BIOTHAI เปิดหลักฐาน-บทสนทนา อดีต ‘พนง.ฟาร์มยี่สาร’

26 ก.ค. 2567 - 07:26

  • วงเสวนาเปิดภาพลับฟาร์ม ‘ปลาหมอคางดำ’ อ้างอดีตพนักงานฟาร์มยี่สารให้ข้อมูลเลี้ยงมาตั้งแต่ 2553 ในบ่อดิน คาดปลาอาจหลุดลงแหล่งน้ำหลังเคลียร์บ่อ

talk-blackchin-tilapia-26jul2024-SPACEBAR-Hero.jpg

กรณีการขยายพันธุ์อย่างรวดเร็วของปลาหมอคางดำและที่มาของปลาชนิดนี้ ถูกหยิบยกขึ้นมาวิพากษ์วิจารณ์ในวงเสวนา ซึ่งมีตัวแทนของมูลนิธิชีววิถี (BioThai Foundation) มูลนิธิเกษตรกรรมยั่งยืน (ประเทศไทย) มูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม (EnLAW) สภาองค์กรของผู้บริโภค เครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือก และเครือข่ายความมั่นคงทางอาหาร

การเสวนาครั้งนี้ กำหนดหัวข้อว่า ‘หายนะสิ่งแวดล้อม กรณีปลาหมอคางดำ : การชดเชยเยียวยาความเสียหาย ฟื้นฟูระบบนิเวศ และปฏิรูประบบความปลอดภัยทางชีวภาพ’ การพูดคุยเป็นไปอย่างเข้มข้น วิทยากรส่วนใหญ่ต่างก็วิพากษ์วิจารณ์ทั้งบริษัทเอกชนนำเข้า การแพร่พันธุ์ของ ‘ปลาหมอคางดำ’ รวมถึงการกำจัดและฟื้นฟูระบบนิเวศ  

ในวงเสวนา ยังระบุด้วยว่า การระบาดของปลาหมอคางดำ มี 3 แบบ 1.หลุด 2.นกพาไป ซึ่งสามารถข้ามจังหวัดได้ และ 3.คนพาไป ซึ่งคิดว่ามีแน่นอน เพราะปลาหมอคางดำ เป็นปลาที่กินจุและกินดุ สามารถเข้าไปไล่ล่ากุ้งภายใน 15-60 วินาที และใช้วิธีการรุมกิน ดังนั้น ต้องลดประชากรปลาหมอคางดำให้ได้ และต้องจำกัดพื้นที่ไม่ให้ระบาดไปมากกว่านี้ เพราะปลาหมอคางดำ นับเป็น ‘ซูเปอร์เอเลี่ยน’ ที่รัฐบาลต้องจัดสรรงบประมาณต่อเนื่อง เพื่อไล่ล่าปลาหมอคางดำให้เหลือเป็นศูนย์ และต้องฟื้นฟูระบบนิเวศของแม่น้ำ ลำธารและชายฝั่ง ซึ่งไม่ใช่จะปล่อยปลาอะไรลงแหล่งน้ำก็ได้ แต่ต้องมุ่งที่จะฟื้นฟูและหยุดทำลายธรรมชาติ

talk-blackchin-tilapia-26jul2024-SPACEBAR-Photo01.jpg

การเสวนาเรื่อง ‘ปลาหมอคางดำ’ เข้มข้นขึ้น เมื่อ ‘วิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ’ เลขาธิการมูลนิธิชีววิถี (BIOTHAI) และอดีตคณะกรรมการความปลอดภัยทางชีวภาพระดับชาติ (NBC) ออกมาเปิด โดยอ้างว่า เป็นภาพลับที่ถ่ายที่ฟาร์มยี่สารระหว่างปี 2553 ถึงใกล้ปี 2560 พร้อมระบุด้วยว่า เมื่อคืนวันที่ 16 ก.ค.ที่ผ่านมา มีอดีตพนักงานของฟาร์มยี่สาร ติดต่อมาและเล่าถึงสิ่งที่เกิดขึ้นในฟาร์ม

“ซึ่งเราได้ถามว่า ฝังปลาไว้ที่ไหน แต่เขาตอบว่า ปลาไม่ได้ตาย ปลาถูกเลี้ยงที่นั่นในปี 2553 จนกระทั่งเขาออกจากงาน จึงถามว่า เกิดอะไรขึ้น เขาก็เล่าว่า เขารับปลามา และอยู่ในช่วงที่เลี้ยงปลา และเล่าอีกว่า ไม่ใช่บ่อซีเมนต์ มันเป็นบ่อดิน”

talk-blackchin-tilapia-26jul2024-SPACEBAR-Photo03.jpg

โดยภาพถ่ายที่ ’วิฑูรย์‘ นำขึ้นมาเปิดกลางวงเสวนานั้น ได้มีข้อความระบุว่า “อดีตเจ้าหน้าที่ท่านนี้ ตอบคำว่าไบโอไทยว่า ไม่ต้องไปขุดหาปลาหมอคางดำหรอก เพราะปลาที่นำมาไม่ได้ตายแบบที่เป็นข่าว“

