‘เสรีภาพ’ กับ ‘กฎ’ พอดีที่ตรงไหน

16 มิ.ย. 2566 - 10:51

  • กรณี ‘น้องหยก’ ที่ไม่ปฏิบัติตามระเบียบโรงเรียน เพื่อเรียกร้องในเชิงสัญลักษณ์ สะท้อนความเห็นของสังคมสองฝ่าย ทั้งเห็นด้วยและไม่เห็นด้วย

  • ‘สิทธิเสรีภาพ’ ต้องไม่ลุกล้ำสิทธิของคนอื่น จึงต้องมี ‘กฎกติกาในการอยู่ร่วมกัน’ ซึ่งก็คือ ‘วินัย’

  • การกำหนดกฎโรงเรียน ควรให้นักเรียนมีส่วนร่วมในการออกแบบ

  • ควรลด ‘อำนาจนิยม’ ของผู้ใหญ่ที่มากเกินพอดี แต่อยู่บนหลักของเหตุผล

Social-crime-law-why-adolescents-break-rules-uniform-school-SPACEBAR-Hero
https://images.ctfassets.net/i3o8p9lzd06f/34b2DTwN7EMF27C0qZP6iA/debd0cea3d3100ccc3e67f746ca9e2ee/Social-crime-law-why-adolescents-break-rules-uniform-school-SPACEBAR-Photo01
ภาพวัยรุ่น ‘น้องหยก’ วัย 15 ปี สวมชุดไปรเวทและย้อมผมสีอ่อน ปีนรั้วโรงเรียน กลายเป็นข่าวใหญ่ที่สื่อให้ความสนใจกันไม่หยุด เพราะรู้ดีว่าสังคมกำลังให้ความสนใจกับเรื่องนี้ และยังถกเถียงกันไม่จบ แน่นอนว่าสังคมเกิดเสียงแตก ทั้งมองว่าไม่เหมาะสม และอีกฝ่ายมองว่าทำดีแล้ว ไม่ว่าแต่ละฝ่ายจะมีจำนวนมากหรือน้อยกว่ากัน แต่มันอาจเป็นการคิดและออกความเห็นกันด้วย ‘อารมณ์’  

ถ้าใช้หลักของเหตุผล ย่อมมีคำตอบในตัวเองอยู่เสมอ แต่อยู่ที่ว่า จะยอมรับได้ หรือไม่ได้ ข่าวของน้องหยก มีทั้งเรื่องการแต่งกายและสีผมของนักเรียน การมอบตัว และการมาเรียนตรงต่อเวลา ซึ่งทั้งหมดนี้ล้วนเป็น ‘กฎระเบียบ’ ของโรงเรียนทั้งสิ้น แต่เหตุผลที่น้องนักเรียน ให้กับสังคมก็คือ เพราะ “ต้องการเรียกร้องให้โรงเรียน ยกเลิกกฎระเบียบเครื่องแต่งกายและทรงผม เพราะไม่มีผลต่อการเรียน และถือเป็นอำนาจนิยม ของผู้ใหญ่” 

เอาล่ะ...พอฟังเหตุผลแบบนี้ ถ้ามานั่งคิดวิเคราะห์กันจริงๆ มันก็อาจจะจริงตามที่น้องพูด (และไม่ใช่น้องคนแรกที่พูดแบบนี้ ก่อนหน้านี้ก็มีเด็กนักเรียนหลายคนรวมตัวกันออกมาเรียกร้องเรื่องนี้จนเป็นเรื่องใหญ่) แน่นอนว่าไม่ว่าเราจะแต่งตัวอย่างไร ย่อมไม่มีผลต่อผลการเรียน โรงเรียนในต่างประเทศหลายแห่ง จึงไม่มีกฎเรื่องเครื่องแบบนักเรียน 

ด้าน รศ.นพ.สุริยเดว ทรีปาตี ผู้อำนวยการศูนย์คุณธรรม และกุมารแพทย์ ผู้เชี่ยวชาญด้านจิตวิทยาเด็ก วัยรุ่นและครอบครัว มีความเห็นว่า การคิดแบบนั้นอาจเป็นความจริงส่วนหนึ่ง แต่ลองคิดดูว่าถ้าเด็กนักเรียนทุกคนสามารถใส่ชุดอะไรก็ได้มาโรงเรียน ในขณะที่กำลังนั่งเรียนอยู่นั้น อาจไม่มีสมาธิต่อการเรียน เพราะคิดว่าจะแต่งตัวหรือทำอย่างไร ให้ตัวเองดูโดดเด่นมากที่สุด และนั่นอาจไม่ใช่เหตุผลหลักของการตั้งกฎระเบียบ ให้แต่งกายชุดนักเรียนเหมือนกันในแต่ละโรงเรียน แต่ประเด็นสำคัญที่ควรนึกถึงคือ ‘ความปลอดภัย’ เพราะการที่นักเรียนใส่ชุดนักเรียน เป็นการคัดกรองส่วนหนึ่งว่าเด็กเหล่านั้นอยู่ในวัยเรียน และในสังกัดโรงเรียนใด หากเด็กอยู่ภายนอกโรงเรียน ก็ทำให้สังคมช่วยกันสอดส่องดูแล ป้องกันการเกิดเหตุอาชญากรรมได้  

