อย่าเห่อ ‘ศรีเทพ’ แค่วันเดียว

21 ก.ย. 2566 - 05:00

  • ชวนอ่านประวัติศาสตร์นอกตำราของ ‘ศรีเทพ’ เมืองโบราณ ‘มรดกโลก’ ป้ายแดง กับ ‘ดร.รุ่งโรจน์ ภิรมย์อนุกูล’ และมิติการจัดการที่ล้มเหลวของรัฐไทย ที่อาจทำให้ศรีเทพ ถูก ‘เห่อ’ แค่วันเดียว

sithep-historical-park-UNESCO-world-heritage-list-SPACEBAR-Hero.jpg

เชื่อว่าชาวไทยทุกคน คงรู้สึกยินดีต่อกรณีที่ ‘เมืองโบราณศรีเทพ’ ได้รับการรับรองจากคณะกรรมการมรดกโลก หรือ ‘ยูเนสโก’ ขึ้นทะเบียนเป็นแหล่งมรดกโลกทางวัฒนธรรม แหล่งที่ 4 ของประเทศไทย (นับเป็นแหล่งที่ 7 หากรวมกับมรดกโลกทางธรรมชาติ) หลังรายงานของสื่อหลายหัวให้ข้อมูลตรงกันว่า ทางการไทยพยายามผลักดันเรื่องนี้มากว่า 30 ปี 

ว่าด้วยเรื่อง ‘คุณสมบัติ’ คงไม่ต้องสงสัยด้าน ‘ความพร้อม’ มิฉะนั้นคงไ่ม่ผ่านเกณฑ์ของยูเนสโก แต่หากเจาะลึกเชิงประวัติศาสตร์ท้องถิ่นแล้ว ‘ศรีเทพ’ เป็นแหล่งศึกษาหาความรู้ชั้นเยี่ยม มีคุณค่าทางประวัติศาสตร์ - โบราณคดี ที่สอดประสานเรื่องราวไว้อย่างมากมาย 

ข้าพเจ้าขอประมวลข้อมูลจากการค้นคว้า ที่พอสังเคราะห์ได้แบบกว้าง ๆ ว่าในอดีต ‘เมืองศรีเทพ’ ถือเป็นสถานที่ที่ ณ ครั้งหนึ่งเคยรุ่งเรืองเต็มไปด้วยผู้คน และมีการตั้งถิ่นฐานมาก่อนสมัยประวัติศาสตร์ เป็นแหล่งรวมศิลปวิทยาการตามแบบวัฒนธรรมทวารวดีและเขมร ก่อนจะถูกปล่อยทิ้งให้รกร้าง และถูกลืมเลือนไปตามกาลเวลา กระทั่งการพบเจอเศษซากทางโบราณคดี โดย สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ เมื่อปี 2447 

ขออนุญาตหยิบยกเรื่องราวที่ ‘อนุชิต อุ่นจิต’ เขียนบอกเล่าความเป็นมาทางประวัติศาสตร์ลงใน ‘ศิลปวัฒนธรรม’ ช่วงนั้นว่า นอกจากสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงฯ จะพบเศษซากทางสถาปัตยกรรมแล้ว พระองค์ยังได้พบ ได้ค้นพบ ‘ทำเนียบเก่า’ ที่บอกรายชื่อหัวเมืองและมีชื่อเมืองศรีเทพ แต่ไม่มีผู้ใดรู้ว่าว่าเมืองแห่งนี้ตั้งอยู่ที่ใด และทรงพบสมุดดำเล่มหนึ่ง ที่ระบุความการให้เชิญตราสาร ไปบอกข่าวการสิ้นพระชนม์ของรัชกาลที่ 2 ไปยังหัวเมืองต่างๆ และมีอยู่เส้นทางหนึ่งไปทางเมืองสระบุรี เมืองชัยบาดาล เมืองศรีเทพ เมืองเพชรบูรณ์ จึงตั้งสมมติฐานว่าเมืองศรีเทพน่าจะอยู่ทางลำน้ำป่าสัก จนกระทั่งพบที่ตั้งในปัจจุบัน 

