ออก ‘สมุดปกขาว’ แก้วิกฤติเด็กเกิดน้อย-สังคมสูงวัย

8 มีนาคม 2567 - 05:40

white-book-problem-old-society-SPACEBAR-Hero.jpg
  • กระทรวง พม.ออก ‘สมุดปกขาว’ แก้วิกฤตเด็กเกิดน้อย-สังคมสูงวัยอย่างสมบูรณ์ ชู 5 นโยบายเร่งด่วนทำทันที

  • ห่วงผู้สูงอายุเพิ่มแบบสึนามิ อีก 10 ปีจะเหมือนญี่ปุ่น เป็นสังคมผู้สูงอายุขั้นสุดยอด Super-Aged Society

  • ระดมทุกภาคส่วนออกแบบนโยบาย – มาตรการ แก้ 5 กลุ่ม จ่อชง ครม. – เสนอที่ประชุม UN

วราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (รมว.พม.) เป็นประธานเปิดการประชุมเชิงปฏิบัติการ ‘พัฒนาความมั่นคงครอบครัวไทย ผ่านพ้นภัยวิกฤตประชากร’ โดยร่วมกับวิทยาลัยประชากรศาสตร์ สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โครงการจุฬาอารี และ World Bank พร้อมทั้งแถลงนโยบายการขับเคลื่อนงาน เพื่อให้สังคมตระหนักถึงประเด็นท้าทายของประชากรที่ส่งผลสำคัญต่อคุณภาพชีวิตของประชากรทุกช่วงวัยและการพัฒนาอย่างยั่งยืนของประเทศ รวมทั้งให้ทุกภาคส่วนร่วมกันออกแบบนโยบาย มาตรการ และขับเคลื่อนการพัฒนาความมั่นคงของครอบครัวไทยสู่ความมั่นคงของมนุษย์

โดย Workshop ระดมความคิดจากทุกภาคส่วนในรูปแบบ World Cafe จากกลุ่มเด็กและเยาวชน กลุ่มวัยทำงาน กลุ่มผู้สูงอายุ กลุ่มคนพิการและผู้ด้อยโอกาส และกลุ่มระบบนิเวศน์ เพื่อความมั่นคงของครอบครัว มี ผู้บริหารกระทรวง พม. และผู้บริหารกระทรวงที่เกี่ยวข้อง ผู้ทรงคุณวุฒิ ผู้เชี่ยวชาญ นักวิชาการ สถาบันการศึกษา หน่วยงานภาครัฐ ภาคธุรกิจเอกชน เครือข่าย NGOs และองค์กรประชาสังคม รวมถึงองค์การความร่วมมือระหว่างประเทศ และอินฟลู เอนเซอร์ (Influencers) เข้าร่วมงานกว่า 400 คน ณ ห้องเพลนารี ฮอลล์ 1 (Plenary Hall 1) ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ เขตคลองเตย กทม.

วราวุธ กล่าวว่า ขอบคุณนายกรัฐมนตรีได้โพสต์ในไลน์กลุ่มคณะรัฐมนตรีว่า ขอความร่วมมือทุกกระทรวงให้ส่งผู้แทน หัวหน้าส่วนราชการมาร่วมกิจกรรมในวันนี้ และต้องขอขอบคุณทุกๆ กระทรวง หัวหน้าส่วนราชการและผู้บริหาร ซึ่งก็ขออนุญาตฝาก หลังจากที่พูดคุยกันเสร็จแล้ว สิ่งที่เราได้ตกผลึกกัน เราจะนำมาทำเป็นหนังสือปกขาวและรายงานให้กับคณะรัฐมนตรี และขอผู้แทนแต่ละกระทรวงนำกลับไปประยุกต์และทำ ซึ่งต้องรีบทำ เพราะถ้าไม่รีบทำไม่ตามเดี่ยว แต่ตายหมู่

