ยุบ ‘ตำรวจรถไฟ’ ปฏิรูปแบบโง่ๆ ?

19 ต.ค. 2566 - 10:21

  • สเปซบาร์ชวน ‘2 อดีตตำรวจ’ ผู้เจนสนามมาร่วมพูดคุย และไขข้อข้องใจกับ 5 คำถาม ที่หลายคนอยากรู้เกี่ยวกับการยุบตำรวจรถไฟ พร้อมตั้งคำถามล่วงหน้าว่า ‘ปีใหม่นี้’ การเดินทางด้วยรถไฟจะปลอดภัยหรือไม่?

thailand-disband-the-railway-police-stupid-reform_-SPACEBAR-Hero.jpg

“คนยุบไม่ได้ขึ้น”

“โจรยิ้มแล้วหนึ่ง”

“เส้นทางการลำเลียงใหม่”

“ไม่แปลกใจที่คนชนชั้นล่างจะถูกมองข้ามไปเรื่อยๆ”

ข้อความข้างต้น คือความคิดเห็นของคนส่วนหนึ่ง ที่สะท้อนความรู้สึกผ่านคอมเมนต์ในโพสต์ เรื่อง ‘ตำรวจรถไฟคนสุดท้าย’ ที่เพจ SPACEBAR นำเสนอไปก่อนหน้านี้ ข้อความดังกล่าวนอกจากแสดงออกถึงความคับข้องใจเกี่ยวกับสาเหตุที่ยุบตำรวจรถไฟแล้ว ยังแสดงให้เห็นถึงความกังวลว่าการใช้บริการรถไฟต่อจากนี้จะมีความปลอดภัยเหมือนอย่างที่ผ่านมาหรือไม่ 

คำถามเหล่านี้ ผู้เขียนได้ชวน 2 อดีตตำรวจ ผู้เจนสนามมาร่วมพูดคุยและไขข้อข้องใจกับ 5 คำถาม ที่หลายคนอยากรู้เกี่ยวกับการยุบตำรวจรถไฟในครั้งนี้

คนแรกที่ร่วมพูดคุยกับเรา คือ ‘พ.ต.อ.วิรุตม์ ศิริสวัสดิบุตร’ เลขาธิการสถาบันเพื่อการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม ซึ่งเป็นผู้ที่ขับเคลื่อนเรื่องการปฏิรุปมาอย่างต่อเนื่อง และ ‘พล.ต.ท.ศานิตย์ มหถาวร’ อดีตผู้บัญชาการตำรวจนครบาล ซึ่งปัจจุบันดำรงตำแหน่งเป็นสมาชิกวุฒิสภา (สว.) และเป็นผู้ที่ลุกขึ้นอภิปรายคัดค้านการยุบตำรวจรถไฟ เมื่อครั้งที่ พ.ร.บ.ตำรวจ พ.ศ. 2565 อยู่ในขั้นตอนการพิจารณาในสภาฯ 

1. ยุบ ‘ตำรวจรถไฟ’ ทำไม?

‘พล.ต.ท.ศานิตย์’ เล่าให้ฟังว่า เนื่องจากฎหมายฉบับนี้ เป็นกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการปฏิรูประเทศ ดังนั้นจึงต้องนำเข้าสู่การพิจารณาของ สส. และ สว. ให้ครบทั้ง 2 สภา ตอนนั้นเขาได้ถามคณะผู้ร่างกฎหมายซึ่งเป็นตำรวจถึงเหตุผลในการยุบ ‘ตำรวจรถไฟ’ แต่กลับไม่ได้รับคำตอบที่ชัดเจนว่ายุบด้วยเหตุผลใด?

