เปิดใจ 'สิงห์อมควัน' ในวันที่ 'รัฐบาล' กวาดล้าง 'บุหรี่ไฟฟ้า'

20 มี.ค. 2568 - 10:47

  • ถอดนัยจาก ‘สิงห์อมควัน’ จากมาตรการ ‘กวาดล้างบุหรี่ไฟฟ้า’ ในมุมที่ ‘ตลาดมืดไทยยังเข้มแข็ง’ และหลายคนหันกลับมาสูบ ‘บุหรี่มวน’

The-voice-of-e-smokers-and-government-policies-SPACEBAR-Hero (1).jpg

ตลอด 2 สัปดาห์ที่มีการออกมาตรการปราบปราม 'บุหรี่ไฟฟ้า' แบบเข้มข้น ชนิดที่ว่า 'ล้างบาง' ให้หมดไปจากประเทศของ 'รัฐบาลแพทองธาร' มีทั้งเสียงสนับสนุนจาก 'ผู้ไม่สูบ' ซึ่งคำนึงถึงหลักสุขภาพและคุณภาพชีวิตทางสังคมของลูกหลาน แต่ขณะเดียวกัน ก็มีเสียงวิจารณ์จากเหล่า 'ผู้สูบ' ที่ลอยลมกระทบให้ได้ยินอยู่เนื่องๆ แต่เชื่อเหลือเกินว่า 'การยับยั้ง' เพื่อให้ประชาชนมีสุขภาพที่ดี จำเป็นต้องฟังเสียงจากทุกฝ่าย  

ดังนั้นการหยิบยกเสียงสะท้อนของ 'สิงห์อมควัน' อาจเป็นมิติที่ฉายภาพความเหมาะสมได้ในระดับหนึ่ง บางมุมอาจเป็นเรื่องราวที่รัฐบาลอาจนำหยิบกลับไปทบทวน หรือวางแนวสร้างกรอบเพื่อ 'การควบคุม' และ 'จัดการ' ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น 

หมายเหตุถึงผู้อ่าน : การสูบบุหรี่อันตรายต่อสุขภาพและเป็นภัยต่อคนรอบข้าง - บุหรี่ไฟฟ้ายังผิดกฎหมายอยู่ 

บุหรี่ไฟฟ้าอาจเหมือน ‘ยาบ้า’ ที่ไม่ว่าจะกวาดล้างแค่ไหนก็แพ้อำนาจ ‘ตลาดมืด’

'ต้น' (นามเรียกสมมุติ) - ปัจจุบันเขาอายุ 28 ปี ทำงานอยู่ในวงการนักสื่อสาร เริ่มสูบบุหรี่มวนตัวแรกตั้งแต่มัธยมศึกษาตอนตัน เดิมทีเป็น 'การลองสูบ' กับเพื่อนๆ ในวัยเดียวกัน กระทั่งระยะเวลาผ่านไปนานขึ้น ทำให้เขา 'ติด' การสูบบุหรี่อย่างจริงจัง เขานิยามความรู้สึกขณะพ่นระบายควัน ว่า เหมือนๆ กับอารมณ์ In the mood for love (ผู้ตกอยู่ในอารมณ์แห่งความรัก) ที่ยากจะดึงตัวเองกลับออกมาได้ 

เขาเริ่มใช้มันต่อเนื่องยิ่งขึ้นในทุกๆ วันแบบไม่รู้ตัว ไม่ว่าจะอยู่โดดเดี่ยวเพียงลำพัง หรือในวงสังสรรค์กับเพื่อนฝูง เฉลี่ยตกสัปดาห์ละ 1-2 ซอง เป็นอย่างน้อย จนเข้าสู่ช่วงพัฒนาในวงการสายควัน 'ต้น' ในวัยคะนองรู้จัก 'บุหรี่ไฟฟ้า' เป็นครั้งแรกเมื่อ 10 กว่าปีก่อน หลังจากสูบบุหรี่มวนมาได้หลายปี เขาตัดสินใจลิ้มลอง ด้วยความเชื่อที่ว่า จะสามารถทดแทนบุหรี่ (จริง) ได้ แม้การสูบบุหรี่แบบไอน้ำครั้งแรกๆ จะไม่ถูกปากสักเท่าไหร่  

