นโยบายการแจกเงินในช่วงวิกฤตเศรษฐกิจของแต่ละรัฐบาล ล้วนต้องการช่วยเหลือประชาชนที่รับความเดือดร้อน รวมทั้งเกิดการกระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศ
เมื่อได้รับเงิน ขึ้นกับแต่ละคน-แต่ละครอบครัวจะนำไปบริหารจัดการอย่างไร หลายคนนำไปใช้จ่ายซื้อสินค้าอุปโภคบริโภค, ใช้หนี้ทั้งในและนอกระบบ, แจกจ่ายลูกหลาน และเก็บออมไว้ใช้ในยามจำเป็น
ทีมข่าว Spacebar Big City ได้เลือกตัวอย่างลงพื้นที่ไปพูดคุยกับผู้ได้รับสวัสดิการแห่งรัฐในภาคอีสาน บุญโฮม แสงพล อายุ 59 ปี ชาวบ้านใน ต.ห้วยโพธิ์ อ.เมือง จ.กาฬสินธุ์ หนึ่งในประชาชนที่ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ หรือ ‘บัตรคนจน’ ได้รับสิทธิจาก ‘รัฐบาลยุคลุงตู่’ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา อดีตนายกรัฐมนตรี นำเงินที่ได้รับไปบริหารจัดการใช้จ่ายและแบ่งลงทุนต่อยอด
บุญโฮม เล่าว่า เริ่มตั้งแต่ได้รับเงินเยียวยาโควิด-19 เมื่อรวมกับสามี ครอบครัวแสงพล มีเงินก้อน 6,000 บาท แบ่งครึ่งเก็บไว้ใช้จ่ายที่จำเป็น ส่วนอีกครึ่งนำไปซื้อลูกหมูตัวเมีย 1 ตัว มาเลี้ยง จนถึงสมัยการบริหารประเทศในรัฐบาลชุดปัจจุบัน มี แพทองธาร ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจแจกเงิน 10,000 บาท ในครอบครัวมีสิทธิ์ได้รับเงิน 3 คน รวมเป็นเงิน 30,000 บาท
ในจำนวนนี้แบ่งใช้จ่ายในครอบครัว 10,000 บาท ส่วนอีก 20,000 บาท นำไปซื้อปูนและกระเบื้องนำมาสร้างบ้านให้ลูกหลานได้มีที่อยู่อาศัย
คอกหมู สร้างจากวัสดุที่หาได้ง่าย มุงหลังคาด้วยสังกะสี คอกเล็กๆกั้นอยู่ 3 คอก มีหมูแม่พันธุ์ 3 ตัว หมูแม่ลูกอ่อนที่ให้ลูกหมูชุดใหม่ เป็นหมูรุ่นที่ 2 ที่ บุญโฮม เรียกว่า ‘หมูลุงตู่’ เพราะแบ่งเงินที่ได้รับการช่วยเหลือเยียวยาโควิด-19 ซื้อลูกหมูมาเลี้ยงเป็นอาชีพเสริม หลังจากที่ไม่มีงานรับจ้างเพราะสถานการณ์โควิด -19

ในระยะนั้น ครอบครัวได้รับความเดือดร้อน เมื่อได้รับเงินช่วยเหลือ มีแนวคิดว่าต้องทำให้เงินจำนวนนี้ยังคงอยู่ จึงแบ่งเงินที่ได้รับครึ่งหนึ่ง มาลงทุนซื้อลูกหมูตัวเมียมาเลี้ยง
จากลูกหมูตัวเมีย 1 ตัว กลายเป็นหมูแม่พันธุ์ที่ออกลูก สร้างรายได้ให้กับ บุญโฮม มาต่อยอดจนกลายเป็นแม่หมู 3 ตัว ที่ผลัดเปลี่ยนกันออกลูกให้ได้ขาย
