‘อนุฯ ความปลอดภัยท้องถนน’ ถกเหตุ ‘บัสบึงกาฬ’ หาแนวทางป้องกันเกิดซ้ำ

28 ก.พ. 2568 - 05:36

  • ‘อนุฯ ความปลอดภัยท้องถนน รัฐสภา’ ถกเหตุ ‘บัสบึงกาฬ’ ดูงานคว่ำที่ปราจีนฯ

  • เร่งหาแนวทางป้องกันเกิดซ้ำ ชี้ ‘บัส 2 ชั้น’ เสี่ยงเรื่องทรงตัว

  • ยังไม่มีแนวทางจัดการอีก 7 พันคันที่ยังให้บริการ ติงไอเดีย ‘ยกเลิกดูงานทัศนศึกษา’ แค่ปลายเหตุ ต้องเข้มตั้งใจจริงแก้ปัญหา

surachai-28feb2025-SPACEBAR-Hero.jpg

สุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย อดีตสมาชิกวุฒิสภา (สว.) ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการด้านโครงสร้างพื้นฐาน และด้านยานพาหนะ ในคณะกรรมการพิจารณาศึกษาแนวทางการป้องกันและลดอุบัติเหตุ เพื่อสร้างความปลอดภัยทางถนนแห่งรัฐสภา กล่าวถึงการประชุมวันนี้ (28 ก.พ.) ว่า ได้เชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งในพื้นที่จุดเกิดเหตุรถบัสดูงานของคณะเทศบาลตำบลพรเจริญ จากบึงกาฬคว่ำที่ปราจีนบุรี รวมไปถึงหน่วยงานส่วนกลางมาร่วมประชุม หารือประเด็นสำคัญคือรายงานผลการสอบสวนเบื้องต้น ถึงสาเหตุว่า เกิดจากปัญหาสภาพถนนที่ไม่ปลอดภัยหรือเกิดจากปัญหายานพาหนะ ซึ่งก็คือรถบัส 2 ชั้น และรุ่นนี้พูดกันมาตั้งแต่ปี 2559 ว่า ประเทศไทยควรยกเลิกรถโดยสารสาธารณะประเภท 2 ชั้น นอกจากนี้ จะหารือแนวทางการแก้ไขป้องกันไม่ให้เกิดอุบัติเหตุลักษณะนี้ซ้ำซ้อนอีก ซึ่งเรื่องรถบัสได้พูดกันมาหลายครั้ง โดยเฉพาะเมื่อช่วงหลังเดือนตุลาคมปีที่แล้วที่เกิดเหตุรถบัสนักเรียนไฟไหม้ที่ถนนวิภาวดี เป็นเหตุให้นักเรียนเสียชีวิต 23 ราย วันนี้จึงได้บรรจุเรื่องนี้เป็นวาระเร่งด่วน