"บุหรี่ไฟฟ้าช่วงแรกมันยังไม่มีการปรุงแต่งสีและกลิ่น มัน (เหมือน) เป็นสิ่งที่ช่วยผู้เสพติดสารนิโคตินได้ดี แต่พอหลังๆ เริ่มมีการพัฒนา - ทำออกมาในรูปแบบแฟชั่นมากขึ้น มีการแต่งเติมตัวให้น่าสูบยิ่งขึ้น จนกลายเป็นการรวมตัวของกลุ่มผู้ใช้อย่างจริงจัง คือตอนนั้นผมเชื่อว่ามันเป็นไอน้ำ มันน่าจะดีต่อสุขภาพ มากกว่าการสันดาปด้วยความร้อน ประกอบกันเริ่มมีงานวิจัยจากต่างชาติ ถึงคุณสมบัติของบุหรี่ไฟฟ้าที่สามารถทดแทนบุหรี่จริงได้ ทำให้หลายคนเริ่มมั่นใจหันมาใช้มากขึ้น"

เขายอมรับว่า การเข้าสู่วงการบุหรี่ไฟฟ้า เป็นไปตามมุมคิดที่ Confirmation bias (การยืนยันความเชื่อโดยใช้อคติ) เพราะเชื่อว่าการวิจัยของชาติตะวันตกหลายแห่ง มีข้อมูลวิชาการยืนยันความปลอดภัย ซึ่งสอดคล้องกับความต้องการส่วนตัว ที่เป็นสิงห์อมควันอยู่แล้ว (ชนิดขาดสารนิโคตินไม่ได้) และอยากลองเปลี่ยนวิธีการสูบดู โดยเฉพาะช่วงมหาวิทยาลัย - เริ่มเข้าสู่วัยทำงาน มีจำเป็นต้องเข้าหาสังคมมากขึ้น มันจึงเป็นเหตุผลให้เขาเลือกใช้บุหรี่ไฟฟ้ายุคดั้งเดิมที่เป็น ‘แบบหยดสูบ’ มาจนถึง ‘บุหรี่ไฟฟ้าใช้แล้วทิ้ง’ ซึ่งเป็นบุหรี่ไฟฟ้าที่พัฒนามาล่าสุด ซึ่งนักสูบใช้กันอย่างแพร่หลาย 

อนึงบนเส้นทางของสิงห์อมควันของ ‘ต้น’ ก็ล่วงเลยพ้นวัยแสวงหาไปหลายปี ทำให้เริ่มการตั้งปุจฉาถึงสภาวะที่ผ่านมา เต็มไปด้วยเหตุผลมากขึ้น

"บุหรี่มวนมันเสียบุคลิกเพราะมันเหม็น แต่สำหรับบุหรี่ไฟฟ้าช่วงแรกมันมีงานวิจัยออกมาค่อนข้างเยอะ แต่ให้หลังก็เริ่มคิดว่าข้อมูลทางวิชาการที่ออกมาไม่ถึง 10 ปี มันจะมีความน่าเชื่อถือมากน้อยแค่ไหน ในปัจจุบันเองก็ยังเป็นเรื่องของการโต้แย้งอยู่ ไม่มีใครบอกได้ว่าบุหรี่ไฟฟ้าจะดีกว่าบุหรี่มวน หรือบุหรี่มวนจะปลอดภัยกว่าบุหรี่ไฟฟ้า แต่เราก็ถลำไปแล้วด้วยรูป รส กลิ่นที่ได้จากพวกมัน การจะลด ละ เลิก มันต้องมีกระบวนการที่มีประสิทธิภาพ การหักดิบอาจเป็นทางออกสำหรับบางคน แต่สำหรับคนที่สูบเพราะติดนิโคตินมันยากมาก"

ต้น กล่าว

'ต้น' ยังอธิบายถึงความเป็นไปของการใช้บุหรี่ไฟฟ้าในยุคปัจจุบัน ผ่านมาตรการกวาดล้างอย่างเข้มงวดของรัฐบาล (แพทองธาร) ว่า แม้ระยะหลัง เขาจะเป็นคนที่ตั้งคำถามเรื่องความปลอดภัยของบุหรี่ไฟฟ้า แต่เขากลับรู้สึกผิดหวังการออกมาตรการ ที่สวนทางกับนโยบายที่ 'พรรคเพื่อไทย' เคยหาเสียงไว้ก่อนการเลือกตั้ง ว่าจะมีการนำบุหรี่ไฟฟ้าขึ้นมาบนดิน เพราะถ้ามองในมิติทางรัฐศาสตร์ เรื่องนี้ไม่ใช่แค่เรื่องสุขภาพของประชาชน แต่มันอาจมีนัยทางการเมืองซ่อนอยู่ด้วย โดยเฉพาะการกลับลำทางนโยบาย ที่ยังไม่มีเหตุผลใดๆ ฟังขึ้นนอกจากการต่อรองทางการเมือง หรือการพยายามสร้างฐานเสียงใหม่จากกลุ่มที่ไม่เห็นด้วยกับบุหรี่ไฟฟ้า 