ส่วนที่มาของชื่อ ‘ศรีเทพ’ อนุชิต ได้หยิบยกข้อมูลจากชาวบ้าน อธิบายในบทความว่า พื้นที่ดังกล่าวมีความเชื่อ ว่าเป็นพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์เป็นที่อยู่ของเทพเทวดา และถูกสร้างโดยเทพเทวดา ก่อนจะขึ้นไปอยู่บนสวรรค์ ส่งผลให้ชาวบ้านในสมัยก่อนไม่มีใครกล้าไปพักอาศัยในพื้นที่ ซึ่งอาจมาจากความเชื่อเรื่องอาเพศที่จะเกิดขึ้นกับครอบครัว

พวกเขา (คนท้องถิ่น) มักจะนำเครื่องเซ่นไปไหว้ศาล ซึ่งตั้งไว้อยู่บนเนินดิน บริเวณขอบพื้นที่เมืองโบราณ หรือเนินที่กรมศิลปากรคาดว่าเป็นกำแพงเมือง เมื่อพื้นที่ถูกเปลี่ยนเป็นอุทยานประวัติศาสตร์ ทางการได้อัญเชิญศาลแห่งนี้ลงมาไว้ด้านล่าง โดยเทวรูปที่ประดิษฐานอยู่ภายในศาล ชาวบ้านเรียกขานกันว่า ‘เจ้าพ่อศรีเทพ’ 

ผู้เขียน (ณ ที่นี้หมายถึงตัวข้าพเจ้า) มองเรื่องนี้แสดงให้เห็นว่า แม้นจะเป็นเมืองเปลี่ยว แต่ก็ไม่ร้างผู้คน แบบขาดหายไปเลย แต่ยังคงคงมีความเคลื่อนไหวที่สัมพันธ์กันอยู่ระหว่าง ‘คน’ และ ‘ซากเมืองเก่าแก่’ แต่เหตุไฉนไม่เคยได้เห็นในแบบเรียนประวัติศาสตร์ของกระทรวงศึกษาธิการเลย แม้แต่ชื่อ ‘ศรีเทพ’

มุมของ ‘ศรีเทพ’ ที่ (เรา) ไม่เคยรู้

“รูปแบบพระปรางค์ในศรีเทพ ซึ่งมีอายุโดยประมาณตั้งแต่ปี พ.ศ. 1700 มันส่งอิทธิพลมาให้เห็นที่พระปรางค์วัดพระศรีรัตนมหาธาตุลพบุรี ซึ่งตั้งติดกับพระปรางค์ 3 ยอด แต่ประเด็นอยู่ตรงที่ ทำไมในยุคนั้นถึงไม่ก็อปจากพระปรางค์ 3 ยอด หมายความว่า มูลนายที่ทำเขาได้ไอเดียมาจากศรีเทพ ซึ่งต่อมาคนลพบุรีก็มาสร้างอโยธยา จนกลายเป็นอยุธยาที่เรารู้จัก”

เป็นข้อมูลเชิงประวัติศาสตร์สำคัญที่ ‘ดร.รุ่งโรจน์ ภิรมย์อนุกูล’ อาจารย์ประจำภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์ ม.รามคำแหง’ อธิบายให้เห็นภาพว่า ศิลปวิทยาการของเมืองศรีเทพมีอิทธิพลส่งมาถึงแถบราบลุ่มภาคกลาง ตั้งแต่เมื่อคราว ‘กรุงศรีอยุธยา’ ยังไม่ได้ตั้งไข่ 

แต่เดิมโบราณนานมาเมืองดังกล่าว เป็น ‘เมืองตอนใน’ ที่มีบทบาทในการควบคุมทรัพยาการ  มีหลักฐานพบใน ‘จารึกบ้านวังไผ่’ พุทธศตวรรษที่ 12 อีกทั้งต่อมายังมีข้อมูลเชิงวิชาการที่ระบุว่า เมืองศรีเทพเป็นพื้นที่ที่หลากหลายทางความเชื่อ 

