กฎหมายใหม่ลงดาบผู้ประกอบการดำน้ำ-ถ่ายภาพใต้น้ำที่สร้างผลกระทบเชิงลบต่อธรรมชาติ มีผลบังคับใช้แล้ว หลังราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เรื่อง มาตรการคุ้มครองทรัพยากรปะการังจากกิจกรรมท่องเที่ยวดำน้ำ พ.ศ. 2568 อย่างเป็นทางการ นับเป็นหมุดหมายสำคัญของประเทศไทยในการยกระดับการอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเลอย่างจริงจัง โดยมีเป้าหมายชัดเจนเพื่อปกป้องแนวปะการังจากผลกระทบของกิจกรรมท่องเที่ยวที่ไร้การควบคุม พร้อมวางแนวทางใหม่ให้การท่องเที่ยวใต้ทะเลเดินหน้าไปสู่ความยั่งยืน ด้วยกติกาที่ชัดเจน เข้มงวด และบังคับใช้ได้จริง เพื่อคืนสมดุลให้ระบบนิเวศทางทะเลไทย
ทำไมถึงต้องคุมเข้มมากขึ้น?
“เพราะเรากำลังสูญเสียสมบัติใต้ทะเล...ที่ไม่มีวันได้คืน”
ในช่วงหลายปีที่ผ่านมากิจกรรมท่องเที่ยวดำน้ำได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยเฉพาะพื้นที่แนวปะการังที่มีความสวยงาม ซึ่งผู้ประกอบการหลายรายละเลยการควบคุมดูแลนักท่องเที่ยว ปล่อยให้ดำน้ำโดยไม่มีการอบรมหรือแนะนำวิธีปฏิบัติที่ถูกต้อง ขาดเจ้าหน้าที่ผู้เชี่ยวชาญดูแล ทำให้นักท่องเที่ยวมาสัมผัส เหยียบย่ำ หรือใช้ตีนกบโดยไม่รู้วิธี มีการให้อาหารปลา และทิ้งขยะในทะเล รวมถึงผู้ประกอบการจัดกิจกรรมท่องเที่ยวดำน้ำเคลื่อนย้ายปะการัง สัตว์น้ำ หรือสิ่งมีชีวิตใดๆ มาให้นักท่องเที่ยวดู ส่งผลให้เกิดความเสียหายต่อแนวปะการังอย่างมาก กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) จึงจัดทำประกาศมาตรการคุ้มครองทรัพยากรปะการังจากกิจกรรมท่องเที่ยวดำน้ำขึ้น โดยมีผลบังคับใช้แล้วตามประกาศในราชกิจจานุเบกษา
นายปิ่นสักก์ สุรัสวดี อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กล่าว
ไม่รู้ ไม่ระวัง หรือไม่สนใจ...หลากพฤติกรรมของนักท่องเที่ยวที่ส่งผลเสียต่อธรรมชาติ จากตัวอย่างปัญหาที่พบ มันไม่ได้แค่ทำให้แนวปะการังสวยน้อยลง แต่มัน “ตาย” และฟื้นคืนยากยิ่งกว่าที่คนส่วนใหญ่จะเข้าใจ
สาระสำคัญมาตรการคุ้มครองทรัพยากรปะการังจากกิจกรรมท่องเที่ยวดำน้ำ พ.ศ. 2568
ข้อ 5 ผู้ควบคุม และผู้ช่วยผู้ควบคุม มีหน้าที่ควบคุม กํากับ ดูแล กิจกรรมท่องเที่ยวดําน้ำ โดยปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ ดังต่อไปนี้
