สงกรานต์ วันหยุดยาว แต่ความร้อนไม่หยุด! เช็กเลย ที่ไหนร้อนสุด ที่ไหนมีฝน

12 เมษายน 2567 - 01:00

Songkran-festival-weather-forecast-check-here-heat-or-rainfall-SPACEBAR-Hero.jpg
  • หลังเว้นวรรคมีพายุฝนฟ้าคะนอง พอมาดับความร้อนไปได้บ้างในบางพื้นที่ แต่ช่วงเทศกาลสงกรานต์นี้ กลับมารับมือกับความร้อนพุ่งทะยานอีกครั้ง กรมอุตุนิยมวิทยาเผย ภาคเหนือจะร้อนจัดได้ถึง 43 องศาเซลเซียส

  • ปลายเดือนเมษายน ดวงอาทิตย์จะตั้งฉากในภาคกลาง และขึ้นไปภาคเหนือ ประกอบกับฝนน้อยจะยิ่งทำให้อากาศร้อนขึ้น

ตั้งแต่เข้าเดือนเมษายน ประเทศไทยเจอกับอุณหภูมิสุดพีคสมชื่อฤดูร้อนกันไปแล้ว หลายพื้นที่อุณหภูมิสูงเกิน 40 องศาเซลเซียส มาดูกันว่าช่วงเทศกาลสงกรานต์ วันหยุดยาวนี้ที่หลายคนเดินทางไปต่างจังหวัด หรือมีแผนไปเยี่ยมครอบครัว ไหว้พระ ทำบุญ หรือเล่นน้ำสงกรานต์ในพื้นที่ต่างๆทั่วไทย อากาศจะเป็นอย่างไรบ้าง 

ความร้อนค่อยๆพุ่งทะยานถึงช่วงปลายเทศกาล

นายสุรพงษ์ สารปะ ผู้อำนวยการศูนย์ภูมิอากาศ กรมอุตุนิยมวิทยา กล่าวว่า ช่วงเทศกาลสงกรานต์นี้อาจไม่ร้อนเท่าช่วงวันที่ 7 – 9 เมษายนที่ผ่านมา แต่อากาศจะกลับมาร้อนเท่าช่วงนั้นได้หลังจากผ่านพ้นเทศกาลสงกรานต์ไปแล้ว ประมาณปลายเดือนเมษายน ถึงต้นเดือนพฤษภาคม 

ช่วงต้นของวันหยุดเทศกาลสงกรานต์ ยังได้อานิสงส์จากพายุฝนฟ้าคะนองที่เกิดขึ้นในบางพื้นที่ช่วงวันที่ 9-11 เมษายน เนื่องจากมวลอากาศเย็นจากประเทศจีนแผ่เข้ามาผ่านทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือก่อน ขณะที่ภาคเหนือก็ได้รับอิทธิพลจากกระแสลมตะวันตก (ลมระดับบน) เข้ามาทำให้มีฝนตกในบางพื้นที่ แต่ฝนที่ตกนั้นปริมาณไม่มาก และพื้นที่ไม่กว้าง สำหรับพื้นที่ที่อากาศร้อนที่สุดยังคงเป็นภาคเหนือ

ส่งผลให้วันที่ 12-13 เมษายน มีบางพื้นที่อุณหภูมิสูงสุดประมาณ 40 องศาเซลเซียส และไม่กินพื้นที่มาก 

ส่วนวันที่ 13-14 เมษายน อาจมีฝนเล็กน้อยในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จากกระแสลมตะวันตกที่พัดเข้ามาจากทางภาคเหนือและมวลอากาศเย็นอ่อนกำลังลง ส่วนพื้นที่ไหนไม่มีฝนอากาศก็ร้อนอบอ้าวเหมือนเดิม 

ขณะที่วันที่ 14-15 เมษายน อุณหภูมิสูงสุดจะกลับมาสูงเกิน 40 องศาเซลเซียสขึ้นไปอยู่ที่ประมาณ 41-42 องศาเซลเซียส

