‘ขอทานในไทย’ จบไม่ลงเพราะรัฐไม่จริงจัง?

22 พ.ย. 2566 - 11:22

  • นักกฎหมายสิทธิมนุษยชน ชี้ ปัญหาสำคัญที่ทำให้ไทยแก้ปัญหาเรื่องค้ามนุษย์และขอทานไม่ได้ มีต้นเหตุมาจากการทุจริตคอร์รัปชันทั้งจากเจ้าหน้าที่รัฐ นักการเมือง และความไม่จริงจังในการแก้ปัญหาเรื่องขบวนการค้ามนุษย์ ที่นำมาสู่ความหย่อนยานของการบังคับใช้กฎหมาย

  • ความต่าง‘ขอทานกัมพูชา’ VS ‘ขอทานชาวจีน’ ความเหมือนที่แตกต่างของอำนาจและผลประโยชน์

  • ผลวิจัยชี้ ‘ปัญหาขอทานในไทย’ จบไม่ลงเพราะรัฐไม่จริงจัง

the-beggar-problem-in-thailand-cannot-end-because-the-government-is-not-serious-SPACEBAR-Hero.jpg

เป็นอีกครั้งที่ ‘ขบวนการขอทานข้ามชาติ’ กลับมาเป็นประเด็นที่ถูกพูดถึงในสังคมไทย หลังปรากฎข่าว ‘แก๊งขอทานชาวจีน’ ระบาดหนักในหลายพื้นที่ทั่วกรุงเทพฯ ท่ามกลางการตั้งข้อสันนิษฐานว่าเรื่องนี้อาจเกี่ยวโยงกับขบวนการค้ามนุษย์และกลุ่มทุนจีนสีเทาอยู่เบื้องหลัง โดยมี ‘คนไทยบางกลุ่ม’ คอยให้การช่วยเหลือและหาผลประโยชน์จากเรื่องนี้อีกทอด 

แล้วอะไรคือเหตุผลที่ทำให้ขบวนการสีเทาอันดำมืดนี้เลือก ‘ประเทศไทย’ เป็นพื้นที่เป้าหมายของการกอบโกยผลประโยชน์มาอย่างต่อเนื่องและยาวนานเป็นสิบๆ ปี?

สุรพงษ์.png
Photo: ‘สุรพงษ์ กองจันทึก’ ประธานมูลนิธิผสานวัฒนธรรม และนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน

เรื่องนี้ ‘สุรพงษ์ กองจันทึก’ ประธานมูลนิธิผสานวัฒนธรรม และนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน ไขคำตอบเรื่องนี้ให้ฟังว่า หากอิงข้อมูลจากกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐ และข้อมูลจากองค์การสหประชาติ (UN) พบว่าปัญหาสำคัญของไทย คือ เรื่องการทุจริตคอร์รัปชันทั้งจากเจ้าหน้าที่รัฐ นักการเมือง และความไม่จริงจังในการแก้ปัญหาเรื่องขบวนการค้ามนุษย์ ที่นำมาสู่ความหย่อนยานของการบังคับใช้กฎหมาย ซึ่งจุดนี้เองที่กลายเป็นช่องทางให้ขบวนการผิดกฎหมายต่างๆ เข้ามาแสวงหาผลประโยชน์ในประเทศไทยมาอย่างต่อเนื่อง และทำให้ไทยยังคงได้รับการจัดอันดับสถานการณ์การค้ามนุษย์ อยู่ในระดับ ‘เทียร์ 2’ มาอย่างยาวนาน

เทียร์ 2 - Tier 2 หมายถึงประเทศหรือรัฐบาลที่ปฏิบัติตามมาตรฐานขั้นต่ำของ กฎหมายว่าด้วยการปกป้องเหยื่อการค้ามนุษย์ (Trafficking Victims Protection Act of 2000 หรือ TVPA) ไม่ครบถ้วน แต่มีความพยายามอย่างมีนัยสำคัญเพื่อให้เป็นไปตามมาตรฐานเหล่านั้น)