“เชื่อว่า วันนี้คงไม่มีใครไม่เคยได้ยินสังคมผู้สูงอายุ ถ้าอัตราการเกิดของไทยยังเป็นอย่างนี้อยู่ อีก 60 ปีต่อจากนี้ไป ประชากรของประเทศไทยจาก 66 ล้านคน จะเหลือ 32 ล้านคน ดังนั้น สถานการณ์ที่สำคัญที่สุดของประเทศไทย อย่าเพิ่งมองไป 50-60 ปี วันนี้เราจะมาพูดกันเอาอีก 5 ปี สิ่งที่เราสามารถแก้กัน โดยสาเหตุสังคมผู้สูงอายุเกิดขึ้นจากภาวะการเกิดน้อยลงๆ เมื่อสมัยปี 2500 อัตราการเกิดต่อสุภาพสตรี 1 คน มีลูกถึง 6 คน แต่มาวันนี้ กลายเป็น 1 คนเท่านั้น ดังนั้น อัตราการเกิดของไทย 67 ปี เปลี่ยนจาก 6 ต่อ 1 เป็น 1 ต่อ 1 ไปแล้ว ในทางกลับกัน เกิดก็น้อยแล้ว อัตราผู้สูงอายุ ปัจจุบันอายุเฉลี่ยคนไทย 76 ปี ผู้หญิงอายุเฉลี่ยดีกว่าผู้ชาย 80 ปี คน คนไทยแก่ง่ายตายยาก อายุยืนขึ้น ส่งผลให้ประชากรประเทศไทย อัตราการเกิดน้อยกว่าผู้เสียชีวิต โดยใน 4 ปีที่ผ่านมา ปี 2562-2566 คนไทยหายไป 5 แสนคน ฉะนั้น คนเกิดน้อย คนสูงอายุเพิ่มมากขึ้นๆ เรื่อยๆ วันนี้ วันนี้ประเทศไทยเป็น Aged Society หรือ สังคมสูงอายุโดยสมบูรณ์แบบ และอีกไม่นานเรากำลังจะกลายเป็น Super-Aged Society หรือเรียกว่า สังคมผู้สูงอายุขั้นสุดยอด แบบประเทศญี่ปุ่น” วราวุธกล่าว

ai-INFO.jpg

“สำหรับค่าใช้จ่ายของรัฐในการดูแลเบี้ยยังชีพของคนกลุ่มต่างๆ ปี 2566 ใช้งบประมาณ 7.7 หมื่นล้าน ใช้ในการดูแลผู้สูงอายุ 10.3 ล้านคน ซึ่งยังไม่ใช่ถ้วนหน้า ถ้าเราใช้เงินอย่างนี้ต่อไป อีก 5 ปีจากนี้ เราจะใช้ 1.2 แสนล้านบาท แต่ถ้าเปลี่ยนจากขั้นบันไดเป็นถ้วนหน้า คนละ 1,000 บาท ให้หมดทุกคน ต้องใช้เงิน 1.9 แสนล้านบาท และที่บางคนอยากเพิ่มเป็น 3,000 บาท ต้องใช้เงินเกือบ 5.6 แสนล้านบาท แต่ปัญหาเสถียรภาพของกองทุนประกันสังคมที่มีอยู่ตอนนี้ ผู้สูงอายุเพิ่มมากขึ้น คนทำงานน้อยลง ถ้าเป็นอย่างนี้ไปเรื่อยๆ อยากให้เพิ่มไปเรื่อยๆ เหลืออยู่ทางเดียวล้มละลาย พังแน่นอน ค่าใช้จ่าย วันนี้เราพูดถึงแค่ประกันสังคม ค่าใช้จ่ายในการดูแลสุขภาพ ในช่วงอายุมากขึ้นก็ต้องใช้เงินมากขึ้นในการดูแลสุขภาพ คาดว่าประชากรผู้สูงอายุจะเพิ่มเป็น 15 ล้านคนในอีก 5 ปีข้างหน้า อาจต้องใช้เงินประกันสุขภาพสูงถึง 1.6 หมื่นล้านบาท” วราวุธกล่าว

วราวุธ กล่าวอีกว่า ปัญหาเกิดจากเด็กน้อยลง ส่งผลให้แรงงานน้อยลง ซึ่งบางครั้งคุณภาพยังไม่ถึง วันนี้เด็กไทยยังต้องการศึกษาที่ดี ประเทศไทยเราต้องก้าวไปเทียบเท่าไม่ต้องไปไกลเอาแค่เพื่อนบ้านเราให้ได้มาตรฐานที่ดี นอกจากเด็กแล้ว ครอบครัวของประเทศไทย กำลังค่อยๆ หายไป ฟางเส้นสุดท้ายของสังคมไทยกำลังจะค่อยๆ หายไป ครัวเรือนที่อยู่คนเดียวเพิ่มมากขึ้นในไทย จากปี 2558 มีประมาณ 6% ที่อยู่คนเดียว วันนี้เพิ่มเป็น 21% หรือเด็กไทยที่มี 4 ล้านกว่าคน แต่ประมาณ 2 ล้านคนที่อยู่ในครอบครัวที่มีทั้งพ่อและแม่อยู่ร่วมกัน ครัวเรือนผู้สูงอายุอยู่ลำพังมีมากขึ้น หรืออยู่สังคมตายายก็เพิ่มมากขึ้น

