มหากาพย์ 48 ปี ‘อุเทน-จุฬา’ จบได้ด้วยเหตุผลเดียว?

2 พ.ย. 2566 - 10:34

  • ย้อนมหากาพย์ 48 ปี ‘ย้ายอุเทนถวายออกจากพื้นที่จุฬาฯ’ เรื่องราวที่ลากยาวมากว่า 4 ทศวรรษ จุดเริ่มต้นคืออะไร และจะจบลงแบบไหน?

  • ศิษย์เก่าอุเทนฯ บอกเหตุผลเดียวที่จะยอมย้ายคือ … !!!

the 48-year-epic-uthen-chula-land-dispute-SPACEBAR-Hero.jpg

ประเด็นเรื่อง ‘การย้ายอุเทนถวาย’ กลับมาอยู่ในความสนใจของสังคมอีกครั้งในห้วงสัปดาห์ที่ผ่านมา หลังเรื่องนี้ยืดเยื้อมานานกว่า 48 ปี ชนวนเหตุของเรื่องนี้คืออะไร และเหตุใดเรื่องนี้ยังไม่จบ สเปซบาร์จะมาไล่เลียงไทม์ไลน์มหากาพย์เรื่องนี้ให้คุณผู้อ่านได้ทำความเข้าใจกันค่ะ

uthen-chula 1.png
Photo: โรงเรียนช่างก่อสร้างอุเทนถวาย (ภาพจาก เฟซบุ๊ก มูลนิธิสมาคมศิษย์เก่าอุเทนถวาย)

— จุดเริ่มต้นมหากาพย์ 48 ปี —

ต้องเท้าความก่อนว่าปัญหานี้ สืบเนื่องจาก ‘จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย’ ซึ่งเป็นเจ้าของ ‘กรรมสิทธิ์ที่ดิน’ ได้ขอคืนพื้นที่จาก ‘มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลตะวันออก วิทยาเขตอุเทนถวาย’ หลังปล่อยพื้นที่ให้อุเทนถวายเช่ามาอย่างยาวนานถึง 68 ปี (ตั้งแต่เป็นโรงเรียนช่างก่อสร้างอุเทนถวาย) หรือตั้งแต่ปี 2478 - 2546 

ต่อมา ‘จุฬาฯ’ ต้องการขอพื้นที่คืน เพื่อนำไปสร้าง ‘ศูนย์นวัตกรรมงานสร้างสรรค์เพื่อชุมชนยั่งยืน’ ตามแผนแม่บทเรื่องการจัดการที่ดิน จำนวน 1,153 ไร่ โดย จุฬาฯ ได้เจรจาขอคืนที่จากอุเทนถวาย ตั้งแต่ปี 2518 พร้อมพูดคุยกับกระทรวงศึกษาธิการและกรมธนารักษ์ เพื่อให้ช่วยจัดหาพื้นที่แห่งใหม่ให้กับอุเทนถวาย 

โดยกรมธนารักษ์จัดหาพื้นที่ใหม่ให้อุเทนถวายได้ในช่วงปี 2545 จำนวน 36 ไร่ เป็นพื้นที่ใน ต.บางปิ้ง อ.บางพลี จ.สมุทรปราการ และต่อมาคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติจัดสรรงบประมาณ จำนวน 200 ล้านบาท ให้อุเทนถวาย นำไปใช้ก่อสร้างและขนย้ายครุภัณฑ์ต่างๆ

ทุกอย่างดูเหมือนจะราบรื่น  ‘อุเทนถวาย’ และ ‘จุฬาฯ’ ได้ทำบันทึกข้อตกลงร่วมกันในวันที่ 11 มีนาคม 2547 โดยเนื้อหาในบันทึกข้อตกลงดังกล่าว เป็นการพูดถึงกรอบเวลาที่อุเทนถวายจะส่งคืนพื้นที่ให้จุฬาฯ ภายในวันที่ 30 กันยายน 2548 หรือหากจำเป็นจะผ่อนผันให้ไม่เกิน 1 ปีเท่านั้น 

