'ไทยลีก' ลีกอันดับหนึ่งอาเซียน กับมาตรฐาน 'ช้างศึก' ที่สวนทาง

16 พ.ย. 2565 - 07:23

  • รู้หรือไม่ ? หากย้อนดูทำเนียบดาวซัลโวไทยลีกในรอบ 10 ปีหลังสุด มีเพียง ธีรศิลป์ แดงดา คนเดียวเท่านั้น ที่ติดโผเข้ามาในปี 2012

  • จำนวนเงิน 12 ล้านบาทในเกมระหว่าง บุรีรัมย์ ยูไนเต็ด พบกับ เมืองทอง ยูไนเต็ด คือ รายได้ที่เกิดขึ้นจากการขายตั๋วเข้าชมและสินค้าที่ระลึกจากเกมการแข่งขันแมตช์นี้ บ่งบอกถึงกระแสความยอดนิยมของไทยลีกได้เป็นอย่างดี

Football-Thaileague-rise-Up-Thaination-rise-down-Main
https://images.ctfassets.net/i3o8p9lzd06f/6JdVrUGWpFav0mOkdQraVk/b5fe36b917173b65c350d2dd19d013fd/Football-Thaileague-rise-Up-Thaination-rise-down-Main
ครั้งหนึ่งในยุคที่ฟุตบอลลีกไทยตกต่ำสุดขีดถึงขั้นที่นักเตะมากกว่าคนดู และต้องใช้การแสดงตลกดึงผู้ชมเข้าสนาม มีคำกล่าวที่ว่า "หากฟุตบอลลีกดี ผลงานทีมชาติจะดีตาม" ทว่ามาในยุคปัจจุบัน ศึกฟุตบอล "ไฮลักซ์ รีโว่ ไทยลีก" ได้ชื่อว่าเป็นลีกเบอร์หนึ่งของอาเซียน แต่สิ่งที่สวนทางกันคือผลงานของทีมชาติไทย ยังไม่สามารถก้าวผ่านระดับเอเชียได้เสียที 
https://images.ctfassets.net/i3o8p9lzd06f/15DsrC4r38P5Hwy6caKZOy/286bb591956ea88a325170fda6cd9407/Football-Thaileague-rise-Up-Thaination-rise-down-01
ทีมชาติไทยไล่หลังเวียดนาม 

แม้ทีมชาติไทยภายใต้การบริหารของผู้จัดการทีม "มาดามแป้ง" นวลพรรณ ล่ำซำ และกุนซือชาวเยอรมันเชื้อสายบราซิล "มาโน่ โพลกิ้ง" จะกลับมาทวงแชมป์ฟุตบอลแห่งภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ได้สำเร็จในการแข่งขัน เอเอฟเอฟ ซูซูกิ คัพ ครั้งที่ 13 เมื่อต้นปี 2022 ที่ผ่านมา แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าแรงศรัทธาและกระแสของแฟนบอลไทย ยังคงตั้งเป้าไว้ที่การแข่งขันระดับเอเชีย และฟุตบอลโลก 
 
ทีมชาติไทยเคยผูกขาดความสำเร็จเหนือทุกชาติในย่านเอเซียนทั้งบอลซีเกมส์ เอเอฟเอฟ ซูซูกิ คัพ จนทำให้แฟนบอลวาดหวังไปที่ความสำเร็จในระดับสูงขึ้น ทว่าในการแข่งขันฟุตบอลโลก 2022 โซนเอเชีย รอบคัดเลือก ทัพ "ช้างศึก" กลับทำผลงานได้น่าผิดหวัง ตกรอบคัดเลือกรอบ 2 ขณะที่คู่แข่งอย่างเวียดนามได้ตีตั๋วเข้าสู่การคัดเลือกรอบ 3 หรือรอบ 12 ทีมสุดท้ายของเอเชียได้สำเร็จ 
 
