‘สว.’ ไฟเขียวร่างแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายประมง ย้ำหลักการช่วยชาวบ้าน ป้องทำผิด กม.

13 ม.ค. 2568 - 10:55

  • ‘วุฒิสภา’ ไฟเขียวหลักการ ‘พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.ก.การประมง’

  • ‘รมช.เกษตรฯ’ ยันแก้ไขเพื่อป้องทำผิด กม. - บรรเทาเดือดร้อนชาวประมง

  • พร้อมลดโทษจากปรับสูงสุดไม่เกิน 30 ล้าน เป็นไม่เกิน 1 ล้านบาท

Senator-green-light-in-principle-for-drafting-amendments-to-fisheries-laws -SPACEBAR-Hero.jpg

รัฐสภา (13 มกราคม 2568) ในการประชุมวุฒิสภา ที่มี พล.อ.เกรียงไกร ศรีรักษ์ รองประธานวุฒิสภาคนที่ 1 ทำหน้าที่ประธานการประชุม พิจารณาเรื่องด่วน ร่างพระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.) แก้ไขเพิ่มเติมพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) การประมงปี 2558  ในวาระรับหลักการ 

โดย อัครา พรหมเผ่า รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (รมช.เกษตรและสหกรณ์) ชี้แจงว่า ในร่างกฎหมายฉบับนี้มีแก้ไข 71 มาตรา 24 ประเด็น เพื่อจัดระเบียบการประมงในประเทศไทย และน่านน้ำทั่วไปเพื่อป้องกันไม่ให้มีการทำการประมงโดยผิดกฎหมาย เพื่อรักษาทรัพยากรสัตว์น้ำให้อยู่ในภาวะเป็นแหล่งอาหารของมนุษยชาติอย่างยั่งยืน และรักษาสภาพแวดล้อมให้ดำรงอยู่อย่างเหมาะสม รวมทั้งคุ้มครองสวัสดิภาพของคนประจำเรือและป้องกันการใช้แรงงานที่ผิดกฎหมาย และส่งเสริมการมีส่วนร่วมสนับสนุนชุมชนประมงท้องถิ่นให้เกิดความเหมาะสม

ทั้งนี้แก้ไขบทบัญญัติที่เกี่ยวข้องกับผู้ขอรับใบอนุญาตทำการประมงพื้นบ้านด้วยการกำหนดเฉพาะผู้มีสัญชาติไทยเท่านั้น ยกเลิกบทบัญญัติที่ห้ามผู้ได้รับใบอนุญาตทำประมงพื้นบ้านทำประมงในเขตทะเลนอกชายฝั่ง เพื่อไม่ให้เป็นการจำกัดสิทธิ์ของประมงพื้นบ้าน แก้ไขเพิ่มเติมหลักเกณฑ์การขออนุญาตและการขออนุญาตทำการประมงในเขตทะเลนอกเหนือน้ำไทยเป็นการส่งเสริมประมงไทยที่มีศักยภาพที่ต้องทำตามหลักเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนด

รมช.เกษตรและสหกรณ์ กล่าวต่อว่า แก้ไขเพิ่มเติมหลักเกณฑ์และวิธีการออกประกาศห้ามไม่ให้ผู้ใดจับสัตว์น้ำหรือนำสัตว์น้ำขึ้นเรือประมง ให้การออกประกาศห้ามจับสัตว์น้ำ หรือนำขึ้นเรือประมง จะต้องได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการนโยบายการประมงแห่งชาติ เพิ่มข้อยกเว้นให้สามารถใช้เครื่องมืออวนล้อมจับที่มีช่องตาอวนเล็กกว่า 2.5 เซนติเมตรทำการประมงในเวลากลางคืนตามหลักเกณฑ์และประกาศกำหนด ที่ต้องกำหนดเรื่องใช้แสงล่อไว้ด้วย 

