิต ซ้ำร้ายยังยิงพลาดไปโดน ‘ครูเจี๊ยบ’ ครูสอนคอมพิวเตอร์ โรงเรียนพระหฤทัยคอนแวนต์เสียชีวิต จนกลายเป็นข่าวใหญ่กระชากประเด็นความขัดแย้งระหว่างนักศึกษาต่างสถาบันให้กลับมาอยู่ในความสนใจของสังคมอีกครั้ง 

ล่าสุด เรื่องนี้ดูเหมือนจะไม่ใช่แค่เรื่องความขัดแย้งระหว่างสถาบันอีกต่อไป เมื่อตำรวจนครบาลเปิดปฎิบัติการล่ามือยิงนักศึกษาอุเทนถวายและครูเจี๊ยบไปเมื่อวานที่ผ่านมา (22 พ.ย.) แล้วพบข้อมูลว่า กลุ่มผู้ก่อเหตุมีพฤติการณ์คล้ายกับ ‘องค์กรอาชญากรรม’ มีรูปแบบการทำงานที่ชัดเจน ไม่ใช่แค่การทะเลาะกันธรรมดา เช่น มีรุ่นพี่ที่เคยผ่านประสบการณ์มาเป็นพี่เลี้ยง มีเซฟเฮาส์หลายแห่ง มีกองทุนไว้คอยจัดหาอุปกรณ์ก่อเหตุ กองทุนสำหรับการประกันตัวและจ้างทนายเพื่อต่อสู้คดี ซึ่งเงินบางส่วนเป็นเงินสีเทา

และที่เลวร้ายที่สุด คือ เมื่อมีคนถูกจับได้ และเข้าสู่ขั้นตอนเบิกความในชั้นศาล พรรคพวกที่เหลือจะเข้ามานั่งฟังการไต่สวน เพื่อนำไปพัฒนารูปแบบการก่อเหตุและหลบเลี่ยงการถูกจับกุมในอนาคต

info-the-beggar-problem-in-thailand-cannot-end-because-the-government-is-not-serious (1).jpg

— ‘องค์กรลับเด็กช่าง’ มีจริงหรือ? —

ข้อสงสัยที่ว่า ‘องค์กรลับเด็กช่าง’ มีจริงหรือไม่ และมีมานานแค่ไหน เรื่องนี้ ‘เดชา เดชะตุงคะ’ อุปนายกสมาคมศิษย์เก่าอุเทนถวาย เล่าเรื่องนี้ให้เราฟังว่า ‘องค์กรลับเด็กช่าง’ มีจริงและมีมานานแล้ว แต่ที่ผ่านมาไม่ได้ก่อให้เกิดความรุนแรงหรือสูญเสียมากนัก 

ส่วนจุดเริ่มต้นของ ‘องค์กรลับหรือกลุ่มลับ’ พวกนี้ ‘เดชา’ อธิบายว่า มันเริ่มมาจากปัญหาความขัดเเย้งระหว่างสถาบัน พอมีเรื่องตีกัน ปะทะกัน รุ่นที่จบแล้วหรือบางคนเรียนไม่จบเพราะถูกรีไทร์ แต่ยังวนเวียนอยู่ที่สถาบัน ก็คิดหาวิธีตั้งกลุ่มก๊วนขึ้นมา เพราะมองว่าหากแยกกันอยู่ อาจตกเป็นเป้าโจมตีได้ง่าย โดยชวนนักศึกษาปัจจุบันให้เข้ามาร่วมกลุ่มด้วย 

และจากข่าวการบุกค้นของเจ้าหน้าที่เมื่อวานนี้ เห็นชัดว่ากลุ่มดังกล่าว เป็นขบวนการที่ทำมานานแล้ว และที่สำคัญ คือ มีท่อน้ำเลี้ยงคอยให้การช่วยเหลือ ซึ่ง ‘เดชา’ เชื่อว่าคนที่ทำหน้าที่เป็นท่อน้ำเลี้ยงคงหวังผลประโยชน์อย่างใดอย่างหนึ่งกลับมา เช่น เรื่องชื่อเสียง และลักษณะของคนกลุ่มนี้เขาต้องการการยอมรับและยกย่องว่าเป็นเหมือนฮีโร่คนหนึ่ง

