‘น้ำท่วม พายุ ภัยพิบัติ’ เกิดขึ้นทีไร ทำไมไม่ได้รับแจ้งเตือนภัย

20 มี.ค. 2568 - 11:11

  • กรมอุตุนิยมวิทยาจัดงานวันอุตุนิยมวิทยาโลก ประจำปี 2568

  • จับมือหลายหน่วยงานถกปิดช่องว่างการเตือนภัยล่วงหน้า

  • ระบุ สิ่งสำคัญคือข้อมูลที่จะใช้เตือนภัยต้องมีความถูกต้องแม่นยำ เล็งนำเทคโนโลยีมาใช้มากขึ้นซึ่งต้องใช้งบประมาณสูงในการพัฒนา

Thailand-social-disaster-forcast-alert-gap-thai-meteorological-department-SPACEBAR-Hero.jpg

วันนี้ (20 มีนาคม 2568) ที่กรมอุตุนิยมวิทยา มีการจัดงานวันอุตุนิยมวิทยาโลก ประจำปี 2568 สุกันยาณี ยะวิญชาญ อธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยา ได้กล่าวบรรยายพิเศษในหัวข้อ “จับมือร่วมใจปิดช่องว่างการเตือนภัยล่วงหน้า” โดยกล่าวว่า การจัดงานในวันนี้เพื่อหาช่องว่างว่ามีอะไรบ้างที่เราต้องพัฒนาปรับปรุงในการเตือนภัย เช่น ข้อมูลมีความถูกต้องแม่นยำหรือไม่ เพียงพอหรือไม่ ซึ่งในปัจจุบันข้อมูลที่มีอยู่สามารถพยากรณ์ได้เพียงพอแค่ในระดับจังหวัด ขณะที่ความถูกต้องของข้อมูลเป็นสิ่งสำคัญในการที่จะเตือนภัยได้ดี ซึ่งความถูกต้องขึ้นอยู่กับการตรวจอากาศ

การจะไปพยากรณ์อนาคตต้องแม่นยำ ต้องเพิ่มเครือข่ายการตรวจวัดให้มากขึ้น ต้องใช้เทคโนโลยีตรวจอากาศสมัยใหม่ เช่น การตรวจอากาศอัตโนมัติแทนคน มีการเพิ่มสถานีมากขึ้น จะได้ข้อมูลหนาแน่นมากขึ้น เพื่อให้ข้อมูลถูกต้อง นอกจากนี้มีการใช้ข้อมูลจากดาวเทียมซึ่งมีขนาดใหญ่ ต้องใช้ AI มาวิเคราะห์เพื่อเพิ่มความถูกต้อง ทั้งในระยะสั้น ระยะปานกลางและระยะนาน มีการพัฒนาปรับปรุงแบบจำลองการพยากรณ์อากาศที่ใช้ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งถือเป็นหัวใจหลักในการพยากรณ์ เพื่อให้มีความสมจริงมากขึ้น 

นอกจากนี้ต้องใช้ข้อมูลจากหลายแหล่งนำมาดูแนวโน้มที่จะเกิดขึ้น เช่น เรดาร์ ดาวเทียม (ระบบ Remote sensing) เพื่อให้เกิดความแม่นยำมากขึ้น เมื่อพยากรณ์ถูกต้องและแม่นยำแล้ว จึงมีการเตือนภัยซึ่งการเตือนภัยต้องมีการยกระดับว่าจะเกิดในพื้นที่ใด โดยใช้การปรับสัญลักษณ์เป็นพื้นที่สีเขียว เหลือง ส้ม แดง เพื่อระบุว่าพื้นที่เสี่ยงอยู่ในพื้นที่ที่ประชาชนแต่ละคนอาศัยอยู่หรือไม่ และระบุชัดว่าสิ่งใดที่จะกระทบมากที่สุด เช่น ลม ฝน พายุ โดยอาจเพิ่มข้อแนะนำให้กับประชาชนในพื้นที่นั้นเพื่อนำไปปฏิบัติ ซึ่งเรียกว่า Impact based forecast

