‘วันอุตุนิยมวิทยาโลก’ กับ ‘กรมอุตุนิยมวิทยา’ พร้อมแค่ไหน ในการเป็นแนวหน้าต่อสู้ภาวะโลกเดือด

23 มีนาคม 2567 - 02:00

World-meteorological-day-2024-at-the-frontline-of-climate-action-SPACEBAR-Hero.jpg
  • 23 มีนาคม ‘วันอุตุนิยมวิทยาโลก’ กระตุ้นหน่วยงานอุตุนิยมวิทยาทั่วโลก ทำงานเชิงรุกในการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและลดความรุนแรงของผลกระทบ

  • กรมอุตุนิยมวิทยากำลังเผชิญกับความท้าทาย ทั้งการพัฒนาเทคโนโลยีในการเก็บและวิเคราะห์ข้อมูล และระบบให้ข้อมูลประชาชนที่ทันสมัย การพัฒนานักวิชาการให้เชี่ยวชาญ และเพิ่มปริมาณให้เพียงพอต่อการทำงานที่กว้างขึ้นนอกจากงานพยากรณ์อากาศ โดยมีข้อจำกัดคือ ‘งบประมาณ’

ฝนตกหนักกว่าที่คาด น้ำท่วมหนักแบบไม่ทันตั้งตัว พายุเข้า ฝนไม่ตก น้ำไม่พอ อากาศร้อนเกิน และผลกระทบที่ตามมาอีกมากมาย ล้วนมาจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ที่เป็นภัยคุกคามของจริง และไม่สามารถปฏิเสธได้

นับจากนี้เราอาจจะได้รับผลกระทบที่ทำให้เกิดหายนะอย่างใหญ่หลวงถ้าไม่ลงมือปฏิบัติการเชิงรุก และมีแนวโน้มว่าจะเกิดสภาพอากาศรุนแรงอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน

23 มีนาคม เป็นวันอุตุนิยมวิทยาโลก ปี 2024 จึงมาในธีม “At the Frontline of Climate Action” การเป็นแนวหน้าปฏิบัติการด้านภูมิอากาศ องค์การอุตุนิยมวิทยาโลก เป็นผู้รับผิดชอบหลักในปฏิบัติการด้านสภาพภูมิอากาศ ตาม ‘เป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน’ ของสหประชาชาติ โดยมุ่งต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและผลกระทบที่เกิดขึ้นอย่างเร่งด่วน ซึ่งเป็นภารกิจร่วมกับหน่วยงานอุตุนิยมวิทยาทั่วโลก

แล้วประเทศไทยล่ะ กรมอุตุนิยมวิทยามีความพร้อมแค่ไหนกับการเป็นแนวหน้าปฏิบัติการด้านภูมิอากาศ

เดิมคนไทยคุ้นเคยกับการทำงานของกรมอุตุนิยมวิทยาในการพยากรณ์อากาศประจำวัน รายสัปดาห์หรือรายฤดู เมื่อจะเปลี่ยนฤดู ก็เป็นหน้าที่ของกรมอุตุนิยมวิทยาในการประกาศเข้าสู่ฤดูใหม่ๆของประเทศไทย แต่ ‘การพยากรณ์อากาศ’ ไม่ได้เป็นภารกิจเดียวของกรมอุตุนิยมวิทยาอีกต่อไป (ซึ่งทำงานเกี่ยวกับอากาศและภูมิอากาศในเชิงวิชาการมาสักพักแล้ว)

วันนี้ผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศรุนแรงเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ บนเวทีเสวนาพิเศษ หัวข้อ “At The Frontline of climate action : การขับเคลื่อนภารกิจเพื่อต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศสู่ความยั่งยืน” เนื่องในวันอุตุนิยมวิทยาโลก นางสาวกรรวี สิทธิชีวภาค อธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยา และนายฐนโรจน์ วรรัฐประเสริฐ ผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการน้ำแห่งชาติ สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ ได้เสนอแนวความคิดในการทำงานเชิงรุกต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ทั้งในแง่การคาดการณ์อากาศ การเตือนภัย การรับมือ เพื่อลดความรุนแรงของผลกระทบที่จะเกิดขึ้น