- (1) แจ้งกฎหมาย และระเบียบที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนวิธีปฏิบัติที่ดีในการดําน้ำ โดยไม่กระทบกระเทือน ต่อปะการัง สิ่งมีชีวิตใต้ทะเล และนักท่องเที่ยว ก่อนที่จะเริ่มต้นกิจกรรมการท่องเที่ยวดําน้ำ ในกรณีที่แนวปะการังอยู่ภายในแนวเขตอุทยานแห่งชาติ พื้นที่คุ้มครองทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง พื้นที่คุ้มครองสิ่งแวดล้อม หรือพื้นที่อนุรักษ์ตามกฎหมายอื่น ให้แจ้งกฎหมายและระเบียบตามกฎหมายดังกล่าว ในส่วนที่เกี่ยวข้องให้แก่นักท่องเที่ยวด้วย
- (2) การดําน้ำลึก นักท่องเที่ยวต้องผ่านการเรียนดําน้ำ ลึก โดยให้มีผู้ควบคุม 1 คน ต่อนักท่องเที่ยวไม่เกิน 4 คน
- (3) การดําน้ำตื้น ให้มีผู้ควบคุม 1 คนต่อนักท่องเที่ยวไม่เกิน 20 คน กรณีนักท่องเที่ยว เกิน 20คน ให้มีผู้ควบคุมหรือผู้ช่วยผู้ควบคุมเพิ่มในอัตราส่วน 1 คน ต่อนักท่องเที่ยวไม่เกิน 20 คน
- (4) การดําน้ำอิสระ (Freediving) ให้มีผู้ควบคุม 1 คน ต่อนักท่องเที่ยวไม่เกิน 20 คน
- (5) การทดลองการเรียนดําน้ำ ให้มีผู้ควบคุม 1 คน ต่อผู้เรียนไม่เกิน 2 คน
- (6) การเรียนดําน้ำลึกและการสอบดําน้ำ ลึก ให้มีผู้ควบคุม 1 คน ต่อผู้เรียนดําน้ำไม่เกิน 4 คน และให้กระทําการบนพื้นทรายนอกแนวปะการัง
- (7) ในระหว่างการเรียนหรือสอบดําน้ำลึก ห้ามนักเรียนดําน้ำ หรือครูสอนดําน้ำถ่ายภาพใต้น้ํา เว้นแต่จะได้จัดให้มีบุคคลเพื่อทําหน้าที่ถ่ายภาพเป็นการเฉพาะ โดยบุคคลที่ทําหน้าที่ถ่ายภาพต้องสอบ ผ่านหลักสูตรการดําน้ำลึกในระดับที่ Advanced Open Water ของสถาบัน PADI หรือสถาบัน SSI หรือระดับ Advanced Scuba Diver ของสถาบัน NAUI หรือหลักสูตรของสถาบันสอนการดําน้ำอื่น ที่เทียบเท่าขึ้นไป หรือต้องมีประสบการณ์การดําน้ำตั้งแต่ 40 ไดฟ์ขึ้นไป และต้องมีใบรับรอง การสอบผ่านหลักสูตรดังกล่าว หรือสมุดบันทึกประสบการณ์มาแสดงต่อเจ้าหน้าที่ เมื่อเจ้าหน้าที่ขอ หรือเป็นการเรียนการสอนตามหลักสูตรการถ่ายภาพใต้น้ำของสถาบันสอนการดําน้ำ และต้องแสดง หลักฐานการสอนนั้น
- (8) การดำนํ้าลึกห้ามนำกล้องลงไปถ่ายภาพใต้น้ำ เว้นแต่เป็นการถ่ายภาพใต้นํ้าโดยบุคคล ที่ได้สอบผ่านหลักสูตรการดําน้ำลึกในระดับที่ Advanced Open Water ของสถาบัน PADI หรือ สถาบัน SSI หรือ ระดับ Advanced Scuba Diver ของสถาบัน NAUI หรือหลักสูตรของสถาบัน สอนการดําน้ำ อื่นที่เทียบเท่าขึ้นไป หรือต้องมีประสบการณ์การดําน้ำตั้งแต่ 40 ไดฟ์ ขึ้นไป และต้องมีใบรับรองการสอบผ่านหลักสูตรดังกล่าว หรือสมุดบันทึกประสบการณ์มาแสดงต่อเจ้าหน้าที่ เมื่อเจ้าหน้าที่ขอตรวจ