ในมุมมองส่วนตัวของ ‘พล.ต.ท.ศานิตย์’ จึงคิดว่าการยุบตำรวจรถไฟครั้งนี้ เป็นความดื้อรั้นของคนร่างกฎหมายที่มีอคติต่อตำรวจรถไฟ 

อีกทั้ง มาตรา 258 ของรัฐธรรมนูญ ที่ว่าด้วยการปฎิรูปประเทศในด้านต่างๆ ในด้านกระบวนการยุติธรรม ระบุไว้ว่า ให้โอนย้ายภารกิจที่ไม่ใช่ภารกิจหลักออกจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เพื่อให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติสามารถปฎิบัติหน้าที่่และบริการประชาชนได้อย่างมีประสิทธิภาพ 

แต่ที่ผ่านมา ‘ตำรวจรถไฟ’ มีผลงานประจักษ์ชัดเจนตลอด เช่น การป้องปรามเหตุอาชญากรรม การสกัดขบวนการลักลอบขนยาเสพติด แรงงานเถื่อน และที่สำคัญ ‘ตำรวจรถไฟ’ สามารถจับคดีค้างเก่าทั่วประเทศ ได้เป็นอันดับ 1 ของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ

สอดคล้องกับความเห็นของ ‘พ.ต.อ.วิรุตม์’ ที่วิจารณ์เรื่องนี้อย่างเผ็ดร้อนว่า มันเป็นความโง่เง่าของผู้บริหารตำรวจในยุคที่เสนอ พ.ร.บ.ตำรวจฉบับนี้ และเป็นความผิดพลาดใหญ่หลวงของรัฐบาลที่ปล่อยให้มีการร่าง พ.ร.บ.ตำรวจฉบับนี้เช่นกัน

“เป็นการปฏิรูปแบบโง่ๆ ขอใช้คำนี้เลยนะ การปฏิรูปแบบโง่ๆ โดยที่ไม่คิดว่ามันจะเกิดปัญหาและต้องกลับมาแก้ไข เพราะการรถไฟฯ มีสถานะเป็นรัฐวิสหกิจ เจ้าพนักงานเขาจะจัดมามากน้อยเพียงใด ก็ไม่มีฐานะเป็นเจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ที่จะระงับเหตุรวมถึงการสอบสวน จับกุมสิ่งผิดกฎหมายได้”

‘พ.ต.อ.วิรุตม์’ ยังอธิบายว่าจริงๆ แล้วหน่วยงานที่ถูกยุบ คือตำรวจท่องเที่ยว เพราะไม่ได้มีลักษณะการทำงานที่พิเศษอะไร สามารถจัดตั้งเป็นแผนกประจำแต่ละสถานีได้ แต่ตำรวจรถไฟเป็นการเดินทางระหว่างพื้นที่ และจำเป็นต้องมีตำรวจประจำขบวนรถ พร้อมมองว่าตำรวจรถไฟ จริงแล้วเป็นหน่วยงานที่หาผลประโยชน์ให้ตำรวจระดับสูงได้น้อย เพราะมีหน้าที่หลักคือดูแลความปลอดภัยประชาชน ต่างจากตำรวจท่องเที่ยวที่หาผลประโยชน์ให้ตำรวจระดับสูงได้มากกว่า

“ต้องเข้าใจว่ากฎหมายนี้ร่างโดยตำรวจนะ ผมเข้าใจว่าเขาพยายามทำให้เห็นว่ามีการเปลี่ยนแปลง แต่ตำรวจที่ไม่มีความจำเป็นอย่างตำรวจท่องเที่ยว หรืออีกหลายหน่วยกลับไม่ได้ยุบหรือโอน เช่นตำรวจเศรษฐกิจโอนไปกระทรวงการคลังทำได้เลย ตำรวจทางหลวงโอนไปกรมทางหลวงได้ เขากลับไม่ทำ ยุบตำรวจรถไฟเพราะต้องการให้มองว่าเกิดการเปลี่ยนแปลง แต่เป็นการเปลี่ยนแปลงแบบโง่ๆ ที่สร้างความเสียหาย ปัญหาที่วกกลับมาคือจะแก้ปัญหาเรื่องความปลอดภัยของประชาชนอย่างไร”  

2. หากประเทศนี้ไร้ ‘ตำรวจรถไฟ’ จะเป็นอย่างไร?

