สายธารความคิดจากป่าสู่เมือง เมื่อ ‘ทับลาน’ กลายเป็นข้อพิพาทสังคม

9 ก.ค. 2567 - 04:29

  • ชวนอ่านความขัดแย้งบนเส้น กรณี ‘ทับลาน’ ต่อการพิทักษ์พื้นที่เชื่อมต่อป่ามรดกโลก และการคืนสิทธิให้กับชุมชนดั้งเดิม อะไรคือแนวทางคลายปมคาราคาซังเนิ่นนานนับหลายสิบปี กับ ‘ภาณุเดช เกิดมะลิ’ ประธานมูลนิธิสืบนาคะเสถียร และ ‘รศ.ดร.ธนพร ศรียากูล’ ผู้อำนวยการสถาบันวิเคราะห์การเมืองและนโยบาย

Thap-Lan-National-Park-dispute-article-SPACEBAR-Hero.png

ไม่ได้เกิดขึ้นบ่อยครั้ง สำหรับปรากฏการณ์บนโลกโซเชียล ที่จะออกรูปคิดเห็นในทางเดียวกัน จากบรรยากาศสังคมออนไลน์ที่เอื้อต่อการตอบโต้ บันดลให้เกิดความคิดแตกต่าง แต่สำหรับเรื่อง ‘ทับลาน’ กลายเป็นข้อยกเว้น ทั้งๆ ที่ปัญหาดูเป็นเรื่องห่างไกลจากสังคมเมือง แต่สังคมออนไลน์ กลับสะท้อนความคิดออกมาในมุมเดียวกัน ด้วยการโพสต์ข้อความและติดแฮชแท็ก  ‘Save ทับลาน’ กลายเป็นเทรนด์อันดับหนึ่งบนแอพพลิเคชันเอ็กซ์ (ทวิตเตอร์) ในรุ่งเช้าของวันที่ 8 กรกฎาคม 2567 

จับกระแสตั้งต้น มีเหตุมาจากการที่ ‘กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช’ เปิดพื้นที่รับฟังความคิดเห็น ‘กรณีการเพิกถอนพื้นที่อุทยานแห่งชาติทับลาน’ จำนวนกว่า 265,286.58 ไร่ ออกจากการเป็นป่าอนุรักษ์ แปรสภาพเป็น ‘ที่ดิน ส.ป.ก’ ภายใต้การดูแลของ ‘สำนักงานปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม’ กระทรวงเกษตรฯ ซึ่งในมุมของเครือข่ายอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มองตรงกันว่า นอกจากส่งผลกระทบกับป่าไม้และสัตว์ป่าแล้ว กระบวนการดำเนินขั้นตอนยังไม่ถูกต้องตามหลักการที่ควรจะเป็น  

ขณะเดียวกัน ก็เกิดกระแสตีกลับช่วงหัวค่ำตามครรลองที่บรรยากาศการแลกเปลี่ยนพึงมีในที่สาธารณะ เพราะเริ่มมีการคุ้ยข้อมูลที่ระบุถึงข้อเท็จจริงในอดีต ว่าด้วยเรื่องสิทธิของชุมชน ในการตั้งรกรากทำมาหากินก่อนที่จะมีการประกาศพื้นที่เป็นป่าอนุรักษ์ พร้อมกับตั้งคำถามว่าเหตุไฉนในชุดคำถามจึงไม่มีการพูดถึง 'การถูกริดลอนสิทธิ์ของชาวบ้าน' 

SPACEBAR จึงชวนผู้อ่าน พินิจความเห็นซึ่งเป็นเส้นขนานของปมปัญหา แล้วร่วมกันหาแนวทางในการจัดการ ว่าสุดท้ายเเล้วอะไรคือตัวแปรสำคัญของปมคาราคาซังทั้งหมด 

กลไกพิสดารเปลี่ยน ‘ป่าอนุรักษ์’ เป็น ‘สปก.’

