ทำไม? 16 เมษายน 2568 บางบริษัทไม่ได้หยุดชดเชยวันสงกรานต์

11 เม.ย. 2568 - 02:00

  • ไขข้อสงสัย? ทำไม 16 เมษาฯ 2568 บริษัทเอกชนบางแห่ง รวมถึงธนาคารพาณิชย์ไม่ได้หยุดชดเชยสงกรานต์

  • ทั้งที่วันสงกรานต์ 13 เมษาฯ 2568 ตรงกับวันอาทิตย์

Why-on-April-16-2025-some-companies-do-not-have-a-compensatory-holiday-for-Songkran-SPACEBAR-Hero.jpg

เทศกาลสงกรานต์ ถือเป็นวันหยุดยาวที่คนไทยหลายคนรอคอย โดยจะตรงกับวันที่ 13-15 เมษายนของทุกปี หากในปีไหนวันสงกรานต์ตรงกับวันเสาร์หรืออาทิตย์ จะมีการกำหนดวันหยุดชดเชยเพิ่มให้ในวันทำการถัดไป โดยใน ปี 2568 นี้ วันสงกรานต์ ตรงวันอาทิตย์ที่ 13 เมษายน-วันอังคารที่ 15 เมษายน 2568

ทำให้หลายคนโดยเฉพาะพนักงานประจำบริษัท ห้างร้านเอกชนต่างๆ อาจเกิดความสงสัยว่า ทำไมวันพุธที่ 16 เมษายน 2568 บางบริษัทถึงไม่ได้หยุดชดเชย ทั้งที่วันที่ 13 เมษายน 2568 ซึ่งเป็นวันสงกรานต์นั้นตรงกับวันอาทิตย์ บริษัทเอกชนบางแห่งรวมถึงธนาคารกลับไม่หยุดตามไปด้วย

หน่วยงานไหนบ้างที่จะได้หยุดวันที่ 16 เมษายน 2568

หน่วยงานราชการทั้งหมดจะได้หยุดในวันที่ 16 เมษายน 2568 ขณะที่ส่วนภาคเอกชน (บางแห่ง) และธนาคารไม่หยุดตามวันดังกล่าว

ทำไมบริษัทเอกชนถึงไม่ได้หยุดวันหยุดชดเชย?

อ้างอิงตามข้อกฎหมาย เนื่องจากพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 ระบุไว้ว่า วันหยุดประเพณีตามกฎหมาย นายจ้างต้องจัดให้ลูกจ้างได้หยุดงานไม่น้อยกว่า 13 วัน (รวมวันแรงงานแห่งชาติ) ดังนั้นหมายความว่า บริษัทเอกชนสามารถจัดสรรกำหนดวันหยุดชดเชยตามประเพณีได้ตามที่เห็นสมควร โดยที่ต้องไม่น้อยกว่า 13 วันในแต่ละปี 

ขณะที่วันหยุดราชการในปี 2568 มีทั้งหมด 19 วัน ซึ่งหมายความว่า บริษัทเอกชนสามารถเลือกกำหนดวันหยุดชดเชยสงกรานต์หรือวันหยุดอื่นๆ ตามความเหมาะสม โดยไม่จำเป็นต้องตรงกับวันหยุดราชการที่กำหนดไว้ ดังนั้น บริษัทบางแห่งอาจไม่เลือกให้วันที่ 16 เมษายนเป็นวันหยุดชดเชย ซึ่ง_เป็นสิทธิ์ของนายจ้างในภาคเอกชนที่จะพิจารณาเลือกให้วันหยุดตามประเพณี_

ทำให้วันหยุดชดเชยวันสงกรานต์ ในวันที่ 16 เมษายน 2568 อาจไม่ใช่วันหยุดของบริษัทเอกชนทุกแห่ง ขึ้นอยู่กับการประกาศและนโยบายของแต่ละองค์กร และข้อกำหนดตามกฎหมายที่อนุญาตให้นายจ้างเลือกวันหยุดได้ตามความเหมาะสม แต่ต้องไม่ต่ำกว่า 13 วันตามที่กฎหมายกำหนด รวมถึงธนาคารพาณิชย์ อาจมีประกาศวันหยุดเฉพาะตามที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กำหนด แต่อาจแตกต่างจากวันหยุดราชการทั่วไปได้