ลูกหมูชุดแรก 10 ตัว ขายเป็นลูกหมูพร้อมเลี้ยงในราคาตัวละ 1,000 บาท มีรายได้ชุดแรก 10,000 บาท นำเงินที่ได้ไปใช้จ่าย และแบ่งมาลุงทุนเลี้ยงหมูชุดที่ 2 ได้ลูก 8 ตัว เลี้ยง 7 เดือน ขายนำไปชำแหละ ได้เงินกว่า 40,000 บาท แบ่งเป็นค่าใช้จ่ายในครอบครัวและนำเงินบางส่วนไปซื้อเป็ดเทศและไก่มาเลี้ยงขาย
จนถึงปัจจุบัน มีหมูแม่พันธุ์ 3 ตัว ที่ผลัดเปลี่ยนกันออกลูก สร้างรายได้หมุนเวียนกว่า 200,000 บาท
เงินที่ได้จากทุกรัฐบาล คิดว่าเป็นเงินที่รัฐให้ประชาชนนำมาต่อมือต่อตีน คิดว่าเป็นเงินได้เปล่า แล้วแต่ว่าผู้ได้รับจะนำไปจัดการบริหารให้เกิดประโยชน์อย่างไร ถ้าเรานำเงินที่ได้มาใช้จนหมด ก็ไม่เกิดประโยชน์ จึงคิดว่าจะหาซื้อสิ่งของที่มีประโยชน์ต่อชีวิตความเป็นอยู่ของครอบครัว และเป็นที่จดจำเหมือนเป็นเงินขวัญถุง เงินที่ระลึก ที่พอเราเห็นแล้วเราจะนึกถึงผู้ให้ จึงเรียกว่า หมูลุงตู่ บ้านอุ๊งอิ๊งค์
— ‘บุญโฮม แสงพล’ ชาวบ้าน ต.ห้วยโพธิ์ จ.กาฬสินธุ์

เงินที่ได้จากรัฐบาล แม้ตอนนี้ไม่เหลือในบัญชี เพราะใช้จ่ายไปหมดแล้ว แต่สิ่งที่เราเหลืออยู่ คือหมูแม่พันธุ์ 3 ตัว กระเบื้องและปูนที่เตรียมไว้สร้างบ้านอยู่อาศัย เหมือนเป็นเงินออม ได้เก็บไว้ส่วนหนึ่งเพื่อนำไปต่อยอดซื้อวัว ควาย และเป็ดมาเลี้ยง ที่สำคัญเงินในการเลี้ยงหมูได้ส่งเสียหลานสาวเรียนจนจบในระดับ ปวส.ไปแล้ว 1 คน คิดว่าตัวเองเดินมาถูกทางแล้ว เพราะการนำเงินช่วยเหลือมาต่อยอดลงทุน ช่วยบรรเทาภาระค่าใช้จ่ายในยุคข้าวยากหมากแพงได้เป็นอย่างดี
— ‘บุญโฮม แสงพล’ ชาวบ้าน ต.ห้วยโพธิ์ จ.กาฬสินธุ์
สำหรับการแบ่งเงินมาลงทุนของ บุญโฮม มีความเห็นจาก รองศาสตราจารย์ภูมิสิทธิ์ มหาสุวีระชัย อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ที่มองว่า เป็นประชาชนในกลุ่มพิเศษ ที่หาได้น้อย ที่จะนำเงินแบ่งไปลงทุนต่อยอดให้ยังคงมีเงินใช้จ่าย แต่ยังพบเห็นไม่มากนัก
ในส่วนของรัฐบาลชุดปัจจุบัน ที่ได้แจกเงิน 10,000 บาท ชุดแรกไปแล้วนั้น จากการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภค พบว่า มีความเปลี่ยนแปลงทางด้านเศรษฐกิจน้อย ยังไม่มีผลต่อการกระตุ้นเศรษฐกิจ หรือสร้างความมั่นใจให้กับผู้บริโภคเท่าที่ควร