World-meteorological-day-2024-at-the-frontline-of-climate-action-SPACEBAR-Photo01.jpg
Photo: เสวนาพิเศษ หัวข้อ “At The Frontline of climate action : การขับเคลื่อนภารกิจเพื่อต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศสู่ความยั่งยืน”

นางสาวกรรวี สิทธิชีวภาค อธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยา กล่าวว่า “การสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศมีมานาน 10-20 ปีแล้ว ณ เวลานั้นยังไม่มีความชัดเจน แต่ปัจจุบันนี้จากสภาพอากาศที่เกิดขึ้นมีความรุนแรง ซึ่งเป็นสิ่งที่เราเรียกว่า ‘ที่สุด’ ทั้งฝนตกหนักมากที่สุด ร้อนที่สุด หนาวที่สุด เริ่มมีความชัดเจนใกล้กับชีวิตเรามากขึ้นซึ่งเกิดขึ้นทั่วโลก สำหรับประเทศไทยมีนโยบายที่เรียกว่า ‘แผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ’ มีเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ส่วนกรมอุตุนิยมวิทยามีการวางแผนด้านนี้ จากเดิมมีภารกิจงานเรื่องของภูมิอากาศอยู่แล้ว มีการพยากรณ์ระยะนาน ติดตามสภาพภูมิอากาศ ติดตามความแปรปรวนสภาพภูมิกาศ และปรากฏการณ์ทางธรรมชาติ ในอนาคตกรมฯต้องมีการทำงานมากกว่าเดิม และสร้างความตระหนักรู้กับประชาชนในการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ”

ความท้าทายในการทำงานของกรมอุตุนิยมวิทยา

“เราให้บริการด้านภูมิอากาศเพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปทำงานเพื่อลดผลกระทบจากสภาพอากาศที่แปรปรวน เรามีข้อมูลที่หลากหลาย เพื่อให้เหมาะกับกลุ่มผู้ใช้ เช่น เรื่องการปลูกข้าว อุตสาหกรรม การวางผังเมือง สิ่งต่างๆเหล่านี้ลำพังเราทำงานคนเดียวไม่ได้ เรารู้ข้อมูลแต่ทำอย่างไรให้ข้อมูลเข้าถึงกลุ่มผู้นำข้อมูลไปใช้ เพราะฉะนั้นการทำงานร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเป็นสิ่งสำคัญ

World-meteorological-day-2024-at-the-frontline-of-climate-action-SPACEBAR-Photo04.jpg
Photo: กรรวี สิทธิชีวภาค อธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยา

“ความท้าทายอย่างหนึ่งคือ การเข้าไปให้ข้อคิดเห็นว่าควรจะทำอะไรแบบไหนในการวางแผนกับหน่วยงานต่างๆ นอกเหนือจากเดิมที่รู้แต่สภาพอากาศ แต่ต้องรู้ลึกในงานที่จะเราจะนำไปหาเขาด้วย เราต้องมองกว้างขึ้น ต้องรู้บริบทที่เกี่ยวข้อง”

กรรวี สิทธิชีวภาค อธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยา

นอกจากนี้นักวิชาการต้องเท่าทันกับข้อมูลเรื่องสภาพอากาศที่แปรปรวน เราต้องสร้างความเชี่ยวชาญให้กับเจ้าหน้าที่ให้มากขึ้นด้วย แต่ตอนนี้มีข้อจำกัดของบุคลากรของกรมฯ งานภูมิอากาศตอนนี้มีความหลากหลาย เรามองว่าในอนาคตต้องสร้างกลุ่มงานภูมิอากาศให้เข้มแข็งมากขึ้นกว่าปัจจุบัน เพราะปัจจุบันมีคนจำกัดไม่กี่คน ทำงานหลายด้าน ถ้านโยบายรัฐบาลให้เราสร้างความเข้มแข็ง ต้องเพิ่มบุคลากรเข้ามาด้วย เพราะเราต้องไปขยายต่อ”