‘พ.ต.อ.วิรุตม์’ อธิบายให้เห็นภาพว่าประชาชนจะไม่มีหลักประกันเรื่องความปลอดภัยเหมือนอย่างที่เคยมีอีกแล้ว และตอนนี้ความปลอดภัยของประชาชนกำลังเกิดช่องว่าง

เช่นเดียวกับ ‘พล.ต.ท.ศานิตย์’ แสดงความกังวลในเรื่องเดียวกับ ‘พ.ต.อ.วิรุตม์’ ว่า ต่อไปนี้ เหตุอาชญากรรมบนขบวนรถไฟ การลักลอบขนย้ายยาเสพติด การลักลอบขนย้ายแรงงานต่างด้าวเข้าประเทศจะมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น เพราะหลังจากที่ตำรวจรถไฟถูกยุบ ก็ยังไม่มีหน่วยงานใดเข้ามาทำหน้าที่แทนตำรวจรถไฟได้อย่างเต็มใบ การแจ้งเหตุต่างๆ จะล่าช้าลง เพราะเดิมมีตำรวจรถไฟคอยรับแจ้งเหตุอยู่บนขบวน-ในสถานีรถไฟอยู่แล้ว แต่ตอนนี้ต้องเดินทางไปแจ้งเหตุกับสถานีตำรวจที่รับผิดชอบซึ่งอยู่ไกลกว่าแทน รวมถึงยังมีปัญหาเรื่องความมั่นคงในพื้นที่ชายแดนด้วย

3. หน่วยงานอื่นดูแลแทนได้ไหม?

ทั้ง ‘พล.ต.ท.ศานิตย์’ และ ‘พ.ต.อ.วิรุตม์’ เห็นตรงกันว่าหน่วยงานอื่นจะดูแลได้ไม่ดีและไม่มีประสิทธิภาพเท่ากับตำรวจรถไฟ เพราะหากจ้างเอกชนมาดูแลความปลอดภัยก็จะมีสถานะเป็นแค่พนักงาน เหมือนเป็นแค่ รปภ.หมู่บ้าน ต่างจากตำรวจที่มีสถานะเป็นเจ้าพนักงานตาม ป.วิ.อาญา สามารถจับกุม ตรวจค้น สืบสวน ผู้ต้องสงสัยหรือผู้ต้องหาได้เลย อีกทั้งยังมีภาพลักษณ์ที่สร้างความเชื่อมั่นให้กับนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างชาติได้ คนร้ายเห็นก็เกรงกลัวไม่กล้าทำผิด อีกทั้งเดิมตำรวจรถไฟก็ได้รับเงินเดือนและงบประมาณจากรัฐอยู่แล้ว 

เมื่อตำรวจรถไฟถูกยุบ การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) จึงต้องไปรับสมัครพนักงานมาดูแลแทน และระหว่างนี้ได้ร้องขอกำลังพลจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติให้เข้าไปดูแล เสมือนเป็นการทำงานซ้ำซ้อนและสิ้นเปลืองงบประมาณโดยใช่เหตุ อีกทั้งตำรวจรถไฟที่ถูกโอนย้ายไปกองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง (บช.ก.) ก็ถูกโอนย้ายไปอยู่ในหน่วยที่มีกำลังพลเพียงพออยู่แล้ว ทำให้ตำรวจกลุ่มนี้เสียกำลังใจในการทำงานเพิ่มขึ้นไปอีก  

‘พล.ต.ท.ศานิตย์’ ยังอธิบายเพิ่มว่า ผู้ที่ร่างกฎหมายฉบับนี้ ได้มอบหมายให้ รฟท. ไปดูแลเรื่องการจัดกำลังพลรักษาความปลอดภัยแทนตำรวจรถไฟที่ถูกยุบ แต่ รฟท. ไม่อยากรับผิดชอบ โดย ‘พล.ต.ท.ศานิตย์’ มองว่าเป็นเพราะ “รฟท.เขาไม่พร้อมทั้งอดีต ปัจจุบัน และอนาคต เมื่อเขาไม่พร้อมและไม่อยากรับ เมื่อถูกยัดเหยียดหน้าที่ สุดท้ายก็ต้องไปขอแรงตำรวจรถไฟ ที่ถูกยุบไปให้กลับมาช่วยดูแลเหมือนเดิม” และเมื่อคนขาดความเชื่อมั่นในการโดยสารรถไฟ รายได้รถไฟก็จะลดลง เสมือนเป็นการซ้ำเติมปัญหารถไฟให้แย่ลงไปอีก

4. ประเทศอื่นทำยังไงกับตำรวจรถไฟ ?

