ห่วงมหาวิทยาลัยไทย อันดับต่ำกว่าเพื่อนบ้าน

5 มกราคม 2567 - 07:21

Srettha-worried-about-thai-universities-ranked-lower-than-neighboring-countries-SPACEBAR-Hero.jpg
  • ‘เศรษฐา’ นั่งหัวโต๊ะประชุมสภานโยบายการอุดมศึกษาฯ

  • ลั่นต้องยกระดับการศึกษาไทย พัฒนาทักษะแรงงาน ตอบสนองตลาด

  • ห่วงมหาวิทยาลัยไทย อันดับต่ำกว่าเพื่อนบ้าน ยันต้องปรับหลักสูตรให้ทันสมัย แบ่งงานครูให้ถูกจุด

  • สั่งติดตามผลกระทบกับประชาชนจากเหตุสารพิษรั่วไหล เกรงฝุ่นซ้ำรอย

เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และ รมว.คลัง เป็นประธานการประชุมสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ โดยบางช่วงบางตอน นายกฯ กล่าวกับที่ประชุมว่า รัฐบาลให้ความสำคัญและยกระดับการศึกษา ซึ่งเป็นพื้นฐานหลักในการเสริมสร้างแรงงานที่มีทักษะสูง ให้สามารถสนองตอบตลาดแรงงานในปัจจุบันได้ และยกระดับรายได้ให้สูงขึ้น สร้างเม็ดเงินหมุนเวียนภายในประเทศได้สูงขึ้น และเพิ่มขีดความสามารถให้ประเทศต่อไป 
ทั้งนี้ รัฐบาลมีแนวทางในการขับเคลื่อนด้านอุดมศึกษา

ซึ่งหลังจากที่ได้บินไปต่างประเทศพบปะนักลงทุนนานาประเทศ เช่น สาธารณรัฐประชาชนจีน ประเทศสิงคโปร์ ประเทศซาอุดีอาระเบีย เป็นต้น พบว่าปัจจัยหลักในการลงทุน คือ ทักษะของแรงงาน ซึ่งเป็นเรื่องที่ผู้ประกอบการต้องการแรงงานที่มีทักษะสูง ซึ่งจะเป็นคำถามแรกๆ แต่ในขณะที่แรงงานไทยมีปัญหาในช่องว่างของทักษะ หรือแรงงานที่ไม่สามารถทำงานได้ตามความคาดหวังของนายจ้าง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับวิทยาศาสตร์วิศวกรรมศาสตร์ และคณิตศาสตร์

จากการจัดอันดับมหาวิทยาลัย 2022-2023 ผลปรากฏว่า การจัดอันดับของมหาวิทยาลัยประเทศไทย ต่ำกว่าประเทศเพื่อนบ้าน และประเทศอาเซียนหลายๆ ประเทศ ผมค่อนข้างเป็นห่วงเรื่องนี้เป็นอย่างมาก และหวังที่จะเห็นมหาวิทยาลัยไทย ให้ความร่วมมือในการพัฒนาด้านต่างๆ เช่น หลักสูตรการเรียนการสอน ควรปรับปรุงให้ทันสมัย และมีมาตรฐาน และตรงกับความต้องการของตลาดแรงงานยุคใหม่ และเทคโนโลยีสมัยใหม่ โดยต้องอาศัยความร่วมมือจากภาคเอกชน และมหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียงจากต่างประเทศ เพื่อยกระดับมหาวิทยาลัยไทยให้ทัดเทียมกับระดับนานาชาติ

ส่วนคณาจารย์ และบุคลากรทางการศึกษา ก็จำเป็นที่จะจะต้องเพิ่มพูนองค์ความรู้ในการสอนเช่นเดียวกัน โดยผู้สอนต้องให้ความสำคัญกับนิสิต นักศึกษาเป็นหลัก เพื่อให้สามารถถ่ายทอดความรู้ และประสบการณ์อย่างเต็มที่ ทั้งนี้ ทราบมาว่าอาจารย์บางคน อาจไม่ถนัดการสอน แต่ถนัดงานด้านวิจัยที่มีความสามารถ จึงอยากให้จัดสายงานอาชีพให้มีความเหมาะสมกับคนเก่งเหล่านี้

นอกจากนี้ มหาวิทยาลัยควรปรับปรุงสิ่งอำนวยความสะดวกให้ทันสมัย เพื่อให้นิสิตศึกษาได้ใช้ รวมถึงการบ่มเพาะให้นักศึกษาเกิดความคุ้นเคยกับการใช้เทคโนโลยี และโปรแกรมขั้นสูงต่างๆ เพื่อเตรียมความพร้อมในการทำงาน โดยในโลกปัจจุบัน หนึ่งในธุรกิจที่สามารถสร้างรายได้ คือ ธุรกิจกลุ่มสตาร์ทอัพ (Startup) ซึ่งเป็นธุรกิจที่ต้องอาศัยความคิดสร้างสรรค์ และองค์ความรู้เชิงลึก

หากมหาวิทยาลัยสามารถบ่มเพาะให้กับนักศึกษาได้ เชื่อว่าในอนาคตจะก่อให้เกิดผู้ประกอบการสตาร์ทอัพที่มีศักยภาพสูงของประเทศไทยอีกมาก และเชื่อว่าประเทศไทยจะมียูนิคอร์น ที่โตระดับโลกได้ โดยยูนิคอร์นเหล่านั้น กำลังรอคอยที่จะถูกค้นพบในมหาวิทยาลัย ซึ่งรัฐบาลจะสนับสนุนในการนำนักลงทุน มาเจอกับว่าที่ยูนิคอร์น เหล่านี้โดยใช้กลไกที่แถลงไว้

รัฐบาลให้ความสำคัญอย่างมากในเรื่องของประเด็นการศึกษา ฝากให้มหาวิทยาลัย ซึ่งมีบทบาทสำคัญในการดำเนินงานเรื่องดังกล่าว ปรับตัวพัฒนาตนเอง ให้พร้อมกับการเปลี่ยนแปลงต่างๆ ส่วนเรื่องของวิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม รัฐบาลมีความตั้งใจที่จะเห็นผลงานวิจัย ที่ตรงกับ เป้าหมายของรัฐบาล เช่นเรื่องของรถยนต์อีวี อยู่แม้กระทั่งเรื่องของไนโตรเจน ที่กำลังอยู่ในการพัฒนา, พลังงานสะอาด, พลังงานหมุนเวียน, เศรษฐกิจสีเขียว, เทคโนโลยี AI, เทคโนโลยีที่เกี่ยวกับคอมพิวเตอร์, การเป็นศูนย์กลางเทคโนโลยี หรือการเป็นศูนย์กลางทางด้านอาหารในอนาคต อีกหลายๆ อย่าง

ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า ก่อนการประชุม นายกฯ แสดงความเป็นห่วงประชาชนในพื้นที่จังหวัดสมุทรปราการ หลังเกิดเหตุสารเคมีรั่วไหล โดยเมื่อคืนที่ผ่านมา (4 ม.ค.) สั่งการให้กระทรวงสาธารณสุข ตรวจสภาพร่างกายประชาชนที่มีอาการ ดูแลรักษาทันที นอกจากนี้ เนื่องจากมีประกาศเข้าสู่สถานการณ์ฝุ่น วันแรก เกรงลมจะพัดฝุ่นเข้าทำให้สถานการณ์อากาศที่สูดดมเข้าไป ยิ่งอันตรายมากยิ่งขึ้น จึงขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหมด ร่วมกันดูแลและติดตาม พร้อมรายงานสถานการณ์ให้ทราบเป็นระยะด้วย

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์