ช่วงปี 2548 เริ่มมีความชัดเจนเรื่องการย้ายสถาบันมากขึ้น โดยอุเทนถวายและจุฬาฯ  ได้ทำบันทึกข้อตกลงร่วมกันอีกครั้ง โดยครั้งนี้มีสำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ (องค์การมหาชน) และสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา ร่วมทำบันทึกข้อตกลงด้วย โดยสาระสำคัญ คือ อุเทนถวายจะย้ายไปสร้างสถาบันในพื้นที่ที่กรมธนารักษ์จัดหาให้ พร้อมกับย้ายบุคลากรและนักศึกษาไปที่ใหม่ ภายในวันที่ 1 พ.ย.2548 และเมื่อสิ้นสุดสัญญาเช่าแล้ว สำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ (องค์การมหาชน) จะเข้ามาใช้พื้นที่นี้ต่อไป 

แต่สุดท้าย ‘อุเทนถวาย’ ไม่ยอมทำตามที่บันทึกข้อตกลงไว้ โดยให้เหตุผลว่าการที่ ‘ทวีชัย เหลี่ยมศิริวัฒนา’ รักษาราชการแทนผู้อำนวยการอุเทนถวาย ลงนามในบันทึกข้อตกลง วันที่ 11 มีนาคม 2547 ไม่ชอบธรรม เพราะ ‘ทวีชัย’ เพิ่งเข้ามารักษาการเป็นปีแรก ไม่เคยเสนอข้อตกลงดังกล่าวให้สภาคณาจารย์ ศิษย์เก่า และศิษย์ปัจจุบัน รับทราบ เพื่อรับรองมติ จึงมองว่าเป็นการตัดสินใจคนเดียว ไม่ใช่มติของอุเทนถวายทั้งหมด

เป็นเหตุให้ ‘จุฬาฯ’ ต้องทำหนังสือขอคืนพื้นที่ถึง 3 ครั้ง คือ วันที่ 6 ธันวาคม  2549, วันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2550 และวันที่ 10 กรกฎาคม 2550

uthen-chula 2.png
Photo: สำนักงานจัดการทรัพย์สินจุฬาฯ ชี้แจงประเด็นพื้นที่อุเทนถวาย ผ่านเพจเฟซบุ๊ก Chulalongkorn University เมื่อวันที่ 16 ก.พ. 56

— เริ่มใช้มาตรการทางกฎหมายเพื่อขอคืนพื้นที่ —

ปี 2550 สำนักงานอัยการสูงสุด ได้ตั้งคณะกรรมการเพื่อพิจารณาชี้ขาดการยุติในการดำเนินคดีแพ่งของส่วนราชการและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง (กยพ.) เกี่ยวกับข้อพิพาทเรื่องที่ดินระหว่างจุฬาฯ และอุเทนถวาย 

ระหว่างนั้น ‘นายกสโมสรนักศึกษาอุเทนถวาย’ ได้ทูลเกล้าฯ ถวายฎีกา 2 ครั้ง เพื่อขอไม่ให้มีการย้ายออกจากพื้นที่เดิม 

วันที่ 24 พฤศจิกายน 2552 กยพ. มีมติชี้ขาด ให้ ‘อุเทนถวาย’ ขนย้ายทรัพย์สินและคืนพื้นที่ให้กับจุฬาฯ พร้อมชำระค่าเสียหายปีละประมาณ 1,000,000 บาท ให้กับจุฬาฯ จนกว่าจะส่งมอบพื้นที่เสร็จ ขณะที่ผลการทูลเกล้าฯ ถวายฎีกาของอุเทนถวาย สำนักราชเลขาธิการ ได้ตีเรื่องกลับ ยืนยันผลตามมติของ กยพ. ที่ชี้ขาด

แม้ผลจะออกมาแบบนี้ แต่สุดท้าย ‘อุเทนถวาย’ ยังคงยืนกรานคัดค้านทำตามคำสั่งของ กยพ. โดยอุเทนถวายอ้างว่า อุเทนถวายไม่เคยได้เข้าไปมีส่วนร่วมในการไต่สวนชี้แจงต่อ กยพ. และประเด็นที่ชี้ขาดคือความเป็นเจ้าของที่ดินตามกฎหมาย แต่อุเทนถวายพูดถึงความชอบธรรมในการอยู่ในพื้นที่ตามพระราชประสงค์ของรัชกาลที่ 6

