ถล่มแล้ว ถล่มอยู่ ถล่มต่อ !?
เหตุคานก่อสร้างถนนพระราม 2 ถล่ม เมื่อช่วงเช้ามืดที่ผ่านมา (29 พ.ย.) ส่งผลให้มีคนงานเสียชีวิตเบื้องต้น 6 ราย บาดเจ็บเกือบ 10 ราย และถนนมีรถติดสะสมเกือบ 10 กิโลเมตร
โศกนาฏกรรมครั้งนี้นำมาสู่การตั้งคำถาม(อีกครั้ง) ถึง มาตรฐานความปลอดภัยของผู้ใช้ถนน และมาตรฐานความปลอดภัยของการก่อสร้าง
โดยช่วง 5 ปีที่ผ่านมา โครงการก่อสร้างสะพานพระราม 2 เกิดอุบัติเหตุระหว่างการก่อสร้างแล้วกว่า 2,242 ครั้ง และมีผู้เสียชีวิต กว่า 130 ราย
“เรื่องนี้มันเป็นเรื่องใหญ่ และเป็นเรื่องที่ไม่ควรเกิดขึ้น ในทางวิศวกรรมมันรับไม่ได้ มันเกิดแบบนี้ได้อย่างไร”
สุรเชษฐ์ ประวีณวงศ์วุฒิ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน กล่าว
เป็นการตั้งคำถามเชิงตำหนิของ สุรเชษฐ์ ประวีณวงศ์วุฒิ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน ซึ่งเคยดำรงตำแหน่งเป็น รองประธานคณะกรรมาธิการการคมนาคม สภาผู้แทนราษฎร ที่ตรวจสอบเรื่องความปลอดภัยในการก่อสร้างบนถนนพระราม 2 มาอย่างต่อเนื่อง โดย สุรเชษฐ์ เป็นหนึ่งในผู้เชี่ยวชาญที่มีประสบการณ์ด้านวิศวกรรมคมนาคม
เหตุการณ์ที่เกิดขึ้น สุรเชษฐ์ ย้ำว่า เรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่และไม่ควรเกิดขึ้นแบบซ้ำซาก เพราะมันสะท้อนถึงมาตรฐานความปลอดภัย การใส่ใจงาน และการคัดเลือกผู้รับเหมาก่อสร้าง โดยเฉพาะเรื่องความรับผิดชอบของวิศวกรผู้คุมงาน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องที่ปล่อยประละเลย จนทำให้เกิดการสูญเสียต่อชีวิตและทรัพย์สิน ซึ่งการเกิดอุบัติเหตซ้ำๆ มันเป็นเรื่องที่แย่มากๆ


ความล้มเหลวเชิงระบบและโครงสร้าง : ปัญหาใต้พรมที่กลืนชีวิตคน?
สุรเชษฐ์ ยังชี้ให้เห็นถึงปัญหาเชิงระบบและโครงสร้างว่า ประเทศไทยยังขาดกลไกลที่เป็น Resilient หรือ ความสามารถในการฟื้นตัว ปรับตัว และป้องกันการเกิดปัญหาซ้ำ เมื่อเกิดเหตุการณ์ที่ไม่คาดฝัน รวมถึงขาดการตรวจสอบที่โปร่งใส่ ที่ผ่านมาแม้จะมี วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ (วสท.) หรือ สภาวิศวกร ร่วมลงพื้นที่ตรวจสอบ แต่หน่วยงานเหล่านี้ ไม่มีอำนาจหน้าที่ตามกฎหมายโดยตรง
สุดท้ายหน่วยงานรัฐก็ทำหน้าที่ตรวจสอบกันเอง ทำให้ผลการตรวจสอบที่ออกมาถูกสังคมครหาและดูไม่ค่อยน่าเชื่อถือ
“คุณใช้วิธีว่าหน่วยงานตรวจสอบตัวเองแบบนี้หรอ ทุกอย่างมันถูกซุกไว้ใต้พรม ไปถามสาเหตุให้ผู้รับเหมามาแจ้งว่ามันเกิดอะไรขึ้น มันไม่ได้ มันต้องมีคนกลางเข้าไป เราได้ยินแบบ สภาวิศวกร , วสท. เข้าไป แต่พวกนี้ไม่มีบทบาทหน้าที่ตามกฎหมาย เหมือนเป็นงานอาสา มาช่วยดูช่วยแนะนำ แต่ในทางปฏิบัติกลับถูกใช้เป็นเครื่องมือฟอกขาวด้วยซ้ำ เราเห็นว่ามันไม่มีกระบวนการเอาผิดคนไม่มีกระบวนการที่ทำให้คนกลัวว่าไม่ให้ทำชุ่ยในอนาคต”
สุรเชษฐ์ กล่าว
‘พ.ร.บ.ถนน’ ความหวังที่ถูกปัดตก?
