เป็นเรื่องถกเถียงกันพอสมควรตั้งแต่ช่วงวันสองวันที่ผ่านมาสำหรับประเด็นศึกฟุตบอล 7 สี หนึ่งในรายการแข่งขันฟุตบอลนักเรียนที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในประเทศไทย จากการที่โรงเรียนภัทรบพิตร คว้าแชมป์ไปครองด้วยการไล่ถล่ม โรงเรียนราชวินิต บางแก้ว ไปแบบขาดลอย 7-1 โดยหัวข้อดราม่าสำคัญอยู่ที่การออกมาวิพากษ์วิจารณ์ของ อาจารย์สกล เกลี้ยงประเสริฐ โค้ชของโรงเรียนหมอนทองวิทยา และเคยเป็นอดีตโค้ชโรงเรียนสุรศักดิ์มนตรี ที่มีความคิดเห็นว่าควรมีการปรับปรุงกฎการแข่งขันใหม่ เพราะในอดีตนี่คือการแข่งขันเพื่อเฟ้นหาดาวรุ่งไปสู่ฟุตบอลระดับอาชีพหรือไปสู่ทีมชาติไทย แต่วันนี้กลับกลายเป็นฟุตบอลที่นำนักเตะที่เป็นเยาวชนทีมชาติอยู่แล้วมาแข่งขันเพื่อเป็นแชมป์รายการนี้
หลังจากมีการออกมาโพสต์เรื่องดังกล่าว ทางด้าน ‘หนุน’ ชนน์ชนก ชิดชอบ ผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนาเยาวชนสโมสรบุรีรัมย์ ยูไนเต็ด ซึ่งทางนักฟุตบอลของโรงเรียนภัทรบพิตรคือชุดอะคาเดมีของ บุรีรัมย์ ยูไนเต็ด ก็ได้ออกมาชี้แจงผ่านโซเชียลมีเดียว่าอยากให้มองว่านี่คือการ ‘ยกระดับ’ เพื่อที่จะทำให้เราได้เห็นว่าดาวรุ่งเหล่านี้มีศักยภาพที่ดีพอจะมาเล่นให้ทีมชาติไทย แล้วถ้านักฟุตบอลที่ลงแข่งรายการนี้มีเป้าหมายคืออยากพัฒนาเป็น ‘นักฟุตบอลอาชีพ’ หรือติดทีมชาติจริงๆ พวกเขาควรได้รู้ว่าระดับที่พวกเขาต้องเจอเป็นแบบไหน เพื่อจะได้รู้ว่าควรพัฒนาอะไร และต้องทำอย่างไรบ้างเพื่อไปให้ถึงฝันของตัวเอง เกี่ยวกับเรื่องนี้เหล่าแฟนบอลก็ได้ให้ความเห็นกันไปในทางที่หลากหลาย ทั้งฝ่ายที่เห็นด้วยกับ อ.สกล และฝ่ายที่เห็นด้วยกับชนน์ชนก
เยาวชนทีมชาติไม่ใช่เรื่องใหม่ในบอล 7 สี
ต้องบอกว่าการมีนักฟุตบอลระดับเยาวชนทีมชาติเข้าร่วมแข่งขันไม่ใช่เรื่องแปลกใหม่สำหรับฟุตบอล 7 สี เพราะในอดีตที่ผ่านมาอย่างเมื่อปี 2562 ทางโรงเรียนท่าข้ามพิทยาคม โรงเรียนเครือข่ายของสโมสรชลบุรี เอฟซี ก็เคยส่งนักฟุตบอลระดับเยาวชนทีมชาติลงแข่งขันรายการนี้มาแล้ว ไม่ว่าจะเป็น ชาญณรงค์ พรมศรีแก้ว, ฉัตรมงคล เรืองฐณโรจน์, วรากร ทองใบ หรือ จักรพงษ์ แสนมะฮุง ก็เคยติดทีมชาติไทยชุดเยาวชนมาแล้ว ในปัจจุบันแต่ละคนก็ได้สัมผัสฟุตบอลอาชีพระดับไทยลีกกันเกือบหมด นอกจากนี้ ชาญณรงค์ พรมศรีแก้ว และ ฉัตรมงคล เรืองฐณโรจน์ ก็ติดทีมชาติไทยชุดใหญ่ไปแล้วเรียบร้อย
