สว่างไสวงามไปทั้งเมือง ‘ต๋ามผางปะตี๊ด ส่องฟ้า ฮักษาเมือง’

15 พ.ย. 2567 - 02:00

  • ชาวเชียงใหม่ชวนเที่ยวงาน ‘ต๋ามผางปะตี๊ด ส่องฟ้า ฮักษาเมือง’

  • หวังใช้งานลอยกระทงล้านนาดึงนักท่องเที่ยวในช่วงไฮซีซันฤดูหนาว

  • หนุนประเพณีจุดผางปะติ๊ด แทนการลอยโคมซึ่งเสี่ยงเกิดอัคคีภัย

Yi_Peng_tradition_Loy_Krathong_Festival_Chiang_Mai_SPACEBAR_Hero_17ab3e5323.jpg

งานประเพณียี่เป็งเชียงใหม่ หรือเทศกาลลอยกระทง ถือเป็นกิจกรรมที่ทางภาคการท่องเที่ยวของจังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งทุกฝ่ายคาดหวังว่า จะใช้เป็นงานที่ประกาศและสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักท่องเที่ยวว่าเมืองเชียงใหม่ พร้อมต้อนรับนักท่องเที่ยวแล้ว หลังจากที่เผชิญกับเหตุการณ์น้ำท่วมหนักเมื่อเดือนตุลาคมที่ผ่านมา

โดยกิจกรรมที่จะจัดขึ้นส่งท้ายในปีนี้ก็คือ ‘ต๋ามผางปะตี๊ด ส่องฟ้า ฮักษาเมือง’ เพื่อเป็นการส่งเสริมการจุด ผางประทีป หรือ ผางปะตี๊ด ในภาษาเหนือ แทนการปล่อยโคมลอยในตัวเมืองเชียงใหม่ เพื่อสืบสานประเพณีชาวล้านนาและส่งเสริมการสร้างความร่วมมือร่วมใจกัน ภายใต้แนวคิด “ล้านนาบูชาและแสงไฟ” เพื่อใช้เทศกาลยี่เป็งเป็นโอกาสสำคัญในการฟื้นฟูเมืองเพื่อการเริ่มต้นใหม่ของชาวล้านนาภายหลังอุทกภัย

ภายในกิจกรรมได้นำช่างรำ อายุตั้งแต่ 4 ขวบ ถึง 80 ปี รวมกว่า 728 คน ซึ่งเท่าอายุเมืองเชียงใหม่ ทำการแสดงฟ้อนเทียนบูชาเมือง และมีขบวนแห่แบบล้านนาจากท่าแพ เข้าสู่ถนนราชดำเนิน - ถนนพระปกเกล้า และเข้าสู่บริเวณลานพระบรมราชานุสาวรีย์สามกษัตริย์ รวมถึงกิจกรรมสาธิตการยอดผางประทีป การทำโคมจิ๋ว เก้าผมเหน็บดอกไม้แบบพื้นเมือง ซึ่งได้รับความสนใจจากนักท่องเที่ยวเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะชาวต่างชาติ

อีกหนึ่งไฮไลท์ที่ได้รับความสนใจไม่แพ้กันก็คือ การจุดผางประทีป บริเวณกำแพงเมืองรอบคูเมืองเชียงใหม่ ทั้ง 4 มุมเมือง และ 5 ประตูเมืองนับแสนดวง ตลอดช่วงประเพณียี่เป็งในปีนี้ 

ส่วนบรรยากาศทั้ง 4 แจ่งรอบคูเมืองเชียงใหม่หลังจากได้จุดผางประทีปแล้ว มีประชาชนชาวเชียงใหม่ นักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ พากันถ่ายรูปคู่กับแจ่งกำแพงเมืองเชียงใหม่ที่ถูกประดับไปด้วยผางประทีปที่สว่างไสวอย่างสวยงาม

Yi_Peng_tradition_Loy_Krathong_Festival_Chiang_Mai_SPACEBAR_Photo01_f6b2c2eeb7.jpg
Yi_Peng_tradition_Loy_Krathong_Festival_Chiang_Mai_SPACEBAR_Photo02_037ac6600e.jpg
Yi_Peng_tradition_Loy_Krathong_Festival_Chiang_Mai_SPACEBAR_Photo03_7e3459461a.jpg
Yi_Peng_tradition_Loy_Krathong_Festival_Chiang_Mai_SPACEBAR_Photo04_b44973a5bc.jpg

เสาวคนธ์ ศรีบุญเรือง เครือข่ายชุมชนเมืองรักษ์เชียงใหม่  เปิดเผยว่า เครือข่ายชุมชนเมืองรักษ์เชียงใหม่ และทุกภาคส่วนร่วมแรงร่วมใจทำ ผางปะตี๊ด หรือผางประทีป นับแสนดวง เตรียมพร้อมกิจกรรม ‘ต๋ามผางปะตี๊ด ส่องฟ้า ฮักษาเมือง’  ปีที่ 13 มีพิธีเทศน์อานิสงส์ผางปะตี๊ด เพราะการจะจุดในช่วงเทศกาล จะต้องทำพิธีตามประเพณีแบบล้านนาก่อน จากนั้นจะร่วมกันจุดผางปะตี๊ดบนลานอนุสาวรีย์สามกษัตริย์ ต่อด้วยพิธีฟ้อนเทียนเป็นการบูชาเมืองและจุดผางประทีปขนาดใหญ่อีกกว่า 1 แสนดวง เพื่อใช้สำหรับจุดรอบคูเมืองเชียงใหม่ทั้ง 4 ด้านตลอดช่วงเทศกาล 