“ประเด็นที่ท้าทาย เรามีเด็กเกิดใหม่น้อยลงทุกวัน มีประชากรผู้สูงอายุมากขึ้นมากันแบบสึนามิ สิ่งที่จะเกิดขึ้น ประเทศไทยจะก้าวข้ามกับดักเป็นประเทศรายได้ปานกลางไปได้อย่างไร มันจะยิ่งยากขึ้นไปอีก ซึ่งจะทำให้เกิดการถดถอยของเศรษฐกิจไปเรื่อยๆ และจะกระทบกันเป็นลูกโซ่ไปหมด วันนี้เราต้องมาแก้มาปรับ มาเปลี่ยนวิธีคิด เปลี่ยนวิธีทำ ถ้าเราไม่เปลี่ยนจะเปลี่ยนวิธิคิดและวิธีทำ จะเปลี่ยนอีกกี่รัฐบาล กี่นายกฯ ท่านจะได้รับผลลัพธ์ปัญหาแบบเดิมๆ และก็ตายหมู่ ดังนั้น ต้องมองว่า ประชาชนคนไทยที่มีอยู่ทุกวันนี้ทุกคนเป็นทรัพยากรมนุษย์ที่สำคัญของประเทศไทย ต้องเอ็มพาวเวอร์เขา ให้เขาเป็นกำลังในการพัฒนาสังคมได้ ต้องพึ่งพาตัวเองให้ได้ ไม่ใช่พึ่งรัฐอย่างเดียวตลอด โดยเราเปลี่ยนสังคมปัจเจกหรือสังคมโดดเดี่ยวให้เป็นสังคมที่มีความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ต่อกันเหมือนสมัยก่อน ไม่ได้บอกให้ประเทศไทยถอยหลังเข้าคลอง แต่วันนี้เรากำลังจะบอกว่า คุณต้องคิดถึงตัวเองให้น้อยลง คิดถึงสังคมและส่วนรวมมากขึ้น นอกจากสิทธิของตัวเองแล้ว คุณมีหน้าที่อะไรบ้างที่จะให้สังคมไทย เปลี่ยนความคิดจากสังคมที่แข่งขันเพื่อตัวเอง ต้องใช้แนวคิดในหลวง รัชกาลที่ 9 แนวทางเศรษฐกิจพอเพียง เป็นสังคมที่ยืนอยู่บนความพอเพียง เราต้องทำเชิงรุก วันนี้ พม.จะไม่ใช่กระทรวงสังคมสงเคราะห์อีกต่อไป เราจะทำงานเชิงรุก เราจะเอ็มพาวเวอร์ และขอความร่วมมือจากทุกๆ หน่วยงานในประเทศไทยมาช่วยกันเปลี่ยนสังคมไปด้วยกัน พร้อมๆ กับพม.เพื่อที่จะก้าวข้ามปัญหาเรื่องนี้ไปได้ ซึ่งการที่เราทำแบบเดิม อะไรก็ถ้วนหน้า ผมรับประกันเลยว่า ถังตก แต่สิ่งที่ควรให้ถ้วนหน้าคือโอกาสที่ให้คนยืนอยู่ในสังคมบนลำแข้งของตัวเอง บนความสามารถของตัวเอง” วราวุธกล่าว

วราวุธกล่าวว่า แนวทางที่สำคัญที่เราต้องเร่งทำวันนี้ เพื่อสร้างความมั่นคงให้สังคมของประเทศไทย อันดันแรกเราต้องส่งเสริมคนวัยทำงาน ทำให้สามารถตั้งตัวได้ พึ่งตนเอง เลี้ยงดูครอบครัวได้ จนเขาอยากจะมีลูกมีครอบครอบครัว ต่อมาต้องเพิ่มคุณภาพของเด็กและเยาวชน และเพิ่มพลังเอ็มพาวเวอร์ให้ผู้สูงอายุ ต้องดึงพลังเหล่านี้กลับมาใช้ใหม่โดยการพลิกวิกฤตให้เป็นโอกาส จากนั้นก็มาสร้างโอกาสและเสริมคุณค่าพัฒนาศักยภาพให้กับคนพิการทั่วประเทศ และสุดท้าย เราต้องสร้างระบบนิเวศน์ที่เอื้อต่อการที่สังคมจะซัพพอร์ตครอบครัวให้เขาเติบโตและมีความมั่นคง วันนี้ประเทศไทยต้องเปลี่ยนวิธีคิด และวิธีทำ เราต้องเปลี่ยนด้วยกันทุกประเทศ