‘พล.ต.ท.ศานิตย์’ ชี้ให้เห็นว่า หลายประเทศล้วนให้ความสำคัญกับตำรวจรถไฟมาก เช่น รัสเซีย อังกฤษ สวิสเซอร์แลนด์ และจีน โดยอังกฤษถึงกับตั้งเป็นตำรวจขนส่งเเห่งชาติ ดูแลระบบขนส่งทางรางทุกประเภท หรืออย่างจีนที่ตั้งเป็นกระทรวงรถไฟ แล้วประเทศไทยจะมายุบทำไม? 

5. ตำรวจรถไฟกลับมาได้ไหม?

คำตอบเรื่องนี้ทั้งคู่ ยืนยันว่ากลับมาได้ เพราะเมื่อถูกยุบเพราะกฎหมาย ย่อมกลับมาได้ด้วยกฎหมายเช่นกัน โดยเรื่องนี้ ‘นายกรัฐมนตรี’ ควรเร่งลงมาจัดการ เพราะความปลอดภัยของประชาชนกำลังเกิดช่องว่าง ซึ่ง ‘พ.ต.อ.วิรุตม์’ ย้ำว่า ความปลอดภัยของประชาชนปล่อยให้เกิดช่องว่างไม่ได้ เพราะตอนนี้ไม่รู้ว่าช่องว่างนี้จะอยู่ไปอีกนานเท่าไหร่ และหากห่วงใยประชาชนจริงต้องรีบทำ!

“คนชนชั้นล่างกำลังถูกมองข้ามไปเรื่อยๆ”

‘พล.ต.ท.ศานิตย์’  ทิ้งท้ายว่า ในฐานะที่เป็นตำรวจ ส่วนตัวรู้สึกเสียดาย พร้อมตั้งคำถามว่าคนที่แก้กฎหมายนี้เคยนั่งรถไฟหรือเปล่าก็ไม่รู้ และไม่ได้คิดถึงประโยชน์ของพี่น้องประชาชนเลย เพราะคนที่โดยสารรถไฟ ส่วนใหญ่เป็นคนที่มีเงินน้อย เพราะฉะนั้นคนที่กระทบมากที่สุดคือคนจน คนที่ต้องเดินทางโดยรถไฟเป็นหลัก คนที่แก้ไขต้องคำนึงถึงจุดนี้ด้วย  

สุดท้ายนี้ ไม่ว่าเรื่องนี้จะจบลงอย่างไร ผู้เขียนคิดว่าสำนักงานตำรวจแห่งชาติ และการรถไฟฯ ควรมีความชัดเจนเรื่องการจัดกำลังพลดูแลความปลอดภัยให้กับประชาชน เพราะอย่าลืมว่าเหลือเวลาอีกแค่ 2 เดือน ก็จะเข้าสู่เทศกาลปีใหม่แล้ว ซึ่งทุกปีจะมีประชาชนใช้บริการรถไฟเพือเดินทางไปยังพื้นที่ต่างๆ เฉลี่ยวันละ 100,000 คน หากจัดการไม่ดี เทศกาลปีใหม่อาจกลายเป็นโอกาสของเหล่าผู้ไม่หวังดีให้ทำเรื่องผิดกฎหมายต่างๆ ได้อย่างคล่องตัว ขณะที่ความปลอดภัยของประชาชนกลับตกอยู่ในสถานะอันตราย..

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :

Photo Story: ปิดตำนาน 72 ปี ‘ตำรวจรถไฟ’

Photo Story: ตำรวจรถไฟคนสุดท้าย แห่งสถานีนพวงศ์

Photo Story: กำลังใจแด่ ‘ตร.รถไฟคนสุดท้าย’

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์