ปรับปรุงการกระทำที่กำหนดเป็นการทำประมงฝ่าฝืนกฎหมายอย่างร้ายแรง แยกการทำประมงนอกน่านน้ำไทย และการประมงในน่านน้ำไทย พร้อมปรับปรุงบทกำหนดโทษโดยลดอัตราโทษ จากปรับสูงสุดไม่เกิน 30 ล้านบาท เป็นปรับสูงสุดไม่เกิน1 ล้านบาท หรือปรับจำนวน 5 เท่าของจำนวนมูลค่าสัตว์น้ำที่ได้จากการทำประมงแล้วแต่จำนวนใดจะสูงกว่า ซึ่งผู้ที่กระทำความผิดนี้จะถูกลงโทษ 5 เท่าของมูลค่าที่ได้สร้างความเสียหายต่อทรัพยากร และยังต้องโทษปรับตามขนาดเรือที่กระทำความผิดตามหลักสากล เป็นการลงโทษต่อ 1 คนไม่ใช่เรือ 1 ลำ

“ประโยชน์ที่ประชาชนจะได้รับจากกฎหมายนี้จะมีผลเป็นการบรรเทาความเดือดร้อนของชาวประมง ผู้ประกอบอาชีพการประมงโดยสุจริตให้ได้รับความเป็นธรรมโดยเฉพาะการปรับปรุงบทกำหนดโทษให้สอดคล้องกับสภาพความร้ายแรงของการกระทำความผิด ตลอดจนส่งเสริมให้ผู้ประกอบอาชีพการประมงและอุตสาหกรรมการประมงของประเทศฟื้นตัวอย่างเหมาะสมสอดคล้องกับพันธะกรณีของประเทศ ควบคู่กับการรักษาทรัพยากรสัตว์น้ำเพื่อเป็นแหล่งอาหารต่อไป”

อัครา พรหมเผ่า รมช.เกษตรฯ

ด้าน ธวัช สุระบาล สมาชิกวุฒิสภา (สว.) ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) การเกษตรและสหกรณ์ ของวุฒิสภา ชี้แจงว่า เหตุผลในการแก้ไขกฎหมายเนื่องจากมีบางมาตราไม่สอดคล้องกับการประกอบอาชีพการทำประมงในประเทศไทย  และไม่ขัดต่อหลักการทำประมงสากลตามพันธะกรณีระหว่างประเทศ โดยในมาตรา 69 วรรคสอง ที่มีการกำหนดให้มีการทำประมงนอกเขต 12 ไมล์ทะเลให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์วิธีการเงื่อนไขตามที่รัฐมนตรีประกาศกำหนด

ทั้งนี้ประกาศดังกล่าวต้องกำหนดในเรื่องการใช้แสงไฟล่อไว้ด้วยการกำหนดหลักเกณฑ์ จะต้องมีการระมัดระวังและรัดกุมอย่างยิ่งและการใช้ไฟนั้นอาจส่งผลให้มีการจับสัตว์น้ำที่ไม่ได้อยู่ในเป้าหมาย และสัตว์น้ำวัยอ่อน ดังนั้นต้องมีการรับฟังความคิดเห็นจากผู้ที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติมทั้งในส่วนของภาครัฐและภาคเอกชนในการกำหนดหลักเกณฑ์ดังกล่าว ซึ่งการปรับปรุงกฎหมายควรแยกความผิดเป็น2 กรณีคือในน่านน้ำไทยและทะเลนอกน่านน้ำไทยเพื่อให้สอดคล้องกับบริบทของประเทศไทย

