เรื่องราวของ ‘บิ๊กต่อ’ จาก ‘เซลล์แมน’ สู่ ผบ.ตร. คนที่ 14

27 ก.ย. 2566 - 12:18

  • ย้อนเส้นทางชีวิตจาก ‘เซลล์แมน’ สู่ตำแหน่งประมุขสีกากีของ ‘บิ๊กต่อ’ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ คนที่ 14

tosake-new-commissioner-of-the-royal-thai-police-SPACEBAR-Hero.jpg

‘บิ๊กเด่น’ พล.ต.อ.ดํารงศักดิ์ กิตติประภัสร์ ที่อำลาตำแหน่ง ‘ผบ.ตร’ ไปแล้วท่ามกลางสายฝนที่โปรยปราย แต่ดูเหมือนมรสุมภายในสำนักงานตำรวจแห่งชาติจะยิ่งทวีความรุนแรงขึ้นขณะ โดยเฉพาะการชิงไหวชิงพริบของเหล่าแคนดิเดต ‘เบอร์ 1 ตร.’ ที่ขับเคี่ยวกันจนวินาทีสุดท้าย  

กระทั่งล่าสุด 17.00 น.วันนี้ (27 กันยายน 2566) มีรายงานว่าคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ (ก.ตร.) ที่มีการประชุมคัดเลือกผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ มีมติให้ ‘พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ สุขวิมล’ รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ขึ้นรับหน้าที่เป็น ‘ผบ.ตร.’ คนที่ 14 จากมติ 10 ต่อ 1 เสียง 

SPACEBAR จึงขอชวนส่องสปอร์ตไลต์ไปที่เส้นทางการในอาชีพตำรวจ ‘บิ๊ก’ หลังติดหัวตารางมาตั้งแต่โผยังไม่เริ่มกาง สำหรับพลตำรวจเอกต่อศักดิ์ มีปูมหลังที่น่าสนใจหลายเรื่องราว โดยเฉพาะการเข้าสู่การเป็นตำรวจสายบังคับบัญชา พื้นเพของ ‘บิ๊กต่อ’ มีถิ่นฐานบ้านเกิดอยู่ที่จังหวัดเพชรบุรี เป็นน้องคนเล็กในบรรดาพี่น้องทั้งหมด 5 คน และเป็นน้องชายของ ‘พลอากาศเอกสถิตย์พงษ์ สุขวิมล’ ราชเลขานุการในพระองค์และเลขาธิการพระราชวัง สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีจากคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์  

ก่อนเข้าสู่วงการผู้พิทักษ์สันติราษฎร์ ต่อศักดิ์ทำงานที่แรกเป็นพนักงานบริษัทน้ำมันยักษ์ใหญ่ (ว่ากันว่ามีตำแหน่งเป็นเซลล์แมน) อยู่ได้ 7 ปี ก่อนจะเข้าหลักสูตรการฝึกอบรมผู้มีวุฒิทางด้านนิติศาสตร์ รัฐศาสตร์ รัฐประศาสนศาสตร์ เพื่อบรรจุแต่งตั้งเป็นข้าราชการตำรวจชั้นสัญญาบัตร (กอต.) รุ่นที่ 4 ซึ่งเป็นรุ่นเดียวกับ ‘วัน อยู่บำรุง’ (อดีต สส.บางบอน พรรคเพื่อไทย) ซึ่งอาชีพตำรวจเป็นความใฝ่ฝันของเขาตั้งแต่วัยเด็ก 

เขาเริ่มเส้นทางตำรวจ ในตำแหน่ง ‘รองสารวัตร’ กองกำกับการสายตรวจปฏิบัติการพิเศษ 191 จากนั้นย้ายมาเป็นรองสารวัตรที่กองปราบปราม แล้วขึ้นเป็น ‘สารวัตร’ ตำรวจท่องเที่ยว ก่อนจะกลับมาเป็นสารวัตรกองกำกับการปฏิบัติการพิเศษ กองปราบฯ และได้ขึ้นเป็นรองผู้กำกับ-ผู้กำกับการปฏิบัติการพิเศษ และรองผู้บังคับการปราบปรามตามลำดับ  

