'คนไร้บ้าน' คือมนุษย์ ไม่ใช่ 'วัตถุไร้หัวใจ'

17 ม.ค. 2567 - 11:35

  • ถอดบทเรียน กรณีกลุ่มวัยรุ่นก่อเหตุฆาตกรรม 'ป้าบัวผัน' กับสวัสดิการความปลอดภัย ที่สังคมและภาครัฐละเลย 'คนเร่ร่อน' กับ ‘สิทธิพล ชูประจง’ หัวหน้าโครงการผู้ป่วยข้างถนน มูลนิธิกระจกเงา

Welfare-of-homeless-people-SPACEBAR-Hero.jpg

กลายเป็นเรื่องที่สังคมให้ความสนใจ กรณีการเสียชีวิตของ ‘บัวผัน’ หรือ ‘ป้ากบ’ หญิงชราไร้บ้าน ผู้ถูกฆาตกรรมอำพรางศพที่สระน้ำข้างโรงเรียนแห่งหนึ่งในจังหวัดสระแก้ว นำไปสู่การจับกุม ‘เปี๊ยก’ สามีของผู้ตาย ที่รับสารภาพว่าเป็นผู้ก่อเหตุทั้งหมด

แต่แล้วสิ่งที่ไม่มีใครคาดคิดก็เกิดขึ้น หลังมีภาพหลักฐานการรุมทำร้าย ‘ป้าบัวผัน’ เป็นกลุ่มเยาวชน อายุช่วงระหว่าง 13 - 14 ปี อย่างไร้มนุษยธรรม ส่งผลให้เกิดการสืบสวนทำคดีใหม่อีกรอบ ท่ามกลางการตั้งข้อสังเกตจากสาธารณชน ถึงเหตุผลการโกหกของ ‘ลุงเปี๊ยก’ และความไม่ชอบมาพากลของเจ้าหน้าที่รัฐ เพราะมีเยาวชนผู้ก่อเหตุหนึ่งในห้าคน เป็น ‘ลูกตำรวจ’ 

ในส่วนกระบวนการทางอาชญกรรมวิทยา ก็เป็นไปตามที่ผู้อ่านได้เห็นผ่านการขุดหลักฐาน สาวร่องรอย ของสื่อมวลชน ที่ริ่มเห็นเคล้างรางคดีมากยิ่งขึ้น แต่รายงานพิเศษฉบับนี้ จะขอนำเสนอในมุม ‘เรื่องสวัสดิภาพคนไร้บ้าน’ ที่หลายกรณีถูกละเลยจนเปราะบาง เป็นสารตั้งต้นให้เกิดความสูญเสียหลาย โดยเฉพาะคดีสะเทือนขวัญที่เกิดขึ้นในครั้งนี้ หากปล่อยผ่านแบบเลยตามเลย คงไม่วายเกิดซ้ำรอย เฉกเช่นที่ผ่านมา

“เคสนี้ไม่ใช่เคสแรก ที่คนไร้บ้านถูกกระทำเยี่ยงวัตถุสนองอารมณ์ เหมือนสิ่งของไร้ชีวิต ก่อนหน้านี้ผมเคยเจอกรณีใกล้เคียงกัน อย่างช่วง 10 ปีที่แล้ว มีกลุ่มวัยรุ่นใช้น้ำมันเติมไฟแช็ก ราดเผาสดคนไร้บ้านกลางกรุงเทพฯ อย่างไร้ความปราณี มาจนถึงบัดนี้ ก็ยังจับมือใครดมไม่ได้ คนไร้บ้านผู้นั้นก็หายไป ท่ามกลางความไม่แยแสของเจ้าหน้าที่รัฐ เหมือนเขาไม่ได้มองว่าคนเหล่านี้ คือมนุษย์คนหนึ่งที่ควรจะได้รับความคุ้มครองจากสังคม”

เป็นคำบอกเล่าของ ‘สิทธิพล ชูประจง’ หัวหน้าโครงการผู้ป่วยข้างถนน มูลนิธิกระจกเงา ที่สะท้อนภาพสังคม ว่าปัญหาความปลอดภัยของคนเร่ร่อน ไม่เคยถูกหยิบยกแก้ไขเป็นกิจลักษณะมาแต่ไหนแต่ไร เขายกกรณี ที่เกิดขึ้นช่วงปี 2557  โดยเหตุดังกล่าวเกิดขึ้นย่านพาหุรัดกรุงเทพมหานคร กับคนไร้บ้านกลุ่มหนึ่ง ที่อาศัยทางเท้าสาธารณะในพักอาศัย ต่อมาคนไร้บ้าน 2 คนถูกกลุ่มวัยรุ่นใช้น้ำมันเติมไฟแช็กราดแล้วจุดไฟเผาขณะหลับอยู่ ซึ่งมูลนิธิก็ได้เข้าประสานขอความเป็นธรรมกับเจ้าหน้าที่ เพื่อเอาผิดกับผู้ก่อเหตุ และผลักดันการจัดทำแผนสร้างความปลอดภัยให้กับคนเร่ร่อน 