สำหรับ 5 นโยบายต้องทำทันทีตั้งแต่วันนี้ เพื่อสร้างความมั่นคงของครอบครัวไทย ผ่านพ้นภัยวิกฤตประชากร คือ

  1. กลุ่มวัยทำงาน มุ่งเสริมพลังวัยทำงานให้สามารถตั้งตัวได้ สร้างและดูแลครอบครัวได้ และพร้อมที่จะสูงอายุอย่างมีคุณภาพในอนาคต ด้วยมาตรการสำคัญ เร่งด่วน อาทิ พัฒนาทักษะและเสริมศักยภาพ (Reskill / Upskill) กระจายงานสู่พื้นที่และชุมชน ส่งเสริมการออมภาคบังคับ และส่งเสริมสมดุลชีวิตการทำงานและครอบครัว อาทิ จัดหรือหาบริการดูแลเด็กปฐมวัย - ผู้สูงอายุช่วงกลางวัน สวัสดิการลาเพื่อดูแลบุตร ทำงานแบบยืดหยุ่นไม่จำกัดสถานที่ และส่งเสริมบทบาทชายหญิงร่วมกันดูแลครอบครัว เป็นต้น
  2. กลุ่มเด็กและเยาวชน มุ่งเพิ่มคุณภาพและผลิตภาพของเด็กและเยาวชน “เด็กน้อย แต่เปี่ยมด้วยคุณภาพ” ด้วยมาตรการสำคัญ เร่งด่วน อาทิ การส่งเสริมสถาบันครอบครัวและสถาบันการศึกษาให้เข้มแข็ง ดูแลสุขภาพกายและใจของเด็กและแม่ตั้งแต่ตั้งครรภ์ จัดตั้งศูนย์เด็กเล็กใกล้บ้าน รับเด็กอายุน้อยลง โดยชุมชนช่วยจัดการ  พัฒนาทักษะชีวิตและวิชาชีพตามวัย และใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อการเรียนรู้ตลอดชีวิต
  3. กลุ่มผู้สูงอายุ มุ่งสร้างพลังผู้สูงอายุ ผ่อนหนักให้เป็นเบา พลิกวิกฤตทางประชากรให้เป็นโอกาส ด้วยมาตรการสำคัญ เร่งด่วน อาทิ ส่งเสริมการป้องกันโรคมากกว่ารักษาโรค ส่งเสริมการจ้างงานและขยายอายุเกษียณ ส่งเสริมการมี Digital Literacy พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานการดูแลผู้สูงอายุในชุมชน และส่งเสริมสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการทำกิจกรรมและการเดินทาง
  4. กลุ่มคนพิการ มุ่งเพิ่มโอกาสและสร้างเสริมคุณค่าของคนพิการ ด้วยมาตรการสำคัญ เร่งด่วน อาทิ เพิ่มโอกาสทางการศึกษา เพิ่มการจ้างงานในทุกภาคส่วน ส่งเสริมพลังของคนพิการ ส่งเสริมการเข้าถึงสิทธิประโยชน์ต่างๆ อย่างทั่วถึง เท่าเทียม และเป็นธรรม ป้องกันการพิการแต่กำเนิดและการพิการทุกช่วงวัย ส่งเสริมการฟื้นฟูสมรรถภาพ และส่งเสริมสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการดำเนินชีวิตได้อย่างอิสระ โดยใช้หลักการ Universal Design
  5. กลุ่มระบบนิเวศเพื่อความมั่นคงของครอบครัว มุ่งสร้างระบบนิเวศ (Eco-system) ที่เหมาะสม เพื่อพัฒนาความมั่นคงของครอบครัว ด้วยมาตรการสำคัญ เร่งด่วน อาทิ ได้แก่ Family support services: ระบบสวัสดิการที่เหมาะสมและทั่วถึง การสร้างชุมชนน่าอยู่สำหรับประชากรทุกกลุ่มทุกวัย (Community for all) การสร้างบ้านสำหรับคนทุกช่วงวัย (Housing for all) ทุกกลุ่มเป้าหมาย การส่งเสริมเศรษฐกิจครัวเรือน และฟื้นฟูสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติ ด้วยการหยุดทำร้ายธรรมชาติ และส่งเสริม Green Economy

