เหตุการณ์น้ำท่วมฉับพลันหลังฝนตกหนักมากในช่วงเวลาเพียงไม่กี่ชั่วโมง อย่างที่เกิดขึ้นที่ภูเก็ตเมื่อช่วงปลายเดือนมิถุนายน เพียงคืนเดียวฝนมากถึง 300 มิลลิเมตร หรือที่ระยองเมื่อปลายเดือนกรกฎาคม และล่าสุดที่พัทยา จ.ชลบุรี เพิ่งจะมีฝนตกหนักเพียง 3 ชั่วโมง น้ำท่วมรถจมน้ำพังเสียหาย สร้างความตกใจให้กับคนในพื้นที่ที่ได้รับความเสียหายแบบตั้งตัวไม่ทัน แต่ข่าวร้ายคือฝนในลักษณะนี้จะเกิดบ่อยขึ้น และรุนแรงขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
พักหลังมานี้ เราจะเห็นหรือได้ยินคำว่า ‘Rain bomb’ ซึ่งแปลตรงตัวว่า ‘ระเบิดฝน’ กันบ่อยขึ้น เช่น เมื่อวันที่ 2 กันยายน นายโสภณ สุวรรณรัตน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต ได้ประกาศแจ้งเตือนฝนตกหนักในจังหวัดภูเก็ต กล่าวว่าจากกรณีศึกษาที่เคยเกิดขึ้น เป็นลักษณะของฝนตกหนัก เฉพาะพื้นที่ระเบิดฝน Rain Bomb ดังนั้นทุกฝ่ายอย่าได้ประมาทโดยเด็ดขาด และ เมื่อเดือนสิงหาคม นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร บอกว่ากังวลการเกิดฝนตกหนักเฉพาะจุด หรือ ปรากฏการณ์ Rain Bomb ที่อาจส่งผลกระทบพื้นที่จุดอ่อนในกรุงเทพฯ
Rain bomb คืออะไร
ดร.บัญชา ธนบุญสมบัติ นักวิชาการและผู้ก่อตั้งชมรมคนรักมวลเมฆ กล่าวว่า Rain bomb ไม่ใช่ศัพท์วิชาการ เป็นชื่อเล่นของ wet microburst โดยคำว่า microburst หมายถึงกระแสอากาศหรือลมที่ลงมาแรงๆจากก้อนเมฆ แบ่งเป็น dry microburst คือมีเฉพาะลมกระแทกลงมา และ wet microburst คือกระแสลมที่ลงมาพร้อมน้ำฝน โดยในกรณีที่น้ำฝนนั้นมีลักษณะเป็นก้อนกลมๆ เหมือนลูกระเบิด จึงเรียกว่า Rain bomb
จากเว็บไซต์ของ GZA GeoEnvironmental หน่วยงานด้านสิ่งแวดล้อมในสหรัฐอเมริกา ยังให้ข้อมูลว่า มีหลายคำที่ใช้เรียกฝนตกหนักที่ทำให้เกิดน้ำท่วม แต่คำที่ได้รับความสนใจมากที่สุดที่เราเคยได้ยินมา (แม้เป็นคำที่ไม่ได้ใช้ทางอุตุนิยมวิทยา) คือ คำว่า ‘Rain bomb’ ซึ่งเป็นปรากฏการณ์ทางสภาพอากาศที่เรียกให้ถูกต้องมากขึ้นคือ ‘wet microburst’ เป็นกระแสลมที่ลงมาในแนวดิ่งพร้อมน้ำฝน หรือ downdraft ซึ่งเกี่ยวข้องกับพายุฝนฟ้าคะนองที่สามารถทำให้เกิดความเสียหายรุนแรง โดยเหตุการณ์ฝนตกหนักเป็นผลมากจากพายุลูกใหญ่ เช่น เฮอริเคน และส่งผลเฉพาะพื้นที่บางจุด
สิ่งที่น่าสังเกตจากคำจำกัดความของ Rain bomb คือ เป็นฝนตกหนักที่มาพร้อม ‘ลมแรง’
ปรากฏการณ์นี้ ที่จริงคือ Cloudburst
ดร.บัญชา อธิบายว่า ปรากฏการณ์ฝนที่ตกหนักมากซึ่งอาจมีลูกเห็บหรือฟ้าผ่าร่วมด้วย และมีอัตราการตกของฝนในปริมาณสูงในช่วงเวลาสั้นๆสามารถทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันได้ ในทางวิชาการเรียกว่า ‘Cloudburst’ (คลาวด์เบิสต์)
ไม่ใช่เพียงแค่สื่อไทยเท่านั้นที่ใช้คำว่า Rain bomb ในสื่อต่างประเทศมีการใช้คำนี้เช่นกัน เช่น สหรัฐอเมริกา และในบางประเทศอย่างอิตาลี ฝรั่งเศสและสหราชอาณาจักร ใช้คำว่า ‘water bomb’ จนมีการทำการศึกษาเรื่องนี้ ในหัวข้อ ‘Cloudburst, weather bomb or water bomb? A review of terminology for extreme rain events and the media effect’ ทบทวนคำศัพท์เฉพาะทางของเหตุการณ์ฝนตกหนักและผลกระทบจากสื่อ โดยเขียนว่า “คำว่า ‘cloudburst’ อยู่ในงานเขียนทางอุตุนิยมวิทยาที่มีประวัติศาสตร์มาอย่างยาวนาน และนิยามอย่างเป็นทางการโดย Woolley ปี 1946 หมายถึง ฝนที่ตกหนักมากสุดเหมือนฟ้ารั่วซึ่งตกเฉพาะจุดและปริมาณสูงมากเหมือนน้ำฝนระเบิดหรือระบายออกมาจากเมฆทั้งก้อนในคราวเดียว แม้คำว่า cloudburst ถูกใช้มากขึ้นโดยชุมชนเมืองที่มีความยืดหยุ่น แต่ไม่มีการใช้อย่างจริงจังและเหนียวแน่นเพื่ออธิบายปรากฏการณ์นี้
สำหรับประเทศไทยคำว่า Rain bomb ดูเหมือนจะถูกใช้บ่อยขึ้น แม้ในทางวิชาการไม่ใช่คำจำกัดความของปรากฏการณ์ฝนตกหนักมากที่ทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน แต่ปรากฏการณ์นี้คือสิ่งที่เกิดขึ้นจริงในประเทศไทย สร้างความเสียหายอย่างมาก และนับเป็นหนึ่งในเหตุการณ์สภาพอากาศสุดขั้ว (extreme weather) ที่นักวิชาการไทยและทั่วโลกคาดการณ์ว่าจะเกิดบ่อยขึ้น มีความรุนแรงมากขึ้น และคาดการณ์ได้ยาก จากสาเหตุสำคัญคือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) ที่มาจากฝีมือมนุษย์ ดังนั้น ทุกฝ่ายจำเป็นต้องเตรียมรับมือกับความรุนแรงที่คุกคามเราหนักขึ้น