เรือนจำสุดท้าย : เรื่องแรกแตกลายของ ‘วัยหนุ่ม’

12 ธ.ค. 2567 - 12:21

  • SPACEBAR ชวน ‘อดีตนักโทษยาเสพติด’ จับเข่าสนทนาเรื่องราวกว่า 20 ปีใน ‘คุก’

  • ชำแหละ ‘ระบบบ้านใหญ่’ ที่มาพร้อมกับ ‘อำนาจ - เงิน - บารมี’

  • ที่คอยเติมเต็มเรื่องราว ‘ดาร์กไซด์’ หลังเรือนจำ ให้มีชีวิตชีวา

The-story-of-a-prisoner-in-prison-SPACEBAR-Hero (1).jpg

ว่ากันตามความเป็นจริง ในยุคปัจจุบัน เรื่องราว ‘คนคุก’ ถูกตีแพร่ออกมาผ่านการสื่อสารแขนงต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น ภาพยนตร์ สารคดี รายการโทรทัศน์ หรือแม้แต่บทเพลง ทำให้สิ่งที่เกิดขึ้นหลังลูกกรง หลายประเด็นกลายเป็นที่รับรู้ของสังคมทั่วไป 

นอกเหนืออดีตผู้ต้องขัง (หลายคน) ที่ผันตัวมาเป็นอินฟลูเอนเซอร์ ก็แทบไม่มีใครอยากจะเล่าเรื่องราวอันแสนเจ็บปวดเท่าไหร่ อันที่จริงในฐานะนักเขียนที่สนใจเรื่องราวในที่คุมขัง พยายามหาแหล่งข่าวเพื่อตีแผ่ระบบที่เรียกว่า ‘สังคมคุก’ ใช้เวลาอยู่สักระยะกว่าจะมีผู้ยินดีบอกเล่าเรื่องวันวานอย่างลึกซึ้ง 

ผมนัดเจอกับ ‘อ้น’ (นามเรียกสมมุติ) ชายวัย 45 ปี ละแวกชุมชนแออัดใกล้บ้านพักของเขา เราใช้เวลาทำความรู้จัก และสนทนาท่ามกลางควันบุหรี่อยู่นับชั่วโมง เพื่อเปิดเรื่องลึกลับของ ‘คุก’ ที่ไม่ต่างอะไรกับแดนสนธยา

The-story-of-a-prisoner-in-prison-SPACEBAR-Photo01.jpg

เติบใหญ่ในห้องขัง ภายใต้ ‘ระบบบ้านใหญ่’  

อ้นเป็นเด็กที่เกิดและเติบโตในชุมชนสลัมกลางกรุงเทพฯ (ที่บางคนนิยามว่าความเป็นอยู่ที่นี่ไม่น้อยหน้าชุมชนคลองเตย) อาศัยอยู่ในห้องเช่าหลังเล็กๆ กับครอบครัวรายได้ต่ำ เขารู้จักกับ ‘ยาเสพติด’ ตั้งแต่ยังไม่เข้าสู่วัยกระทง และเริ่มเป็น ‘เด็กส่งยา’ ตั้งแต่น้ำเสียงยังไม่แตกหนุ่ม จนเป็นที่รู้จักดีของชุมชน และเจ้าที่หน้ารัฐ จนอายุได้ 14 ปี ถูกส่งตัวเข้า ‘บ้านเมตตา’ ในฐานะผู้ต้องหาในคดีค้ายาเสพติด เป็นจุดเริ่มต้นของวัฎจักรห้องขังของเขา

ชีวิตของอ้นเข้าสู่วัฎจักร ชนิดที่อยู่ในห้องขังมากว่าบ้านพัก พอออกจากบ้านเมตตาได้ไม่เท่าไหร่ เขาถูกส่งตัวไปบำบัดตามระบบต้องโทษ ก่อนจะโดนคดีอีกหลายความ นำตัวเขาเข้าสู่ ‘เรือนจำคลองไผ่’ และ ‘เรือนจำทัณฑสถานวัยหนุ่มกลาง’