ในส่วนด้านปัจจัยเชิงยุทธศาสตร์ ศรีเทพถือว่าเป็นเมืองที่เชื่อมต่อเส้นทางแบบสามเส้า สามารถใช้เดินทางไปเมืองโบราณสำคัญได้ อย่าง ‘ลพบุรี’ หรือ ‘ละโว้’ ผ่านลำน้ำป่าสัก และ ‘พิมาย’ 

สำหรับศิลปวัฒนธรรม ที่ถูกถ่ายถอดชัดเจนคือ สถาปัตยกรรม ‘พระปรางค์วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ’ จังหวัดลพบุรีในปัจจุบัน ที่ได้รับรูปแบบมาจาก ‘พระปรางค์สองพี่น้อง’ และ ‘พระปรางค์ศรีเทพ’ หมายความว่าชนชั้นสูง ที่มีส่วนในการก่อสร้างหรือออกแบบ ใช้ลักษณะตามแบบศรีเทพ แทนที่จะใช้แบบพระปรางค์สามยอด อีกทั้งเมื่อผูกเรื่องความสัมพันธ์ข้างต้น กับตำนานที่ความเชื่อชนชั้นนำในสมัยอยุธยาตอนปลายเชื่อกันว่า คนลพบุรี (ละโว้) มาสร้าง ‘อโยธยา’ ก่อนจะกลายเป็นราชธานีที่ชื่อ ‘กรุงศรีอยุธยา’ ในเวลาต่อมา มุมมองของรุ่งโรจน์ จึงเชื่อว่า ‘คนศรีเทพเป็นบรรพชนกิ่งหนึ่งของชาวอยุธยา’ 

เห่อ ‘ศรีเทพ’ แค่ข้ามคืน

เมื่ออุทยานประวัติศาสตร์ ‘เมืองศรีเทพ’ จังหวัดเพชรบูรณ์ ถูกรับรองให้เป็น ‘มรดกโลกทางวัฒนธรรม’ ทำให้อดตั้งแง่ไม่ได้ว่า เหตุไฉนคนไทย หรือคนส่วนใหญ่ถึง ‘ไม่รู้จัก’ และหลงลืม ‘ประวัติศาสตร์ท้องถิ่น’ เรื่องนี้ ดร.รุ่งโรจน์ ให้ความเห็นว่า เป็นเพราะระบบการศึกษาที่มุ่งเน้นสร้างแบบเรียน ที่ยึดหลัก ‘ราชธานี’ เป็นสำคัญ ไม่มีเรื่องราวของวิถีชีวิต ผู้คน หรือประวัติศาสตร์ถิ่นฐานในหนังสือของกระทรวงศึกษาธิการ

“เราเรียนแต่ประวัติศาสตร์ราชธานี เน้นที่ สุโขทัย อยุธยา ธนบุรี และรัตนโกสินทร์ ฉะนั้นอะไรที่นอกเหนือจากนั้นเขาไม่เอา ที่สำคัญเรายังยึดติดว่าสุโขทัยเป็นราชธานีแห่งแรก ดังนั้นทุกอย่างจึงถูกตั้งแค่สุโขทัย ซึ่งที่จริงเขาก็ทราบกันมานานแล้ว ว่าสุโขทัยไม่ใช่ราชธานีแห่งแรก ทุกอย่างจึงถูกตีกรอบ ศรีเทพก็ถูกพับเก็บ ที่สำคัญเรายึดติดกับความเป็นไทย ศรีเทพคือคนไทยหรือเปล่าไม่รู้ ดังนั้นจึไม่รู้จะเรียนไปทำไม”

เมื่อถามว่า การที่อุทยานฯ ศรีเทพได้ถูกขึ้นทะเบียนมรดกโลก จะทำให้ระบบการศึกษาประวัติศาสตร์ท้องถิ่น หรือเรื่องราวนอกกระแส ได้รับความนิยมขึ้นหรือไม่ นักวิชาการด้านประวัติศาสตร์ - โบราณคดี มองว่า ในช่วงแรกคงมีการประชาสัมพันธ์ข้อมูลอยู่ แต่เชื่อว่าความนิยมก็จะหายไปเร็ววัน เพราะระบบราชการไทยที่มีอยู่หลายปัจจัย ซึ่งเรื่องนี้สามารถถอดบทเรียนได้จากอุทยานประวัติศาสตร์ที่ เคยถูกขึ้นทะเบียนมาแล้วก่อนหน้านี้ อย่าง สุโขทัย อยุธยา และบ้านเชียง