- (9) การดําน้ำตื้นในบริเวณแนวปะการังระดับน้ำจะต้องสูงไม่น้อยกว่า 2 เมตร จากยอดปะการัง
- (10) ในกรณีการดําน้ำตื้นที่มีการใช้ตีนกบ ผู้ควบคุมจะต้องแจ้งวิธีการควบคุมตีนกบมิให้กระทบกระเทือนปะการังแก่นักท่องเที่ยว และต้องทดสอบความสามารถในการควบคุมก่อนที่จะนํานักท่องเที่ยวเข้าใกล้แนวปะการังด้วย
- (11) นักท่องเที่ยวดําน้ำตื้นต้องสวมใส่เสื้อชูชีพในขณะดําน้ำตื้นในบริเวณแนวปะการังทุกครั้ง เว้นแต่ เป็นการดําน้ำ ตื้นโดยบุคคลที่ได้สอบผ่านหลักสูตรดําน้ำลึกหรือหลักสูตรดําน้ำอิสระ และต้องมีใบรับรองนักดําน้ำลึกหรือใบรับรองนักดําน้ำ อิสระมาแสดงต่อเจ้าหน้าที่เมื่อเจ้าหน้าที่ขอตรวจ
ข้อ 6 ห้ามมิให้กระทําการดังนี้ ในบริเวณแนวปะการัง
- (1) ผู้ควบคุมหรือผู้ช่วยผู้ควบคุมเคลื่อนย้ายปะการัง สัตว์น้ำ หรือสิ่งมีชีวิตใด ๆ มาให้ นักท่องเที่ยวดู
- (2) การเตะ หรือสัมผัสปะการัง สัตว์น้ำ หรือสิ่งมีชีวิตใด ๆ
- (3) กระทําด้วยประการใด ๆ อันก่อให้เกิดตะกอนตกทับ หรือปกคลุมปะการัง หรือทําให้ ปะการังได้รับความเสียหาย
- (4) การให้อาหารปลาหรือสัตว์น้ำ
- (5) การทิ้งขยะลงในทะเล
- (6) การประกอบกิจกรรมท่องเที่ยวดําน้ําแบบเดินใต้ทะเล หรือ Sea Walker หรือท่องเที่ยวดําน้ำโดยวิธีอื่นใดที่มีลักษณะเป็นการเดินหรือเคลื่อนที่บนพื้นทะเล
บทสรุป ใครทำอะไรต้องรู้ มาตรการนี้มีผลบังคับใช้ทันที (นับแต่วันที่ 22 เมษายน 2568) และจะมีผลต่อเนื่องนาน 5 ปี โดยมีแนวทางควบคุมกิจกรรมดำน้ำและถ่ายภาพใต้น้ำอย่างเข้มข้น ดังนี้
1.ผู้ควบคุมต้องมีคุณสมบัติและไปกับนักดำน้ำทุกครั้ง
- ดำน้ำลึก (Scuba) 1 ผู้ควบคุม ดูแลนักท่องเที่ยวไม่เกิน 4 คน
- ดำน้ำตื้น (Snorkel) หรือดำน้ำอิสระ (Freediving) 1 ผู้ควบคุม ดูแลไม่เกิน 20 คน
- ทดลองเรียนดำน้ำ 1 ผู้ควบคุมต่อนักเรียนไม่เกิน 2 คน
ทั้งนี้ ผู้ควบคุมต้องผ่านการอบรมจาก ทช. หรือสถาบันที่ได้มาตรฐานเท่านั้น
2.ห้ามถ่ายภาพใต้น้ำระหว่างเรียนดำน้ำ
- ข้อกำหนดเรื่องการถ่ายภาพใต้น้ำ กฎหมายใหม่ “ห้ามถ่ายภาพใต้น้ำ” สำหรับผู้เรียนหรือสอบดำน้ำลึก ยกเว้นเป็นผู้ที่มีวุฒิ Advanced Open Water (PADI/SSI) หรือ Advanced Scuba Diver (NAUI) หรือเทียบเท่า หรือมีประสบการณ์มากกว่า 40 ไดฟ์ พร้อมสมุดบันทึกการดำน้ำ หากเป็นการเรียนถ่ายภาพใต้น้ำ ต้องมีผู้ควบคุมเฉพาะทางร่วมด้วย เพราะหลายคนอาจไม่รู้ว่า “แสงแฟลช” ใต้น้ำมีผลต่อปะการังอ่อนมาก หรือแม้แต่การลอยตัวผิดวิธีก็สามารถกระแทกแนวปะการังโดยไม่รู้ตัว