ภายหลังเปิดให้สมาชิกอภิปรายแสดงความคิดเห็นว่าร่างกฎหมายการประมง เปิดให้ใช้อวนตาถี่จับสัตว์น้ำในเวลากลางคืน หวั่นจับลูกสัตว์น้ำวัยอ่อน โดย นรเศรษฐ์ ปรัชญากร สว. แสดงความกังวลว่าจะทำให้เกิดปัญหาตามมาในหลายมิติ เช่น ลดทอนโอกาสในตลาดเศรษฐกิจ โดยหยิบยกการแก้ไขเปิดให้ใช้อวนตาถี่น้อยกว่า 2.5 เซนติเมตรจับสัตว์น้ำตอนกลางคืนในระยะกว่า 12 ไมล์ทะเลได้ เพื่อเปิดให้ประมงพาณิชย์จับปลากะตักได้มากขึ้น แต่จะทำให้จำนวนสัตว์น้ำทางเศรษฐกิจลดลง โดยเฉพาะการเปิดไฟล่อจับ ทำให้ในอนาคตจะจับสัตว์น้ำได้น้อยลง เกิดกรณีวิกฤติปลาทูไทยในช่วง 6 ปีที่ผ่านมา ที่ไทยจะต้องนำเข้าร้อยละ 90

“จึงเห็นว่าการแก้ไขปัญหาครั้งนี้เป็นการแก้ไขให้กับเฉพาะกลุ่มด้านเศรษฐกิจในกลุ่มระยะสั้น แต่ในระยะยาวกลุ่มภาคเศรษฐกิจประมง ทั้งประมงพื้นบ้าน ประมงพาณิชย์ หรืออุตสาหกรรมแปลรูปอาหารทะเลจะได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงจากการลดลงของสัตว์น้ำอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้”

สว.นรเศรษฐ์ ปรัชญากร

ขณะที่ เศรณี อนิลบล สว. นำอวนตาถี่และปลาทูขนาดเล็ก 1 กิโลกรัม มาประกอบการอภิปรายว่า กลุ่มประชาชนที่ได้รับผลกระทบมาชุมนุมเรียกร้องบริเวณหน้ารัฐสภาคือ กลุ่มประมงพาณิชย์ กับกลุ่มประมงพื้นบ้าน จากจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ การแก้ไขมาตรา 69 ทำให้เกิดความไม่สบายใจและเป็นห่วง โดยเฉพาะการเปิดให้จับในเวลากลางคืน ให้มีไฟล่อตามหลักเกณฑ์ เงื่อนไขที่ประกาศการนำอวนตาถี่มาทำประมงเช่นนี้ จะทำให้มีการจับสัตว์น้ำวัยอ่อนเป็นการตัดตอนการเจริญเติบโตของสัตว์น้ำวัยอ่อน อีกทั้งเป็นการทำลายห่วงโซ่อาหารในระบบนิเวศอย่างร้ายแรง

ส่วนปลาทูขนาดเล็ก 1 กิโลกรัมที่นำมา ซึ่งตนนับมาแล้วมีปลาทูจำนวน 1,000 ตัว เป็นปลาแห้งมีปลาชิงชัง ปลากะตักไม่ถึงครึ่ง มีปลาทราบแดง ลูกกุ้ง ลูกปู และลูกหมึกปนมาด้วยใน 1 กิโลกรัมราคา 100 บาท หากปล่อยให้มีการทำประมงแบบนี้ จะส่งผลต่อสัตว์น้ำขนาดเล็ก และการปฏิบัติตามกฎหมายนี้อาจทำให้เกิดความเสี่ยงที่จะกระทำผิดตามกฎหมาย แต่กรมประมงไม่สามารถตรวจจับเอาผิดได้

“มีคนเขานินทา เขาบอกว่าถ้าจะทำแบบนี้ต้องไปจ่ายตรงนั้นตรงนี้ อันนี้ผมไม่ได้พูด ผมฟังเขาพูดกันมาเขานินทากันว่าเป็นแบบนี้ เพราะฉะนั้นการออกกฏหมายข้อนี้จะบังคับได้หรือไม่” สว.เศรณี กล่าว 