‘สุรพงษ์’ ยังขยายภาพให้เห็นว่า ความจริงแล้วประเทศไทยมีปัญหาเรื่องการค้ามนุษย์มากกว่าที่เราเห็นเยอะมาก เพียงแต่บางจังหวะอาจทำให้ปัญหาที่ซุกอยู่ใต้พรมถูกเปิดเผยออกมา เช่น เรื่องแก๊งขอทานชาวจีน ที่ปรากฎเป็นข่าวในช่วงเวลาไล่เลี่ยกับข่าวนำตำรวจจีนมาลาดตระเวนในไทย และเรื่องทุนจีนสีเทาที่ปรากฎเป็นข่าวดังในช่วงที่ผ่านมา จึงทำให้คนไทยรู้สึกว่ามีคนจีนเข้ามาทำผิดกฎหมายในไทยจำนวนเยอะมาก ทั้งที่เรื่องเหล่านี้เกิดขึ้นมานานแล้ว และขบวนการผิดกฎหมายเหล่านี้ไม่ได้มีแค่คนจีนอย่างเดียว แต่ยังมีขบวนการข้ามชาติอื่นๆ อยู่ด้วย

info-the-beggar-problem-in-thailand-cannot-end-because-the-government-is-not-serious.jpg
Photo: รูปแบบการขอทานชาวจีน VS ขอทานชาวกัมพูชา

ส่วนรูปแบบของ ‘แก๊งขอทานชาวจีน’ มีความต่างจาก ‘แก๊งขอทานชาวกัมพูชา’ ที่เป็นแก๊งขอทานที่เข้ามากินในประเทศไทยมาอย่างยาวนานอย่างไรนั้น ‘สุรพงษ์’ อธิบายว่า ‘แก๊งขอทานชาวกัมพูชา’ มักอยู่รวมกันเป็นกลุ่ม มีคนมารับมาส่งอย่างเป็นขบวนการ ส่วนใหญ่เป็นพวกมีฐานะยากจน เดินทางเข้าไทยด้วยการลักลอบเข้าทางชายแดน และนายหน้าของแก๊งกัมพูชา มักเป็นรายเล็กและไม่ค่อยมีอิทธิพล 

ต่างจาก ‘แก๊งขอทานชาวจีน’ ที่มีเรื่องผลประโยชน์และอิทธิพลมากกว่า เพราะมีการลงทุนสูงกว่า เนื่องจากต้องนั่งเครื่องบินเข้าประเทศ ซึ่งการทำแบบนี้ได้เชื่อว่าน่าจะมีเจ้าหน้าที่รัฐและนักการเมืองบางคนคอยให้การช่วยเหลือ ประกอบกับรูปแบบการพักอาศัยของขอทานชาวจีน มีความหลากหลายและซับซ้อนมากกว่า แต่ละคนจะพักคนละที่ และหน้าตาของขอทานแก๊งนี้มักถูกทำร้ายจนเสียโฉม จึงทำให้การสืบสวนยากกว่า และอาจมีอำนาจบางอย่างที่ทำให้การแฉข้อมูลต่างๆ ทำได้ไม่เต็มที่ 

— ประเทศไทยไม่ใช่แค่ปลายทางของขบวนการผิดกฎหมาย —

‘ประเทศไทย’ ไม่เพียงเป็นประเทศปลายทางของขบวนการผิดกฎหมายเท่านั้น แต่ยังเป็นประเทศต้นทาง และประเทศกลางทางของขบวนการเหล่านี้เช่นกัน เช่น เป็นประเทศต้นทาง เรื่องการหลอกลวงคนไทยไปค้ามนุษย์ที่อื่น เป็นประเทศกลางทาง ในการหาผลประโยชน์ของกลุ่มคนที่ต้องการเดินทางผ่านประเทศไทย เช่นการลี้ภัยของชาวโรฮีนจา ที่ต้องการเดินทางไปหางานทำที่ประเทศมาเลเซีย โดยมีไทยเป็นผู้จัดหาเรือให้ แต่คนไทยบางกลุ่มได้ใช้โอกาสนี้ในการเรียกรับผลประโยชน์จากการจัดหาเรือให้ โดยขู่ว่าหากไม่ยอมจ่ายตามที่ร้องขอจะฆ่าทิ้ง และบางครั้งก็เกิดเหตุการสลดขึ้นจริงๆ 

แต่หากดูปัญหาเรื่องการค้ามนุษย์ในภาพรวมแล้ว ปัญหานี้ถือว่าเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นในหลายประเทศทั่วโลก และประเทศไทยไม่ได้เป็นประเทศปลายทางของขบวนการเหล่านี้มากกว่าประเทศอื่นอย่างชัดเจนมากนัก 