และหลังวันที่ 16 เมษายน อุณหภูมิสูงสุดจะพุ่งสูงไปถึง 42-43 องศาเซลเซียสได้ในภาคเหนือ โดยเฉพาะจังหวัดตาก ลำพูน ลำปาง และภาคกลางอุณหภูมิสูงสุดประมาณ 42 องศาเซลเซียส โดยก่อนหน้านี้หากพื้นที่ไหนที่อุณหภูมิสูงสุดยังไม่แตะ 40 องศาเซลเซียสก็อาจจะสูงเกิน 40 องศาเซลเซียสได้ในหลายพื้นที่

สำหรับภาคตะวันออกเฉียงเหนืออากาศจะร้อนช้ากว่าภาคเหนือประมาณหนึ่งวันและอุณหภูมิสูงสุดอาจต่ำกว่าภาคเหนือเล็กน้อยรวมไปถึงภาคตะวันออก เนื่องจากภูมิประเทศที่ได้รับอิทธิพลจากลมทะเลเข้ามาปกคลุม  ทำให้อาจมีฝนตกเล็กน้อย โดยเฉพาะบริเวณที่ลาดเชิงเขา โดยอุณหภูมิสูงสุดของทั้งสองภาคนี้ ประมาณ 41 องศาเซลเซียส

ส่วนภาคใต้แม้จะได้รับลมทะเล แต่ระยะหลังมานี้ฝนตกน้อยประกอบกับสภาพพื้นที่ที่เปลี่ยนแปลงไปทำให้อุณหภูมิสูงสุดแตะ 40 องศาเซลเซียสได้ 

ช่วงปลายเดือนเมษายน ถึงต้นเดือนพฤษภาคม เป็นช่วงที่น่าจะไม่มีปัจจัยที่ทำให้เกิดฝนตกโดยเฉพาะภาคเหนือและภาคกลาง ทำให้อากาศจะร้อนจัดต่อเนื่องประมาณ 10 วัน 

โดยคาดว่าประมาณวันที่ 26-27 เมษายน ดวงอาทิตย์จะอยู่ในแนวตั้งฉากในพื้นที่กรุงเทพมหานคร หลังจากนั้นจะเป็นภาคกลาง และภาคเหนือตามลำดับ ซึ่งจะทำให้ความเข้มของแสงมากขึ้น จึงเป็นอีกปัจจัยที่จะทำให้อากาศร้อนมากยิ่งขึ้น

forecast7days_11-04-67.png
Photo: คาดหมายลักษณะอากาศ 7 วันข้างหน้า วันที่ 11 - 17 เมษายน 2567 ที่มา : กรมอุตุนิยมวิทยา

ด้าน รศ.ดร.เสรี ศุภราทิตย์ ผู้เชี่ยวชาญ IPCC และประธานกรรมการบริหาร Futuretales LAB, MQDC ได้โพสต์ในเฟซบุ๊กว่า “เข้าสัปดาห์แรกของเดือนเมษายนว่าร้อนสุดสุด (2 สุด) ช่วงวันสงกรานต์ร้อนต่อ แม้ว่าบางจังหวัดจะได้รับความชุ่มฉ่ำจากพายุฤดูร้อน แต่หลังสงกรานต์จะร้อนยิ่งขึ้นอีกแบบสุดสุดสุด (3 สุด) จนถึงสัปดาห์แรกของเดือนพฤษภาคม (ดูในรูปแนบ) ภาคตะวันออกเฉียงเหนือจะร้อนทุกพื้นที่ ภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคใต้ก็เช่นกันร้อนหลายจังหวัดครับ ไม่ได้หมายความว่าภาคเหนือจะไม่ร้อนน่ะครับ เพราะเฉดสีต่างๆแสดงอุณหภูมิที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้นจากอดีต (ประมาณ 20 ปี) ถ้าอดีตจังหวัดใดมีอุณหภูมิสูงอยู่แล้ว ก็จะสูงขึ้นไปตามเฉดสี ดังนั้นจึงบอกไม่ได้ว่าจังหวัดใดจะร้อนที่สุด เอาเป็นว่าร้อนทุกหย่อมหญ้าก็แล้วกันน่ะครับ”

435302391_727592509539349_1928179415321341048_n.jpg
Photo: แบบจำลองคาดการณ์อุณหภูมิที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้นจากอดีต (ประมาณ 20 ปี) ที่มา : เฟซบุ๊ก รศ.ดร.เสรี ศุภราทิตย์ / ECMWF

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์