“ผมเข้า - ออกจากเรือนจำมาตั้งแต่เด็กจนโต ร่วม ๆ 26 ปี โดยเว้นช่วงแต่ละครั้งได้ไม่เกิน 4 - 6 เดือน ก็ต้องกลับเข้าไปใหม่ แต่ล่าสุดก็ออกมาได้ 4 ปี แล้ว หลักๆ ผมจะโดนคดีเสพ - ค้า ยาเสพติด มีอาวุธปืนไว้ในครอบครอง และทำร้ายร่างกาย”

The-story-of-a-prisoner-in-prison-SPACEBAR-Photo02.jpg

‘ลอยสักจากคุก’ กลายเป็นปฏิมากรรมบนเรือนร่าง ที่บ่งชี้ความโชกโชนว่าเข้า- ออกอยู่เป็นประจำ เขาอธิบายให้ฟังว่า การใช้ชีวิตในคุกเป็นความลำบาก หากไม่มีญาติ เพื่อนฝูง หรือเคยสะสมบารมีจากภายนอกจนเลื่องชื่อ ความเป็นอยู่ของคุณอาจไม่ต่างอะไรกับการตกนรกสันดาบ  

โดยในหนึ่งแดนขัง จะมี ‘บ้าน’ ราวๆ 10 หลัง อ้น ในฐานะเป็นที่รู้จักของแวดวงสีเทา มาตั้งแต่ก่อนเข้าเรือนจำ พร้อมๆ กับความคุ้นชินกับสภาพแวดล้อมในคุกเยาวชน ทำให้เส้นทางการเติบโตแบบฉบับ ‘ขาใหญ่’ ใน ‘วัยหนุ่ม’ ดำเนินไปอย่างราบรื่น จนได้รับการสถาปนาจากพวกพ้องให้เป็น ‘พ่อบ้าน’ คอยควบคุมดูแลนักโทษในห้องขังด้วยกันเอง

“เราเข้าออกจนรู้จักกับเจ้าหน้าที่ ชนิดรู้ทางหนีทีไล่ คนใหม่ๆ กว่าจะปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตจนลงตัว ก็ต้องใช้เวลาพอสมควร โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากเข้าไปใหม่ๆ เราจำเป็นต้องขอเงินญาติมาเยอะๆ ซึ่งการใช้จ่ายในคุกมีมูลค่ากว่าภายนอกทั่วไป ใครมีเงินก็สามารถซื้อความสบายได้ เพราะมันคือพระเจ้า แต่ถ้าไม่มีเงินเราจำเป็นต้องเกเรเพื่อเอาตัวรอด”

photostory-prisoner-in-prison-SPACEBAR-Photo03.jpg

ระบบคุกไทย มีลักษณะคล้ายรัฐซ้อนรัฐ คือมีการควบคุมของเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ และการดูแลกันเอง ตามคำบอกเล่าของอ้น หากใครเข้าไปแบบหัวเดียวกระเทียมลีบ จะถูกเรียกว่า ‘บ้านผี’ ส่วนกลุ่มที่มีการรวมตัวและมีอิทธิพลกับคนคุกด้วยกัน จะเรียกว่า ‘เด็กบ้าน’ ซึ่งลักษณะการใช้ชีวิตจะแตกต่างกัน เสมือน ‘ราชา’ กับ ‘ทาสรับใช้’  

การรับใช้ของ ‘น้อง’ ในคุก มีลักษณะหลายรูปแบบ ทั้งการใช้แรงงานทำกิจกรรมต่างๆ แทนรุ่นพี่ ไม่ว่าจะเป็นการมอบหมายภาระการทำงาน ที่กรมราชทัณฑ์กำหนด หรือแม้แต่การบริการส่วนตัว ไม่เว้นแม้แต่ ‘เรื่องทางเพศ’ ซึ่งเป็นกิจกรรมชำเราความใคร่ส่วนตัวของ ‘รุ่นใหญ่’

