‘ยกเลิกทัศนศึกษา’ แนวคิดของ ‘ชนชั้นกลาง’ ปิดประตูโลกกว้าง ‘เด็กไร้โอกาส’

2 ต.ค. 2567 - 13:01

  • ถอดปัญหาด้านการศึกษา จากเหตุการณ์ ‘เพลิงไหม้รถบัสนักเรียน’ กับสังคมที่ผูกขาดอำนาจ ‘ท้องถิ่น’ ไร้แหล่งเรียนรู้ และมุมคิด ‘ยกเลิกทัศนศึกษา’ แบบครอบครัวชนชั้นกลาง ที่จะปิดประตูสู่โลกกว้างของ ‘เด็กไร้โอกาส’

The-idea-of-canceling-field-trips-SPACEBAR-Hero.jpg

เหตุการณ์ ‘เพลิงไหม้รถบัสทัศนศึกษา’ โรงเรียนวัดเขาพระยาสังฆาราม จังหวัดอุทัยธานี มองอีกมุมอาจเป็นอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นได้อย่างสามัญ แต่ขณะเดียวกันก็มาจากความประมาทเลินเล่อของหลายภาคส่วน จนเกิด ‘โศกนาฏกรรม’ ที่สร้างความโศกเศร้าให้กับสังคม 

กฎหมายความปลอดภัย (ที่เกี่ยวข้องกับการคมนาคม ) ของ ‘เยาวชน’ กลายเป็นประเด็นต้องมาตกตะกอน - สังคายนาให้เกิดมาตรฐานที่น่าเชื่อถือ ขณะเดียวกันการสูญเสีย ‘ครู - นักเรียน’ จากเหตุข้างต้นทำให้ผู้คนเสียงแตก เรื่องการจัด ‘ทัศนศึกษา’ ว่ายังคงดำรงอยู่ไว้ หรือระงับไปเพื่อความปลอดภัยของลูกหลาน 

ไม่แปลกที่ผู้ปกครองจะเป็นห่วง เพราะตามสถิติที่องค์การอนามัยโลก ออกมาเปิดถึงข้อมูลผู้เสียชีวิตบนท้องถนนในไทยมีอยู่ประมาณ 20,000 คนต่อปี (เฉลี่ยวันละกว่า 50 ราย) ขณะที่ กรมควบคุมโรคมีการเปิดเผยข้อมูลเรื่อง เด็กและเยาวชนไทยตายจากอุบัติเหตุทางถนน ยกระดับปัญหาการตายจากอุบัติเหตุทางถนนของเด็กและเยาวชน เป็น ‘วาระเร่งด่วน’ พบมีการคาดการณ์ว่า ‘ถ้ายังแก้ปัญหาแบบเดิม และไม่มีเป้าหมายชัดเจน’ ในอีก 11 ปีข้างหน้า (2563-2573) จะมีเด็กและเยาวชนเสียชีวิต ถึง 40,421 คน หรือเฉลี่ยปีละ 3,675 คนต่อปี ดังนั้นการเดินทางไกลๆ บนท้องถนนจึงกลายเป็นเรื่องกังวลกับทุกฝ่าย 

กระนั้น ในมิติด้านการศึกษา การเดินทางเพื่อพบเห็นประสบการณ์ใหม่ๆ หรือการได้มาเยือนสถานที่ที่ไม่เคยไป สักครั้งหรือสองครั้งในรอบปี ถือเป็นความปรารถนาชิ้นใหญ่ของเด็กๆ โดยเฉพาะกับเด็กที่ทางบ้านไม่ได้มีกำลังมากพอ ต่อการพาลูกๆ เจอโลกกว้าง การถอดบทเรียนในครั้งนี้จึงต้องใช้ความละเอียดอ่อน ที่จะต้องใช้การจะตัดสินใจอย่างเป็นธรรม 

จาก ‘โศกนาฏกรรม’ สู่การทบทวนเรื่องการกระจายอำนาจาจ ‘ด้านการศึกษา’

“หากในมื้อเที่ยง มีอยู่วันหนึ่งเด็กท้องเสีย เราจะยกเลิกอาหารกลางวันหรือไม่ หรือแม้แต่เด็กต่างจังหวัดมีภาวะการเดินทางไปโรงเรียนยากลำบาก เราจะปิดโรงเรียนเลยหรือไม่ ดังนั้นสิ่งที่ต้องทำคือมาตรการระยะยาวเรื่องความปลอดภัย และให้ความเชื่อมั่นพ่อแม่ เพราะการเรียนรู้นอกห้องเรียนคือสิ่งสำคัญสำหรับเด็ก”