“ ผมคิดว่าเขาต้องการเป็นฮีโร่ในกลุ่มของเขาให้ได้ เป็นการทำเพื่อองค์กร ไม่ได้ทำเพื่อส่วนตัว รุ่นพี่ไม่ทำเองนะ รุ่นพี่เป็นท่อน้ำเลี้ยงอย่างเดียว ความรุนแรงมันแก้ยากมาก เพราะสังคมตอนนี้ มันเข้าถึงอาวุธได้ง่าย ซึ่งรัฐต้องไปจัดการเรื่องนี้ ”

‘เดชา เดชะตุงคะ’ อุปนายกสมาคมศิษย์เก่าอุเทนถวาย กล่าว

— จากภัยสังคมสู่ภัยความมั่นคง —

‘เดชา’ ยังมองว่า หากเรายังไม่สามารถแก้ปัญหาที่เป็นภัยสังคมในตอนนี้ได้ มันจะกลายเป็นภัยระดับชาติ และหากยังปล่อยไว้อีกอาจกลายเป็นองค์กรข้ามชาติ ที่กลายเป็นปัญหาใหญ่โตมากขึ้น ซึ่งน่าเป็นห่วงว่าเด็กรุ่นใหม่ในอนาคตอาจต้องเจอกับปัญหาลักษณะนี้อีก

“ต้องยอมรับตอนนี้ช่างเทคนิคเราขาด แต่ไม่มีความพยายามจะเพิ่มตรงนี้เลย ไม่มีงบสนับสนุน ปล่อยให้เด็กกลัวเรื่องตีกัน แต่คุณไม่หาทางแก้ ตอนนี้มันเกิดกว่าภัยสังคมแล้ว มันจะเป็นภัยระดับชาติ และเมื่อเป็นภัยระดับชาติ ทำไมไม่ยกให้เป็นวาระเเห่งชาติเลยว่าจะแก้ไขอย่างไร เมื่อตำรวจพูดว่าเป็นองค์กรอาชญากรรม”

‘เดชา เดชะตุงคะ’ อุปนายกสมาคมศิษย์เก่าอุเทนถวาย กล่าว

Untitled design (3).png
Photo: ‘เดชา เดชะตุงคะ’ อุปนายกสมาคมศิษย์เก่าอุเทนถวาย (คนกลางเสื้อคลุมสีขาว)

— แนวททางการแก้ปัญหา —

สำหรับแนวทางการแก้ปัญหา ‘เดชา’ ยังเสนอว่า 

1.ปลูกฝัง ให้เด็กรู้จัก ความรัก ความสามัคคี ตั้งแต่เล็กๆ และให้การศึกษาเพียงพอที่จะคิดและตัดสินใจได้อย่างมีเหตุผล ทำแล้วจะเกิดผลกระทบอะไรตามมา เช่น เพิ่มวิชาเรียนเรื่อง หน้าที่พลเมือง ศีลธรรม และสร้างกิจกรรมสัมพันธ์ เช่น กิจกรรมลูกเสือ-เนตรนารี หรือกีฬาต่างๆ 

2.ภาครัฐ-สถาบันมีมาตรการป้องกัน เช่น สถาบันการศึกษามีการจัดกลุ่มรายชื่อนักศึกษาที่เป็นกลุ่มเสี่ยง ตำรวจ กระทรวงมหาดไทย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องมีมาตรการเชิงรุก สำนักงานตำรวจแห่งชาติต้องมีมาตรการแก้ปัญหาเรื่องเด็กตีกันให้ชัดเจน เพราะที่ผ่านมาไม่มีความชัดเจนเรื่องนี้เลย 

3.ปราบปรามให้ชัดเชน ถ้าเด็กที่ก่อเหตุพักอยู่กับผู้ปกครองด้วย ผู้ปกครองต้องได้รับโทษเช่นกัน ฐานไม่ดูแลและปล่อยให้เด็กออกไปก่อเหตุ และเพิ่มบทลงโทษของเยาวชนให้รุนแรงขึ้น ไม่เช่นนั้นจะกลายเป็นช่องโหว่ทำให้เด็กคิดว่าทำผิดแล้วจะไม่ได้รับโทษ เพราะยังเป็นเยาชนอยู่