“การรับน้องในคุกมีจริง ทั้งเรื่องการใช้กำลังและเรื่องทางเพศ มันเป็นภาวะปกติที่จะอยู่รอดเราต้องแข็งแกร่ง และการอยู่ในเรือนจำนานๆ มันย่อมมองผู้ชายสวย แต่การมีน้องนั้นต้องแยกออกเป็นสองนัย คือ 1) เพื่อปลดปล่อยอารมณ์ทางเพศ 2) มีไว้เพื่อประดับบารมีของรุ่นใหญ่ เอาไว้คอยรับใช้ทำสิ่งต่างๆ ผมก็มีอยู่เหมือนกัน แต่ไม่ได้ทำอย่างว่า แต่ผมมีไว้เพื่อสร้างเขาเป็นนักเลง ก็มีบ้างที่สดมาจากข้างนอกแต่ไม่มีพวกพ้อง แต่ถ้าคุณไม่เปลี่ยนคุณก็เละ”

‘ระบบเด็กบ้าน’ มาจากเจ้าหน้าที่ไม่พอต่อการดูแล ‘ผู้ต้องขัง’

photostory-prisoner-in-prison-SPACEBAR-Photo07.jpg

ระบบรัฐซ้อนรัฐที่เกิดขึ้นในคุก อีกนัยหนึ่งคือให้ผู้ต้องขังสามารถดูแลกันเอง อ้นเล่าว่า ไม่ใช่เจ้าหน้าที่ไม่รู้เห็น เพราะตามจริงการจะขึ้นเป็นขาใหญ่ นอกจากคนภายในรับรองกันเองแล้ว อาจมีเจ้าหน้าที่รู้เห็นความเคลื่อนไหวอยู่ด้วย หลายคนจึงเชื่อว่า การดูแลด้วยระบบบ้านของผู้ต้องขังด้วยกัน อาจเป็นอีกหนึ่งในกลไกการดูแลผู้คนจำนวนมากๆ ในภาวะที่เจ้าหน้ากรมราชทัณฑ์ มีจำนวนไม่เพียงพอ 

ตามรายงานสถิตินักโทษไทยทั่วประเทศ ที่ออกโดยกรมราชทัณฑ์ (ณ วันที่ 1 ธันวาคม 2567) มีผู้ต้องขังทั้งหมดอยู่ที่ 282,164 คน แบ่งออกเป็นชาย 243,329 คน หญิง 34,146 คน หากพิจารณาอัตราส่วนของเจ้าหน้าที่ต่อผู้ต้องขัง ตามหลักมาตรฐานสากล (UNOPS Technical guidance for prison planning) ได้กำหนดอัตราส่วนระหว่างเจ้าหน้าที่และผู้ต้องขังที่เหมาะสม คือ เจ้าหน้าที่ 1 คน ต่อ ผู้ต้องขัง 5 คน  

ดังนั้น กรมราชทัณฑ์จะต้องมีอัตรากำลังเจ้าหน้าที่กว่า 60,000 คน ซึ่งตามข้อมูลการสำรวจของอัตราข้าราชการปฏิบัติหน้าที่ ณ เรือนจำ/ทัณฑสถานทั้งประเทศไทยในปัจจุบันมีจำนวนเพียง 13,000 คน เท่านั้น

photostory-prisoner-in-prison-SPACEBAR-Photo10.jpg

ประเด็นนี้สอดคล้องตามหลัก ‘ทฤษฎีการพึ่งพา’ ระหว่างหน่วยงานรัฐและผู้ต้องขัง ตรงกับมุมสังเคราะห์ของ ‘ดร.ตฤณห์ โพธิ์รักษา’ นักอาชญาวิทยาเชิงจิตวิทยาและพฤติกรรมอาชญากร คณะสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ที่ระบุว่า ส่วนหนึ่งมันคือความจำเป็น เพราะเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ของเรามีไม่เพียงพอต่อการดูแลนักโทษ อย่างประเทศไทยหากเฉลี่ยออกมาเป็นตัวเลขกลมๆ จะอยู่ที่ เจ้าหน้าที่ 1 คนต่อผู้ต้องขัง 30 คน สวนทางกับหลักการสากลที่กำหนดไว้ ฉะนั้นจึงต้องพึ่งพานักโทษในการกำกับดูแลกันเองด้วย 