ทั้งนี้ บัญชา สุขแก้ว อธิบดีกรมประมง ชี้แจงว่า ปลากะตักเป็นสัตว์น้ำขนาดเล็กที่มีอายุขัย 1 ปี ซึ่งสัตว์น้ำจะเกิดใหม่อย่างรวดเร็วหากมีการบริหารจัดการที่ดี ทุกปีกรมประมงเก็บข้อมูลทางวิทยาศาสตร์เพื่อประมวลจำนวนสัตว์น้ำในท้องทะเล แบ่งสัตว์น้ำเป็น3กลุ่ม สัตว์หน้าดิน -ปลาผิวน้ำ -ปลากะตัก ซึ่งมีข้อมูลทางวิชาการพบว่า 1 ปี จับได้ 2.1 แสนตัน และมีการนำไปพิจารณาออกใบอนุญาตจับสัตว์น้ำ

โดยกรมประมงจะต้องนำข้อมูลทั้งหมดไปขอความเห็นชอบและกลับมาสู่กระบวนการตามกฎหมาย วิธีประเมินประสิทธิผลทางกฎหมาย คือการรับฟังความคิดเห็นจากผู้ที่เกี่ยวข้อง หากผู้ที่เกี่ยวข้องเห็นว่ายังไม่มีข้อมูลเพียงพอ จำเป็นต้องใช้การทดลองทางวิชาการหรืออิงจากสถาบันใดเข้ามาช่วยก็ต้องมีการช่วยกันเพื่อนำทรัพยากรอันมีค่ามาใช้เกิดประโยชน์สูงสุด

ซึ่งการแก้ไขกฎหมายครั้งนี้ เป็นการเสนอจากพรรคการเมืองและครม.ผ่านกลไกของรัฐสภา เป็นการสร้างบริบทในการยอมรับ บริบทของประเทศไทยในการใช้ทรัพยากร และไม่ได้ขัดต่อพันธะกรณีระหว่างประเทศ และมั่นใจว่าการบังคับใช้กฎหมายสามารถดำเนินการได้ตามที่มีการแก้ไขปรับปรุง

จากนั้นที่ประชุมวุฒิสภาลงมติเห็นด้วย 165  ไม่เห็นด้วย 11 งดออกเสียง 7 ไม่ลงคะแนน1 โดยตั้งคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณา 21 คน แปรญัตติภายใน 7 วัน ทั้งนี้ใน กมธ.วิสามัญฯ ไม่มีตัวแทนจากภาคประชาชนตามข้อเรียกร้องของกลุ่มประมง โดยระบุว่าจะตั้งเป็นที่ปรึกษา กมธ.ฯ

Senator-green-light-in-principle-for-drafting-amendments-to-fisheries-laws -SPACEBAR-Photo02.jpg
Senator-green-light-in-principle-for-drafting-amendments-to-fisheries-laws -SPACEBAR-Photo01.jpg

‘ม็อบประมงพื้นบ้าน’ บุกสภาฯ ยื่น ‘สว.’ ขอทบทวนแก้ไข กม.ประมงฯ

วันเดียวกันนี้ (13 มกราคม 2568) สมาคมสมาพันธ์ชาวประมงพื้นบ้านแห่งประเทศไทย 22 จังหวัด สมาคมภาคประชาสังคมด้านสิทธิมนุษยชน สมาคมนักตกปลา นักดำน้ำ รวมถึงเครือข่ายองค์กรด้านสิทธิมนุษยชน และสิ่งแวดล้อม ในประเทศไทย เข้ายื่นจดหมายเปิดผนึกต่อสมาชิกวุฒิสภา เพื่อเรียกร้องให้พิจารณาทบทวน และยกเลิกการแก้ไขพระราชกำหนดการประมง พ.ศ. 2558 ซึ่งสาระสำคัญจะทำให้เกิดการประมงอวนตาถี่ด้วยวิธีล้อมจับในเวลากลางคืนได้ และกระทบต่อระบบนิเวศทางทะเล