ทัวร์นาเมนต์ฟุตบอลนักเรียนญี่ปุ่นก็มีเยาวชนทีมชาติ
เช่นเดียวกับการแข่งขัน All Japan High School Soccer Tournament การแข่งขันฟุตบอล 11 คนในระดับมัธยมของประเทศญี่ปุ่น หนึ่งในการแข่งขันกีฬานักเรียนที่ได้รับความนิยมมากที่สุดของแดนอาทิตย์อุทัย จัดโดยสมาคมฟุตบอลญี่ปุ่น ก็เต็มไปด้วยเยาวชนทีมชาติญี่ปุ่นลงแข่งขันในแต่ละปีเช่นกัน ยกตัวอย่างเช่น กาคุ นาวาตะ หนึ่งในรองดาวซัลโวเมื่อปี 2023 ก็ติดทีมชาติญี่ปุ่นชุด U17 มาแล้วตั้งแต่ปี 2022 และล่าสุดเมื่อปีที่แล้วก่อนเริ่มทัวร์นาเมนต์ฟุตบอลนักเรียนเขาก็มาแข่งฟุตบอลเอเชียนคัพ U17 ที่ประเทศไทยมาแล้ว แถมยังพาทีมคว้าแชมป์โดยเป็นทั้งดาวซัลโวและ MVP ของรายการด้วย หลังจากนั้นก็ไปแข่งฟุตบอลโลก U17 ที่ประเทศอินโดนีเซียต่อ ดังนั้นนี่อาจไม่ใช่เรื่องแปลกอะไรถ้าจะมีเยาวชนทีมชาติอยู่ในรายการฟุตบอลนักเรียน เพราะระดับประเทศที่เข้มข้นในเอเชียอย่างญี่ปุ่นก็เคยกรณีนี้เช่นเดียวกัน
ท้ายที่สุดคำถามที่ว่าสมควรหรือไม่สมควร กรณีเบื้องต้นเช่นตัวอย่างที่เรายกมาอาจจะตอบได้ในระดับหนึ่ง นอกเหนือจากนี้อาจจะต้องอยู่ที่ทางผู้จัดการแข่งขันว่าจะกำหนดกฎกติกาอย่างไร ถ้าเจ้าของรายการคือช่อง 7HD ไม่ได้กำหนดว่าห้ามมีนักฟุตบอลที่เคยสัมผัสระดับอาชีพหรือติดทีมชาติมาแล้วลงแข่งก็ว่าอะไรไม่ได้ ดังนั้นโรงเรียนอื่นๆ อาจจะต้องพัฒนาตามโรงเรียนที่มีนักเตะระดับนี้ให้ทัน ทั้งในแง่ความเป็นมืออาชีพ ระเบียบวินัยต่างๆ หากอยากจะก้าวไปสู่ระดับหรือความฝันที่พวกเขาตั้งเป้าไว้ว่าจะไปให้ถึง สำคัญที่สุดคือประเทศเราควรมีเวทีแข่งขันระดับนี้ให้มากกว่าเดิมและยิ่งใหญ่กว่านี้โดยไม่ต้องพึ่งพาภาคเอกชน อาจจะต้องเป็นทางฝ่ายที่เกี่ยวข้องอย่างสมาคมกีฬาฟุตบอลแห่งประเทศไทยที่ควรหันมาให้ความสำคัญกับรายการในระดับนี้อย่างที่สมาคมฟุตบอลญี่ปุ่นทำ เพื่อที่ทั้งระบบจะได้พัฒนาไปพร้อมๆ กันและไปได้ไกลกว่าเดิม