3.ห้ามพฤติกรรมเสี่ยงต่อการทำลายแนวปะการังเด็ดขาด
- ห้ามสัมผัสหรือเหยียบปะการัง
- ห้ามให้อาหารสัตว์น้ำ
- ห้ามทิ้งขยะ หรือทำให้เกิดตะกอนคลุมปะการัง
- ห้ามใช้ Sea Walker หรือการเดินบนพื้นทะเล
- ห้ามเรียนดำน้ำลึกบนแนวปะการัง (ต้องเรียนบนพื้นทรายเท่านั้น)
4.ความปลอดภัยต้องมาก่อน
- ผู้ดำน้ำตื้นต้องสวมชูชีพทุกครั้ง (ยกเว้นมีใบรับรองดำน้ำ)
- การใช้ตีนกบต้องมีการสอนวิธีที่ไม่กระทบต่อปะการัง
ฝ่าฝืนมีโทษ! ไม่ต้องเตือน
กฎหมายฉบับกำหนดบทลงโทษสำหรับผู้ฝ่าฝืน ไม่ว่าจะเป็นนักท่องเที่ยว หรือผู้ประกอบการ หากไม่ปฏิบัติตามมาตรการที่กำหนดไว้ อาจต้องเจอกับโทษหนัก
- นักท่องเที่ยวที่ฝ่าฝืนคำแนะนำ อาจถูกระงับสิทธิ์ดำน้ำทันที
- ผู้ควบคุมต้องรายงานเจ้าหน้าที่โดยไม่ชักช้า
- หากผู้ควบคุม/ผู้ช่วยฝ่าฝืน อาจถูกเพิกถอนสิทธิ์
- จำคุกไม่เกิน 2 ปี
- ปรับไม่เกิน 200,000 บาท
- หรือทั้งจำทั้งปรับ
ข้อยกเว้น
- ไม่บังคับใช้กับกิจกรรมเพื่อการศึกษา วิจัย หรือการอนุรักษ์โดยหน่วยงานที่รับผิดชอบ
ไม่ใช่แค่คุมเข้ม...แต่เพื่อปกป้องอนาคตของทะเลไทย
แม้หลายคนอาจมองว่ากฎหมายนี้ “เข้มงวดเกินไป” หรือ “จำกัดเสรีภาพในการดำน้ำ” แต่หากมองให้ลึกซึ้งนี่คือการสร้างรากฐานของ การท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ที่ยั่งยืน โดยให้นักดำน้ำมีความรู้ มีวินัย และเคารพธรรมชาติ
การที่ต้องมีใบรับรอง หรือผ่านการอบรมก่อนถ่ายภาพใต้น้ำ ไม่ใช่แค่เรื่องของความปลอดภัยส่วนตัว แต่เป็นเรื่องของ “การถ่ายภาพโดยไม่ทำร้ายธรรมชาติ” เพราะธรรมชาติไม่สามารถตั้งค่าชัตเตอร์ใหม่ได้เหมือนกล้อง
สรุปทิศทางใหม่ของการท่องเที่ยวทางทะเลไทย
กฎหมายนี้อาจเป็นจุดเปลี่ยนของอุตสาหกรรมดำน้ำในประเทศไทย ที่จะกลายเป็นพื้นที่ของนักดำน้ำที่มีความรับผิดชอบเท่านั้น ผู้ประกอบการต้องปรับตัว นักท่องเที่ยวต้องเรียนรู้ และผู้ควบคุมต้องมีมาตรฐานสูงกว่าเดิม
แต่ทั้งหมดนี้ ก็คือ “การลงทุนเพื่ออนาคต” เพราะธรรมชาติที่สมบูรณ์ คือสิ่งที่ไม่มีใครสร้างใหม่ได้ และปะการังไม่ใช่แค่ฉากหลังของภาพสวยๆ ใต้น้ำ แต่คือระบบนิเวศที่เราต้องร่วมกันปกป้อง