นายจ้างต้องรู้! กำหนดวันหยุดยังไง ที่ไม่ขัดกับกฎหมาย

ถ้าไม่อยากทำผิดกฎหมายแรงงาน สิ่งที่นายจ้างต้องรู้และทำตาม นั่นก็คือ การกำหนดวันหยุดให้ลูกจ้างตามกฎหมาย โดยวันหยุดประจำสัปดาห์อย่างน้อย 1 วัน/สัปดาห์ วันหยุดตามประเพณีอย่างน้อย 13 วัน/ปี และหากทำงานครบปี ลูกจ้างจะได้สิทธิ์ลาพักร้อนอย่างน้อย 6 วัน/ปี

วันหยุดต้องได้หยุด...

 ตาม พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 ระบุไว้ว่า ‘วันหยุด’ หมายถึง วันที่กำหนดให้ลูกจ้างได้หยุดประจำสัปดาห์ หยุดตามประเพณี หรือหยุดพักผ่อนประจำปี และได้ระบุไว้ชัดเจนในมาตรา 28 ว่า นายจ้างจะต้องจัดให้ลูกจ้างมีวันหยุดประจำสัปดาห์ๆ หนึ่งไม่น้อยกว่า 1 วันโดยต้องมีระยะห่างกันไม่เกิน 6 วัน หรือนายจ้างและลูกจ้างอาจตกลงกันและกำหนดให้มีวันหยุดประจำสัปดาห์เป็นวันใดก็ได้

สำหรับบางงาน เช่น งานโรงแรม งานขนส่ง งานในป่า งานในที่ทุรกันดาร หรืองานอื่นๆ ตามที่กำหนดในกฎกระทรวง นายจ้างและลูกจ้างอาจตกลงกันล่วงหน้าเพื่อสะสมวันหยุดประจำสัปดาห์และเลื่อนไปหยุดเมื่อใดก็ได้ แต่ต้องอยู่ในระยะเวลา 1 เดือนหรือ 4 สัปดาห์ติดต่อกัน

วันหยุดตามประเพณี ต้องไม่น้อยกว่า 13 วัน

วันหยุดตามประเพณี นายจ้างต้องปิดประกาศให้ลูกจ้างทราบล่วงหน้าและต้องไม่น้อยกว่า 13 วัน/ปี โดยต้องนับรวมกับวันแรงงาน หรือวันที่ 1 พฤษภาคม ของทุกปี ที่ลูกจ้างจะต้องได้หยุดตามกฎหมาย (ยกเว้นข้าราชการไม่ถือว่าเป็นวันหยุด) หากนายจ้างฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามจะมีโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน ปรับไม่เกิน 1 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

นอกเหนือจากวันแรงงาน นายจ้างสามารถกำหนดวันหยุดตามประเพณีอื่นๆ ได้จากวันหยุดราชการประจำปี วันหยุดทางศาสนาหรือขนมธรรมเนียมประเพณีท้องถิ่น ยกเว้นในกรณีที่วันหยุดตามประเพณีวันใดตรงกับวันหยุดประจำสัปดาห์ของลูกจ้าง ตามกฎหมายจะกำหนดให้หยุดชดเชยในวันทำงานถัดไป ยกเว้นเสียแต่ ลูกจ้างทำงานที่มีลักษณะตามที่กำหนดในกฎกระทรวงหรือไม่อาจให้หยุดตามประเพณีได้ ให้นายจ้างตกลงกับลูกจ้างว่า จะหยุดในวันอื่นเพื่อชดเชยหรือจะจ่ายค่าทำงานในวันหยุดให้ลูกจ้างก็ได้เช่นกัน

สำหรับ วันหยุดตามประเพณี บางบริษัทอาจมีมากกว่า 13 วัน และอาจไม่ได้หยุดตามปฏิทิน ขึ้นอยู่กับข้อตกลงระหว่างนายจ้างกับลูกจ้าง เช่น กรณีที่วันสงกรานต์ตรงกับวันเสาร์อาทิตย์ ซึ่งปกติจะต้องหยุดชดเชยในวันทำงานเพิ่มอีก 2 วัน แต่บางบริษัทอาจชดเชยให้หยุดเพียงวันเดียว ไม่ถือว่าผิดกฎหมายแต่อย่างใด

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์