ยกตัวอย่างในสหรัฐอเมริกา ที่นักเรียนไม่ต้องใส่ชุดนักเรียน แต่จะเห็นได้ว่ามีบุคคลภายนอก เข้ามาก่อเหตุกราดยิงในโรงเรียนบ่อยครั้ง โดยตรวจสอบไม่ได้ว่าเขาเป็นนักเรียน หรือคนนอก นอกจากนี้ยังมีประเด็นเรื่อง ‘ความเหลื่อมล้ำ’ และ ‘ความเหมาะสม’ ต่อชุมชนและสภาพแวดล้อมนั้นๆ 
https://images.ctfassets.net/i3o8p9lzd06f/7o702BO9xvGa2qkKIVdXmL/d921e6c91315c9d2f88c6c8a3e7c5a44/Social-crime-law-why-adolescents-break-rules-uniform-school-SPACEBAR-Photo02
Photo: รศ.นพ.สุริยเดว ทรีปาตี ผู้อำนวยการศูนย์คุณธรรม
ทุกคนมี ‘สิทธิเสรีภาพ’ แต่ต้องไม่รุกล้ำผู้อื่น 
คำว่า ‘สิทธิเสรีภาพ’ เป็นสิ่งที่มนุษย์ทุกคนควรมีและพึงมี แต่ในแง่ของการอยู่ร่วมกันในสังคม สิทธิเสรีภาพนั้น ต้องไม่ไปรุกล้ำสิทธิเสรีภาพผู้อื่น จึงเป็นที่มาของการกำหนด ‘กติกาในการอยู่ร่วมกัน’ ซึ่งนี่ก็คือ ‘วินัย’ เพื่อไม่ให้สังคมเกิดความวุ่นวาย และไม่ปลอดภัย กติกานั้น มีทั้งในระดับกลุ่มเล็กๆ ครอบครัว ชุมชน องค์กร โรงเรียน ไปจนถึงประเทศ ผู้คนที่อยู่ในสังคมหรือองค์กรนั้น จำเป็นต้องเคารพในกฎกติกาเดียวกัน ...เรื่องเหล่านี้หลายคนรู้ และเข้าใจดี แต่มีคนส่วนหนึ่งมองว่ากฎกติกานั้นไม่เหมาะสม ควรที่จะปรับเปลี่ยนเพื่อให้เข้ากับยุคสมัย หรือปัจจัยแวดล้อมมากขึ้น 

เปิดโอกาสให้นักเรียน ออกแบบกฎโรงเรียน 
เพื่อให้สังคมมีความเป็นประชาธิปไตย และสงบสุข คงจะดี ถ้าทุกคนมีส่วนร่วมในการออกแบบกฎกติกาด้วยกัน จนเป็นที่ยอมรับของคนหมู่มาก และนำมาใช้ในองค์กรหรือโรงเรียนนั้น ผู้ใดที่จะเข้าไป ก็ต้องยอมรับในกฎที่ร่วมออกแบบกันมา และ รศ.นพ.สุริยเดว เสนอว่า กฎระเบียบโรงเรียน ควรมีการออกแบบร่วมกันของคณะกรรมการสถานศึกษา ซึ่งมีทั้งผู้แทนครู ผู้ปกครอง ชุมชน ศิษย์เก่า และเปิดโอกาสให้นักเรียน ทั้งสภานักเรียน และนักเรียนทุกคนมีส่วนร่วมในการออกแบบ แต่ต้องอยู่บนหลักการของเหตุผล ความเหมาะสม นึกถึงใจผู้อื่น และลดความเป็น ‘อำนาจนิยม’ของผู้ใหญ่ นอกจากนี้ก็อาจมีการปรับปรุงตามความเหมาะสมของเวลา 

สำหรับ กฎระเบียบการแต่งกายของโรงเรียน ในแต่ละท้องถิ่นอาจมีกฎของโรงเรียนที่ออกแบบแตกต่างกัน ให้เหมาะสมตามสภาพพื้นที่ เช่นบนดอย หรือพื้นที่ห่างไกล อาจใช้ผ้าพื้นเมืองที่มีอยู่แล้ว แต่ใส่ในลักษณะเดียวกันทั้งโรงเรียน ส่วนโรงเรียนที่มีความเห็นร่วมกันในการกำหนดชุดนักเรียน ควรลดความเหลื่อมล้ำโดยพิจารณาถึงภาระค่าใช้จ่าย อาจลดปัญหาด้วยการมีสหกรณ์ชุดมือสองสภาพดี และผู้ใหญ่หรือครู ไม่ควรใช้ ‘อำนาจนิยม’ ในการกำหนดกฎที่เข้มงวดเกินไป เช่น กระโปรงต้องยาวลงมากี่เซนฯ ผมต้องยาวเท่านี้ห้ามเกินวัดกันเป็นมิลฯ แบบนี้ก็ทำให้มันสมองในการคิดนอกกรอบของเด็กถูกบล็อกได้ 