แม้ฟอร์มของทีม "นักรบดาวทอง" เมื่อผ่านเข้าไปสู่รอบ 12 หัวกะทิของเอเชีย จะไม่สามารถฝ่าด่านหินอย่าง ซาอุดิอาระเบีย ญี่ปุ่น และออสเตรเลียได้ แต่การได้ผ่านเข้าสู่รอบนี้ก็เสมือนเป็นการตบหน้าทีมช้างศึกฉาดใหญ่ ขณะเดียวกันอันดับโลกของฟีฟ่าก็ยังเป็นดัชนีชี้วัดได้ดีว่าเวียดนามอยู่เหนือทีมชาติไทย ทั้งที่มาตรฐานลีกภายในประเทศไม่ได้ดีไปกว่าไทยลีกบ้านเรา 
https://images.ctfassets.net/i3o8p9lzd06f/5mKwBfTOS2ajp4vRxKWoll/c35f5c6feaab53a410410f6b6b66b2b3/Football-Thaileague-rise-Up-Thaination-rise-down-02

ไทยลีกยกระดับมาตรฐานเทียบสากล 

นับจากกลุ่มสยามสปอร์ตเข้ามาวางรากฐานให้ฟุตบอลลีกของไทยจากลีกที่ซบเซากลายเป็นลีกฟุตบอลที่คึกคักและปลุกกระแสแฟนบอลได้ทั่วประเทศ การเข้ามาสานงานต่อของสมาคมฟุตบอลแห่งประเทศไทยฯ  ภายใต้การดูแลของ พล.ต.อ.ดร.สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง และบริษัท ไทยลีก จำกัด ในเวลาต่อมา ได้สร้างมาตรฐานการจัดการที่ดีเอาไว้ในหลายๆด้าน 
 
ขณะเดียวกันยังเป็นที่ที่กลุ่มทุนต่างๆสนใจเข้ามาสนับสนุนทั้งทีมแข่ง นักฟุตบอล รวมถึงระบบลีกทั้งหมด ได้สร้างเม็ดเงินมหาศาลเข้าสู่กีฬาชนิดนี้่ เช่นเดียวกับการประมูลลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสดที่ในปี 2020 เคยถึงขั้นที่บริษัทเอกชนแห่งหนึ่งมีการตกลงและแถลงข่าวเตรียมทุ่มเงิน 1.2 หมื่นล้านบาท คว้าลิขสิทธิ์ฟุตบอลไทยทุกระดับรวมระยะเวลา 8 ปีเต็ม 
 
แม้สัญญาดังกล่าวอาจจะไม่ได้เกิดขึ้นในเวลาต่อมา แต่นั่นก็แสดงให้เห็นว่ามูลค่าของ "ไทยลีก" ในยุคปัจจุบันคือเวทีกลุ่มธุรกิจต่างๆพร้อมจะลงทุนและเล็งเห็นผลกำไรจากการทำธุรกิจในส่วนนี้ ซึ่งถือเป็นจุดที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดของทีมบริหารสมาคมฯชุดปัจจุบัน แม้ผลงานของทีมสโมสร และทีมชาติไทย จะไม่เป็นไปตามเป้าหมาย ทั้งระดับเอเชีย และระดับโลกก็ตาม

https://images.ctfassets.net/i3o8p9lzd06f/1K9eG0I7gqNP9cs1GHULoQ/ecfa391ee135ed460537a9979d4433e9/Football-Thaileague-rise-Up-Thaination-rise-down-03

ดาวยิงไทยลีก "แข้งต่างชาติ" ครองเมือง 


หากไล่ดูผลงานของทำเนียบแชมป์ฟุตบอลไทยลีกในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา ปฏิเสธไม่ได้ว่านักเตะโควต้า "ต่างชาติ" คือกุญแจสำคัญของแต่ละทีมในการพาทีมไปสู่ความสำเร็จ โดยปัจจุบันไทยลีกกำหนดให้แต่ละทีม มีผู้เล่นนานาชาติได้ 3 คน บวกกับ 1 แข้งต่างชาตที่เป็นนักเตะเอเชีย และไม่มีการจำกัดโควต้านักเตะที่เป็นอาเซี่ยน ทำให้โควต้า 3+1 กลายเป็นจุดชี้วัดความสำเร็จของหลายๆทีม 
 
