เลิกเถียงได้แล้ว! งานวิจัยจากฝรั่งเศสชี้ ‘ผู้ชาย’ ปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากกว่าผู้หญิง 26%

24 พ.ค. 2568 - 01:50

  • งานวิจัยจากฝรั่งเศสพบผู้ชายปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากกว่าผู้หญิงถึง 26% สาเหตุหลักมาจากการบริโภคเนื้อแดงและการใช้รถยนต์ส่วนตัว

  • กลัว “ดูไม่แมน” เหตุผลที่ผู้ชายบางคนหลีกเลี่ยงการแยกขยะ ใช้ถุงผ้า หรือเลือกสินค้ารักษ์โลก

  • จะลดโลกร้อนได้ต้องทลายกรอบเรื่องเพศ เพราะการเปลี่ยนผ่านสู่ความยั่งยืนเริ่มจากวิธีคิด ไม่ใช่แค่พฤติกรรม

ใครเคยสงสัยบ้างว่าระหว่าง “ผู้ชาย” กับ “ผู้หญิง” เพศไหนปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากกว่ากัน?

ต้องบอกว่าเรานี่แหละเป็นหนึ่งในคนที่เคยคิดวนกับเรื่องนี้ แม้จะหาข้อสรุปแบบชัวร์ๆ ไม่ได้ แต่แนวโน้ม (ที่มาจากความคิดเห็นส่วนตัวล้วนๆ) ก็มาถูกทาง!!

และดูท่าว่าเรื่องนี้ก็ไม่ใช่เรื่องเล็กๆ เพราะถึงขนาดมีการทำวิจัยกันจริงจัง ซึ่งผลออกมาก็เป็นไปตามแบบที่เราพาดหัวเลยคือ “ผู้ชาย” เป็นหนึ่งในปัจจัยเร่งให้เกิดวิกฤตโลกร้อน มากกว่า “ผู้หญิง” มาดูกันว่าที่เป็นแบบนั้นเพราะอะไร

เมื่อความเป็น “ชาย” กลายเป็นปัจจัยเร่งวิกฤตโลกร้อน

บทบาททางเพศที่สังคมกำหนด ไม่เพียงส่งผลต่อวิธีคิดและพฤติกรรมของแต่ละเพศ แต่ยังอาจมีนัยสำคัญต่อปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และความยั่งยืนของโลกในระยะยาว ซึ่งต่อไปนี้คือข้อค้นพบจากงานวิจัยล่าสุดที่เปิดเผยความเชื่อมโยงระหว่างอัตลักษณ์ทางเพศกับผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม

งานวิจัยที่เผยแพร่ผ่านสถาบันวิจัยแกรนแธมแห่งวิทยาลัยเศรษฐศาสตร์และรัฐศาสตร์แห่งลอนดอน (LSE) ร่วมกับ Centre de Recherche en Économie et Statistique (CREST) วิเคราะห์ข้อมูลจากกลุ่มตัวอย่างชาวฝรั่งเศส 15,000 คน พบว่า โดยเฉลี่ยแล้วเพศชายมีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากกว่าเพศหญิงถึง 26%

ทั้งนี้ เมื่อควบคุมตัวแปรด้านเศรษฐศาสตร์ เช่น รายได้ การจ้างงาน และจำนวนสมาชิกในครัวเรือน ตัวเลขดังกล่าวลดลงเหลือ 18% แต่ยังคงมีนัยสำคัญ โดยพฤติกรรม “การเดินทาง” และ “การบริโภคอาหาร” เป็นสองปัจจัยหลักที่ทำให้เกิดความแตกต่างนี้ ซึ่งรวมกันคิดเป็นสัดส่วนกว่า 50% ของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในระดับครัวเรือน


sustainability-men-emit-more-greenhouse-gases-than-women-SPACEBAR-Photo01.jpg
พฤติกรรม “การเดินทาง” และ “การบริโภคอาหาร” เป็นสองปัจจัยหลักที่ทำให้ผู้ชายปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากกว่าผู้หญิง

รถยนต์และเนื้อสัตว์ พฤติกรรมที่สัมพันธ์กับบทบาททางเพศ

งานวิจัยดังกล่าวชี้ให้เห็นว่าพฤติกรรมที่เกี่ยวข้องกับความเป็นชายแบบดั้งเดิมมีส่วนในการเพิ่มการปล่อยคาร์บอน โดยเฉพาะการใช้รถยนต์ส่วนบุคคล และการบริโภคเนื้อสัตว์

ในหลายสังคม รถยนต์ไม่ได้เป็นเพียงพาหนะ แต่เป็นสัญลักษณ์ของสถานะ ความมั่นคง และความเป็นผู้นำทางเพศ ผู้ชายจึงมีแนวโน้มขับรถไกลกว่า และใช้รถยนต์เป็นส่วนหนึ่งของอัตลักษณ์ตนเอง ส่งผลให้เกิดการปล่อยก๊าซจากภาคขนส่งในระดับที่สูงกว่าผู้หญิงอย่างมีนัย