โดย วิโชคศักดิ์ รณรงค์ไพรี นายกสมาคมรักษ์ทะเลไทย กล่าวว่า พ.ร.ก.การประมง พ.ศ. 2558 ถูกตราขึ้นเพื่อแก้ไขปัญหาการประมงผิดกฎหมาย ปัญหาการจับสัตว์น้ำเกินกำลังการผลิตของทะเล รวมทั้งการค้ามนุษย์ และการละเมิดสิทธิแรงงานในอุตสาหกรรมการประมงของประเทศไทย ซึ่งทำให้ประมงไทย และอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง สามารถปรับตัวให้สอดคล้องกับมาตรฐานสากล และพันธกรณีระหว่างประเทศที่ประเทศไทยเป็นภาคีสมาชิกและให้การรับรอง แต่ปรากฏว่าสภาผู้แทนราษฎร กลับแก้ไขกฎหมายฉบับนี้ ผ่านการออกร่าง พ.ร.บ.แก้ไข พ.ร.ก.กำหนดการประมงฯ ด้วยคะแนนเสียงที่ไม่เป็นเอกฉันท์

ซึ่งกรณีดังกล่าว ส่งผลให้เกิดความเสี่ยงอย่างยิ่งที่จะทำให้ภาคการประมงทางทะเลของประเทศไทย กลับสู่การประมงที่ปราศจากความรับผิดชอบเช่นในอดีต รวมทั้งเกิดผลกระทบในเชิงลบต่อระบบนิเวศทะเล และความยั่งยืน รวมถึงการรักษามาตรฐานด้านสิทธิมนุษยชนในอุตสาหกรรมการประมงของประเทศ

วิโชคศักดิ์ กล่าวว่า ในร่างแก้ไขกฎหมายดังกล่าว มีการแก้ไขสาระสำคัญในหลายประเด็น เช่น การยกเลิกบทบัญญัติว่าด้วยการคุ้มครองแรงงานในอุตสาหกรรมการประมงทั้งหมด การอนุญาตให้อวนล้อมที่มีขนาดตาอวนต่ำกว่า 2.5 เซนติเมตร สามารถทำการประมงในเวลากลางคืน ซึ่งเป็นเครื่องมือประมงที่ถูกห้ามใช้มากว่า 40 ปี เนื่องจากส่งผลให้เกิดการจับสัตว์น้ำวัยอ่อนในปริมาณมาก อันอาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อความสมดุลของห่วงโซ่นิเวศ การปรับเปลี่ยนบทบัญญัติที่กำหนดให้ศาลสั่งริบเรือ และเครื่องมือประมงในกรณีฝ่าฝืนกฎหมายอย่างร้ายแรง เปลี่ยนเป็นการให้ศาลมีดุลยพินิจในการสั่งริบเรือ และเครื่องมือได้หรือไม่ก็ได้ รวมทั้งการลดโทษปรับลงเหลือเพียงร้อยละ 10 ของอัตราโทษเดิม

“ยืนยันว่าการออกมาร่วมกันคัดค้านแก้ไขกฎหมายฉบับนี้ ไม่ได้เป็นประเด็นเรื่องการเมือง แต่เป็นเรื่องความยั่งยืนของทรัพยากรธรรมชาติ และความยั่งยืนทางอาหาร พวกเราจึงมาเรียกร้องต่อส.ว.ซึ่งถือเป็นที่พึ่งสุดท้าย กรุณานำมาตรา 69 กลับมาพิจารณาใหม่ เนื่องจากเป็นกฎหมายที่สร้างผลกระทบให้กับประชาชน และผู้บริโภค ซึ่งไม่มีประเทศใดในโลกนี้อนุญาตให้อวนที่ตาถี่ขนาดนี้ทำการประมง เพราะเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ของสัตว์น้ำ ถือเป็นมาตรฐานตามหลักสากลที่ทุกประเทศตระหนักและยึดถือกันมาตลอด มีแต่ประเทศไทยประเทศเดียวที่มีการแก้ไขกฎหมายเพื่ออนุญาตเหมือนกับกำลังถอยหลังกลับไปในยุคหลายสิบปีก่อน”