ส่วนระบบภายในที่เรียกกันว่าระบบบ้านใหญ่ ในมุมมองทางสังคมถือเป็นกลไกทั่วไปที่เกิดขึ้นกับเรือนจำทั่วโลกก เพราะในทุกมิติของความสัมพันธ์ มักจะมี ‘ผู้ปกครอง’ และ ‘ผู้ถูกปกครอง’ มันมีทั้ง ‘ผลดี’ และ ‘ผลเสีย’ ดังนั้น ทุกอย่างจึงขึ้นอยู่กับ ‘ทางเลือก’ เพื่อหา ‘ทางรอด’ ตามทฤษฎีทางสังคมวิทยาเรียกว่า ‘การคบหาสมาคมที่แตกต่าง’ (Differential Association) 

ส่วนมุมมืดที่เกิดขึ้นกับระบบ ตฤณ อธิบายว่า ข้อเท็จจริงทั้งหมดออกล้วนเกิดจาก ‘สันดานดิบ’ ของมนุษย์ ที่ทุกคนมักแสวงหา ไม่ว่าจะเป็นด้านเพศ เรื่องการยอมรับ ซึ่งเป็นสิ่งพื้นฐานของสัตว์สังคมโดยทั่วไป ไม่เว้นแม้แต่สังคมคนคุก

“หากเราต้องขึ้นตรงกับบ้านใหญ่ เพื่อให้มีคนคุ้มกะลาหัวปกป้องจากการถูกทำร้าย มันก็ต้องมีเงื่อนไขบางอย่างที่เราต้องทำตาม ถึงแม้จะขัดต่อความรู้สึกของตัวปัจเจกที่ไม่อยากทำ แต่เพื่อความอยู่รอดมันคือความจำเป็น เพราะมนุษย์คือสัตว์สังคมที่ต้องเอาตัวรอด ทำให้เหตุผลเรื่องเยียวยากลายเป็นปัจจัยรองลงไป ขณะที่ราชทัณฑ์วางเป้าหมายบำบัดเยียวยาเป็นอันดับที่หนึ่ง เราจึงเห็นความต่างในการจัดลำดับ ระหว่างมุมมองของเจ้าหน้าที่และตัวผู้ต้องขัง”

ตฤณ กล่าว

จุกหักเหของ ‘คนคุก’

หากเปิดสถิติที่รวบรวมโดยกรมราชทัณฑ์ จะพบว่า คดียาเสพติดกลายเป็นคดีที่มีจำนวนผู้ต้องขังมากที่สุดเป็นอันดับ 1 โดยจำนวนทั้งหมด 282,164 คน มีผู้ต้องขังคดียาเสพติดอยู่ที่ 202,161 คน หรือร้อยละ 71.65 ของนักโทษทั้งหมด  

อ้นสะท้อนภาพผ่านภาวะของนักโทษยาเสพติด ที่ในยุคหนึ่งไม่ใช่เรื่องยากต่อการแสวงหา ‘ยา’ จากโลกภายนอก ในมุมมองของเขาง่ายดายกว่ายุคปัจจุบัน ที่เรือนจำมีเทคโนโลยีตรวจสอบความผิดทันสมัยกว่า

“สมัยที่ผมติดคุกอยู่ หากต้องการยา (เสพติด) เราก็นัดหมายกับเพื่อนหรือญาติให้เขาส่งมาให้ เราใช้วิธีในการเขวี้ยงข้ามกำแพงเรือนจำ โดยเอาถุงยายัดใส่ลูกบอลเด็กเล่น หรือใส่ไว้ในท้องสัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำ (ประเภท กบหรือคางคก) ถามว่าเจ้าหน้าที่รู้ไหม ผมว่าเขารู้ แต่เขาไม่ยุ่งกับเราหรอก ถ้าไม่ได้ทำให้เขาเดือดร้อน แต่นั่นสมัยก่อนนะ สมัยนี้คงยากเพราะกล้องวงจรปิดมีอยู่รอบคุก”

photostory-prisoner-in-prison-SPACEBAR-Photo09.jpg

การยอมรับอย่างตรงไปตรงมาของอดีตผู้ต้องขัง ทำให้เห็นภาพความสัมพันธ์ระหว่างเจ้าหน้าที่กับนักโทษหัวโจกได้ชัดเจนพอสมควร โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาวะที่ต้องพึ่งพาอาศัยกัน แต่ในภาวะที่เกิดความวุ่นวาย จนระบบคนคุกไม่สามารถแก้ปัญหาได้ ทางเจ้าหน้าที่ก็อาจจำต้องใช้ ‘มาตรการขั้นสูง’ เข้ามาควบคุมสถานการณ์ 

