คดีการฉ้อโกง ของเหล่าคนดังและอินฟลูเอนเซอร์ไทย ที่กลายเป็นข่าวใหญ่ Talk of The Town มาอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ช่วงเดือนตุลาคมที่ผ่านมา จากทองแม่ตั๊ก สู่มหากาพย์ ดิ ไอคอน กรุ๊ป ที่มาพร้อมวลีเด็ดไม่ทิ้งใครไว้ข้าง จูงมือเหล่าบอสดารา นักร้องเรียน นักการเมือง เข้าเรือนจำกันเป็นแถว ซ้ำยังส่อแววว่าจะลากนักตบทรัพย์ มาอยู่ร่วมรั้วเดียวกันอีกล็อต
ยังไม่นับรวม มหากาพย์คดีการฉ้อโกง เจ๊อ้อย ของ ทนายตั้ม ษิทรา เบี้ยบังเกิด ที่เปิดวอร์กับบ้านพระอาทิตย์ และคดีฉ้อโกงล่าสุดของ หมอบุญ หรือ นพ.บุญ วนาสิน ผู้ก่อตั้ง รพ.ธนบุรี ที่สร้างเรื่องสะเทือนวงการแพทย์ไทย และแวดวงการลงทุน
ปรากฏการณ์ข่าวคาวที่มาชุมนุมหมู่ในช่วงปลายปีแบบนี้ กำลังบอกอะไรกับสังคมไทยหรือไม่?
“จริงๆ แล้วอาชญากรรม มันเป็นส่วนหนึ่งของสังคม มันไม่มีวันหมดไป มันเป็นตัวบ่งชี้ว่าสังคมเราถึงจุดไหน และควรเปลี่ยนแปลงในด้านใด สังคมมันมีอาชญากรรมคู่กันทุกยุคสมัย ถ้าไม่มีอาชญากรรม ตรงนั้นไม่ใช่สังคมครับ”
ดร.ตฤณห์ กล่าว
เป็นคำตอบของ ดร.ตฤณห์ โพธิ์รักษา นักอาชญาวิทยาเชิงจิตวิทยาและพฤติกรรมอาชญากร อาจารย์ประจำคณะสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ที่มองว่าคดีเหล่านี้มีให้เห็นรายวันอยู่แล้ว แต่ที่เป็นกระแสตอนนี้ เป็นเพราะคนเริ่มตื่นตัว
อีกทั้ง คดีที่ปรากฏเป็นข่าวในช่วงแรกมันเกี่ยวโยงกันหมด เริ่มมาจากจุดเดียวกัน และผู้ที่เกี่ยวข้องก็โดนขุดทีละราย จนทำให้เห็นเส้นทางการเงินและความไม่ชอบมาพากลชัดเจนขึ้น ซึ่ง อ.ตฤณห์ มองว่าเป็นสัญญาณที่ดีที่สังคมตื่นตัว และเห็นว่าเจ้าหน้าที่เอาจริง โดยเฉพาเรื่องเส้นสายเทวดาต่างๆ ที่กระบวนการยุติธรรมต้องพิสูจน์ให้สังคมเห็นว่ายังเชื่อถือได้อยู่ เชื่อว่าในอนาคตจะกลายเป็นมาตรฐานใหม่ในสังคมไทย ที่จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลง
- พลังของชื่อเสียง : ดาบสองคมที่สังคมต้องตรวจสอบ
ส่วนการที่เหล่าคนดังกลายเป็น ผู้ต้องหา ในคดีฉาวที่กำลังปรากฏบนหน้าข่าวตอนนี้ มีนัยยะอะไรซ่อนอยู่หรือไม่ อ.ตฤณห์ อธิบายว่า การที่เหล่าดาราคนดังเข้ามามีส่วนในการฉ้อโกง ทำให้สังคมเริ่มรู้สึกเพ่งเล็งและตรวจสอบคนกลุ่มนี้มากขึ้น เพราะมีดาราหรือคนดังหลายคนที่ทำธุรกิจแล้วรวยแบบก้าวกระโดด
ขณะที่สื่อโซเชียลในยุคปัจจุบันมีอิทธิพลมาก ไม่ว่าใครก็สามารถเป็นนักข่าวได้ ประกอบกับมี ดิจิตอลฟุตปริ้นต์ (Digital Footprint) แพร่กระจายทั่วอินเทอร์เน็ต ทำให้เมื่อมีกระแสเกิดขึ้น คนที่สังคมรู้สงสัยว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับเรื่องนี้จึงถูกตรวจสอบอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ และประเด็นข่าวใหม่ที่เปิดมาแต่ละรอบก็มีผลมาจากกระแสสังคมด้วย
แม้ที่ผ่านมา หน่วยงานรัฐ นักวิชาการ จะออกมาเตือนตลอดเรื่องรูปแบบอาชญากรรมต่างๆ แต่คนไม่ค่อยรับรู้และให้ความสนใจเท่ากับเวลาที่มีคนดังหรือดาราเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย และเมื่อคนสนใจก็ไปค้นหารายละเอียดที่คล้ายกันมากขึ้น ซึ่งนี่เป็นจุดแตกต่างระหว่างคนก่อเหตุทั่วไป กับคนที่เป็นดารา เป็นคนดัง เพราะคนดังมีพลังมากกว่า เป็นหลักเดียวกับการตลาด (Marketing) คือถ้าเป็นคนธรรมดามาโฆษณาสินค้า ผลตอบรับที่ได้ก็ไม่ได้มีอิทธิพลเท่ากับดาราหรือคนดัง