ทว่าเหตุการณ์เกิดขึ้นช่วงการทำรัฐประหารปี 2557 รัฐบาลมีการประกาศใช้กฎอัยการศึก ทำให้วิธีการในการจัดการไม่เป็นไปตามที่กลุ่มนักเคลื่อนไหวเรื่องสิทธิมนุษยชนมองว่าควรจะเป็น เพราะหลังเจ้าหน้าที่ได้รับคำร้องเรียน แทนที่รัฐจะมีการแก้ไขป้องกันโดยใช้วิธีการด้านมนุษยธรรม กลับมีตำรวจ - ทหารอาวุธครบมือ เดินทางไปยังจุดเกิดเหตุ แล้วเอาตัวคนไร้บ้านในละแวกนั้น ขึ้นรถผู้ต้องขังไปโรงพัก ก่อนจะทำการคัดกรอง เพื่อเตรียมส่งสถานสงเคราะห์ แต่หลายคนไม่อยากไป จึงได้รับการปล่อยตัว พร้อมๆ กับการไร้ความคืบหน้าของคดี

“หลังเกิดเหตุไม่นานผู้เสียหายก็หายไปอย่างไร้ร่องรอย เชื่อว่าเป็นการหนีจากความกลัว ทำให้การดำเนินการทางคดีไม่เกิดขึ้น เพราะคนไร้บ้านคือเจ้าทุกข์ มันจึงสามารถคิดได้ว่า ในสถานการณ์ที่คนไร้บ้านรู้สึกไม่ปลอดภัย เขาจะสำนึกผิดไม่อยากไปร้องเรียน เพราะรู้ทั้งรู้ว่าอย่างไรเสียคงถูกละเลย สอดคล้องกับการแสดงความเพิกเฉยจากภาครัฐ ทำให้พวกเขารู้สึกว่า แจ้งความไปก็ไม่คืบ และอาจจะโดนกระทำซ้ำจากผู้ก่อเหตุได้”

สิทธิพล กล่าว

‘ผู้ป่วยข้างถนน’ ไม่ใช่บุคคลอันตรายเสมอไป

หัวหน้าโครงการผู้ป่วยข้างถนน มูลนิธิกระจกเงา จำแนกกลุ่มคนเร่ร่อนที่อาศัยในพื้นที่สาธารณออกมาเป็น 2 กลุ่ม ส่วนใหญ่กว่า 80 เปอร์เซนต์ ไม่ใช่บุคคลอันตราย หรือเป็นผู้ก่อความรำคาญกับสังคม แต่กลับเป็นกลุ่มที่อยู่อย่างสันโดษ หรือพยายามไม่ทำตัวเป็นปัญหา เพื่อให้สังคมยอมรับให้ใช้ทรัพยากรร่วมกันได้ 

ส่วนที่เหลือคือ คนไร้บ้านที่มีอาการป่วยทางจิตเวช ซึ่งส่วนใหญ่ไม่ได้สร้างปัญหาอะไรให้กับสังคม มีเพียงส่วนหนึ่งเท่านั้นที่มีอาการหนัก ส่อแววสร้างความวุ่นวาย แต่หลายกรณีก็สามารถอยู่ร่วมสังคมได้ด้วยความเข้าใจจากผู้คน ว่าเป็นเพราะโรคทางจิตประสาท ต้องได้รับการช่วยเหลือฟื้นฟู โดยกระบวนการทางการแพทย์ 

อย่างกรณีของ ป้าบัวผัน ซึ่งเป็นผู้ป่วยทางจิตเอง ก็ได้รับช่วยเหลือจากสังคม และกลายเป็นที่รักใคร่ของผู้คนพื้นที่ แสดงให้เห็นชัดเจนว่า ผู้ป่วยริมถนนสามารถใช้ชีวิตร่วมกับคนธรรมดาได้อย่างสามัญ แต่ขณะเดียวกันทางหน่วยงานรัฐจำเป็นต้องนำผู้ป่วยเข้าสู่ระบบ เพื่อทำการรักษาเคียงคู่ด้วย ซึ่งปัจจุบันยังไม่สัมฤทธิ์ผลเท่าที่ควร 