ทั้งนี้ เกิดจากปัจจัยหลายด้าน ทั้ง จำนวนเงินที่นำมากระตุ้นเศรษฐกิจยังไม่มากพอจะทำให้เกิดการกระตุ้นเศรษฐกิจ ที่สำคัญคือประชาชนมีหนี้สินภาคครัวเรือนที่สูงขึ้น เงินที่ได้รับส่วนหนึ่งไม่ได้นำไปใช้ในการอุปโภคบริโภค แต่ต้องนำไปใช้หนี้
นอกจากนี้ สภาพเศรษฐกิจที่ยังคงอยู่ในภาวะซบเซา ทำให้ประชาชนไม่มีความมั่นใจในการใช้จ่าย จึงเก็บเงินไว้ก่อน
เมื่อนำเงินเข้ามาในระบบจะเกิดการกระตุ้นเศรษฐกิจในช่วงระดับเวลาหนึ่ง แต่จะสร้างความเปลี่ยนแปลงมากน้อยขึ้นอยู่ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคและผู้ผลิต เพราะหากไม่มีการลงทุนเพิ่มจากฝ่ายผลิต ก็สามารถกระตุ้นเศรษฐกิจได้เพียงช่วงหนึ่งเท่านั้น การกระตุ้นเศรษฐกิจในระยะสั้นการแจกเงินเป็นอีกมาตรการหนึ่ง เพียงแต่ว่าจะแจกแบบใด แต่ต้องการเห็นรัฐบาลวางแผนแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจในระยะยาวควบคู่กัน แก้ไขปัญหาโครงสร้างในประเทศ มีหลายประเด็นที่ต้องแก้ไข เช่น ภาคอุตสาหกรรมต้องเรียกว่าไม่มีอุตสาหกรรมใหม่
— รองศาสตราจารย์ภูมิสิทธิ์ มหาสุวีระชัย อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น
นอกจากนี้ ประชาชนในประเทศกว่าร้อยละ 30 ประกอบอาชีพเกษตรกรรมเป็นหลัก แต่กลับไม่ได้รับการพัฒนา, ถูกละเลย คนกลุ่มนี้หากรัฐบาลพัฒนาอย่างจริงจัง ให้ความรู้เรื่องการเพิ่มรายได้ จะกระตุ้นการบริโภคได้อย่างแน่นอน เพราะประชาชนในกลุ่มนี้จะใช้เงินในการบริโภคเป็นหลัก

จากข้อมูลสำรวจดัชนีภาวะเศรษฐกิจครัวเรือนอีสาน ไตรมาส 3/2567 และคาดการณ์ไตรมาส 4/2567 ของศูนย์วิจัยธุรกิจและเศรษฐกิจอีสาน (ECBER) คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น พบว่า เศรษฐกิจครัวเรือนอีสานไตรมาส 3/67 แย่ลง เงินหมื่นอาจช่วยเศรษฐกิจไตรมาส 4/67 ฟื้นตัวได้เพียงเล็กน้อย
โดยกลุ่มตัวอย่างร้อยละ 83.5 เป็นกลุ่มที่มีสิทธิได้รับเงินหรือลงทะเบียนแล้ว ส่วนร้อยละ 16.5 เป็นกลุ่มที่ไม่มีสิทธิหรือไม่ได้ลงทะเบียนรับสิทธิ
เมื่อสอบถามว่า หากได้รับเงิน 10,000 บาท จากรัฐบาลในเฟสแรก หรือเฟส 2 จะนำไปใช้จ่ายเรื่องใดเป็นหลัก พบว่า
- ร้อยละ 51 นำเงินไปใช้ในชีวิตประจำวัน
- ร้อยละ 18 จะนำเงินไปใช้หนี้
- ร้อยละ 16.2 จะนำเงินไปเป็นทุนทำธุรกิจ
- ร้อยละ 13 จะเก็บเป็นเงินออม