ภายใต้อุณหภูมิโลกที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง นักวิทยาศาสตร์และรัฐบาลทั่วโลกกำลังมองหาทางเลือกที่ไม่ธรรมดาในการชะลอ “ภาวะโลกร้อน” โดยหนึ่งในแนวทางที่กำลังจะถูกทดสอบอย่างจริงจังในสหราชอาณาจักร คือ การลดแสงจากดวงอาทิตย์ หรือที่เรียกว่า Solar Radiation Management (SRM)
แนวคิดนี้เคยถูกมองว่าเป็นเพียงจินตนาการของนิยายวิทยาศาสตร์หรือพล็อตหนังวันสิ้นโลก แต่ปัจจุบันกลายเป็นหนึ่งในหัวข้อวิจัยสำคัญภายใต้แผน “วิศวกรรมภูมิอากาศ” (Geoengineering) ที่ได้รับเงินสนับสนุนกว่า 50 ล้านปอนด์จากรัฐบาล ผ่านหน่วยงาน Advanced Research and Invention Agency(ARIA) ทำให้นักวิทยาศาสตร์ในสหราชอาณาจักรกำลังเตรียมตัวเพื่อหาคำตอบ โดยตามรายงานจาก The Telegraph รัฐบาลอังกฤษคาดว่าจะอนุมัติชุดโครงการทดลองวิศวกรรมภูมิอากาศสุริยะในอีกไม่กี่สัปดาห์ข้างหน้า
Geoengineering คืออะไร?
วิศวกรรมภูมิอากาศ คือการแทรกแซงระบบภูมิอากาศของโลกด้วยเทคโนโลยีระดับใหญ่ เพื่อชะลอหรือย้อนกลับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยแบ่งออกได้เป็น 2 ประเภทหลัก
- Carbon Dioxide Removal (CDR) ดึงก๊าซเรือนกระจกออกจากบรรยากาศ เช่น การปลูกป่า ดูดซับ CO₂ ด้วยเทคโนโลยี
- Solar Radiation Management (SRM) ลดปริมาณรังสีจากดวงอาทิตย์ที่ตกกระทบผิวโลก เพื่อทำให้โลกเย็นลงในระยะสั้น
โครงการล่าสุดของ ARIA อยู่ในกลุ่มที่สอง ซึ่งเน้นการจัดการ “รังสีสุริยะ” โดยใช้วิธีจำลองผลที่คล้ายกับการปะทุของภูเขาไฟ เช่น การปล่อยอนุภาคซัลเฟอร์ไดออกไซด์ขึ้นสู่ชั้นบรรยากาศสตราโตสเฟียร์ เพื่อสะท้อนแสงอาทิตย์บางส่วนกลับสู่อวกาศ

วิทยาศาสตร์เบื้องหลังการหรี่ดวงอาทิตย์
3 วิธีที่ถูกทดลองภายใต้การควบคุมอย่างเข้มงวด โดยนักวิทยาศาสตร์เตรียมทดลอง SRM ด้วยวิธีต่างๆ ได้แก่
1.Stratospheric Aerosol Injection (SAI) การฉีดละอองลอยในชั้นสตราโตสเฟียร์ เช่น ซัลเฟอร์ไดออกไซด์ (SO₂) สู่ชั้นบรรยากาศสูง ซึ่งจะรวมตัวกับไอน้ำกลายเป็นละอองซัลเฟตที่สามารถสะท้อนรังสีแสงอาทิตย์ มีตัวอย่างในธรรมชาติคือ การที่ภูเขาไฟปินาตูโบระเบิด ในปี 1991 ทำให้อุณหภูมิโลกลดลงประมาณ 0.5°C เป็นเวลา 1 ปี
2.Marine Cloud Brightening (MCB) วิธีนี้ใช้แนวคิด “เพิ่มร่มเงาให้โลก” โดยการพ่นเกลือทะเลขนาดเล็กในอากาศเหนือต้นกำเนิดเมฆ เพื่อกระตุ้นให้เกิดหยดน้ำมากขึ้น ทำให้เมฆหนาแน่น สะท้อนแสงได้มากขึ้น
3.Cirrus Cloud Thinning การทำให้เมฆเซอร์รัสบางลง เป็นแนวคิดแบบนอกกรอบ ซึ่งเสนอให้ลดความหนาแน่นของเมฆเซอร์รัสในระดับสูง เนื่องจากเมฆชนิดนี้เก็บกักความร้อนได้มากกว่าสะท้อนออก ถ้าทำให้มันบางลงก็อาจลดภาวะเรือนกระจกในชั้นบรรยากาศได้
ทำไมถึงต้องทดลอง SRM?