— รุ่นพี่ ศิษย์เก่า และทัศนคติความเชื่อ เชื้อเพลิงชั้นเยี่ยมของความขัดแย้ง —

นอกจากนี้ ผู้เขียนยังได้ พูดคุยกับ ‘เต้ บุรณพนธ์’ หรือ ‘อัครวุธ ไกรศรีสมบัติ’ อดีตเด็กช่างที่เคยผ่านการตีรันฟันแทงกับนักศึกษาที่เป็นคู่อริมาก่อน เขามองว่าปัญหาเรื่องเด็กตีกัน สิ่งแรกที่ควรแก้ คือ เริ่มต้นที่รุ่นพี่ ไม่ใช่เด็กปัจจุบัน โดยเฉพาะเรื่องการรับน้องและการสร้างค่านิยมที่ผิดๆ และมองว่าสื่อไม่ควรนำเสนอข่าวเพียงด้านเดียวว่าเด็กช่างเป็นเด็กไม่ดี เพราะปัญหาที่เกิดขึ้น มาจากคนบางกลุ่มไม่ใช่เด็กอาชีวะหรือเด็กช่างทั้งหมด จึงอยากให้นำเสนอข่าวในด้านดีๆ ด้วย เพื่อให้เด็กกลุ่มนี้มีกำลังใจและได้รับการยอมรับจากสังคม ไม่ไช่ถูกผลักให้เป็นคนไม่ดี

Untitled design (4).png
Photo: ภาพปฎิบัติการ 'ล่ามือยิงนักศึกษาอุเทนถวายและครูเจี๊ยบ' ของตำรวจสืบนครบาล

สอดคล้องกับความเห็นของ ‘ดร.ชลัท ประเทืองรัตนา’ นักวิชาการผู้เชี่ยวชาญ สำนักสันติวิธีและธรรมาภิบาล สถาบันพระปกเกล้า ที่เคยทำข้อมูลวิจัย เรื่องแนวทางในการอยู่ร่วมกันอย่างสันติระหว่างนักศึกษาสถาบันเทคโนโลยีปทุมวันกับ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลตะวันออกวิทยาเขตอุเทนถวาย มองว่า ความขัดแย้งของ 2 สถาบันนี้ เป็นปัญหาที่มีมานานเกือบ 50 ปี ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมามีทั้งคนที่ได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิต จนกลายเป็นความโกรธแค้นที่สะสมและส่งต่อกันมา 

โดยมี ‘รุ่นพี่และศิษย์เก่า’ บางคนคอยปลูกฝังสิ่งที่ไม่ดีให้ ประกอบกับอาจมีความแค้นส่วนตัวอยู่ด้วย จึงทำให้เกิดการเอาคืนกันไปมาไม่รู้จบ ซึ่งรุ่นน้องส่วนใหญ่ของ 2 สถาบันนี้ มักเชื่อรุ่นพี่มากกว่าอาจารย์ 

‘ดร.ชลัท’ ยังมองว่าปัญหาความขัดแย้งระหว่าง 2 สถาบันนี้ คงไม่หายขาด แต่สามารถบรรเทาความรุนแรงลงได้ ซึ่งวิธีการที่จะบรรเทาเหตุตรงนี้ไปได้ ต้องแก้หลายส่วน เช่น เรื่องทัศนคติความเชื่อ การแก้ปัญหาเชิงโครงสร้าง การหยุดความรุนแรงของ 2 สถาบัน และการทำหน้าที่ของตำรวจที่ต้องจับตัวคนร้ายให้ได้ 

นอกจากนี้ ต้องส่งเสริมกำลังใจของผู้บริหารและครูอาจารย์ของ 2 สถาบันนี้ อย่างต่อเนื่องและจริงจัง เพราะคนกลุ่มนี้ถือว่ามีความสำคัญมากในการแก้ปัญหาที่เกิดขึ้น เช่น มีบางช่วงที่เหตุความรุนแรงของ 2 สถาบันนี้ หายไป 2-3 ปี นั่นก็เป็นผลที่มาจากครูอาจารย์และผู้บริหาร รวมถึงเครือข่ายทำงานกันอย่างจริงจังและต่อเนื่อง และไม่ควรโยกย้ายผู้บริหารบ่อยๆ เพราะจะทำให้นโยบายที่วางไว้ขาดความต่อเนื่อง ‘ดร.ชลัท’ ย้ำว่าปัญหานี้จะแก้ได้ ต่อเมื่อทุกฝ่ายให้ความร่วมมือและช่วยกันแก้

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์