ส่วนเรื่องการยื่นฎีกาครั้งที่ 2 สำนักราชเลขาธิการตีเรื่องกลับและยืนตามคำวินิจฉัยของ กยพ. อุเทนถวายมองว่าการยื่นถวายฎีกาทั้งสองครั้ง ยังไม่เคยมีพระบรมราชวินิจฉัยลงมาเลย

— จาก ‘กยพ.’ สู่ศาลปกครองสูงสุด —

ปี 2556 ศาลปกครอง ยกฟ้องคดี ‘ผู้บริหารอุเทนถวาย’ ขอเพิกถอนคำสั่งโอนที่ดินให้ ‘จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย’ หลังผู้บริหารอุเทนฯ ยื่นฟ้องส่วนราชการ คณะรัฐมนตรี และจุฬาฯ โดยศาลพิเคราะห์ว่า กระบวนการในการพิจารณามีมติของ กยพ. ชอบด้วยกฎหมายแล้ว และได้เปิดโอกาสให้คู่กรณีได้โต้แย้งและแสดงพยานหลักฐานอย่างเพียงพอ ไม่ปรากฏว่ามีส่วนใดบกพร่อง

หลังมีศาลปกครองมีคำตัดสินดังกล่าว ส่งผลให้อุเทนถวายออกมารวมตัวกันแสดงจุดยืนคัดค้านเรื่องดังกล่าวอีกครั้ง โดย ‘ผศ.สืบพงษ์ ม่วงชู’ รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลตะวันออก วิทยาเขตอุเทนถวาย ในขณะนั้น พยายามชี้ให้เห็นว่าการออก พ.ร.บ. โอนกรรมสิทธิที่ดินอันเป็นทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ให้จุฬาฯ ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ดังนั้นการที่จุฬาฯ จะมาไล่ที่ ทั้งที่ไม่เป็นเจ้าของตัวจริง ถือว่าไม่เป็นธรรม 

ความยืดเยื้อลากยาวมาจนถึง ช่วงเดือนธันวาคม ปี 2565 ศาลปกครองสูงสุด มีคำสั่งให้อุเทนถวายย้ายออกจากพื้นที่ โดยจะต้องดำเนินการภายใน 60 วันหลังจากมีคำสั่ง แต่ข้อพิพาทดังกล่าวยังคงหาข้อสรุปร่วมกันไม่ได้ จนเวลาผ่านพ้นเข้าสู่รัฐบาลยุค ‘เศรษฐา ทวีสิน’

‘ศุภมาส อิศรภักดี’ รมว.การอุดมศึกษา เชิญ ‘จุฬา-อุเทนถวาย’ ประชุมหาทางออกร่วมกันปมข้อพิพาทที่ดิน เมื่อวันที่ 25 ต.ค.66.png
Photo: ‘ศุภมาส อิศรภักดี’ รมว.การอุดมศึกษา เชิญ ‘จุฬา-อุเทนถวาย’ ประชุมหาทางออกร่วมกันปมข้อพิพาทที่ดิน เมื่อวันที่ 25 ต.ค.66

— มหากาพย์ 48 ปี ไปต่อหรือพอแค่นี้? —

มหากาพย์ที่ยืดเยื้อมานานกว่า 48 ปี กลายเป็นโจทย์หินท้าทายฝีมือขุนพลของเศรษฐา เมื่อ ‘ศุภมาส อิศรภักดี’ รมว.การอุดมศึกษาฯ คนปัจจุบัน เดินหน้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งของมหากาพยเรื่องนี้ นั่งเป็นประธานการประชุมหาทางออกจบมหากาพย์ดังกล่าว โดยเชิญ ‘จุฬาฯ’ และ ‘อุเทนถวาย’ มาร่วมหารือกัน เพื่อทำตามคำสั่งของศาลปกครองสูงสุดเมื่อวันที่ 25 ต.ค.ที่ผ่านมา 