สองเหตุผลหลักที่แนวคิดสุดโต่งนี้เกิดขึ้นมา คือการหวังลดอุณหภูมิโลกในระยะสั้น หากภาวะโลกร้อนเข้าสู่ “จุดเปลี่ยน” เช่น การละลายของกรีนแลนด์ หรือการพังทลายของธารน้ำแข็งยักษ์ที่ทำให้กระแสน้ำในมหาสมุทรเปลี่ยนแปลง วิธีนี้อาจช่วยซื้อเวลาให้กับมาตรการลดคาร์บอน อีกเหตุผลสำคัญ (ที่หลายคนบอกว่าเป็นข้ออ้างมากกว่า) คือ SRM ใช้ต้นทุนต่ำ เมื่อเทียบกับเทคโนโลยี CDR โดยรายงานของ IPCC (2022) ระบุว่า SRM มีต้นทุนต่ำกว่าการดักจับคาร์บอนหลายเท่าตัว แม้จะมีความเสี่ยงสูง
เพราะเหตุใดแนวคิดนี้จึงยังถกเถียง?
ศาสตราจารย์ไมค์ ฮัลม์ วิจารณ์ว่าเงินทุนกว่า 50 ล้านปอนด์ควรนำไปใช้ในเทคโนโลยีพลังงานสะอาด หรือการกำจัดคาร์บอน ซึ่งเป็นวิธีแก้ระยะยาว พร้อมมองว่าแนวคิดลดแสงจากดวงอาทิตย์เป็นความหวังลมๆ แล้งๆ ที่อาจเบี่ยงเบนความสนใจจากการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจริงจัง
นอกจากนี้ เนื่องจากผลกระทบข้างเคียงที่ไม่อาจคาดเดาได้จากความไม่แน่นอนทางวิทยาศาสตร์ ทำให้มีการวิจารณ์แนวคิดนี้อย่างหนาหู เช่น การเปลี่ยนแปลงรูปแบบฝน หรือภัยแล้งในภูมิภาคหนึ่งขณะที่อีกภูมิภาคได้รับประโยชน์ และแบบจำลองยังไม่สามารถทำนายผลกระทบของการแทรกแซงนี้ได้อย่างแม่นยำ
กระทั่งผลกระทบที่อาจย้อนกลับไม่ได้ เช่น หากหยุดฉีดสารกะทันหัน (Termination Shock) อุณหภูมิที่ถูกกดไว้จะดีดกลับอย่างรุนแรง (Rebound Effect) รวมถึงความยุติธรรมทางสิ่งแวดล้อม ใครเป็นผู้ตัดสินใจ? ประเทศที่ได้รับผลกระทบจะมีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบายหรือไม่?
สุดท้ายที่หลายฝ่ายกังวลคือการปล่อยสารเหล่านี้อาจเสี่ยงก่อให้เกิด “หายนะใหม่” หากหยุดลงโดยไม่มีการเตรียมพร้อม และเสี่ยงเบี่ยงเบนจากการแก้ปัญหาต้นเหตุ โดยนักวิจารณ์หลายคนมองว่า SRM อาจกลายเป็น “ข้ออ้าง” เพื่อชะลอการลดการเผาไหม้เชื้อเพลิงฟอสซิล
SRM ทางเลือกหรือทางรอด?
การทดลอง SRM ไม่ใช่แผนการควบคุมดวงอาทิตย์ เพื่อหลบเลี่ยงการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ แต่เป็นความพยายามเสริม (Complementary Strategy) ที่อาจช่วยลดความเสี่ยง “ระยะสั้น” หากโลกเผชิญวิกฤต อย่างไรก็ตาม ควรใช้วิธีนี้ด้วยความระมัดระวังสูงสุด ภายใต้กรอบความร่วมมือระหว่างประเทศ และไม่ละเลยภารกิจหลักคือ การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก
แม้ว่ามาตรการสุดโต่งเพื่อรับมือกับภาวะโลกร้อนครั้งนี้ ยังคงเป็นประเด็นที่ถกเถียงกันอย่างหนักในแวดวงวิทยาศาสตร์ ในขณะที่โลกเรากำลังเร่งเข้าสู่จุดเปลี่ยนของสภาพอากาศ (Climate Tipping Points) ที่อาจย้อนกลับไม่ได้ การหรี่แสงจากดวงอาทิตย์ อาจฟังดูเกินจริง แต่ในวันที่โลกร้อนเกินไป นี่อาจเป็นหนึ่งใน “ทางเลือก” ที่เราต้องพร้อมเข้าใจเพื่อยื้อโลกนี้ไว้ให้คนรุ่นถัดไป และหากมันเป็นไปได้ เรื่องนี้ก็ไม่ใช่แค่คำพูดลอยๆ จากอารมณ์ พล็อตหนัง หรือมุกขำในโลกโซเชียล