มุมมองของ ‘ธนวรรธน์ สุวรรณปาล’ ผู้ร่วมก่อตั้งแฟนเพจ 'ครูขอสอน' ที่กล่าวถึงกระแส ‘ยกเลิกทัศนศึกษา’ โดยส่วนตัวนอกจากการขับเคลื่อนประเด็นการศึกษาเชิงโครงสร้าง ‘ครูทิว’ เป็นอาจารย์สอนอยู่ในโรงเรียนมันธยมศึกษาแห่งหนึ่ง มีบทบาทสำคัญกับการจัดกิจกรรมพัฒนาผู้เรียน ที่ต้องข้องเกี่ยวกับกิจกรรมนอกชั้นเรียนอยู่เสมอ 

ด้วยความใกล้ชิดกับนักเรียน และเห็นประโยชน์ของการเรียนรู้นอกชั้น ธนวรรธน์ จึงคิดว่า หากการยกเลิกทัศนศึกษาเกิดขึ้นจริง อาจส่งผลกระทบต่อนักเรียนทั้งทางตรงและทางอ้อม เสมือนเป็นการตัดโอกาสด้านการศึกษานอกตำรา โดยเฉพาะกับเด็กที่อยู่ใน ‘ครอบครัวที่ขาดแคลนโอกาส’ ไม่สามารถพาลูกไปเที่ยว หรือแสวงหาประสบการณ์อื่นๆ ให้ได้นอกจากบทเรียนทางวิชาการในห้อง ซึ่งแตกต่างกับสถานภาพครอบครัว ‘ชนชั้นกลาง - ชนชั้นนำ’ ที่มีกำลังทรัพย์ในการเพิ่มพูลสิ่งต่างๆ ให้ลูกหลานได้อย่างครบถ้วน  

ส่วนตัวเข้าใจว่าเมื่อเกิดโศกนาฏกรรมขึ้น ผู้ปกครองจำนวนมากย่อมแสดงความกังวลต่อความปลอดภัยของนักเรียน แต่การแก้ปัญหาด้วยการยกเลิก อาจเป็นการแก้ที่ปลายเหตุ เสมือนเป็นการยกเลิก ‘สิ่งจำเป็น’ ที่เยาวชนช่วงวัยระหว่างการศึกษาพึงได้รับ ดังนั้นสิ่งที่จะต้องแก้ไขเป็นอันดับแรกคือการเข้มงวดต่อความปลอดภัยของเด็ก 

อีกมุม สิ่งเลวร้ายที่เกิดขึ้นกับครูและนักเรียนโรงเรียนวัดเขาพระยาสังฆาราม มาจากโครงสร้างเชิงระบบ มีความเกี่ยวเนื่องกับ ‘การกระจายอำนาจ’ หรือ ‘การกระจายความเจริญ’ จากเมืองหลวงสู่ต่างจังหวัด เพราะหากท้องถิ่นมีอำนาจ และความเจริญที่ทัดเทียม มีแหล่งเรียนรู้ที่มีคุณภาพในทุกๆ ด้าน นักเรียนก็ไม่จำเป็นที่จะต้องเพิ่มความเสี่ยง เดินทางไกลร่วมกว่า 300 กิโลเมตร เพื่อเข้ากรุงเทพฯ  

กฎหมายและมาตรการด้านความปลอดภัยต้องชัดเจน  

ในส่วนที่สังคมตั้งถามเรื่องข้อกำหนดต่างๆ ด้านความปลอดภัยของเด็กๆ ต่อการไปทัศนศึกษา ครูทิวยอมรับว่า แม้ประเทศไทยจะมีมาตรฐานที่ถูกกำหนดเป็นกฎหมายหลายฉบับ ไม่ว่าจะพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ หรือในระเบียบของกระทรวง (ทั้งกระทรวงศึกษาธิการ - คมนาคม) แต่สำหรับเรื่องระยะทาง - ระยะเวลาในการเดินทางในหนึ่งวัน (เพื่อไปทำกิจกรรม) ยังเป็นคำอธิบายแบบกว้างๆ  ขณะที่ต่างประเทศระบุออกมาเป็นหลักปฏิบัติอย่างชัดเจน ส่งผลให้สถิติการสูญเสียมีน้อยหรือไม่มีเลย 