อ้นเล่าว่าหากเกิดการทะเลาะวิวาทถึงขั้นยกพวกตีกัน ถึงขั้นสถานการณ์บานปลายรุนแรง เจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์จะสนธิชุดปฏิบัติการพิเศษ (นักโทษเรียกว่าคอมมานโด หรือชุดดำ) เข้ามาคลี่คลายด้วยกำลัง ซึ่งจะมีความสาหัสมากกว่า การชกต่อยกันเองคนคุกหลายเท่า ส่วนตัวก็เคยเผชิญกับสถานการณ์แบบนี้หลายครั้ง แต่โดยรวมหากเป็นขาใหญ่ การอยู่ในเรือนจำอาจสบายกว่าการกับที่จะต้องต่อสู้ชีวิตในโลกภายนอก

“การเป็นพ่อบ้าน เราแทบไม่ต้องทำอะไรเลย มีคนคอยดูแลเรา ในสมัยผมยังเสพยาง่ายกว่าอยู่นอกคุกอีก เอาจริงๆ มันสบายนะ ไม่ต้องตื่นเช้าไปทำงานส่งเสียครอบครัว มันจึงทำให้เวลาผมออกมา จึงกล้ากลับไปขายยา เพราะผมไม่กลัวจะถูกจับ แต่ครั้งหลังสุดที่ตัดสินใจหันหลังให้กับคุกและยาเสพติด ก็เพราะผมได้กลับมาเลี้ยงลูก ผมได้รับความอบอุ่นจากครอบครัว ซึ่งสิ่งเหล่านี้ไม่มีให้เราในคุก”

เรือนจำสุดท้าย - พ่อบ้านของครอบครัวครั้งแรก

photostory-prisoner-in-prison-SPACEBAR-Photo06.jpg

หากให้อ้นมองปัจจุบันผ่านเรื่องราวของอดีตให้ หลัง 4 ปีก่อน ภายหลังออกจากเรือนจำและเข้าสู่การบำบัดแล้วเสร็จ ได้กลับมาใช้ชีวิตที่ชุมชนแห่งเดิมพร้อมหน้าพร้อมตากับครอบครัว โดยมีลูกคนที่ 4 กับภรรยา อ้น ใน ฐานะ ‘พ่อ’ พบจุดตัดของชีวิต เขาเลือกหันหลังให้กับความเสี่ยงต่างๆ ที่จะนำพาตัวเขากลับสู่คแดนสนธยา รวมถึงเลิกเสพและขายยาเสพติด ชนิดหักดิบแบบไม่เผาผี ก่อนจะได้รับโอกาสจากสังคม ได้ทำงานสุจริตมีรายได้พอเลี้ยงครอบครัวอย่างคนธรรมดาสามัญทั่วไป  

ไม่ใช่เรื่องง่ายที่ทุกคนจะพบจุดหักเหได้อย่างเขา เพราะเบื้องหลังของคนที่ถูกจำหน่ายคดี - พ้นโทษไป มีจำนวนไม่น้อยที่ต้องตกงานและกลายเป็นที่รังเกียจของสังคม การจะหาเลี้ยงชีพ หลังชีวิตได้รับอิสระ จึงเป็นสิ่งที่ยากเกินเอื้อมสำหรับใครหลายคน

“การฝึกอาชีพของราชทัณฑ์ ต้องพูดตามความจริงว่า มันไม่ตอบโจทย์ตลาดแล้ว มันจึงเป็นปัจจัยให้หลายคนต้องกลับมาทำอาชีพสีเทา เพราะออกมางานก็ไม่มี ไปขายยาสิได้เดือนละ 7 -  8 หมื่น แต่ผมโชคดีที่ออกมาครั้งนี้มีครอบครัวที่เข้าใจ และได้เลี้ยงลูกคนเล็กด้วยตัวเอง ผมจึงได้ทราบความรู้สึกความพ่อที่แท้จริง ที่ในคุกก็ไม่สามารถมอบให้ผมได้”

