เหตุการณ์เครื่องบินของสายการบินสิงคโปร์แอร์ไลน์ เที่ยวบิน SQ321 ที่เผชิญเหตุตกหลุมอากาศอย่างรุนแรง ขณะทำการบินเหนือน่านฟ้าไทย จนต้องทำการลงจอดฉุกเฉินที่สนามบินสุวรรณภูมิเมื่อช่วงเย็นวานที่ผ่านมา (21 พ.ค.)
วันนี้ (22 พ.ค.) สนธิ คชวัฒน์ ผู้ทรงคุณวุฒิด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ ชมรมนักวิชาการสิ่งแวดล้อมไทย ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว อธิบายเกี่ยวกับปัจจัยที่ทำให้เกิดหลุมอากาศ และความเสี่ยงของการเดินทางโดยเครื่องบินต่อจากนี้ว่า
“ เครื่องบินอาจตกหลุมอากาศบ่อยขึ้น แม้บินอยู่ในท้องฟ้าที่ปลอดโปร่ง สัมพันธ์กับการที่โลกเข้าสูภาวะโลกเดือด
- โลกร้อนทำให้อุณหภูมิบนผิวโลกสูงขึ้น 1.2 ถึง1.4 องศา จากยุคก่อนปฎิวัติอุตสาหกรรม ยิ่งระดับความสูงจากผิวโลกขึ้นไปเกือบ 20 กม.อุณหภูมิบรรยากาศยิ่งร้อนขึ้น จึงไปทำให้ลมระดับบนที่ระยะความสูงระหว่าง 7.0 ถึง 16 กม. จากผิวโลกที่เรียกว่าลมกรด หรือ Jet stream ซึ่งมีความเร็วเฉลี่ย 200 ถึง 400 กม.ต่อชม. และเคลื่อนที่จากซีกโลกตะวันตกไปยังตะวันออกมีความเร็วลดลงในบางช่วงบางขณะ ซึ่งจะทำให้ความหนาแน่นของมวลอากาศบริเวณนั้นลดลงด้วย ทำให้เกิดความแปรปรวนของอากาศทั้งที่อากาศช่วงนั้นปลอดโปร่งไม่มีพายุหรือเมฆฝนใดๆ เรียกว่า Clear Air Turbulance หรือ CAT หากมีเครื่องบินบินผ่านแรงยกจากปีกของเครื่องบินจะลดลงอย่างกระทันหันและเครื่องจะตกลงไปในมวลอากาศที่บางลงซึ่งเรียกว่าการตกหลุมอากาศ (Air Pocket)
- โลกร้อนขึ้น อุณหภูมิในบรรยากาศโลกสูงขึ้นอาจทำให้เกิดภาวะเครื่องบินตกหลุมอากาศมากขึ้น ทั้งๆ ที่เครื่องบินบินอยู่ในบรรยากาศที่ปลอดโปร่งได้ ซึ่งเรื่องนี้เกิดบ่อยขึ้น นักวิจัยในสหรัฐอเมริกาค้นพบว่าตั้งแต่ปี 1979 ถึงปี 2020 มีเครื่องบินตกหลุมอากาศอย่างรุนแรงเพิ่มขึ้นจากก่อนหน้านั้นถึงร้อยละ 55 และมีความสัมพันธ์โดยตรงกับการปล่อยก๊าซเรือนกระจกบนพื้นโลกสู่บรรยากาศทำให้โลกร้อนขึ้นเรื่อยๆ
หากไม่ดำเนินการใดๆ ในปี 2050 อุณหภูมิเฉลี่ยของโลกจะสูงขึ้นถึง 1.5 องศาเซลเซียส ซึ่งเรียกว่า ‘สภาวะโลกเดือด’ อาจจะทำให้เครื่องบินตกหลุมอากาศอย่างรุนแรงมากขึ้นถึง 40% จากปี 2023 แม้ในขณะที่บินผ่านในบรรยากาศที่ปลอดโปร่งก็ตาม