สำหรับข้อกำหนดอัตราส่วนการดูแลสวัสดิภาพนักเรียน มีระบุไว้ในกฎหมายว่า เด็กโต (ประถมวัย - มัธยมศึกษา)  20 คน ต่อคุณครู 1 คน ส่วนเด็กเล็ก (อนุบาล) 8 คน ต้องมีคุณครูดูแล 1 คน ขณะที่ต่างประเทศ (เท่าที่ทราบข้อมูลธนวรรธน์) พบว่า เด็กเล็กจำนวน 4 - 6 คน ต้องมีการดูแลของครู 1 คน และครูจำเป็นต้องมีการฝึกอบรมทบทวนด้านความปลอดภัยในทุกๆ ปี หรือก่อนจะมีการจัดกิจกรรมนอกโรงเรียนด้วย เพื่อลดความเสี่ยงเพิ่มความมั่นใจให้กับนักเรียน  

ชำแหละงบประมาณ ‘ทัศนศึกษา’ ความไม่พร้อมที่รัฐอาจต้องทบทวน 

ทัศนศึกษา คือสิ่งจำเป็นสำหรับผู้เรียน เป็นได้ทั้งกิจกรรมในหลักสูตร - นอกหลักสูตร ที่จะเสริมสร้าง ‘ประสบการณ์’ ให้นักเรียน หมายความว่าการวางเป้าหมายเพื่อพัฒนาผู้เรียน ทั้งใน-นอกห้องเรียน ไม่เพียงพอต่อการสร้างทักษะดังกล่าว แต่เมื่อเกิดเหตุไม่คาดฝัน ทุกหน่วยงานจำเป็นต้องร่วมถอดบทเรียน ในหลายๆ มิติ ซึ่งสิ่งจำเป็นเร่งด่วน (ด้านการศึกษา) ตามทรรศนะของธนวรรธน์ คือ  

  • การคำนึงถึงช่วงวัยของผู้เรียน เพราะไม่เว้นแม้แต่เด็กเล็ก (อนุบาล - ประถมศึกษาตอนต้น) ที่มีความจำเป็นต่อการหาประสบการณ์เพื่อการเติมโต แต่ต้องถูกจัดสรรอย่างเหมาะสม และอำนวยให้เกิดความปลอดภัยสูงสุด  
     
  • การคำนึงถึงการเสริมสร้างหลักสูตรและเสริมสร้างโอกาส อย่างการเรียนการสอนในห้อง ต้องหมั่นตรวจสอบว่าเด็กขาดประสบการณ์ - ทักษะเรื่องไหนอยู่ ที่จำเป็นต้องเดินทางไปแหล่งเรียนรู้จริงๆ รวมถึงการดูพื้นฐานของนักเรียนในมิติครอบครัวด้วย เพื่อให้เกิดการพัฒนาอย่าวทั่วถึงโดยเฉพาะกับเด็กชายขอบ  

ครูทิว ยอมรับว่า จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ทำให้บุคลากรทางการศึกษาทุกคนเสียใจ และมีจำนวนไม่น้อยที่เห็นด้วยกับการยกเลิกทัศนศึกษา ส่วนหนึ่งมีผลมาจาก ‘ครู’ เป็นผู้ที่ถูกคาดหวังจากผู้ปกครองในการดูแลสวัสดิภาพความปลอดภัยของนักเรียน ภายใต้ข้อจำกัดที่เยอะจนเกิดแรงกดดัน แต่อีกแง่หนึ่งคือหน้าที่ของสถานศึกษา ที่จะต้องจัดทัศนศึกษาเพื่อพัฒนาเด็ก  

“เอาเข้าจริงเราต้องทำเอกสารเยอะมาก อย่างทัศนศึกษาครั้งหนึ่ง เราต้องทำเอกสารกับบริษัทรถ มีแผนและมาตราต่างๆ ที่ต้องส่งเขตพื้นที่การศึกษา แต่มันก็มีปัจจัยทับซ้อนอื่นๆ ที่กลายเป็นอุปสรรคสร้างแรงกดดันให้กับสถานศึกษาในการว่างจ้างเอกชนอยู่ไม่น้อย”

ปัจจัยที่ครูทิวอธิบาย มีอยู่ด้วยกันหลายส่วน อาทิ เรื่องมาตรฐานรถโดยสารในตลาด มีตัวเลือกไม่มากสำหรับโรงเรียนในการว่าจ้าง รวมถึงงบประมาณที่มีอยู่อย่างจำกัด ทำให้โรงเรียนอาจมีตัวเลือกน้อยในการตัดสินใจเพราะ การจัดทัศนศึกษา 1 ครั้ง ค่ารถสำหรับนักเรียนอาจมีจำนวนมากกว่าครึ่งหนึ่งของค่าใช้จ่ายทั้งหมดของโครงการ