Thailand-social-disaster-forcast-alert-gap-thai-meteorological-department-SPACEBAR-Photo03.jpg
Photo: สุกันยาณี ยะวิญชาญ อธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยา

สำหรับช่องว่างในการเตือนภัย ต้องพิจารณาร่วมกับหลายหน่วยงาน เพราะไม่สามารถทำได้เพียงหน่วยงานเดียว อย่างการแจ้งเตือนภัย หน่วยงานอื่นๆ รับข้อมูลจากกรมอุตุนิยมวิทยาไปเผยแพร่ ขณะที่กรมฯ มีการพัฒนาช่องทางการเผยแพร่ นอกจากสื่อหลักแล้ว กรมฯ กำลังพัฒนาแอปพลิเคชันโทรศัพท์มือถือ ข้อความ SMS รวมถึงสื่อโซเชียลมีเดีย โดยกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม มีการให้บริการอินเทอร์เน็ตฟรีให้ประชาชนใน 24,700 หมู่บ้านที่อยู่ห่างไกล ซึ่งเข้าไม่ถึงระบบเตือนภัย อาจต้องพิจารณาการให้ข้อมูลอินเทอร์เน็ตมากขึ้น เพื่อรับข้อมูลข่าวสารทางโซเชียลมีเดียได้ตลอดเวลา

เตือนภัยอย่างเดียวไม่พอ แต่ต้องรู้ด้วยว่าควรทำอะไรต่อ

ปัจจุบันประชาชนส่วนใหญ่เวลาได้รับการแจ้งเตือนมักรู้อยู่แล้วว่าจะมีภัยเกิดขึ้น แต่อาจไม่รู้ว่าภัยนั้นอันตรายอย่างไร ไม่มีข้อแนะนำ จึงปฏิบัติตัวไม่ถูกต้อง ดังนั้นกรมอุตุนิยมวิทยา จึงต้องทำแนวปฏิบัติ หรือ SOP (Standard Operating Procedure) เพื่อให้ข้อมูลแก่ประชาชนว่าควรปฏิบัติตัวอย่างไรเมื่อประสบกับภัยที่ได้รับการแจ้งเตือน ทั้งในช่วงเวลาก่อน ระหว่าง และหลังเกิดภัย ซึ่งต้องร่วมมือกับหลายหน่วยงาน เช่น อาจเป็นรูปอินโฟกราฟิกแจ้งเตือนภัยพร้อมคำแนะนำ และช่วยกันเผยแพร่ข้อมูลเหล่านี้ นอกจากนี้มีการลงพื้นที่ไปให้ข้อมูลความรู้กับประชาชนในชุมชนต่างๆ ในการรับมือกับภัยพิบัติ

อีกหนึ่งระบบการแจ้งเตือนภัย ที่ตอนนี้อยู่ระหว่างดำเนินการพัฒนาของกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยคือ CBS (Cell Broadcast System) เป็นระบบกระจายข้อความแจ้งเตือนภัยผ่านเครือข่ายโทรศัพท์มือถือ โดยสามารถส่งข้อมูลการแจ้งเตือนภัยไปยังโทรศัพท์มือถือของประชาชนในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบได้ทันที ซึ่งรวดเร็วและครอบคลุมพื้นที่ โดยเจ้าของโทรศัพท์มือถือไม่ต้องลงทะเบียน ซึ่งกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมได้เข้ามาร่วมโครงการนี้ในเรื่องโครงสร้างพื้นฐาน ระบบคลาวด์ ซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จภายในปีนี้

อธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยา ย้ำว่าให้ความสำคัญกับการมองไปข้างหน้าว่ามีเทคโนโลยีอะไรที่จะนำมาใช้แทนของเดิม เพราะเดิมไม่ค่อยต่อเนื่อง เช่น การปล่อยบอลลูน มีค่าใช้จ่ายสูง ดังนั้นในอนาคตมีการพิจารณาว่ามีเทคโนโลยีอะไรที่จะส่งข้อมูลขึ้นไปและตรวจได้ถี่ขึ้น ประหยัดค่าใช้จ่ายมากขึ้น จะได้ทราบสภาพอากาศที่ต่อเนื่องตลอดเวลา เพราะอากาศบ้านเราเปลี่ยนแปลงง่าย