ปัญหาพื้นที่ทับซ้อนของชุมชุนและป่าอนุรักษ์ เกิดขึ้นหลายแห่งและต่อเนื่องยาวนานหลายสิบปี ‘ทับลาน’ เองก็เช่นกัน หากย้อนดูไทม์ไลน์จะพบว่า ได้รับการประกาศเป็นอุทยานแห่งชาติลำดับที่ 39 เมื่อเดือนสิงหาคม 2524 โดยก่อนหน้านี้เป็นแหล่งชุมชนที่มีชาวบ้านตั้งรกราก - ทำมาหากินดั้งเดิม ซึ่งปัจจุบันอุทยานฯ ทับลาน ถือเป็นอุทยานแห่งชาติที่ขนาดใหญ่เป็นลำดับที่ 2 ของประเทศ และได้รับการขึ้นทะเบียนเป็น ‘แหล่งมรดกโลกทางธรรมชาติ’ กลุ่มป่าดงพญาเย็น-เขาใหญ่ ในปี 2548 บางส่วนเป็นพื้นที่ทับซ้อนที่ดินประชาชนและบางหน่วยงานราชการ ส่งผลให้เกิดความขัดแย้งเรื่องสิทธิและที่ดินถูกหยิบยกมาพูดเนื่องๆ และในหลายๆ รัฐบาลก็พยายามแก้ไขปัญหาดังกล่าว 

ช่วง 2540 คณะรัฐมนตรีได้มีมติในวันที่ 22 เมษายน 2540 ให้ใช้แนวทางปรับปรุงแนวเขตอุทยานแห่งชาติ (รวมทั้งที่ทับลาน) และเป็นที่มาของการทำรังวัดเตรียมการ ‘แนวเขตอุทยานแห่งชาติทับลาน ปี 2543’ หากแต่ต่อมา 1 ปี ได้มีมติยกเลิกแนวทางดังกล่าว และให้ใช้แนวทางพิสูจน์สิทธิในที่ดินแทน  

กระทั่ง วันที่ 14 มีนาคม 2566 ในสมัยรัฐบาล ‘พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา’ มีมติคณะรัฐมนตรีเห็นชอบข้อเสนอของ ‘สำนักงานคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ’ (คทช.) เรื่องผลการดำเนินการปรับปรุงแนวเขตที่ดินของรัฐ และปรับปรุงแนวเขตที่ดินของรัฐแบบบูรณาการ (One map) ที่ให้ดำเนินการใช้เส้นปรับปรุงการสำรวจแนวเขต ปี พ.ศ.2543 พื้นที่อุทยานแห่งชาติทับลาน จังหวัดนครราชสีมา และจังหวัดปราจีนบุรี เป็นพื้นที่ ส.ป.ก.

“เขาตีวงอ้อม เพราะเขาไม่สามารถเล่นประเด็นการเพิกถอน ในคณะกรรมการอุทยานแห่งชาติได้ เขาเลยไปที่ สำนักงานคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ (สคทช.)แล้วเสนอให้นายกฯ พลเอกประยุทธ์ จนเป็นมติครม.รับรอง ซึ่งผมมองว่ากลไกแบบนี้ไม่ถูกต้อง ในการที่จะเอา พ.ร.บ.ฉบับหนึ่งไปใช้ในพื้นที่อีกฉบับหนึ่ง ซึ่งเป็นพื้นที่อุทยานแห่งชาติ ผมกังวลว่าจะเป็นโดมิโน่กระจายไปสู่พื้นที่อนุรักษ์อื่นๆ”

เป็นมุมสะท้อนจาก ‘ภาณุเดช เกิดมะลิ’ ประธานมูลนิธิสืบนาคะเสถียร ที่ให้ความเห็นถึงกลไกก่อนจะเกิดมติครม. เห็นชอบเพิกถอนพื้นที่บางส่วนของทับลาน จากป่าการเป็นอนุรักษ์ ในความคิดของภาณุเดชมองว่า การแก้ปัญหาพื้นที่ทับซ้อน จะต้องไม่แก้แบบ ‘เหมาเข่ง’ โดยต้องแบ่งประชากรออกเป็น 3 กลุ่มหลัก  

 1) กลุ่มชุมชนอยู่ในพื้นที่มาตั้งแต่เดิม ทางมูลนิธิเห็นด้วยที่จะเพิกถอนแล้วให้ ส.ป.ก ไปแก้ไขปัญหา ซึ่งมีสิทธิ์ตามกระบวนการแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในพื้นที่จำนวน 58,582 ไร่ 