”ปลาหมอคางดำขนาดใบมะขามถูกเลี้ยงจนกลายเป็นพ่อแม่พันธุ์ เพาะพันธุ์ต่อมาอีกหลายรุ่น โดยเคาะไข่นำไปฟักทุกๆ 7 วัน เลี้ยงมาต่อเนื่อง จนเมื่อออกจากงานก็มีคนรับงานต่อ ฟาร์มแห่งนี้ นอกจากเลี้ยงปลาหมอคางดำและปลาไฮบริด (ปลาคังดำXปลานิล) แล้ว ยังเลี้ยงปลาแปลกๆ เช่น ปลาหยก จาระเม็ดครีบสั้นด้วย“

”ระบบน้ำในฟาร์มจะทำระบบปิด คือโซนน้ำดีและน้ำเสีย น้ำเสียจะวนไปบำบัดในบ่อใหญ่แล้วเวียนกลับมาใช้ใหม่ ถ้าน้ำในระบบหายไปเยอะจะดึงน้ำจากคลองธรรมชาติเข้าไปเติม ปลาในระบบมันหลุดอยู่ในบ่อบำบัด ในคลองส่งน้ำต่างๆ นานๆ เข้าจะมีการเคลียร์บ่อเก็บน้ำบ่อบำบัดน้ำ ก็ต้องสูบน้ำทิ้งออกนอกฟาร์ม เพื่อเคลียร์ปลาในบ่อ ในคลองส่งน้ำ ตรงนี้แหละที่ปลาจะหลุดไปในคลองธรรมชาติ”

talk-blackchin-tilapia-26jul2024-SPACEBAR-Thumbnail.jpg

ตัวแทนจาก BIOTHAI ยังเผยแพร่ภาพประกอบการเสวนาต่อเนื่อง โดยอ้างว่า เป็นภาพบ่ออนุบาลปลาหมอคางดำ และบ่อผสมพันธุ์ รวมถึงภาพการคัดเลือกไข่ปลาหมอคางดำเพื่อนำไปขยายพันธุ์หรือผสมพันธุ์แล้วนำไปอนุบาลในกระชัง หรือตาข่ายทรงสี่เหลี่ยมสีน้ำเงิน  

นอกจากนี้ยังอ้างถึงข้อมูลอื่น โดยระบุว่า เป็นข้อมูลที่ชี้ให้เห็นว่า ฟาร์มยี่สารน่าจะเป็นศูนย์กลางของการระบาด ได้แก่ 1.บริษัทเอกชนนำเข้าเป็นรายเดียวที่นำเข้าปลาหมอคางดำเมื่อปี 2553 จากใบขออนุญาตทั้งหมด 448 รายการ

2.รายงานของ กสม. ระบุชัดเจนว่า บริษัทเอกชนนำเข้าละเมิดระเบียบความปลอดภัยทางชีวภาพ และ 3.เอกสารรายงานของกรมประมงระบุชัดเจนว่า เริ่มต้นจาก คลองดอนจั่น คลองหลวง คลองเจ๊ก คลองสมบูรณ์ คลองสะพานหัน คลองตามน และคลองผีหลอกในเขต ต.ยี่สาร และ ต.แพรกหนามแดง ซึ่งคลองดอนจั่น คลองหลวง คลองสมบูรณ์ เป็นคลองที่อยู่รอบฟาร์มยี่สาร และเป็นศูนย์กลางการระบาดของ ‘ปลาหมอคางดำ’

talk-blackchin-tilapia-26jul2024-SPACEBAR-Photo02.jpg

อย่างไรก็ตาม เมื่อวานนี้ (25 ก.ค.) บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด(มหาชน) หรือ CPF ได้ส่งเอกสารไปยังคณะอนุกรรมาธิการพิจารณาศึกษาสาเหตุและแนวทางแก้ไขปัญหา รวมถึงผลกระทบจากการนำเข้า ‘ปลาหมอคางดำ’ เพื่อการวิจัยและพัฒนาสายพันธุ์ ที่มี นพ.วาโย อัศวรุ่งเรือง ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล เป็นประธานโดยระบุเพียงว่าไม่สามารถมาร่วมชี้แจงได้ และไม่ได้แจ้งถึงเหตุผล แต่ส่งข้อมูลที่เกี่ยวข้องเป็นหนังสือลงวันที่ 24 ก.ค.2567 จำนวน 3 หน้า กับเอกสารแนบ 1 แผ่น รวมเป็นเอกสาร 4 แผ่น ซึ่งในเอกสารสรุปทิ้งท้ายว่า บริษัทไม่มีการเลี้ยงและวิจัยปลาหมอคางดำอีกเลย นับตั้งแต่ปี 2564 แม้ว่าทางบริษัทมั่นใจว่า ไม่ได้เป็นต้นตอของการแพร่ระบาด แต่ก็มิได้นิ่งนอนใจ

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์