“อยากจะขอณรงค์ให้ประชาชนและนักท่องเที่ยว ร่วมกันแต่งกายแบบล้านนา ตามคอนเซ็ป ‘ใหม่ก็เอา เก่าบะละ’ ซึ่งเป็นประเพณีแบบล้านนาดั้งเดิม ที่ยังคงทำ แต่ปรับให้สอดคล้องกับการท่องเที่ยวในปัจจุบัน”

“ส่วนของการจุดผางปะติ๊ด หรือผางประทีป ในงานประเพณีเดือนยี่เป็งนั้น ตามตำนานเล่าว่า แม่กาเผือกได้ออกไข่มา 5 ฟอง เมื่อไข่ฟักออกมาแม่กาก็เสียชีวิตไป ไข่ทั้ง 5 ฟองเป็นพระพุทธเจ้า 5 พระองค์ องค์ที่ 4 คือ องค์พระศรีอริยเมตไตรย และองค์ที่ 5 คือพระพุทธเจ้าองค์ต่อไป การทำผางปะติ๊ด จึงทำไส้เทียนเป็นรูปตีนกา เพื่อรำลึกถึงพระคุณของแม่กาขาวและบูชาพระพุทธคุณ บูชาแม่พระคงคา และสืบสานประเพณีอันดีงามของล้านนา”

เสาวคนธ์ กล่าวอีกว่า การจุดผางปะติ๊ด หรือผางประทีป ได้ถูกบรรจุอยู่ในปฏิทินการท่องเที่ยวของสำนักงาน ททท.เชียงใหม่ เป็นที่เรียบร้อยแล้ว ซึ่งในปีนี้พบว่าจะมีทั้งนักท่องเที่ยวชาวไทยและชาวต่างชาติ เดินทางเข้าพื้นที่จำนวนมาก และทราบว่าบางคนได้ซื้อทัวร์ราคา 6,000 - 7,000 บาท เพื่อมาร่วมในงานนี้โดยเฉพาะ

“การจุดผางปะติ๊ด เป็นสิ่งที่ดี เพราะจะได้บูชาเมือง จุดเพื่อสืบสานประเพณีวัฒนธรรม และเหมือนกับการต่อดวงชีวิตให้สว่างไสวเหมือนดวงประทีป ซึ่งเป็นประเพณีที่สวยงาม ดีกว่าการปล่อยโคมไฟ ที่ชาวเชียงใหม่ต้องหวาดผวา โคมไฟไม่มีเสียงเตือน เวลาตกมาก็ไม่รู้จะตกตรงไหน ชาวบ้านในเชียงใหม่ต้องหวาดกลัวว่าจะตกมาที่บ้านตัวเองหรือไม่”

“หากโคมลอยร่วงตกลงมาช่วงเวลา ตี1 ตี2 หรือช่วงที่ชาวบ้านนอนหลับไปแล้ว ก็เป็นอันตรายอย่างมากที่จะเกิดไฟไหม้ ปัจจุบันนักท่องเที่ยวยังไม่ทราบ ก็อยากให้ช่วยกันรณรงค์งดการปล่อยโคม หันมาจุดผางปะติ๊ดหรือผางประทีป ที่สวยงาม และปลอดภัยมากกว่า”

Yi_Peng_tradition_Loy_Krathong_Festival_Chiang_Mai_SPACEBAR_Photo05_683d4783cd.jpg
Yi_Peng_tradition_Loy_Krathong_Festival_Chiang_Mai_SPACEBAR_Photo06_3903103595.jpg
Yi_Peng_tradition_Loy_Krathong_Festival_Chiang_Mai_SPACEBAR_Photo09_9a85a44f63.jpg
Yi_Peng_tradition_Loy_Krathong_Festival_Chiang_Mai_SPACEBAR_Photo07_26a6ecc02c.jpg
Yi_Peng_tradition_Loy_Krathong_Festival_Chiang_Mai_SPACEBAR_Photo08_7fcc8f02ea.jpg

ในส่วนของเทศบาลนครเชียงใหม่ จัดงานภายใต้แนวคิด “มนต์เสน่ห์แม่ระมิงค์ แสงศิลป์ถิ่นวัฒนธรรม” ระหว่างวันที่ 14-17 พฤศจิกายน 2567 เพื่อสืบสานวัฒนธรรมล้านนาอันทรงคุณค่า กระตุ้นเศรษฐกิจและฟื้นฟูการท่องเที่ยวของเมืองหลังจากผ่านพ้นวิกฤตการณ์น้ำท่วม 

โดยบูรณาการการรักษาความปลอดภัยในพื้นที่ครอบคลุมทุกมิติ เพื่อให้นักท่องเที่ยวและประชาชนได้สัมผัสกับความงดงามของวัฒนธรรมล้านนาอันงดงามและทรงคุณค่า รักษาจารีตประเพณีที่ปฏิบัติสืบต่อกันมาอย่างยาวนาน

กิจกรรมสำคัญในปีนี้ยังคงเป็นการประกวดกระทงใหญ่ชิงถ้วยพระราชทานพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว การประกวดขบวนแห่สะเปาล้านนา การแสดงแสง สี เสียง และสื่อผสมกลางลำน้ำปิง การแสดงพลุเฉลิมพระเกียรติ การประกวดเทพี-เทพบุตรยี่เป็งเชียงใหม่ และการตกแต่งเมืองเชียงใหม่ให้งดงามด้วยแสงไฟในยามราตรี

Yi_Peng_tradition_Loy_Krathong_Festival_Chiang_Mai_SPACEBAR_Photo10_5c8cc44918.jpg

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์