
แม้ ‘กรมอุตุฯ’ จะออกประกาศเตือนเรื่องดัชนีความร้อนที่พุ่งสูงถึง 47.5 องศาเซลเซียสในบางพื้นที่ ระหว่างวันที่ 28-29 ก.พ.นี้ แต่ภาพที่ปรากฎบริเวณ ท้องสนามหลวง วันนี้ (29 ก.พ.) เรียกว่า ‘แดดเเรง’ แค่ไหนก็ไม่มีผลต่อ ‘แรงศรัทธา’ ของผู้ที่เลื่อมใสในพระพุทธศาสนาจำนวนมาก ที่ตั้งใจเดินทางมาสักการะ ‘พระบรมสารีริกธาตุและพระอรหันตธาตุ’ จากอินเดีย ที่ถูกนำมาประดิษฐานชั่วคราว ณ บริเวณท้องสนามหลวง กรุงเทพฯ ระหว่างวันที่ 24 ก.พ.- 3 มี.ค.นี้
โดยการอัญเชิญ ‘พระบรมสารีริกธาตุและพระอรหันตธาตุ ของพระสารีบุตรและพระโมคคัลลานะ’ ครั้งนี้ ถือเป็นครั้งแรกประวัติศาสตร์ไทยที่พระบรมสารีริกธาตุและพระอรหันตธาตุของพระอัครสาวกทั้งสององค์เสด็จมาพร้อมกัน ทำให้ผู้ที่มีจิตศรัทธาจำนวนมากไม่อยากพลาดโอกาสเเห่เดินทางมาสักการะกันอย่างคึกคัก

และจากภาพเราจะเห็นว่าหลายคนเลือกที่จะสวมหมวก กางร่ม และใส่เสื้อเเขนยาว เพื่อลดผลกระทบจากแสงแดด แต่ ‘ดัชนีความร้อน’ หรือ ‘อุณหภูมิที่ร่างกายรับรู้ได้ขณะนั้น’ ก็เป็นสิ่งที่เราควรให้ความสำคัญเช่นกัน เพราะดัชนีความร้อนที่สูงจะเสี่ยงต่อการเป็น ‘โรคลมแดด’ หรือที่รู้จักอีกชื่อว่า ‘ฮีทสโตรก’ ได้ง่ายขึ้น ซึ่งความน่ากลัวของโรคนี้คือหากรักษาไม่ทันอาจถึงขั้นเสียชีวิตได้

🔴 ‘ดัชนีความร้อน’ เท่าไหร่ถึงเรียกว่าอันตราย?
1.ระดับเฝ้าระวัง (ดัชนีความร้อน 27-32 องศาเซลเซียส)
ผลกระทบต่อสุขภาพ : อ่อนเพลีย วิงเวียน คลื่นไส้ อาเจียน ปวดศีรษะ ปวดเมื่อย ตามตัวจากการสัมผัสความร้อน หรือออกกำลังกายหรือทำงานใช้ แรงงานท่ามกลางอากาศที่ร้อน
2.ระดับเตือนภัย (ดัชนีความร้อน 32-41 องศาเซลเซียส)
ผลกระทบต่อสุขภาพ : เกิดอาการตะคริวจากความร้อนและอาจเกิดอาการเพลียแดด หากสัมผัสความร้อนเป็นเวลานาน
3.ระดับอันตราย (ดัชนีความร้อน 41 - 54 องศาเซลเซียส)
ผลกระทบต่อสุขภาพ : มีอาการตะคริวที่น่อง ต้นขา หน้าท้อง หรือไหล่ ทำให้ปวดเกร็ง มีอาการเพลียแดด และอาจเกิดภาวะลมแดด (ฮีทสโตรก) ได้ หากสัมผัสความร้อนเป็นเวลานาน
4.ระดับอันตรายมาก (ดัชนีความร้อนมากกว่า 54 องศาเซลเซียส)
ผลกระทบต่อสุขภาพ - เกิดภาวะลมแดด (ฮีทสโตรก)

🔴 ‘มนุษย์’ อย่างเราทนความร้อนได้แค่ไหนกันนะ?
ต้องอธิบายว่า ร่างกายมนุษย์มีกลไกรักษาอุณหภูมิให้อยู่ในภาวะสมดุล โดยปกติจะอยู่ที่ประมาณ 37 องศาเซลเซียส หากเกินกว่านี้จะมีกลไกทำให้ร่างกายเย็นลง เช่น มีการขับเหงื่อมากขึ้น แต่หากร้อนจัดและร่างกายรักษาอุณภูมิให้คงที่ไม่ได้ ก็จะเสี่ยงต่อการเกิดโรคลมแดด โดยอาการบ่งชี้ของโรคนี้ สังเกตได้จาก
1.ตัวร้อนขึ้นเรื่อยๆ ตัวแดง
2.ไม่มีเหงื่อ รู้สึกกระหายน้ำมาก
3.หายใจถี่ ชีพจรเต้นแรง เกิดอาการชัก
4.ปวดศีรษะ หน้ามืด
5.อ่อนเพลีย คลื่นไส้
ส่วนวิธีป้องกันโรคลมแดด กรมการแพทย์แนะนำว่า ให้หลีกเลี่ยงการทำกิจกรรมในสภาพอากาศที่ร้อนจัด หรือกลางแจ้งเป็นเวลานานๆ , ดื่มน้ำเพียงพอ , สวมใส่เสื้อผ้าที่มีคุณสมบัติระบายอากาศได้ดี สวมหมวก หรือกางร่ม เมื่อต้องออกกลางแจ้ง

🔴เตรียมตั้งรับความร้อนที่มากกว่าปี 2566 !
อย่างที่ทราบว่าตอนนี้ ‘โลก’ ได้ก้าวข้าม ‘ภาวะโลกร้อน’ สู่ ‘ภาวะโลกเดือด’ แล้ว โดยปี 2566 ที่ผ่านมา Copernicus Climate Change Service (C3S) ซึ่งเป็นหน่วยงานบริการข้อมูลด้านสภาพอากาศของสหภาพยุโรปหรืออียู เปิดเผยว่า ปี 2566 ถือเป็นปีที่ร้อนที่สุดเป็นประวัติศาสตร์ นับตั้งแต่มีการบันทึกสถิติตั้งแต่ปี 2393 เป็นต้นมา แต่ปี 2567 นักวิทยาศาสตร์ของ Berkeley Earth คาดการณ์ว่าอาจร้อนกว่าปีที่ผ่านมา
สุดท้ายแม้ ‘มนุษย์’ จะทนกับความร้อนได้ แต่จะทนกับ ‘ค่าใช้จ่าย’ เพื่อบรรเทาความร้อนได้มากแค่ไหนนั้น แต่ละคนคงมีคำตอบเรื่องนี้ต่างกันไป แต่ที่แน่ๆ นอกจากมนุษย์แล้ว สิ่งมีชีวิตต่างๆ และระบบนิเวศน์ทางธรรมชาติล้วนได้รับผลกระทบกับเรื่องนี้เช่นกัน หาก ‘มนุษย์’ ยังไม่ช่วยกันทำให้โลกนี้เย็นขึ้น