ส่วนประเทศที่พบว่ามีปัญหาเรื่องเหล่านี้น้อย ส่วนใหญ่เป็นประเทศที่เจริญแล้ว และเป็นประเทศที่เจ้าหน้าที่และประชาชนปฎิบัติตามกฎหมาย อย่างเคร่งครัด 

— แนะ 3 ข้อจบปัญหาค้ามนุษย์ –

สำหรับข้อเสนอในการจบปัญหาค้ามนุษย์ของ ‘สุรพงษ์’ หลักๆ มี 3 ข้อ ประกอบด้วย

1.ต้องสร้างความรู้และความเข้าใจให้คนไทยในเรื่อง คุณค่าของความเป็นคนเท่ากัน และทุกคนควรได้รับการปฎิบัติอย่างมีศักดิ์ศรีเท่าเทียมกัน 

2.ต้องแก้ปัญหาเรื่องทุจริตคอร์รัปชันอย่างจริงจัง เอาผิดคนที่เกี่ยวข้องอย่างจริงจัง 

3.บังคับใช้กฎหมายอย่างเด็ดขาด และเอาผิดคนที่เกี่ยวข้องอย่างจริงจัง หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องทำหน้าที่ของตัวเอง และพยายามกวาดล้างขบวนการผิดกฎหมายให้ได้มากที่สุด แต่ปัญหาคือค่านิยมของราชการไทย ที่มองว่าจับได้น้อยแสดงว่าทำงานดี ทั้งที่เรื่องนี้เป็นการปกปิดความดำมืดที่ซ่อนอยู่

ขบวนการขอทาน.png
Photo: ขบวนการค้ามนุษย์ในรูปแบบบังคับขอทาน : อ้างอิงงานวิจัย บริบทและเงื่อนไขการยุติการเป็นขอทาน : กรณีศึกษาในกรุงเทพฯ

— ผลวิจัยชี้ ‘ปัญหาขอทานในไทย’ จบไม่ลงเพราะรัฐไม่จริงจัง  —

ความเห็นของ ‘สุรพงษ์’ ยังสอดคล้องกับผลการวิจัยเรื่องขอทานในประเทศไทยหลายฉบับ ที่สรุปเหตุผลสำคัญที่ทำให้ประเทศไทยยังแก้ปัญหาเรื่องแก๊งขอทานไม่ได้ตรงกันว่า เกิดจากภาครัฐขาดมาตราการตรวจสอบและสกัดจับกลุ่มคนเหล่านี้ และไม่มีการบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง ประกอบกับค่านิยมของชาวไทยที่มีความเชื่อเรื่องการให้ทาน เพื่อหวังผลตอบแทนในอนาคต ที่กลายเป็นเรื่องบอกต่อกันว่า ‘การขอทานในไทยได้เงินเยอะมาก’ จึงทำให้มีคนเข้ามาแสวงหาผลประโยชน์จำนวนมาก 

นอกจากนี้ ‘ปัญหาขอทาน’ ยังมีความเชื่อมโยงกับปัญหาอื่นๆ ด้วย เช่น ปัญสังคม ปัญหาเศรษฐกิจ ปัญหาภายในครอบครัว และปัญหาด้านการศึกษา ที่เป็น ‘จุดกำเนินของการสร้างขอทาน’ รุ่นใหม่ๆ ขึ้นมา

หมายความว่า การแก้ปัญหาเรื่องขอทานในประเทศไทย จะสำเร็จได้อย่างเป็นรูปธรรมที่ชัดเจนก็ต่อเมื่อทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทำหน้าที่ของตัวเองอย่างจริงจัง และมีการบังคับใช้กฎหมายอย่างเด็ดขาด รวมถึงต้องแก้ปัญหาจากต้นเหตุที่มีที่มาจากปัจจัยจากด้านต่างๆ อย่างครอบคลุม ไม่เช่นนั้นปัญหาเหล่านี้ก็จะยังวนลูป อยู่ในวังวนอันน่าเวทนาเช่นเดิม

รายงานข้อมูลและงานวิจัยอ้างอิง : บริบทและเงื่อนไขการยุติการเป็นขอทาน : กรณีศึกษาในกรุงเทพฯเด็กขอทาน : ผลผลิตจากการค้ามนุษย์แนวทางความร่วมมือในการป้องกันและแก้ปัญหาขอทานกัมพูชา

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์