วิโชคศักดิ์ รณรงค์ไพรี

ด้าน จิรศักดิ์ มีฤทธิ์ ประมงพื้นบ้านอ่าวคั่นกระได จ.ประจวบคีรีขันธ์ กล่าวว่า การแก้ไขมาตรา 69 นับเป็นข้อกังวลของชาวประมงแทบทั่วประเทศ เพราะที่ผ่านมาประมงพื้นบ้านมีความพยายามในการอนุรักษ์ และฟื้นฟู ด้วยการใช้เครื่องมือจับสัตว์น้ำที่ถูกกฎหมาย ไม่ทําลายระบบนิเวศ แต่รัฐกลับจะอนุญาตให้เครื่องมือที่ทำลายล้างสูงอย่างอวนมุ้ง มาทำการประมง ซึ่งส่งผลต่อการขยายพันธุ์สัตว์น้ำ โดยเฉพาะสัตว์น้ำขนาดเล็กที่จะถูกจับไปทั้งหมด ทั้งนี้การทำประมงใน จ.ประจวบฯ มีฤดูกาลเปิดอ่าว และปิดอ่าว ในช่วงปิดอ่าว ชาวประมงพื้นบ้านต่างร่วมมือร่วมใจไม่จับสัตว์น้ำในช่วงนี้ เพราะต้องการให้เกิดการขยายพันธุ์ 

แต่เมื่อมีการแก้ไขกฎหมายแบบนี้ สิ่งที่ชาวบ้านทำจะไม่มีความหมาย ซึ่งการกระทำเช่นนี้ทำให้อดสงสัยไม่ได้ว่าเป็นไปตามกระแสข่าวหรือไม่ว่าการแก้ไขมาตรา 69 มาจากแรงกดดันจากประมงพาณิชย์ ที่เป็นหัวคะแนนให้กับนักการเมืองหรือไม่ 

สำหรับข้อเรียกร้องในจดหมายเปิดผนึก ประกอบด้วย 

1.ยกเลิกการแก้ไขพระราชกำหนดการประมง พ.ศ. 2558 มาตรา 69 ให้กลับไปใช้บทบัญญัติที่ตราไว้เดิมความว่า “ห้ามใช้เครื่องมืออวนล้อมจับที่มีช่องตาอวนเล็กกว่า 2.5 ซม. ทำการประมงในเวลากลางคืน” 

2.ยกเลิกการแก้ไขพระราชกำหนดการประมง พ.ศ. 2558 มาตรา 10/1, 11, 11/1 ซึ่งเป็นการผ่อนคลายมาตรการคุ้มครองแรงงานเด็ก และแรงงานข้ามชาติในสถานประกอบการแปรรูปอาหารทะเล

3.ยกเลิกการแก้ไขพระราชกำหนดการประมง พ.ศ. 2558 มาตรา มาตรา 85/1 ซึ่งคือการกลับมาอนุญาตให้ขนถ่ายสัตว์น้ำกลางทะเลระหว่างเรือประมง

4.เสนอผู้แทนจากประมงพื้นบ้าน ผู้แทนองค์กรด้านแรงงาน ผู้แทนด้านการอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ร่วมเป็นกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ แก้ไข พ.ร.ก.การประมงฯ จำนวน 3 คน 

5.ขอให้ กมธ.วิสามัญที่จะตั้งขึ้นพิจารณาแต่งตั้งที่ปรึกษาจากนักวิชาการด้านการประมง ด้านวิทยาศาสตร์ทางทะเล และด้านแรงงานเป็นที่ปรึกษา กมธ.วิสามัญฯ

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์