“เครื่องมือก็เป็นปัจจัยสำคัญ เพราะข้อมูลเกี่ยวกับภูมิอากาศมีมหาศาลมากกว่าข้อมูลเกี่ยวกับอากาศระยะสั้น ซึ่งข้อมูลภูมิอากาศเป็นข้อมูลระยะยาวมากกว่า 30 ปี นำมาประมวลเพื่อวิเคราะห์ วิจัย ดังนั้นเครื่องมือต้องทันสมัย”

นอกจากนี้อธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยา ยังเสนอว่าในอนาคตน่าจะขอความร่วมมือกับหน่วยงานนานาชาติที่มีข้อมูลใหม่ตลอด อย่าง ECMWF เพื่อนำไปใช้ในการพยากรณ์เชิงพื้นที่ในประเทศไทย เพราะเทคโนโลยีก้าวกระโดดอยู่ตลอด

สำหรับศูนย์อำนวยการน้ำแห่งชาติ ได้กำหนดแผนยุทธศาสตร์น้ำ ตั้งแต่ปี 2561-2580 โดยปรับแผนใหม่ผนวกเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศด้วย รวมถึงพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อวิเคราะห์ข้อมูลและแจ้งเตือนล่วงหน้า

“ใน 20 ปีข้างหน้าเราจะสามารถแก้ไขปัญหาน้ำท่วม น้ำแล้งหรือคุณภาพน้ำได้ แต่กับดักสำคัญของเราก็คือ ประเทศไทยไม่มีงบประมาณมากพอที่จะลงทุนในคราวเดียวกัน เพราะฉะนั้นต้องทยอย แต่การทยอยเป็นปัญหาว่าจะแก้ไม่ได้ ทั้งแล้ง และน้ำยังท่วมอยู่”

ฐนโรจน์ วรรัฐประเสริฐ ผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการน้ำแห่งชาติ

ทำไมพยากรณ์อากาศในไทยไม่ค่อยแม่นยำ

“ประเทศไทยตั้งอยู่ในบริเวณใกล้เส้นศูนย์สูตร สภาพอากาศมีความแปรปรวนมากทำให้พยากรณ์ยาก แต่คนทั่วไปไม่เข้าใจ เราก็ทำทุกวิถีทางในการพัฒนาให้การพยากรณ์อากาศแม่นยำมากขึ้น ซึ่งแต่ละประเทศในการพยากรณ์อากาศระยะสั้นมีเทคโนโลยีมาช่วย สำหรับระยะ 3 ชั่วโมงตอนนี้สามารถทำได้ ด้วยเครื่องมือที่มีอยู่มาประมวลซึ่งทำได้ดีกว่าที่ผ่านมา ส่วนการคาดการณ์ที่เป็นสภาพอากาศขั้นสุด มันยากอยู่ที่จะพยากรณ์ว่าจะเกิดขึ้นเมื่อไหร่ในการพยากรณ์ระยะนาน ซึ่งใช้ในการวางแผน

สำหรับระยะ 24 ชั่วโมง เรามีแผนที่จะนำเทคโนโลยีมาใช้ โดยปี 2568 ของบประมาณในการปรับปรุงการพยากรณ์อากาศ 24 – 72 ชั่วโมง ให้มีความแม่นยำมากขึ้น และมีแผนที่จะพัฒนาแอปพลิเคชันให้ประชาชนเข้าถึงข้อมูลสามารถตรวจสอบได้ว่าในพื้นที่ของเขาสภาพอากาศจะเป็นอย่างไร รวมไปถึงข้อมูลเกี่ยวกับปรากฏการณ์ทางธรรมชาติด้านสภาพอากาศ ขอให้สอบถามกับกรมอุตุนิยมวิทยา ซึ่งมีนักวิชาการรับผิดชอบในการติดตามข้อมูลเหล่านี้”

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์