เมื่อถามว่า จะมีทางแก้ปัญหาเกี่ยวกับรถบัส 2 ชั้น ซึ่งไม่เหมาะใช้เป็นรถรับจ้างไม่ประจำทาง เพราะมีเส้นทางคดเคี้ยวลาดชันอย่างไร สุรชัย กล่าวว่า ทั้งรถบัสประจำทางและไม่ประจำทาง ตามหลักสากลขนาดความสูงของรถบัสเกิน4 เมตร จะทำให้เกิดปัญหาเรื่องจุดศูนย์ถ่วง และเกิดความเสี่ยง ไม่ว่าจะวิ่งถนนลาดชันหรือทางปกติ และรถบัส 2 ชั้นก็จะสูงเกิน 4 เมตร จะมีความเสี่ยงเรื่องการทรงตัวมากกว่ารถบัสชั้นเดียวอยู่แล้ว แม้จะเคยออกกฎหมายเมื่อปี 2559 ในการไม่ให้กรมการขนส่งทางบกรับจดทะเบียนรถบัส 2 ชั้นรุ่นใหม่ แต่รถรุ่นเก่า 6-7 พันคันยังไม่มีวิธีบริหารจัดการและยังให้บริการอยู่ จึงทำให้เกิดเหตุเช่นนี้ซ้ำ ซึ่งเป็นประเด็นเรื่อง ยานพาหนะที่ไม่ปลอดภัย แต่เรื่องถนนในบางจุดที่มีความเสี่ยง ทั้งสภาพและกายภาพ เป็นอีกประเด็นปัญหาหนึ่ง เท่าที่ทราบพื้นที่เกิดเหตุยังมีปัญหาการทำงานที่ไม่บูรณาการที่ดีเพียงพอระหว่างหน่วยงาน เป็นเส้นถนนช่วงผ่านอุทยานเชื่อม โยงไปที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม หลังจากวันนี้จะเชิญกระทรวงดังกล่าวมาพูดคุยถ้าผลการประชุมวันนี้ (28 ก.พ.) บ่งชี้ให้เห็นว่า สาเหตุเกิดจากสภาพของถนนจริงๆ แล้วที่ไม่เข้าไปแก้ไข ไม่ว่าจะเป็นกรมทางหลวงกรมการขนส่งทางบกที่พบเห็นปัญหาและไม่เข้าไปแก้ไข เพราะมีข้อจำกัดด้วยข้อกฎหมายเพราะเป็นเขตอุทยานก็จะเชิญมาพูดคุยหารือการทำงานเชื่อมระหว่างหน่วยงานเพื่อหาแนวทางแก้ไขอย่างไร ไม่ได้ปล่อยให้ประชาชนมาเสียชีวิตอยู่บนความเสี่ยงสำหรับการเดินทางเช่นนี้ แต่ขอให้ได้ข้อยุติเบื้องต้นวันนี้ก่อน

สำหรับการแก้ไขปัญหาอย่างยั่งยืน ถ้าหน่วยงานต่างๆ ตั้งใจทำงานจริงๆ ก็เชื่อว่ าจะสามารถแก้ไขได้ ไม่เช่นนั้น ประเทศอื่นทั่วโลก ทำไมมีความปลอดภัย มากกว่าประเทศไทย และตลอดทั้งปี ประเทศไทยมีคนเสียชีวิตเป็นหมื่น จะปล่อยให้คนเสียชีวิต จากความไม่ปลอดภัยบนท้องถนนได้อย่างไรเรากำหนดเรื่อง ทศวรรษแห่งความปลอดภัย เรื่องนี้ต้องพูดคุยกันให้หนักแน่นมากขึ้น รัฐสภา ในฐานะฝ่ายนิติบัญญัติจะบูรณาการเชื่อมประสานการทำงานของหน่วยงานต่างๆ เข้าด้วยกัน ให้ข้อเสนอแนะผ่านไปยังรัฐบาล เพื่อให้เกิดข้อสั่งการ เรากำหนดวันที่ 21 ม.ค. ของทุกปีเป็นวันความปลอดภัยของผู้ใช้ถนนแห่งชาติ แต่ไม่มีมาตรการระดับชาติในการแก้ปัญหาจึงจะพยายามเข้ามีส่วนเข้ามาผลักดันการทำงานของแต่ละหน่วยงาน

เมื่อถามถึงข้อเสนอให้ทบทวนงบดูงานและยกเลิกทัศนศึกษาดูงาน สุรชัย กล่าวว่า ตรงนั้นเป็นเรื่องปลายเหตุส่วนหนึ่งเป็นความเห็นที่ว่าถ้าแก้ต้นเหตุไม่ได้ให้แก้ปลายเหตุ ไม่เช่นนั้นต่อไปต้องแก้ด้วยวิธีการไม่ให้ประชาชนเดินทางไปใช้วิธีการคมนาคมทางอื่นแทนเส้นทางกลาง แต่ถ้าเราทำถนนให้ปลอดภัย ถ้าเป็นการทัศนศึกษาที่เป็นจริงและใช้งบประมาณได้อย่างคุ้มค่าก็คงไม่ต้องไปยกเลิก

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์