ในมุมของเขา เชื่อว่าสิ่งที่กำลังเป็นปัญหาอยู่ โดยเฉพาะการเข้าถึงบุหรี่ไฟฟ้าของเด็กและเยาวชน มันเกิดจากการออกมาตรการรัฐแบบผิดๆ โดยเฉพาะการควบคุม - กวาดล้าง ซึ่งหากมองตามข้อเท็จจริง 'สังคมไทย' ไม่เคยถูกชะล้างให้ขาวสะอาดเสียทีเดียว เหมือนๆ 'ยาบ้า' ซึ่งเป็นสารเสพติดที่อันตรายและสร้างปัญหามาทุกยุคทุกสมัย ก็ยังมีอยู่ แม้หน่วยงานรัฐจะพยายามป้องกันด้วยวิธีใดๆ มันสะท้อนให้เห็นถึงความแข็งแรงของ 'ระบบตลาดมืด' ที่เข้มแข็งอยู่มาก 

ขณะเดียวกัน หากหยิบบุหรี่ไฟฟ้าขึ้นมาไขความจริงทางสุขภาพ (แบบไม่ใช้อคติ) แล้วออกระบบการคัดกรองผู้ซื้อ - ขาย เช่นเดียวกับบุหรี่มวน อาจทำให้การเข้าถึงของเยาวชนเป็นไปได้ยากขึ้น เพราะถูกควบคุมด้วยกฎหมายบ้านเมือง ดังนั้นการบุกจับหรือกวาดล้าง อาจเป็นการแก้ปัญหาแค่ผิวเผินเท่านั้น

"ปัญหาที่มันเกิดขึ้นผมคิดว่ามันมาจากความไร้ประสิทธิภาพในการควบคุมดูแล ถ้าเกิดรัฐบาลนำของพวกนี้ขึ้นมาบนดินแล้วมีการจัดเก็บภาษีอย่างถูกต้อง มันจะเหมือนกับประเทศตะวันตก ที่มีการจำกัดอายุชัดเจน ก็จะไม่มีการแอบลักลอบขายแบบใต้ดิน แต่แบบที่เป็นอยู่นอกจากรัฐจะขาดรายได้แล้ว การเข้าถึงของเยาวชนก็ยิ่งง่ายกว่าด้วย"

ต้น กล่าวทิ้งท้าย

จากคนรังเกียจ ‘บุหรี่มวน’ สู่ ‘ทาสการสันดาป’

‘มิกซ์' (นามเรียกสมมุติ) - เด็กหนุ่มวัย 18 ปี เข้าสู่วงการสิงห์อมควัน ด้วยวัยเพียง 14 ปี เขาไม่ต่างอะไรจากเด็กชายวัยคะนองทั่วไป ที่เลือกใช้ช่วงเวลาว่างจากการเรียน ไปมั่วสุมในห้องน้ำกับเพื่อนฝูง เขายอมรับกับผู้เขียนตามตรง ที่ผ่านมาไม่เคยคิดอยากลองสูบ 'บุหรี่มวน' เพราะทั้งเหม็นและร้อน จึงเริ่มต้นจาก 'บุหรี่ไฟฟ้า' ซึ่งหาได้ไม่ยากตามร้านค้าละแวกโรงเรียนในอำเภอเมือง (ต่างจังหวัด)  

โดยช่วง 4 - 5 ปีที่เขารับสารนิโคตินผ่านไอน้ำเป็นลักษณะ 'การสูบเฉพาะอยู่กับเพื่อน' นอกจากนั้น ‘มิกซ์’ ก็ยังสามารถใช้ชีวิตอยู่ได้โดยไม่สูบ ซึ่งแตกต่างกับ 'ต้น' ที่จำเป็นต้องใช้เพื่อระงับความอยาก  

