ความคืบหน้ากรณีชาวประมงความเคลื่อนไหวต่อโครงการชดเชยเรือออกนอกระบบเพื่อการจัดการทรัพยากรที่ยั่งยืนจากภาครัฐ หรือ “โครงการซื้อเรือคืน” และเป็นการช่วยเหลือเยียวยาผู้ประกอบธุรกิจเรือประมง จากมาตรการแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย (IUU) ของสหภาพยุโรปมาตั้งแต่ปี 2558 ปรากฏมีเรือประมงที่จะต้องออกจากระบบในขณะนั้นจำนวน 2,513 ลำ ที่ผ่านมามีการซื้อเรือประมงไปแล้ว 2 เฟส
เฟสแรก วงเงิน 764.45 ล้านบาท ซื้อเรือประมงคืนไปแล้ว 305 ลำ จากที่ขึ้นทะเบียนไว้ 570 ลำ กับเฟสที่ 2 วงเงิน 287.18 ล้านบาท (งบกลาง) ซื้อเรือปะมงที่ผ่านเข้าเกณฑ์คืนไปได้เพียง 59 ลำเท่านั้น และโครงการซื้อเรือประมงคืนก็เงียบหายไป ท่ามกลางข้อเรียกร้องของชาวประมงให้รัฐบาลดำเนินโครงการต่อไปตามที่ได้ตกลงกันไว้นานกว่า 6 ปี

ล่าสุดในระหว่างการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) สัญจรวันที่ 17-18 กุมภาพันธ์ 2568 ที่ จ.สงขลา สุรเดช นิลอุบล นายกสมาคมประมงสงขลา ได้ทำหนังสือถึง นางสาวแพรทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เพื่อขอความอนุเคราะห์ให้เร่งรัดโครงการรับซื้อเรือคืน โดยขณะนี้มีเรือประมง ที่ผ่านเกณฑ์การพิจารณารออยู่ถึง 923 ลำ หลังจากที่ได้เริ่มโครงการมาตั้งแต่ปี 2562
รายละเอียดในหนังสือยังระบุถึงความเดือดร้อนของชาวประมงที่รอการรับซื้อเรือคืนของรัฐบาลจากการจอดเรือไว้เป็นระยะเวลายาวนานไม่น้อยกว่า 5 ปีและกำลังขาดแคลนเงินทุนเพื่อประกอบอาชีพใหม่ทดแทนอาชีพประมงและยังมีภาระหนี้สินเกิดขึ้นด้วย “จึงขอความอนุเคราะห์มายังท่านนายกฯ ให้ช่วยดำเนินการผลักดันให้มีการเร่งรัดพิจารณาดำเนินโครงการจ่ายเงินชดเชยเรือออกนอกระบบให้กับชาวประมงมีความสนใจในการปรับเปลี่ยนอาชีพต่อไป”
นายกสมาคมประมงสงขลา กล่าวว่า เราจะเห็นความชัดเจนภายในเดือนมีนาคมนี้แน่นอน โดยไทม์ไลน์ที่จะเกิดขึ้นคือ หลัง ครม.มีการพิจารณาอนุมัติการจ่ายเงินในโครงการแล้ว กรมประมงจะต้องดำเนินการเบิกจ่ายเงินตามที่ได้รับอนุมัติ จากนั้นก็จะต้องจัดให้มีการประชุมของกรมประมง เพื่อดูงบประมาณของโครงการชดเชยเรือในแต่ละจังหวัด หลังจากทราบงบประมาณแล้ว ประมงจังหวัดจะต้องนัดประชุมกับสมาคมและเจ้าของเรือเพื่อทำแผนการทำลายเรือ
“ก่อนที่จะนำเรือไปทำลาย จะต้องมีการจ่ายเงินงวดแรก สุดท้ายเจ้าหน้าที่จะต้องทำลายเรือและเก็บหลักฐานระหว่างการทำลายจนเสร็จสิ้นก็จะจ่ายเงินส่วนที่เหลือทั้งหมดซึ่งคาดว่าภายใน 1-2 เดือนหลังจากนี้แน่นอน”
“ผมเชื่อว่าผลกระทบที่เกิดขึ้นจากกฎหมาย IUU (Illegal, Unreported and Unregulated Fishing) ที่เกิดขึ้น ณ ขณะนี้ทำให้ชาวประมงไทยต้องสูญเสียอาชีพเนื่องจากกฎหมายที่เข้มงวดแต่ในขณะเดียวกันรัฐกลับไม่มีมาตรการรองรับที่เพียงพอ อีกทั้งการใช้กฎหมายที่เลียนแบบสหภาพยุโรปและประเทศตะวันตกโดยไม่ได้พิจารณาถึงความมั่นคงทางเศรษฐกิจของชาวประมงประเทศไทยทำให้ ชาวประมงต้องเผชิญกับความเสี่ยงทางการลงทุนที่สูงขึ้นและต้องเลิกทำประมงไปในที่สุด” นายกสมาคมประมงสงขลา กล่าว