photostory-prisoner-in-prison-SPACEBAR-Photo08.jpg

ในมิติทางสังคมวิทยา เชื่อมั่นว่าสถาบันสังคมและครอบครัวคือสิ่งสำคัญ ที่จะทำให้ ‘ผู้ก้าวพลาด’ พบกับจุดวกกลับ (turning point) โดย นักอาชญกรรมวิทยา มหาวิทยาลัยมหิดล อธิบายว่า ปัจจัยการดำเนินชีวิตส่วนใหญ่ ล้วนส่งผลมาจากสิ่งใกล้ตัว โดยเฉพาะการมีครอบครัว ถือเป็นทางเลือกที่หลายคนใช้เป็นเครื่องยืดเหนี่ยวไม่ให้กลับไปกระทำผิดซ้ำ ถือเป็นกระบวนการทางสังคมอย่างหนึ่ง ที่ช่วยลดทอนการกระทำความผิดได้อย่างมีประสิทธิภาพ 

ส่วนการที่อดีตผู้ต้องขังยาเสพติดหลายคน ต้องใช้ชีวิตวนลูปเข้า - ออกคุกอยู่เป็นประจำนั้น มีเหตุผลมาจากการริเริ่มใช้ยาเสพติดตั้งแต่อายุยังน้อย นำมาสู้การกระทำผิดซ้ำ อาทิ บุคคลที่เคยเข้าบ้านเมตตามาเพราะคดียาเสพติด ก็มักเข้า - ออกไม่จบสิ้น จนก้าวกระโดดสู่ ‘คุกผู้ใหญ่’ มีสาเหตุมาจากภาวะทางอารมณ์และการควบคุมความอยาก ที่มันผิดปกติตั้งแต่แรก  

ดังนั้นสิ่งที่หน่วยงานราชการอาจต้องตกผลึก คือ 1) เรื่องการบำบัดที่ถูกจุด เพราะคุกไทยมักใช้วิธีการบริหารบุคคลในแบบเหมารวม เนื่องจากมีผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านีไม่เพียงพอต่อผู้ต้องขัง - ผู้ต้องได้รับการบำบัด และ 2) การเพิ่มศักยภาพในการฝึกอาชีพคนในเรือนจำ ให้มีประสิทธิภาพ และตอบโจทย์ตลาดให้มากกว่าที่ผ่านมา

“จริงๆ ระบบมันควรยับยั้งให้กระบวนการยาเสพติด ยุติตั้งแต่เข้าบ้านเมตตาแล้ว แต่มันมีเหตุผลตรงที่ราชการมักเลือกวิธีในการรักษาบำบัดแบบรวมๆ ไม่ได้เจาะจงอย่างมีกิจลักษณะ บางคนมาเพราะคดีความรุนแรง บางคนมาเพราะคดียาเสพติด บางคนมาเพราะคดีลักทรัพย์ กระบวนการสร้างจิตสำนึกก่อนคืนความอิสระย่อมไม่เหมือนกัน”

ตฤณ กล่าวทิ้งท้าย

ท้ายที่สุด ก่อนจะจบบทสนทนา ผมเอ่ยถามอดีตผู้ต้องโทษว่าเขามีวิธีใดในการจะสอนให้เด็กกลายเป็นคนดีของสังคม อ้น ตอบว่า เขาพยายามสอนลูกทุกคนเสมอ ว่าตนเองเปรียบเสมือนกระจกเงาบานหนึ่ง คอยสะท้อนภาพฝันร้ายในอดีต ให้ทุกคนได้เห็นเส้นทางที่ตกต่ำของชีวิต...เพียงแค่นั้นที่เขาทำได้ 

“การออกคุกมาเจอชีวิตที่ดีเลยมันยาก บ้านเรามันแค่ผักชีโรยหน้า หน่วยงานรัฐก็พูดให้ดูดี แต่ในทางปฏิบัติมันทำไม่ได้เลย ไอ้คำว่าคืนคนดีสู่สังคมเนี่ย ผมบอกได้แค่ว่าแค่คุณรวยคุณมีเงิน ไม่ว่าจะในเรือนจำหรือโลกภายนอก คุณก็คือความแตกต่างทางชนชั้น สุดท้ายทุกคนก็แพ้เงินหมด” อ้น กล่าวทิ้งท้าย

The-story-of-a-prisoner-in-prison-SPACEBAR-Photo05.jpg

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์