  1. กลุ่มคนที่มีการขยายและจับจองพื้นที่เพิ่มเติม ตลอดจนมีการพัฒนาและเปลี่ยนแปลงสภาพที่ดิน เกินกว่าที่มีการตกลงกันไว้ จำนวน 59,183 ไร่ โดยในส่วนนี้สามารถดำเนินการตาม มาตรา 64 ของ พ.ร.บ. อุทยานฯ คือการสำรวจการครอบครองที่ดิน และการบริหารจัดการพื้นที่ เพื่อให้ได้ข้อตกลงแนวเขตบริหารเพื่อการอนุรักษ์  

  2. กลุ่มที่บุกรุกเข้าพื้นที่หลังปี 2557 เข้าไปพัฒนาที่ดินโดยมิชอบ อย่างการซื้อ ขาย เปลี่ยนมือ ทำรีสอร์ต โดยมีการพัฒนาที่ดินให้กลายเป็นภาคธุรกิจ จำนวน 152,072 ไร่ ซึ่งมีบางส่วนที่กรมอุทยานฯ ได้ดำเนินคดีไปแล้ว และบางส่วนยังอยู่ในกระบวนการยุติธรรม ซึ่งคนกลุ่มนี้ ได้มีการชักชวนให้คนกลุ่มอื่นเข้ามารวมด้วย พร้อมทั้งพยายามสื่อสารว่าทั้งหมดคือคนเดือดร้อน

ภานุเดช มองว่า วิธีการแก้แบบเหมารวมไม่ใช่กลไกที่ถูกต้อง ซึ่งจะทำให้ภาพลักษณ์ของกระบวนการยุติธรรมโน้มเอียง ดังนั้นรัฐต้องแก้ไขปัญหาทีละกลุ่มอย่างชัดเจน  

อย่างไรเสีย 2.6 แสนไร่ก็ต้องถูกเฉือน เพราะพื้นที่พิพาท ‘ไม่ใช่ป่า’ แล้ว

แต่ในความเห็นของ ‘รศ.ดร.ธนพร ศรียากูล’ ผู้อำนวยการสถาบันวิเคราะห์การเมืองและนโยบาย เรื่องทับลานเป็นกรณีถกเถียงกันมาอย่างยาวนานเกี่ยวกับประเด็น 'สิทธิชุมชน' ภายหลังจากที่มีการประกาศพื้นที่เป็นป่าอนุรักษ์ โดยหลักการแล้ว การขีดเส้นแบ่งพื้นที่บริเวณอุทยานแห่งชาติทับลาน เป็นไปในลักษณะของ ‘ราชการไทย’ ที่หน่วยงานของรัฐต่างก็ประกาศความเป็นเจ้าของ ทำให้แนวเส้นของแผนที่ที่ออกมามีมาตราส่วนที่ไม่เท่ากัน และเมื่อเกิดคดีความขึ้น ก็เป็นลักษณะการตีกันเองระหว่างหน่วยงาน ‘วันแมพ’ จึงเกิดขึ้นเพื่อเป็นแผนที่แกนกลาง ที่ทุกฝ่ายจะร่วมใช้ ซึ่งผลที่ออกมามีความสอดคล้องกับแนวเขตเมื่อปี 2543 จนเกิดการนำเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรีในที่สุด (ปี 2566) 

ในฐานะนักสังเกตการณ์ (ที่ติดตามประเด็นนี้มาต่อเนื่อง) มองว่า หากรัฐบาลจะเพิกถอนแนวเขต ให้เป็นไปตามปัจจุบัน ก็ไม่ควรใช้ มาตรา 64 พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ (อยู่ระหว่างการจัดทำ) ซึ่งจะเป็นผลกระทบต่อประชาชนที่เคยอยู่ในพื้นที่ในลักษณะ ‘ริดลอนสิทธิ์’ ดังนั้นทุกอย่างจะต้องชัดเจนว่าจะมีการจัดการอย่างไร เพราะจะต้องนำไปปรับใช้ในทุกๆ พื้นที่ที่เป็นข้อพิพาทอื่นๆ ด้วย 