ขณะที่ อัครา พรหมเผ่า รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (รมช.เกษตรและสหกรณ์) กล่าวย้ำว่า ขอให้มั่นใจว่าเราจะนำข้อเรียกร้องของพี่น้องชาวประมงเรื่องการจำหน่ายเรือออกนอกระบบ ซึ่งใช้งบประมาณกว่า 1000 ล้าน ซึ่งชาวประมงที่ลงทะเบียนจำหน่ายเรือจะเข้ามายื่นหนังสือและจะดำเนินการเอาเข้าวาระการประชุม ครม.โดยเร็วที่สุด และขับเคลื่อนในระดับชาติ
“หากผ่านการประชุม ครม.แล้วเสร็จ พี่น้องชาวประมงก็ไม่ต้องกังวลเรื่องของเรือเสื่อมสภาพและการประเมิณราคาจะถูกลงเรายืดตามราคาที่ประเมินครั้งแรกอยู่ ซึ่งกระทรวงเกษตรฯ จะเร่งให้จบ เพราะขณะนี้นายกรัฐมนตรีได้ลงนามไปแล้ว เรื่องอยู่ที่สำนักงบประมาณโดยนายกรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบในหลักการแล้ว” รมช.เกษตรฯ กล่าว

ผู้สื่อข่าวลงพื้นที่พูดคุยกับ พิพัฒน์ บูรณวัฒน์ หนึ่งในชาวประมงผู้เข้าร่วมโครงการ เปิดเผยว่า หลังจากความพยายามของชาวประมงที่ได้รับผลกระทบจากกฎหมาย IUU ทำให้เราต้องเลิกเป็นชาวประมง และรัฐก็รับปากว่าจะรับซื้อเรือคืนชาวประมงสงขลาก็รวมตัวเรียกร้องกันหลายครั้ง
“โดยครั้งล่าสุดในการประชุม ครม.สัญจร ที่จังหวัดสงขลา เมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2568 ทางกลุ่มชาวประมงก็ได้ยื่นหนังสือขอความชัดเจนอีกครั้ง ซึ่งเราได้รับรายงานว่าจะมีการอนุมัติงบประมาณจำนวน 1,622 ล้านบาท ในการประชุม ครม.วันที่ 4 มีนาคม ที่จะถึงนี้ เพื่อใช้ในโครงการ โดยคาดว่าจะมีการจ่ายเงินก่อน 50 เปอร์เซ็นต์ในช่วงกลางเดือนมีนาคม และอีก 50 เปอร์เซ็นต์ จ่ายหลังจากทำลายเรือเสร็จ”
“วันนี้ชาวประมงที่ร่วมกันต่อสู้มาจำนวน 923 ลำในจังหวัดสงขลา รู้สึกโล่งใจยิ้มออก แม้จะรอมายาวนานถึง 6 ปีกว่า เปลี่ยนรัฐบาลมาแล้วหลายรัฐบาล อย่างน้อยพวกเราชาวประมงก็ได้ลืมตาอ้าปากได้บ้างในอีกไม่กี่วันข้างหน้านี้ คิดว่าเงินก้อนนี้มันช่วยบรรเทาภาระหนี้สินที่มีอยู่ โดยเฉพาะหนี้ที่ติดธนาคาร ซึ่งทำให้พวกเขาสามารถกลับไปทำอาชีพอื่นได้”
พิพัฒน์ บูรณวัฒน์ ชาวประมงสงขลา