“เดี๋ยวมันก็จะมีตรามรดกโลกตั้งที่หน้าศรีเทพ แล้วคนก็แห่ไปเที่ยวพักหนึ่งแล้วกรมศิลปากรก็ทำหนังสือเกี่ยวกับเมืองศรีเทพออกมาอีกรอบหนึ่ง หลังจากนั้นก็เงียบหายไปเลย เหมือนพวกที่ได้มาก่อนหน้านี้ ความรู้มันก็นิ่งเป็นตะกอนก้นขวด ไม่ถูกตีกระเพื่อม มันจะเป็นอย่างนั้นแหล่ะ”

ข้าพเจ้าถามต่อว่า หากเปรียบเทียบกับนานาชาติที่ได้รับคำเชิดชูว่าสามารถจัดสรรพื้นที่มรดกโลกได้อย่างมีประสิทธิภาพ เรา (ประเทศไทย) แตกต่างกับประเทศเหล่านี้อย่างไร

ดร.รุ่งโรจน์ อธิบายทิ้งท้ายว่า แตกต่างมาก เพราะต่างประเทศที่ได้รับคำชื่นชมด้านการบริหาร มีการประชาสัมพันธ์ที่ดี ทั้งระดับการศึกษาระดับภายในประเทศ และการสื่อสารเรื่องราวกับคนต่างประเทศ 

อย่างกรณีของอุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพ ที่ผ่านมาก็อธิบายเฉพาะสิ่งที่เข้าใจยาก อาทิ การบรรยายถึงรูปแบบศิลปกรรม ซึ่งรัฐไม่เคยเผยแพร่เรื่องความสำคัญของเมือง ในแง่ของประวัติศาสตร์ที่ผู้คนเข้าถึงได้ง่ายเลย ส่วนตัวจึงเชื่อว่าหากระบบแนวคิดยังล้าหลังอยู่ ทุกอย่างก็เป็นเหมือนเดิม คือ ‘เห่อ’ แค่วันเดียว วันที่ได้มรดกโลก 

“ถ้าพี่มองนะ ศรีเทพมันยังบริสุทธิ์อยู่ ถ้าต้องการจัดการจริง ต้องไปถอดบทเรียนที่ผ่านมาในส่วนที่ผิดพลาด พร้อม ๆ กับการพัฒนาเชิงวิชาการและการบริหารวัฒนธรรม รวมถึงการเผยแพร่เรื่องราวทุกแง่มุม พี่เชื่อนะให้ไปถาม มหา’ลัยในลพบุรีว่ารู้จักศรีเทพไหม เขาก็งงทั้ง ๆ ที่มันสัมพันธ์กัน ทั้งหมดทั้งมวลรัฐเป็นแม่แรงสำคัญในการที่จะต้องปรับแก้ตัวเอง โดยเฉพาะการกีดกันประวัติศาสตร์นอกตำรา เราต้องเปิดพื้นที่ มิฉะนั้นก็จะแค่เห่อไปวัน ๆ แล้วก็เงียบหายไป ” ดร.รุ่งโรจน์ ภิรมย์อนุกูล กล่าวทิ้งท้าย

เข้าสู่ช่วงปัจฉิม คงไม่กล่าวอะไรเพิ่ม เพราะที่ผ่านมาเห็นอยู่กันร่อมร่อ ถ้าไม่ปรับเปลี่ยนโครงสร้างการบริหาร  ‘ศรีเทพ’ คงต้องกลับไปเป็น ‘เมืองร้าง’ ถึงวันนั้นไม่ใช่แค่คนไทยจะต้องอดสู แต่อาจหมายถึงนานาชาติ เพราะขึ้นชื่อว่าเป็น ‘มรดกโลก’ ทุกสายตาย่อมจับจ้อง 

อย่าให้ใครเขาตั้งคำถามว่า ‘เห่อ’ เฉพาะตอน ‘ได้ของดี’ ? เลย...

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์