สำหรับด้านอาหาร ผู้ชายมีแนวโน้มบริโภคเนื้อสัตว์ โดยเฉพาะ “เนื้อแดง” มากกว่าผู้หญิง แม้ไม่จำเป็นในเชิงชีวภาพ แต่มักผูกโยงกับความแข็งแรง ความมั่งคั่ง หรือความเป็นชายในวัฒนธรรมกระแสหลัก ซึ่งสวนทางกับแนวทางลดคาร์บอนฟุตพรินต์ที่เน้นการลดการบริโภคเนื้อสัตว์และหันไปใช้แหล่งโปรตีนทางเลือก 

วิจัยนี้ยิ่งตอกย้ำผลงานวิจัยจากสหรัฐฯ ที่เคยตีพิมพ์ในวารสาร Scientific American ก่อนหน้านี้ ซึ่งชี้ว่าผู้ชายบางกลุ่มอาจเลี่ยงพฤติกรรมเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เพราะกังวลว่าการกระทำเหล่านั้นจะถูกมองว่า “ไม่แมน”

โดยในการทดลองที่มีผู้เข้าร่วมกว่า 2,000 คน นักวิจัยพบว่าผู้ชายมีแนวโน้มจะหลีกเลี่ยงสินค้าหรือพฤติกรรมที่มีภาพลักษณ์อ่อนโยน เช่น การใช้ถุงผ้า การรีไซเคิล หรือการเลือกผลิตภัณฑ์ออร์แกนิก แม้พวกเขาจะเห็นว่าพฤติกรรมเหล่านั้นมีประโยชน์ต่อสิ่งแวดล้อมก็ตาม

ยังมีงานวิจัยอื่นที่สนับสนุนทิศทางเดียวกัน อาทิ

  • งานวิจัยปี 2000 จาก Behrend College พบว่าผู้หญิงมีแนวโน้มทิ้งขยะในที่ที่เหมาะสมมากกว่าผู้ชาย
  • งานวิจัยจาก California State University ในปีเดียวกันพบว่า ผู้หญิงมีแนวโน้มรีไซเคิลมากกว่าผู้ชาย
  • ในปี 2010 สถาบันวิจัยด้านกลาโหมของสวีเดน (Swedish Defence Research Agency) สรุปว่าผู้หญิงโดยรวมมีคาร์บอนฟุตพรินต์ต่ำกว่าผู้ชาย

ไม่ใช่แค่เพศ แต่คือกรอบทางวัฒนธรรม

แม้งานวิจัยส่วนใหญ่จะพูดถึง “เพศ” ในเชิงชีวภาพ (Biological Sex) แต่ประเด็นสำคัญอยู่ที่ “บทบาททางเพศ” หรือ Gender Role ที่กำหนดโดยบริบททางสังคม วัฒนธรรม และการหล่อหลอมจากวัยเยาว์ บทบาททางเพศเหล่านี้ไม่ได้ส่งผลเพียงต่อความรู้สึกส่วนบุคคล หากยังสะท้อนถึงรูปแบบการบริโภคและการใช้พลังงานในระดับโครงสร้าง เมื่ออัตลักษณ์ทางเพศถูกผูกโยงเข้ากับรูปแบบการบริโภคที่ปล่อยคาร์บอนสูง ก็หมายความว่าประเด็นเรื่องความเท่าเทียมทางเพศและการเปลี่ยนผ่านสู่สังคมคาร์บอนต่ำไม่สามารถแยกออกจากกันได้อีกต่อไป

ทั้งนี้ นักวิชาการด้านสิ่งแวดล้อมเสนอว่า การแก้ปัญหาในระดับโครงสร้างควรมุ่งที่การ “Reframe” ภาพลักษณ์ของพฤติกรรมรักษ์โลกให้เชื่อมโยงกับคุณค่าที่ทุกเพศสามารถยอมรับได้ เช่น ความรับผิดชอบ ความเข้มแข็ง หรือความสามารถในการเป็นผู้นำ นอกจากนี้ ผู้กำหนดนโยบายควรคำนึงถึงมิติทางเพศเมื่อออกแบบมาตรการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เช่น การส่งเสริมทางเลือกการเดินทางที่ไม่ใช้รถยนต์ส่วนบุคคล หรือการสื่อสารที่ไม่ผูกพฤติกรรมสีเขียวกับเพศใดเพศหนึ่ง

แม้ว่าผลการศึกษาเหล่านี้จะมาจากประเทศฝรั่งเศส สหรัฐฯ และจีน แต่ประเด็นเรื่องบทบาททางเพศกับพฤติกรรมด้านสิ่งแวดล้อมเป็นข้อถกเถียงที่พบได้ทั่วโลก

ท้ายที่สุดแล้ว การเปลี่ยนผ่านสู่สังคมที่ปล่อยคาร์บอนต่ำและยั่งยืนจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อมีการปรับเปลี่ยนทั้งพฤติกรรมระดับปัจเจก และกรอบวัฒนธรรมระดับสังคม โดยเฉพาะการปลดล็อกภาพจำที่ทำให้การรักษ์โลกกลายเป็นเรื่องของ “ผู้หญิง” หรือ “คนอ่อนแอ” เพราะสุดท้ายแล้ว วิกฤตโลกร้อนไม่เลือกเพศ และทางรอดของเราคือการร่วมมือกันโดยไม่ยึดติดกับกรอบเดิมอีกต่อไป

อ้างอิง

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์