การใช้เทคโนโลยีเหล่านี้ต้องใช้งบประมาณสูง จึงต้องการการลงทุนจากภาครัฐ และความร่วมมือกับหน่วยงานต่างๆในการบูรณาการให้เป็นเนื้อเดียวกัน

สุกันยาณี ยะวิญชาญ อธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยา

Thailand-social-disaster-forcast-alert-gap-thai-meteorological-department-SPACEBAR-Photo01.jpg
Photo: การเสวนาหัวข้อ "จับมือร่วมใจปิดช่องว่างการเตือนภัยล่วงหน้า" โดยไพฑูรย์ เก่งการช่าง รองเลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ กำลังพูดในการเสวนา

เน้นการสื่อสารทิศทางเดียว ไม่ให้เกิดความสับสน

ด้านไพฑูรย์ เก่งการช่าง รองเลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ กล่าวว่า การเตือนภัยให้มีประสิทธิภาพ สิ่งสำคัญคือข้อมูลในระดับท้องถิ่นต้องชัด ภาคประชาชนในพื้นที่และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น รวมถึงทุกหน่วยงานต้องร่วมกัน ส่วนการประชาสัมพันธ์พบว่าทุกหน่วยงานทำประชาสัมพันธ์หมด แต่ตนคิดว่าควรเป็นการสื่อสารในทิศทางเดียว ทั้งช่วงก่อนวิกฤต ระหว่างเกิดวิกฤตและหลังเกิดวิกฤต ควรมีการพิจารณาว่ารูปแบบการสื่อสารควรเป็นแบบไหน ใครจะเป็นเจ้าภาพหลัก ตนมีความเห็นว่าควรเป็นหน้าที่ของกรมประชาสัมพันธ์ในการสื่อสารข้อมูล โดยนำข้อมูลมาจากทุกหน่วยงาน เพื่อสื่อสารไปยังประชาชน ยกตัวอย่างเหตุการณ์น้ำท่วมที่จังหวัดยะลา ควรมีการสื่อสารว่า ฝนตกที่ยะลา ตรงนี้ต้องยกของด่วน มีการแปลงข้อมูลจากน้ำฝน ไปเป็นน้ำท่า แล้วทำแบบจำลองน้ำท่วม (flood model) เพื่อให้ข้อมูลว่าน้ำจะออกมาตรงไหน ต้องเชื่อมโยงข้อมูลอย่างมีศักยภาพแล้วแจ้งเตือนเป็นจุดเดียว เพื่อปิดช่องว่างเรื่องการเผยแพร่

ไพฑูรย์ กล่าวว่า ตนมองว่าเมื่อได้คุยเกี่ยวกับข้อมูลฝนกับกรมอุตุนิยมวิทยาพบว่าความจริงแล้ว สถิติปริมาณฝนตกในช่วง 30 ปีไม่ได้ต่างกันมาก แต่ที่เปลี่ยนไป คือการใช้ประโยชน์ที่ดิน จากเดิมคนไทยมีวิถีชีวิตอยู่กับน้ำ บรรพบุรุษสามารถดำรงชีวิตได้ดีอยู่กับน้ำ แต่ปัจจุบันเรากลับถูกน้ำท่วม เนื่องจากการสร้างบ้านเรือนในบริเวณที่น้ำท่วมถึง และมีการทำคันกั้นน้ำ เช่น ที่เชียงใหม่ ทำคันกั้นน้ำ ทำให้น้ำท่วม จ.น่าน เป็นต้น ดังนั้นปัญหานี้จะแก้ได้ ต้องแก้ที่ผังเมือง การบังคับใช้กฎหมาย และสร้างบ้านให้เหมาะสมกับพื้นที่

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์