แต่หากมองตามหลักความเป็นจริงการแก้ปัญหาพื้นที่ทับซ้อนของ ‘ทับลาน’ อย่างไรเสียก็มีแนวโน้มว่า อุทยานฯ จำเป็นต้อง ‘ถูกเฉือนออกอยู่แล้ว’ เพราะสภาพพื้นที่ที่เปลี่ยนแปลงไป และเพื่อให้องค์กรการปกครองส่วนท้องถิ่นได้เข้ามามีบทบาทดูแลพื้นที่ แทนเจ้าหน้าที่ของกรมอุทยานฯ ที่โดยหลักควรมุ่งเน้นในการพิทักษ์และดูแลทรัพยากรป่าไม้สัตว์ ในผืนป่าที่ยังคงมีอยู่ มิเช่นนั้น ‘แหล่งมรดกโลกทางธรรมชาติ’ จะถูกครหาว่าไม่ได้ทำให้ชีวิตใครดีขึ้น

“คิดว่าต้องถูกเฉือนออกอยู่แล้ว เพราะพื้นที่ 2.6 แสนไร่มันไม่ใช่พื้นที่ป่าในความเป็นจริงอยู่แล้ว แต่มันเป็นพื้นที่ป่าตามกฎหมาย แต่ที่ประจักษ์มันคือที่ทำกินของชาวบ้าน ผมเข้าใจคุณค่าของการเป็นพื้นที่เชื่อมโยงกับพื้นที่มรดกโลก แต่ถ้าปีกอนุรักษ์เป็นห่วงเรื่องนี้ ก็ต้องหาวิธีการที่ตอบโจทย์ชาวบ้านเขาด้วย เพราะการเป็นมรดกโลกแต่ไปกระทบปากท้องชาวบ้าน มันก็เป็นปัญหาที่ไม่สิ้นสุด และคนในพื้นที่จะรู้สึกว่าการเป็นมรดกโลกไม่ได้ทำให้ชีวิตเขาดีขึ้น”

ธนพร กล่าว

โดย ผอ.สถาบันวิเคราะห์การเมืองและนโยบาย เสนอ 3 แนวทางคือ 1) เพิกถอนแนวเขตอุทยานฯ แล้วคืนสิทธิ์ให้กับ ส.ป.ก เพื่อให้สิทธิทำกินกับประชาชนในพื้นที่ แต่จะต้องแบกรับความเสี่ยงเรื่องความมั่นคงที่ดิน 2) ใช้มาตรา 64 ของ พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ เข้ามาจัดการปัญหา ซึ่งโดยเจตนารมณ์ไม่ได้แย่ แต่จะต้องแก้ไขไม่ให้ตึงมากเกินไป และต้องสอดคล้องกับหลักชีวิตความเป็นจริงของชุมชนมากขึ้น จนทำให้ชาวบ้านรู้สึกว่าถูกริดลอนสิทธิ์ มิเช่นนั้นก็จะเกิดปัญหาแบบที่ผ่านมา 3) คทช. ควรจะต้องใช้แนวทางให้เกิด ‘โฉนดชุมชน’ ในการแก้ปัญหาตรงนี้  

ให้สถานภาพที่ดินดังกล่าว เป็นเรื่องของชุมชนในการจัดการดูแลกันเอง ซึ่งผู้มีสิทธิ์ในที่ดินจะไม่ใช่ชาวบ้าน หรือประชาชนคนใดคนหนึ่ง แต่รวมตัวกันมาในลักษณะชุมชน และตั้งกติกาส่วนกลางใช้จัดการ ซึ่งแนวทางนี้จะสร้างหลักประกันในการสูญเสียที่ดินของคนยากจน 'ไม่ให้อยู่ในมือของนายทุน' และชุมชนก็สามารถที่จะร่วมรักษาพื้นที่ ‘แนวเชื่อมต่อผืนป่า’ (corridor) ได้ผ่านการออกกติการ่วมกับภาคอนุรักษ์ โดยการประสานความรู้และแนวทางการจัดระเบียบจากกรมอุทยานฯ 

โดยแนวทางที่ 3 นี้ ธนพร เคยแสดงความเห็นไว้ในรายงานของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ไปแล้ว ว่าพื้นที่ที่สำรวจตามมาตรา 64 กรมอุทยานฯ ควรส่งมอบภารกิจดูแลให้กับส่วนองค์กรส่วนท้องถิ่น โดยหน่วยงานและชุมชนก็ต้องกำหนดกฎเกณฑ์ให้เป็นไปในทิศทาง ที่เอื้อต่อการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ ซึ่งมีระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการจัดการโฉนดชุมชนอยู่แล้ว เพียงต้องนำมาปรับปรุงแก้ไขให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น ซึ่งหนทางนี้น่าจะเป็นหนทางที่ทุกฝ่ายน่าจะให้การยอมรับมากที่สุด 