“พอมันเป็นเรื่องฉาว เป็นเรื่องโกงกัน เป็นเรื่องอาชญากรรม เป็นเรื่องที่ไม่ดี เรื่องไม่ดีแพร่กระจายเร็วกว่าเรื่องดีอีก เพราะเรื่องไม่ดีมันเป็นหัวข้อที่นำมาถกกันในสังคม”
ดร.ตฤณห์ กล่าว
- เมื่อมิจฉาชีพเปลี่ยนเกม : จากถนนสู่แพลตฟอร์มดิจิทัล
รูปแบบอาชญากรรมที่เปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัยและสังคม อ.ตฤณห์ ชี้ให้เห็นว่า รูปแบบอาชญากรรมการฉ้อโกงปัจจุบันมีวิธีการใหม่ๆ ซึ่งเรียกว่า อาชญากรรมสมัยใหม่ (White-Collar Crime) เมื่อก่อนสมัยที่ยังไม่มีเทคโนโลยี และยังไม่การกระจายข่าวสารมาก ยังเป็นพวก อาชญากรรมธรรมดา (Street Crime) เช่น พวกลัก วิ่ง ชิง ปล้น
แต่เมื่อมีการขยายตัวของอุตสาหกรรมอินเทอร์เน็ต มีการสร้างตัวตนเข้าไปในอินเทอร์เน็ต การขาย การตลาดของบริษัทต่างๆ ที่เข้าไปในแพลตฟอร์มอินเทอร์เน็ต ได้กลายเป็นจุดใหม่ที่มิจฉาชีพจะเข้าไปสร้างตัวตนเหมือนกัน ดังนั้นรูปแบบอาชญากรรมมันจึงเปลี่ยนจากออฟไลน์ เป็นออนไลน์
อ.ตฤณห์ ยังเชื่อว่า ในอนาคตเราจะเห็นคดีเหล่านี้มากขึ้นอีก เพราะตอนนี้การป้องกันอาชญากรรมแบบออฟไลน์ พวก ลัก วิ่ง ชิง ปล้น มากแล้ว คนรู้เท่าทันแล้ว แต่แบบใหม่คนยังตกเป็นเหยื่ออยู่ โดยเฉพาะคดีโรมานซ์สแกม (Romance Scam) หลอกให้รัก หลอกให้โอนที่มีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น
โดยคดีโรมานซ์สแกม สร้างความเสียหายมากกว่าช็อปปิง (Shopping) ออนไลน์อีก เพียงแต่ว่าประเทศไทย ยังไม่มีการเก็บข้อมูลของเหยื่อ (Self-Report) อย่างละเอียด ทำให้ยังไม่มีข้อมูลที่แท้จริง ซึ่งอุปสรรคในการเก็บข้อมูลส่วนหนึ่งเป็นเพราะผู้เสียหายไม่กล้าแจ้งความ เพราะกลัวเสียชื่อเสียง กลัวว่าแจ้งไปแล้วคดีไม่คืบและไม่ได้เงินคืน จึงทำให้ยังมีข้อมูลที่เป็น Dark Figure หรือ ข้อมูลลับที่อยู่ในมุมมืด อีก แต่เชื่อว่าข้อมูลจริงมีมากกว่าที่ปรากฎหลายเท่า
สอดคล้องกับข้อมูลของ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ที่พบว่า คดีฉ้อโกงมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะคดีฉ้อโกงออนไลน์ โดยข้อมูลระหว่างวันที่ 1 มีนาคม 2565 ถึง 20 ธันวาคม 2566 มีการแจ้งความคดีออนไลน์จำนวน 391,631 คดี มูลค่าความเสียหายรวมกว่า 10,122,822,746 บาท
- เสพข่าวอย่างมีสติ : อย่าให้อารมณ์อยู่เหนือเหตุผล
ทั้งนี้ ท่ามสถานการณ์ข่าวฉาวต่างๆ ที่กำลังเป็นกระแสอยู่ในตอนนี้ จนบางคนเกิดอาการอินและเลือกข้างหลังเสพข่าว อ.ตฤณห์ ขอเตือนว่า อยากให้สังคมติดตามข่าวอย่างมีสติ และไม่ว่าจะรับฟังนักวิชาการจากแขนงใดก็แล้วแต่อยากให้ตกตะกอน และพิจารณาด้วยสติของตัวเองก่อนจะเชื่อ หรือหาข้อมูลอื่นเพิ่มเติม ย้ำว่าไม่ควรมีอารมณ์ร่วมกับข่าว เพราะคุณไม่ใช่ผู้ที่เกี่ยวข้องในคดี
“ข่าวสารบ้านเมืองมันทำให้รู้เท่าทันคน แต่การเสพเอามัน มันคือการเอาเรื่องบันเทิงจากข่าวอาชญากรรม ซึ่งผมมองว่ามันไม่ถูกต้อง มันผิดจุดประสงค์”
ดร.ตฤณห์ กล่าว
อ.ตฤณห์ ย้ำว่า การติดตามข่าวสารมันมีประโยชน์ เพียงแต่คนในสังคมอาจมีอารมณ์ร่วมกับข่าวมากเกินไป จนทำให้เสียสุขภาพจิต พร้อมแนะนำว่าทุกครั้งที่เราติดตามข่าว อยากให้ได้รับข้อคิด หรือการป้องกันตัวจากการติดตามข่าวมากกว่าการมีอารมณ์ร่วม เพราะนอกจากเสียสุขภาพจิตแล้ว ยังไม่ได้ประโยชน์จากข่าวด้วย