‘สว.’ จ่อบินไปจีน ดูความจริง ‘ชีวิตชาวอุยกูร์’

6 มี.ค. 2568 - 04:08

  • ‘กมธ.ต่างประเทศ สว.’ จ่อบินตรวจสอบชะตากรรม 'ชาวอุยกูร์' หลังถูกส่งตัวกลับจีน

  • ลุยสอบปมสิทธิมนุษยชนข้อสงสัยของประชาคมโลก ยันทำหน้าที่รักษาผลประโยชน์ประเทศชาติเต็มที่

Senator_Uyghur_people_SPACEBAR_Hero_4214a6d7da.jpg

‘ชิบ จิตนิยม’ รองประธานกรรมาธิการการต่างประเทศ วุฒิสภา เปิดเผยว่า ‘นิรัตน์ อยู่ภักดี’ ประธานคณะกรรมาธิการการต่างประเทศ วุฒิสภา มีดำริที่จะนำคณะกรรมาธิการการต่างประเทศ วุฒิสภา เดินทางไปยังเขตปกครองตนเองซินเจียงอุยกูร์เพื่อติดตามสถานการณ์ และประเมินสภาพความเป็นอยู่ ของชาวอุยกูร์ที่รัฐบาลไทยส่งกลับไปเมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ซึ่งประเด็นนี้ได้รับความสนใจจากประชาคมโลก โดยเฉพาะองค์กรด้านสิทธิมนุษยชนและประเทศพันธมิตรของไทย โดยการส่งตัวชาวอุยกูร์กลับจีนทำให้เกิดข้อกังวลเกี่ยวกับสวัสดิภาพของพวกเขา และเพื่อให้เกิดความโปร่งใส ไทยควรติดตามสถานการณ์ดังกล่าวอย่างใกล้ชิด

ดังนั้นคณะกรรมาธิการการต่างประเทศวุฒิสภาจึงมีแผนการจะติดตามเรื่องนี้โดยเดินทางไปยังซินเจียงอุยกูร์ในช่วงเวลาอันเหมาะสมเพื่อให้เกิดความมั่นใจว่าชาวอุยกูร์ทั้ง 40 คนที่ถูกส่งกลับไปยังประเทศจีนจะได้รับการดูแลตามที่รัฐบาลจีนได้ให้สัญญาไว้ หลังจากถูกควบคุมตัวในประเทศไทยมานานกว่า 10 ปี

ชิบ กล่าวว่า ทั้งนี้ก่อนหน้านี้สหรัฐอเมริกาและตุรกี ได้แสดงความกังวลเกี่ยวกับสวัสดิภาพของชาวอุยกูร์หลังจากเดินทางกลับจีน โดยสหรัฐอเมริกา แสดงความผิดหวังอย่างรุนแรงต่อการตัดสินใจของไทย และเรียกร้องให้รัฐบาลไทยรับรองว่าชาวอุยกูร์ที่ถูกส่งกลับจะไม่ถูกละเมิดสิทธิมนุษยชน ในขณะที่ตุรกี มีประชาชนออกมาชุมนุมประท้วงที่หน้าสถานเอกอัครราชทูตไทยในกรุงอังการา เนื่องจากตุรกีมีความสัมพันธ์ทางชาติพันธุ์และวัฒนธรรมใกล้ชิดกับชาวอุยกูร์ 

ชิบ กล่าวต่อว่า ส่วนองค์กรสิทธิมนุษยชน เช่น Human Rights Watch (HRW) และ Amnesty International ก็ออกแถลงการณ์เตือนว่า ชาวอุยกูร์ที่ถูกส่งกลับอาจเผชิญกับการกดขี่หรือการปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรม ซึ่งผลกระทบจากการตัดสินใจของรัฐบาลครั้งนี้ไม่ได้จำกัดเพียงมิติด้านสิทธิมนุษยชน แต่ยังรวมถึงความสัมพันธ์ระหว่างประเทศและเศรษฐกิจของไทย โดยเฉพาะด้านการท่องเที่ยว ที่มีรายงานว่านักท่องเที่ยวตุรกีบางส่วนยกเลิกการเดินทางมายังประเทศไทยหลังจากเหตุการณ์นี้ ส่งผลให้ภาคการท่องเที่ยวของไทยอาจได้รับผลกระทบ

“ด้านความสัมพันธ์ทางการทูตที่ไทยต้องรักษาสมดุลทางการทูตระหว่างจีนและประเทศตะวันตก ซึ่งจับตามองนโยบายของไทยเกี่ยวกับชาวอุยกูร์อย่างใกล้ชิด การเดินทางลงพื้นที่ดังกล่าวจะได้นำข้อมูลเหล่านี้มาวิเคราะห์แนวทางของไทยในอนาคตเกี่ยวกับกรณีของชาวอุยกูร์ที่ยังคงอยู่ในประเทศไทย รวมถึงแนวทางการทำงานร่วมกับทางการจีน องค์กรระหว่างประเทศ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้มั่นใจว่าชาวอุยกูร์ที่ถูกส่งตัวกลับได้รับการปฏิบัติอย่างเป็นธรรมและสร้างความมั่นใจให้กับประชาคมโลกว่าไทยให้ความสำคัญกับเรื่องสิทธิมนุษยชน”

ชิบ กล่าว

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์