'มิกซ์' เล่าให้ฟังว่า บุหรี่ไฟฟ้าเป็นที่แพร่หลายและเข้าถึงง่ายสำหรับเด็กและเยาวชนยุคปัจจุบัน เขายกตัวอย่างห้องเรียน มีนักเรียนอยู่ประมาณ 35 - 40 คน มีเด็กชาย - หญิง มากกว่าครึ่งห้องที่สูบบุหรี่และพกบุหรี่ไฟฟ้าไปโรงเรียน ขณะที่อีกครึ่งก็มีหลายคนอยู่ในสภาวะ 'อยากลอง' แต่ 'ยังไม่กล้า'

"ตอนนั้นใครๆ มันก็ว่าดูเท่นะพี่ ไม่ว่าหญิงหรือชาย เพื่อนๆ ผมก็สูบกันทั้งนั้น ยิ่งในต่างจังหวัดเขาเปิดร้านขายกันโจ่งแจ้ง แค่ถอดชุดนักเรียนเขาก็ขายให้แล้ว มันจึงทำให้เด็กซื้อง่าย แล้วยิ่งบุหรี่ไฟฟ้ามันไม่มีกลิ่นเหมือนบุหรี่ตัว พวกผมก็ไปแอบสูบกันในห้องน้ำได้โดยที่ไม่ต้องกังวล ว่าออกมาแล้วจะถูกครูจับมือดม เอาจริงๆ ถ้าถูกค้นตัวเราก็เกม แต่เรื่องกลิ่นเรื่องควันหายห่วงเพราะมันแทบไม่มีเลย"

คำบอกเล่าของ 'มิกซ์' ทำให้เราเห็นสถานการณ์การแพร่ระบาดของบุหรี่ไฟฟ้าในกลุ่มเยาวชนได้อย่างชัดเจน แต่สิ่งที่น่าตกใจมากกว่า คือมาตรการการกวาดล้างของรัฐบาล (ณ ขณะนี้) กำลังทำให้เด็กหลายคนในช่วงวัยเดียวกับเขา หันเหมาสูบ 'บุหรี่มวน' มากขึ้น ไม่เว้นแม้แต่ตัวเขาเอง ที่ก่อนหน้านี้ไม่ได้ชอบอรรถรส ในการสูบควันที่เกิดจากการสันดาปด้วยความร้อนเลย

"พอบุหรี่ไฟฟ้ามันหายากขึ้น แทนที่เพื่อนๆ หลายคนจะเลิก เขากลับไปซื้อบุหรี่จริงมาสูบ ผมเองก็เหมือนกันก็มีเผลอตัวบ้าง เวลาไปเตะบอลกับเพื่อน คือจริงๆ ก่อนหน้านี้ผมไม่ชอบเลย แต่พอลองสูบไปก็รู้สึกว่ามันผ่อนคลายได้เหมือนกัน แต่ยังดีที่ผมก็นานๆ ทีไม่ได้ติดอะไรใช้แค่ตอนเข้าสังคมเท่านั้น ไม่มีมันผมก็ไม่สูบได้"

มิกซ์ กล่าวทิ้งท้าย

ท้ายที่สุด 'มิกซ์' ยอมรับว่าเขาอาจจะยังเด็กเกินจะเข้าใจ ถึงการวางระบบทางกฎหมาย หรือเรื่องการจัดเก็บภาษี แต่สิ่งที่เขาอยากจะสื่อสารออกไปจากภาพฉายที่ตัวเองได้เห็น คือการแก้ปัญหาบุหรี่ไฟฟ้าของภาครัฐ ที่มุ่งหวังให้ประชาชน 'หักดิบ' อาจเป็นทางออกที่ไม่ถูกต้องนัก เพราะไม่ใช่ทุกคนที่จะ 'เลิกบุหรี่ไฟฟ้าได้' และมีหลายคนที่หันเหมาสูบ 'บุหรี่มวน' แทน ดังนั้น สิ่งที่ผู้มีอำนาจต้องทำคือการสร้างกลไกบางอย่าง ที่จะทำให้ทุกอย่างสามารถเดินควบคู่กันไป 

ลำพังไม่มีอะไรดีหรือเลวกว่ากัน - ทุกอย่างล้วนไม่ดีต่อสุขภาพทั้งนั้น...แต่รัฐบาลจะทำอย่างไร ให้มันเกิดการดูแลและป้องกันอย่างมีประสิทธิภาพ

คงเป็นสิ่งที่ 'เด็ก' อย่างเขาได้ตั้งแต่คำถามกลับไปด้วยความฉงน

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์