‘สุชัชวีร์’ ชี้ไทยไม่มีประสบการณ์แผ่นดินไหว คาดใช้เวลากู้ซากตึกถล่มนานนับเดือน

29 มี.ค. 2568 - 06:53

  • ‘สุชัชวีร์’ ลงพื้นที่วิเคราะห์ตึก สตง.ถล่ม คาดใช้เวลากู้ซากนานนับเดือน

  • ชี้ไทยขาดประสบการณ์รับมือแผ่นดินไหว

  • แนะเร่งช่วยคนติดค้าง-เก็บข้อมูลให้ได้มากที่สุด

Suchatchavee-Said-Thailand-has-no-experience-with-earthquakes-SPACEBAR-Hero.jpg

สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ และประธานกรรมการสภาวิศวกร ได้ลงพื้นที่ตรวจสอบจุดเกิดเหตุอาคารสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) แห่งใหม่ ริมถนนกำแพงเพชร 2 ตรงข้ามตลาดนัดจตุจักร ซึ่งถล่มลงมาจากเหตุแผ่นดินไหว เมื่อช่วงบ่ายของวันที่ 28 มีนาคมที่ผ่านมา

สุชัชวีร์ ระบุว่า พร้อมที่จะช่วยเหลือรัฐบาลและกรุงเทพมหานคร และมองว่าประเทศไทยไม่มีประสบการณ์รับมือกับแผ่นดินไหวที่ทำให้อาคารสูง 30 ชั้นถล่มมาก่อน เคยมีเพียงเหตุการณ์อาคารถล่ม 6-7 ชั้นเท่านั้น ทำให้เจ้าหน้าที่รับมือกับสถานการณ์นี้ได้ยาก

ดังนั้น เราขอความช่วยเหลือจากประเทศที่มีความรู้จากประสบการณ์จริง คือ ประเทศญี่ปุ่น และอเมริกา ที่ตอนนี้สมาชิกของผมก็เสนอความช่วยเหลือมาแล้ว เนื่องจากมีความใกล้ชิดกับทางญี่ปุ่น ถ้าหากว่ามีอะไรที่เราช่วยได้, เรายินดี

สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์

สุชัชวีร์ กล่าวอีกว่า จากการลงพื้นที่ พบว่าการปฏิบัติการยังขาดเครื่องมือที่เพียงพอ แม้ว่าตำรวจ ทหาร หน่วยกู้ภัย และทุกหน่วยงานจะทุ่มเทอย่างเต็มที่ แต่การกู้ซากเช่นนี้จำเป็นต้องมีผู้เชี่ยวชาญร่วมด้วย ขณะนี้ทีมวิศวกรอาสาได้ประชุมที่ศาลากลางเพื่อเสนอแนวทางในการกู้ภัย

ลักษณะการพังทลาย “เหมือนอาคารระเบิด” ย้ำว่าเป็นเหตุการณ์ผิดปกติที่มันพัง เนื่องจากตึกอื่นไม่พัง อย่างไรก็ตาม ในช่วงนี้ สิ่งที่ต้องเร่งปฏิบัติให้เร็วที่สุด คือช่วยเหลือผู้ที่ติดค้างอยู่ภายใน โดยทางเจ้าหน้าที่กู้ภัยจะต้องปลอดภัยด้วย และจะต้องมีการเก็บข้อมูลไปพร้อมกันให้ได้มากที่สุด เพราะว่าสิ่งที่เกิดขึ้น เราไม่โทษหรือว่าตำหนิใคร

สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์

สุชัชวีร์ กล่าวเพิ่มเติมว่า กรณีบริษัทต่างชาติที่เข้ามาก่อสร้างอาคารในประเทศไทย ก่อนหน้านี้เคยมีบริษัทต่างชาติก่อสร้างอาคารสำเร็จโดยไม่มีเหตุการณ์สูญเสีย จึงไม่อยากให้มองข้ามประเด็นนี้ รวมถึงต้องพิจารณาเรื่องการทุจริตควบคู่กันไป

ประชาชนคนไทยต้องยอมรับว่า เราเป็นประเทศที่อยู่ในเขตแผ่นดินไหว โดยเฉพาะแนวเลื่อนศรีสวัสดิ์, แนวเลื่อนสกาย ซึ่งอยู่ไม่ไกลจากรอยเลื่อนใหญ่ของพม่า ทางรัฐบาลต้องติดตามอย่างใกล้ชิด เราต้องเรียนรู้ที่จะต้องเผชิญเหตุอยู่กับแผ่นดินไหวและต้องปรับตัว

สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์

ทั้งนี้ ระหว่างการสัมภาษณ์ สุชัชวีร์ ได้วาดแผนผังลักษณะโครงสร้างของอาคาร พร้อมอธิบายการพังทลายที่ผิดปกติ โครงสร้างของอาคารประกอบด้วยเสาเข็ม, เสาข้าง ลิฟต์ที่ทำหน้าที่เสมือนกระดูกสันหลัง และคานสำคัญที่เชื่อมต่อกัน เมื่อเสาด้านล่างเกิดความเสียหาย ย่อมส่งผลกระทบต่อโครงสร้างโดยรวม ส่วนฐานรากใต้ดินยังไม่สามารถระบุได้แน่ชัด แต่มองว่าการกู้ซากอาคารอาจต้องใช้เวลานานเป็นเดือน

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์