กระทั้งปี 2561 ต่อศักดิ์ได้เลื่อนตำแหน่งเป็นผู้บังคับการ กองบังคับการถวายความปลอดภัยและปฏิบัติการพิเศษ 191 ซึ่งเป็นช่วงที่ผู้คนเริ่มรู้จักเขามากขึ้น ให้หลังมาอีก 1 -2 ปี เลื่อนขั้นเป็นรองผู้บัญชาการตำรวจและผู้บัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง ตามลำดับ ก่อนจะเข้าสู่ส่วนกลางในปี 2564 เป็น ‘ผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ’ และในปีถัดมาได้สวมบทบาทเป็น ‘รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ’ และ ‘ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ คนที่ 14’ ตามเหตุการณ์ปัจจุบัน  

ทั้งนี้ ในช่วงระหว่างรับราชการ นักข่าวสายอาชญกรรม (ประจำตร.) ได้ตั้งฉายาให้เขา ว่า ‘มือปราบสายธรรมะ’ และ ‘โรโบคอปสายบุญ’ เนื่องจากเป็นนายตำรวจที่ใช้หลักธรรมในการทำงาน และมักจะเห็นภาพการเดินสายปฎิบัติธรรมอยู่เป็นประจำ  

จากประวัติเบื้องต้นทำให้เห็นว่า ‘บิ๊กต่อ’ เป็นผู้เดียวในชุด ‘แคนดิเดต’ ที่ไม่ได้จบการศึกษาจากโรงเรียนนายร้อยตำรวจ แต่เป็นพลเรือนที่ข้ามห้วยเข้าสู่วงการกากี ในลักษณะ ‘นายร้อยอบรม’ ด้วย 

เมื่อยิ่งพูดถึงวงประชุมก.ตร. ที่มี ‘เศรษฐา ทวีสิน’ นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง (ในฐานประธานที่คณะกรรมการ)นั้น มีคุณสมบัติที่ใช้ในการพิจารณาตาม พ.ร.บ.สำนักงานตำรวจแห่งชาติ พ.ศ.2565 ที่นายกฯ จะคัดเลือกรายชื่อ ‘รอง ผบ.ตร.’ โดยใช้หลักเกณฑ์ตาม ‘ลำดับอาวุโส’ (คะแนนเต็ม 50 % ใครลำดับอาวุโสสูงกว่าจะได้คะแนนในส่วนนี้มากกว่า) และ ‘ความรู้ความสามารถ’ (อีก 50 % โดยเฉพาะประสบการณ์ในงานสืบสวนสอบสวนหรืองานป้องกันปราบปราม จะได้รับคะแนนมากกว่าด้านอื่น) 

รายงานหากพิจารณาแคนดิเดต ผบ.ตร.เรียงตามอาวุโส เรียงได้ดังนี้ อาวุโสอันดับ 1 ‘พลตำรวจเอกรอย อิงคไพโรจน์’ (เกษียณปี 2567) อาวุโสอันดับ 2 ‘พลตำรวจเอกสุรเชษฐ์ หักพาล’ (เกษียณปี 2574)  อาวุโสอันดับ 3  ‘พลตำรวจเอกกิตติ์รัฐ พันธุ์เพ็ชร์’ (เกษียณปี 2569) และ อาวุโสอันดับ 4 ‘พลตำรวจเอกต่อศักดิ์ สุขวิมล’ (เกษียณ 2567) 

นี่อาจเป็นข้อสงสัยที่สังคมจะตั้งคำถามต่อ ว่า ทาง ก.ลต.ใช้หลักเกณฑ์อะไรที่พิจารณาให้ ‘บิ๊กต่อ’ ก้าวสู่ตำแหน่ง ‘ปทุมวัน 1’ ได้ ? 

ศึกชิงเก้าอี้ประมุขสีกากี อาจจะไม่จบลงแค่นี้  

แต่มันอาจเป็นการก่อตัวของ ‘คลื่นใต้น้ำ’ ลูกใหม่ 

ถึงเวลาคงรู้ดำ - รู้แดง มากขึ้น...

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์