ช่องโหว่ที่เกิดขึ้น สุรเชษฐ์ อธิบายว่า ตัวเขาและพรรคก้าวไกล ได้ร่วมกันตกตะกอนความคิดแล้วว่า การแก้ไขปัญหาเชิงโครงสร้างของระบบถนนในประเทศไทย รวมถึงการยกระดับมาตรฐานความปลอดภัย และการจัดการถนนในระดับประเทศ ควรมีกฎหมายที่ชื่อว่า พระราชบัญญัติถนน หรือ พ.ร.บ.ถนน ซึ่งพรรคก้าวไกล เคยเสนอเรื่องนี้เข้าสู่การพิจารณาของสภาฯ แล้ว แต่กลับถูกปัดตกโดย เศรษฐา ทวีสิน ที่ดำรงตำแหน่งเป็นนายกรัฐมนตรีในขณะนั้น โดยไม่มีคำอธิบายว่าเพราะเหตุใด
ซึ่งหนึ่งในสาระสำคัญของร่างกฎหมายดังกล่าว คือ การพูดถึงการตั้งคณะกรรมการสืบสวนอุบัติเหตุ ที่ประกอบไปด้วยผู้เชี่ยวชาญ ที่เป็นคนกลาง และมีอำนาจหน้าที่ตามกฎหมายอย่างชัดเจน
“เดี๋ยวรัฐมนตรีก็ไปลงพื้นที่ บอกว่าเร่งแก้ปัญหาอยู่ ตั้งคณะกรรมการขึ้นมา หาเหตุอะไรต่างๆ แต่คณะกรรมการมันเป็นคนละเรื่องกับ ที่ผมพูดถึงใน พ.ร.บ.ถนน ที่จะใช้ผู้เชี่ยวชาญและเป็นคนกลาง มีกลไกอำนาจหน้าที่ตามกฏหมาย มาสั่งว่าหน่วยงานต้องรัดเข็มขัดขึ้นยังไงบ้าง”
สุรเชษฐ์ กล่าว
นอกจากนี้ ร่างกฎหมายดังกล่าวยังพูดถึง Road Hierarchy หรือการกำหนด ลำดับชั้นของถนน เพื่อช่วยทำให้โครงสร้างพื้นฐานด้านการจราจรมีความชัดเจนมากขึ้น
เป็นการมองภาพรวมอุบัติเหตุบนถนนอย่างเป็นองค์รวม และยังมี เรื่องของการกระจายอำนาจการดูแลงบประมาณ และอีกหลายเรื่องที่จะแก้ปัญหาเชิงโครงสร้างอย่างเป็นระบบ
หากรัฐบาลมีความจริงใจในการแก้ปัญหา ควรเร่งผลักดันร่าง พ.ร.บ.ถนน
สุรเชษฐ์ ยังมองว่า หากรัฐบาลมีความจริงใจและจริงจังที่จะแก้ปัญหานี้ เรามีร่างกฎหมายอยู่แล้ว เราพร้อมสนับสนุน เพียงแค่คุณแค่ให้สัญญาณมา พรรคประชาชนพร้อมโหวตผ่านกฎหมาย ฉบับนี้ให้
เชื่อประชาชนรู้สึกไม่ปลอดภัยกับการใช้ถนนพระราม 2