“เขา (ผู้ป่วยข้างถนน) สามารถอยู่ในสังคมได้ แต่ต้องมีกลไกของรัฐพาเข้าสู่ระบบการรักษา ในลักษณะของ ‘ผู้ป่วยจริงๆ’ แต่เข้าใจว่าติดเรื่องทรัพยากรทางการเงินและเจ้าหน้าที่ในการปฏิบัติงาน จึงทำให้คนเร่ร่อนเหล่านี้ ไม่สามารถเข้าถึงระบบทางการแพทย์ได้ ที่น่าเสียใจคือ บางกรณีไม่ใช่เพราะไม่มีเงิน แต่รัฐกลับเลือกมองข้ามเคสเหล่านี้ไปเลย อันนี้เป็นประเด็นที่ต้องถอดบทเรียนต่อไป”

เลิกมองคน (ไร้บ้าน) ไม่เป็นคน

สิทธิพล ถอดบทเรียนออกเรื่องสวัสดิภาพคนไร้บ้าน ที่ควรได้รับจากภาครัฐ คือการออกแบบแนวทาง และวิธีการพัฒนาคุณภาพชีวิต ให้สามารถอยู่ในสังคมได้อย่างปลอดภัย ผ่านกระบวนการที่เป็นรูปธรรม โดยเฉพาะ แผนการจัดการ ที่ไม่ทำให้สังคมมองว่า บุคคลเหล่านี้คือบุคคลที่ถูกทอดทิ้งโดยรัฐ 

อย่างการ การจัดทำข้อมูล และการให้สวัสดิการขึ้นพื้นฐาน ตั้งแต่การมอบเครื่องอุปโภคบริโภค รวมถึงการรักษาทางการแพทย์ในมิติต่าง ๆ โดยเฉพาะกับ ‘ป้าบัวผัน’ หรือคนเร่ร่อนที่มีอาการทางจิตเวช ซึ่งจำเป็นต้องได้รับดูแลรักษาอย่างสม่ำเสมอ อาจสร้างภูมิคุ้มกัน และเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพ ในการเอาตัวรอดให้กับบุคคลเหล่านี้ จากสถานการณ์ต่างๆ ด้วย 

ขณะเดียวกันทั้งภาครัฐและประชาชน ต้องมองคนไร้บ้าน ผ่านเลนส์แว่นเดียวกันคือ ‘มนุษย์คนหนึ่ง’ ไม่ใช่มอง ‘คนไร้บ้าน’ แบบ ‘ไร้ค่า’ เพราะทั้งหมดทั้งมวล ไม่ว่าจะเป็นกรณีที่เคยเกิดขึ้นมาแล้ว หรือประเด็นที่ ‘ป้าบัวผัน’ ถูกฆาตกรรมโดยกลุ่มวัยรุ่น ล้วนมาจากการมองคนแบบด้อยค่าทั้งสิ้น

“วัยรุ่นผู้ก่อเหตุก็มองบ้าบันผันไม่ต่างอะไรกับวัตถุไร้หัวใจ ใครจะทำอะไรก็ย่อมได้ ส่วนตำรวจที่อาจมีการอำพางคดี ก็เลือกมองข้ามความเป็นธรรม ที่ผู้เสียชีวิตควรจะได้รับ มันแสดงให้เห็นว่า สังคมทั่วไปไม่ได้มองว่า คนเร่ร่อนคือมนุษย์คนหนึ่ง ยิ่งผนวกกับการเป็นผู้ป่วยจิตเวชด้วย ยิ่งถูกด้อยค่าความเป็นคนลงไปอย่างเวทนา หากไม่เริ่มแก้ไขเรื่องทัศนคติ และความยุติธรรมที่พึงได้รับจากรัฐ ปัญหาเหล่านี้ก็ไม่มีทางจะหายไปจากสังคมไทย”

หัวหน้าโครงการผู้ป่วยข้างถนน มูลนิธิกระจกเงา กล่าวทิ้งท้าย

ท้ายที่สุดคงต้องถามอีกครั้งว่า กรณีการเสียชีวิตของ ‘ป้าบัวผัน’ จะเป็นความโศกเศร้าเพียงชั่วครู่ หรือจะเป็นบรรทัดฐานในการแก้ไขปัญหาความยุติธรรม ทั้งกฎหมาย และชีวิตคุณภาพอย่างจริงจัง ให้กับ ‘คนข้างถนน’

ทุกอย่างมันขึ้นอยู่กับทัศนคติคนล้วนๆ

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์