การประชุมดังกล่าว เปรียบเสมือนการเริ่มต้นมหากาพย์ภาคใหม่ ที่กำลังถูกจับจ้องจากสังคมว่าสุดท้ายแล้วเรื่องนี้จะกลับไปวนลูปเหมือนเป็นภาคก่อนๆ หรือไม่ หรือมหากาพย์เรื่องนี้กำลังจะมุ่งหน้าสู่การปิดฉากภาคสุดท้ายแล้วจริงๆ คุณผู้ชมอย่างเราๆ คงทำได้แค่ต้องติดตามกันต่อไป

ภาพบรรยากาศการรวมตัวของ ศิษย์เก่าและศิษย์ปัจจุบันอุเทนถวาย เมื่อวันที่ 2 พ.ย.66.png
Photo: ภาพบรรยากาศการรวมตัวของศิษย์เก่าและศิษย์ปัจจุบันอุเทนถวาย ที่บริเวณด้านหน้าสถาบัน เมื่อวันที่ 1 พ.ย. 66 ถ่ายโดย : ณัฐพล พันธ์พงษ์สานนท์ ช่างภาพ SPACEBAR

— เหตุผลเดียวที่ ‘อุเทนถวาย’ จะย้ายออก —

ส่วนใครที่มองว่ามหากาพย์เรื่องนี้คงไม่จบลงง่ายๆ ผู้เขียนคิดว่าเรื่องนี้สามารถเป็นแบบนั้นได้อยู่ เพราะ ‘เดชา เดชะตุงคะ’ อุปนายกสมาคมศิษย์เก่าอุเทนถวาย หนึ่งในตัวละครหลักของมหากาพย์ภาคนี้ ได้ลั่นวาจากลางวงแถลงข่าวของศิษย์เก่าและศิษย์ปัจจุบัน ภายหลังร่วมประชุมกับผู้บริหารอุเทนถวาย เมื่อวันที่ 1 พ.ย.ที่ผ่านมานี้ ไว้ว่า 

“ เราไม่คืนที่แห่งนี้ให้จุฬาลงกรณ์แน่นอนครับ แม้จะมีโฉนดอะไรก็แล้วแต่ อย่าลืมนะครับว่าที่แห่งนี้ เป็นที่ที่รัชกาลที่ 6 ท่านมอบไว้ให้เป็นพื้นที่การศึกษา แต่ถ้าจะต้องคืน เราจะคืนให้กับพระมหากษัตริย์ ถ้าท่านต้องการเอาที่ดินแห่งนี้ไปนะครับ ”

ทั้งนี้ อย่างที่บอกว่าเรื่องนี้ต้องติดตามกันต่อไป เพราะทางจุฬาฯ เองก็เคยออกมาให้ข้อมูลมาแล้วว่า ‘อุเทนถวาย’ เข้าใจข้อมูลเรื่องที่ รัชกาลที่ 6 ทรงพระราชทานที่ดินให้อุเทนถวาย ก่อนมี พ.ร.บ.โอนกรรมสิทธิ์ที่ดินให้จุฬาฯ คลาดเคลื่อน  โดยอ้างอิงหนังสือหอรัชฏากรพิพัฒน์ และ หนังสือกระทรวงวัง ที่ปรากฏข้อมูลเพียงแต่ว่าเป็นการพระราชทานเงินเพื่อสร้าง ‘โรงงานนักเรียนเพราะช่าง’ มิได้หมายความถึงสิทธิ์ในที่ดินแต่อย่างใด

แต่เรื่องนี้ทั้ง ‘จุฬาฯ’ และ ‘อุเทนถวาย’ ยังมีเวลาพูดคุยกันอีกหลายครั้ง และบทสรุปที่ออกมาอาจทำให้ตอนจบของเรื่องนี้แฮปปี้เอนดิ้งกว่าที่เราๆ คาดคิดกันก็เป็นได้ 

อ้างอิง : ศูนย์ข้อมูลและข่าวสืบสวนเพื่อสิทธิพลเมือง (TCIJ)สำนักข่าวอิศรามติชนเพจเฟซบุ๊ก Chulalongkorn Universityเว็บไซต์ร้อยเรื่องราวจากรั้วจามจุรีผู้จัดการออนไลน์ 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง : Photo Story: ‘อุเทนถวาย’ ไม่คืนที่จุฬาฯ คืนให้แค่ ‘สำนักทรัพย์สินฯ

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์