นอกจากนี้ สุรเชษฐ์ ยังเชื่อว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นยังส่งผลให้ประชาชนรู้สึกไม่ปลอดภัย และไม่เชื่อมั่น ต่อการเดินทางในเส้นทางดังกล่าว และเชื่อว่าประชาชนคงตั้งคำถามมากขึ้นเรื่อยๆ ว่ามันเกิดอะไรขึ้น กับวงการก่อสร้างไทยถึงการควบคุมและตรวจสอบของภาครัฐ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง


4 สมมุติฐาน เหตุคานถล่มพระราม 2
ขณะที่ วุฒินันทน์ ปัทมวิสุทธิ์ ประธานสาขาวิศวกรรมเครื่องกล วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ได้เปิดเผยระหว่างลงพื้นที่ตรวจสอบจุดเกิดเหตุว่า โครงสร้างเหล็กที่พังถล่ม เป็นโครงถักเหล็กเลื่อน ใช้สำหรับยกชิ้นส่วนสะพาน หรือ เซ็กเมนต์ (Segment) ให้วางตัวในแนวเดียวกัน โดยชิ้นส่วนถูกยึดเข้าด้วยกัน ด้วยการดึงลวดอัดแรง (Post-Tensioning) ส่วนสาเหตุที่ทำให้เกิดการพังถล่ม ขณะนี้ยังไม่ได้ข้อสรุป แต่เบื้องต้น ตั้งสมมุติฐานไว้ 4 ข้อ
1.โครงถักเหล็กใกล้เสาเกิดแรงเฉือนสูงจนรับน้ำหนักไม่ไหว
ตำแหน่งที่โครงถักเหล็กเกิดถล่ม เกิดขึ้นที่ใกล้เสา เป็นจุดที่มีค่าแรงเฉือนสูง ขณะที่พังถล่ม ได้ทำการยกชิ้นส่วนครบทั้งช่วงเสาและจัดแนวแล้ว แสดงว่าโครงถักเหล็กอยู่ในสภาวะที่รับน้ำหนักเต็มที่ ค่าแรงเฉือนที่เกิดขึ้น จึงมีค่าที่สูงจนทำให้ชิ้นส่วนใดชิ้นส่วนหนึ่งเกิดดุ้ง หักหรือขาด จนพังลงมา
2.ท่อนเหล็ก (PT bar) ที่ใช้ยึดชิ้นส่วนเกิดขาดหรือหลุด
ท่อนเหล็ก PT bar ที่ใช้หิ้ว Segment อาจเกิดขาดหรือหลุด ทำให้น้ำหนักเสียสมดุล และเกิดการถ่ายแรงจากโครงถักหนึ่งไปยังอีกโครงถักหนึ่ง ทำให้โครงถักต้องรับน้ำหนักมากขึ้น เกิดการบิดตัวและพังถล่ม
3.โครงเหล็กวินช์อาจหลุดจากราง
โครงเหล็กวินช์ ที่ใช้ยก Segment ที่ตั้งอยู่บนโครงถักเหล็ก และเลื่อนไปมามีน้ำหนักมากหลายสิบตัน อาจหลุดออกจากรางในระหว่างที่ติดตั้งชิ้นส่วน และทำให้เกิดแรงกระแทกต่อโครงถักเหล็กจนพัง
4.วัสดุที่ใช้ในจุดยึดหรือรอยต่อไม่ได้มาตรฐาน
จุดยึดหรือรอยต่อระหว่างโครงถักเหล็ก ที่ใช้สลักเกลียวหรือท่อนเหล็ก PT bar มีการใช้วัสดุที่ไม่ได้คุณภาพ มีกำลังรับน้ำหนักไม่เพียงพอหรือไม่