หนทางอยู่ร่วมกันของ คน-สัตว์-ป่า

ธนพร กล่าวว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นในพื้นที่ทับลาน ต้นสายปลายเหตุจริงๆ ไม่ใช่แค่เรื่องชาวบ้าน หรือสัตว์ป่า แต่สิ่งที่ต้องลงน้ำหนักคือ การบริหารจัดการของภาครัฐ ที่สร้างปมยุ่งเหยิงมาตั้งแต่ต้น ทำให้ทุกวันนี้ประชาชนไม่มีความเชื่อใจว่า การที่รัฐถือครองที่ดินป่าไม้จะสามารถเพิ่มศักยภาพในการสร้างพื้นที่สีเขียว ดังนั้นการที่กรมอุทยานแห่งชาติพยายามปรับปรุงแก้ไขกฎหมายลูก ภายใต้การยอมรับข้อเท็จจริงถือเป็นเรื่องดี เพียงแต่ต้องเพิ่มความยืดหยุ่นในการบังคับใช้กติกากับชาวบ้าน ที่ต้องอาศัยที่ทำกิน  

ส่วนกระแส #Saveทับลาน ส่วนตัวก็เข้าใจและเห็นว่าเป็นทิศทางที่ดี เพราะเทรนด์การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม กำลังเป็นกระแสของพลวัตรในระดับสากล แต่ก่อนจะตัดสินอะไรจำเป็นต้องดูข้อมูลที่เป็นประวัติศาสตร์และที่มาของความขัดแย้งก่อนด้วย แม้ข้อเท็จจริงที่ดินหลายแห่งจะถูกแปรสภาพโดยนายทุนแล้ว แต่ก็อย่าใช้หลักเกณฑ์นี้มาชี้วัดทุกสิ่ง แต่ต้องดูเป็นกรณีไป 

ขณะที่ ภาณุเดช ในฐานะนักอนุรักษ์ มองว่า เครือข่ายไม่ได้ปฏิเสธแนวคิดการมีสิทธิใช้สอยพื้นที่ของชุมชน หรือแม้แต่การออกโฉนดชุมชน แต่กระบวนการที่เกิดขึ้น จะต้องสามารถรักษาแนวเขตชุมชน (ที่เคยใช้พื้นที่อยู่แต่เดิม) ภายใต้สิทธิ์การจัดการของคนในชุมชนเอง แต่จะต้องควบคู่ไปกับการดูแลและมีส่วนร่วม ในการที่จะช่วยรักษาผืนป่าและสัตว์ป่า พื้นที่รอบชุมชนด้วย ซึ่งอาจจะต้องมีแนวทางของรัฐบาลอย่างเข้าไปกำกับ เพื่อดูแลทรัพยากรด้วย แต่ในความเห็นส่วนตัว หากมีการบังคับใช้มาตรา 64 พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ จะต้องถูกจัดสรรออกมาอย่างยืดหยุ่น และเป็นธรรมกับชาวบ้านและสัตว์ป่า ย่อมดีกว่าจะแปรเป็นพื้นที่ ส.ป.ก. ที่เปิดช่องว่างให้เอื้อต่อเกิดการบุกรุกพื้นที่ป่าต่อไปได้

“ทับลานคือประตูสู่เขากลุ่มป่าดงพญาเย็นและเป็นมรดกโลก หากจะฉีกพื้นที่ออกมาแล้ว้บังคับใช้กฎหมายคนละฉบับ อาจส่งผลกระทบกับแนวเชื่อมต่อผืนป่าบางส่วน และสิ่งกังวลต่อมาคือ เขื่อนและโครงการพัฒนาที่กำลังรุกเข้าพื้นที่อนุรักษ์ และหากที่ดินถูกเปลี่ยนมือสู่นายทุนแล้วมีการนำไปสร้างเขื่อน ก็จะกระทบกับต้นน้ำสำคัญ ที่หล่อเลี้ยงผู้คนบริเวณดังกล่าวอีกด้วย”

ภาณุเดช เกิดมะลิ กล่าวทิ้งท้าย

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์