“เหตุที่เกิดขึ้นที่ปทุมฯ ทำให้เห็นว่าโรงเรียนขนาดเล็กต้องใช้งบประมาณที่มีอยู่อย่างจำกัดให้คุ้มค่ามากที่สุด ทัศนศึกษาครั้งนี้จึงมีตั้งแต่เด็กอนุบาล เด็กประถมฯ และเด็กมัธยมฯ การที่จะแยกไปทีละระดับชั้น ต้นทุนย่อมสูงกว่าการที่รวมเด็กทีละเยอะๆ พร้อมๆ กัน”

ธนวรรธน์ กล่าว

ในมิติของงบประมาณต่อหัว (ต่อปี) ในการเดินทางไปทัศนศึกษาของเด็กนักเรียน ครูทิวเปิดเผยว่า ในหนึ่งปีเด็กอนุบาลจะได้รับเงินต่อหัว ประมาณอยู่ที่ 464 บาท ประถมศึกษา 518 บาท มัธยมศึกษาตอนต้น 950 บาท มัธยมศึกษาตอนปลาย 1,026 บาท ซึ่งถามว่าเพียงพอหรือไม่ ก็ขึ้นอยู่กับริบทของสถานศึกษาและจำนวนนักเรียน แต่สำหรับโรงเรียนที่ครูทิวรับราชการอยู่ งบประมาณจากรัฐส่วนนี้ คือค่าใช้จ่ายที่รวมกับการจัดกิจกรรมพัฒนาผู้เรียนอื่นๆ  อาทิ กิจกรรมลูกเสือ ดังนั้นจะเห็นได้ว่าหลายโรงเรียนเวลาไปค่ายลูกเสือ 1 ครั้งต้องพานักเรียนแวะแหล่งเรียนรู้อื่นๆ ด้วย เพราะ ‘ค่ารถ’ คือค่าใช้จ่ายส่วนใหญ่ที่ต้องใช้จากงบประมาณทั้งหมด  

คนไทยต้องฝึกฝนให้ ‘เด็ก’ รับมือกับ ‘ความเสี่ยง’ 

เมื่อเหตุการณ์สร้างความเสียหายให้กับร่างกายและจิตใจของนักเรียนและครู รวมถึงผู้ปกครองที่เฝ้ารออยู่ทางบ้าน เรื่อง ‘ความพร้อมต่อการเผชิญเหตุ’ เป็นสิ่งสำคัญ พอๆ กับการสร้างมาตรฐานการเดินทางที่ปลอดภัย ในมุมมองของครูทิว คิดว่าสังคมไทยควรให้โอกาสเด็กได้เผชิญหน้ากับเหตุร้าย ผ่านการฝึกอบรมภายใต้บุคคลกรที่เชี่ยวชาญ ซึ่งจะเป็นประสบการณ์เอาตัวรอดที่ดีกว่าการสั่งสอนบนหน้ากระดาษ

“เราไม่ค่อยกล้าให้เด็กลงมือทำ และไม่กล้าให้เด็กเผชิญกับปัญหาจนเกินไป ทำให้เขาขาดแคลนทักษะ ถึงเวลาฉุกเฉินก็อาจไม่สามารถแก้ไขเฉพาะหน้าได้ หรือมีสภาพจิตใจที่แน่วแน่ต่อการตอบสนอง เพื่อเอาตัวรอดอย่างเหมาะสม อย่างเรื่องการอบรมแผนเผชิญเหตุหนีไฟ ที่อาจจะต้องปรับให้เข้มข้นและคำนึงถึงความปลอดภัยของเด็กแต่ละช่วงวัยด้วย อย่างกรณีหากเป็นเด็กอนุบาล จะสามารถทำอย่างไรได้บ้างกับสถานการณ์ที่จะเกิดขึ้น ซึ่งเรื่องนี้มันเป็นสิ่งที่เราต้องตระหนักมากกว่าความตระหนก” 

ธนวรรธน์ กล่าวทิ้งท้าย

สุดท้ายนี้ ขอให้เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับนักเรียนและครูบนรถบัส กลายเป็นอุทาหรณ์ให้กับสังคม โดยเฉพาะภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ในการแก้ไขปัญหา และออกแบบแนวทางป้องกันระยะยาวที่มีคุณภาพ 

หากทำแบบ ‘วัวหายล้อมคอก’ เฉกเช่นที่ผ่านมา ประเทศไทยคงหนีไม่พ้นข้อครหา ว่าใช้คำว่า ‘ถอดบทเรียน’ อย่างสิ้นเปลืองที่สุด 

ขอทุกดวงวิญญาณสู่สัมปรายภพที่สุขสงบ...

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์