วราวุธ ยังให้สัมภาษณ์อีกว่า ผลจากการทำเวิร์คช้อปในวันนี้ กระทรวงพม.จะทำรายงานปกขาวเพื่อนำเสนอกับคณะรัฐมนตรีในต้นเดือนเมษายน ซึ่งเป็นเดือนแห่งครอบครัว และปลายเดือนในเดือนเมษายนนั้นจะนำรายงานนี้ไปนำเสนอต่อประชุมของสหประชาชาติว่าด้วยประชากรในเดือนเมษายนเพื่อบอกให้สังคมโลกได้ทราบว่าทั่วโลกที่กำลังเผชิญอยู่ในขณะนี้คือการที่มีอัตราเด็กเกิดน้อยนั้น เราได้เริ่มดำเนินอย่างไร เรามีองค์ความรู้อย่างไร และพร้อมจะที่ทำงานกับหน่วยงานทั้งในและต่างประเทศ ในการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ในการช่วยแก้ปัญหาของโลกเรา

“ขั้นตอนที่สำคัญคือการที่ทุกๆ หน่วยงานภาพราชการจะต้องเอาแนวทางนั้นไปขยายและไปทำงานในมิติของแต่ละกระทรวง ซึ่งในส่วนของกระทรวงพม. การดูแลเด็กเล็กจะทำอย่างไร การดูแลผู้สูงอายุจะทำอย่างไร การเสริมศักยภาพคนพิการจะทำอย่างไร และที่สำคัญจะทำอย่รงไรให้ครอบครัวของไทยมีความเข้มแข็ง มีความอบอุ่นขึ้น เพราะเมื่อสถาบันครอบครัวมีความเข้มแข็งขึ้นแล้ว ความอยากที่จะมีลูกและครอบครัวก็มีมากขึ้น ผมเชื่อว่าคนรุ่นใหม่ก็อยากจะมีครอบครัวและมีผู้สืบสกุลในที่สุด รวมถึงที่สำคัญนอกจากที่จะนำเสนอคณะรัฐมนตรีแล้ว ในปลายเดือนเมษายนที่ได้กล่าวในเบื้องต้น เราจะนำรายงานสมุดปกขาวนี้นำเสนอต่อที่ประชุมของสหประชาชาติ ซึ่งสมุดปกขาวจะเป็นการรวบรวมเอาความคิดของทุกคนเข้ามารวมกัน อาจเป็นแนวความคิดที่ว่า ต่อจากนี้ไปทุกกระทรวงจะต้องนำความคิดนี้ไปขยายและก็ทำออกมาเป็นนโยบายในแต่ละสายงานที่ได้ดูแลอยู่เพื่อทำให้ท้ายที่สุดแล้วสังคมไทย ที่มีองค์ประกอบหลายอย่างมากให้กลายเป็นสังคมที่น่าอยู่ ทุกๆ กระทรวงต้องไปพัฒนาในแต่ละมิติ ให้สังคมอยู่ได้ เมื่อทำเช่นนั้นแล้วทุกๆเจเนอเรชันก็จะรู้สึกมีความหวัง มีความมั่นคงว่าอยากจะมีครอบครัว และอยากจะมีลูกในที่สุด” วราวุธกล่าว

วราวุธ กล่าวว่า หลังจากการประชุมครั้งนี้ กระทรวง พม. จะดำเนินการจัดทำสมุดปกขาว “พัฒนาความมั่นคงครอบครัวไทย เพื่อเสริมสร้างความมั่นคงของมนุษย์” เสนอต่อคณะรัฐมนตรีภายในเดือนเมษายน 2567 เพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบ จากนั้นจะได้นำเสนอในการประชุมคณะกรรมาธิการประชากร และการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ สมัยที่ 57 (57th Session of Commission on Population and Development : CPD57) ณ สำนักงานใหญ่สหประชาชาติ นครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา ระหว่างวันที่ 29 เมษายน – 3 พฤษภาคม 2567

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์