อยากเรียกร้อง หรือ แค่ต้องการเป็นที่สนใจ 
ประเด็นนี้น่าจะมีคนตั้งคำถามกันพอสมควร ว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นอยู่บนหลักของเหตุผล หรืออารมณ์ เพราะแน่นอนว่าวัยรุ่น เป็นวัยที่มีวุฒิภาวะหรือการพิจารณา ที่ต่างจากผู้ใหญ่ค่อนข้างมาก ยิ่งวัยรุ่นที่มี ‘ทุนชีวิต’อ่อนแอ ก็จะถูกชักจูง หรือโน้มน้าว หรือเลือกที่จะแสดงพฤติกรรมบางอย่างเสี่ยงกว่า เพราะต้องการเป็นจุดสนใจ แม้ต้องแลกมาด้วยการเจ็บตัว หรือสูญเสียอะไรบางอย่างก็ตาม
https://images.ctfassets.net/i3o8p9lzd06f/1ZGQ21BaflKzwDeNiARqrx/38d36c8f8767b3b750eddf0ab62c4257/Social-crime-law-why-adolescents-break-rules-uniform-school-SPACEBAR-Photo03
Photo: Risk-taking assessed using computerized driving game of “Chicken”; tested alone or in gps.of 3 (data collapsed across sex) Adapted from Garder & Steinberg, 2005
ในการศึกษาจิตวิทยาพัฒนาการวัยรุ่น พบว่า วัยรุ่นอายุต่ำกว่า 18 ปี กำลังอยู่ในช่วงวัยของการซึมซับตามระบบสังคมนั้นๆ พูดง่ายๆก็คือ สังคมมีผลต่อการคิด ตัดสินใจ และการแสดงพฤติกรรมอย่างมาก

อย่างกราฟนี้ แสดงให้เห็นว่า วัยรุ่นที่มีอายุ 13-16 ปี (Adolescents) มีพฤติกรรมเสี่ยง หรือทำอะไรเสี่ยงๆได้สูงมาก เมื่ออยู่เป็นกลุ่ม ซึ่งก็คือแท่งสีดำ ขณะที่แท่งลายด้านล่าง หมายถึงโอกาสที่จะมีพฤติกรรมเสี่ยง ต่ำมากเมื่ออยู่คนเดียว

โดยเฉพาะเด็กที่มี ‘ทุนชีวิต’ อ่อนแอ เช่น มีปัญหาในครอบครัว ถูกเลี้ยงดูโดยไม่ได้รับการฟังเอาใจใส่ และคิดวิเคราะห์เรื่องต่างๆด้วยกัน หรือใช้อำนาจในการเลี้ยงลูก ไปจนถึงโรงเรียน และชุมชน ที่ไม่ช่วยให้เด็กใช้ความคิดด้วยหลักเหตุผล ก็จะทำให้เด็กถูกครอบงำ หรือเข้าใจผิด หรือมีความคิดสุดโต่ง และทำอะไรบางอย่าง เพื่อให้ตัวเองได้รับสิ่งตอบแทน ที่ไม่ใช่รางวัลของการชมเชย แต่การเป็นจุดสนใจของสังคม 

กรณีของ ‘น้องหยก’ ทำให้เกิดประเด็นแยกย่อยมากมาย ที่บางเรื่องยังหาเหตุผลมาหักล้างกันไม่ได้เสียทีเดียว อย่างเรื่องเครื่องแบบนักเรียน ยังจำเป็นอยู่ไหม ก็ต้องตั้งคำถาม และพุดคุยกันด้วย ‘เหตุผล’ กันจริงๆ แต่ต้องยอมรับว่านั่นคือกฎกติกา ที่มีการสร้างมานานพอสมควร หาต้องการปรับเปลี่ยน ก็คงต้องหา ‘จุดร่วม’ เพื่อให้เกิดการยอมรับได้ของคนส่วนใหญ่ในโรงเรียน หรือแม้กระทั่งประเทศต่อไป แต่สิ่งหนึ่งที่ไม่อาจมองข้าม คือพฤติกรรมวัยรุ่น ที่มีที่มาที่ไป และปัญหาใหญ่ที่ยิ่งจะแก้ยากขึ้นทุกที ไม่นับรวม ‘เบื้องลึก’ หรือ Hidden Agenda อะไรบางอย่างในเหตุการณ์นี้

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์