ทีมดังอย่างบุรีรัมย์ ยูไนเต็ด ที่เคยยิ่งใหญ่ด้วยการมีนักเตะต่างชาติอย่างละ 1 ตำแหน่ง ไล่ตั้งแต่กองหลัง กองกลาง และกองหน้า เคยถึงขึ้นเปลี่ยนนักเตะต่างชาติแบบยกชุดในการแข่งขันช่วงเลก 2 มาแล้ว หลังตัวต่างชาติของพวกเขาแบกทีมไม่ได้และเล่นไม่ได้อย่างที่ต้องการในเลกแรก ขณะที่บีจี ปทุม ยูไนเต็ด แชมป์ไทยลีกล่าสุดล้วนมีแข้งต่างชาติเกรด เอ ในแต่ละขุมกำลัง 
 
นอกจากนี้หากย้อนดูทำเนียบดาวซัลโวไทยลีกในรอบ 10 ปีหลังสุด มีเพียง ธีรศิลป์ แดงดา คนเดียว ที่ติดโผเข้ามาในปี 2012 ที่สำคัญปีนั้น "มุ้ย" ที่ยิงให้เมืองทอง ยูไนเต็ด 24 ประตู เป็นดาวซัลโวร่วมกับคลีตัน ซิลวา ของบีอีซีเทโรฯ จะดีขึ้นหน่อยก็เพียงแค่ในฤดูกาลล่าสุดที่กำลังทำการแข่งขันอยู่ขณะนี้ หนึ่งรายชื่อที่โผล่เข้ามาในทำเนียบดาวซัลโวของลีก กลับมีชื่อของนักเตะสัญชาติไทยอยู่ในกลุ่มผู้นำเวลานี้อย่าง ศุภชัย ใจเด็ด ที่ยิงได้ 5 ประตูด้วยกันและเป็นความหวังใหม่ของการกลับมาติดทำเนียบดาวยิงสัญชาติไทยอีกครั้ง  

https://images.ctfassets.net/i3o8p9lzd06f/6p4DRnoOFZSlJ4t5moAjR1/d3a6ac17612e37622c334fd8fc6656e6/Football-Thaileague-rise-Up-Thaination-rise-down-04

แข้งไทยต้องมีทัศนคติแบบ "เจ ชนาธิป" 


ผลพวงจากมาตรฐานการจัดการลีกที่เป็นสากลมากขึ้น บรรดาทีมแข่งชั้นนำก็สามารถจ่ายเงินจ้างนักเตะเจ้าสู่ทีมได้มากขึ้น ส่งผลค่าเฉลี่ยของเงินเดือนนักเตะไทยเพิ่มสูงขึ้นจากยุคอดีตแบบก้าวกระโดด โดยนักเตะที่ได้สัญญาอาชีพเริ่มต้นมีโอกาสได้เงินเดือนระดับ 3-5 หมื่นบาท เป็นอย่างน้อย และหากเป็นนักเตะเกรดบีไปจนถึงระดับทีมชาติ เงินเดือนหลักแสนถือเป็นเรื่องธรรมดา 
 
อดีตนักเตะทีมชาติไทยรายหนึ่งเคยเปิดเผยกับทีมงาน Spacebar ว่าในช่วงที่ค้าแข้งอยู่กับทีมชั้นนำในไทยลีก เคยได้รับเงินเดือนสูงสุดถึงระดับ 5 แสนบาทเลยทีเดียว นั่นเป็นเหตุผลที่ทำให้นักเตะไทยส่วนใหญ่วางเป้าไว้ที่การค้าแข้งในประเทศ มีเงินเดือน สามารถซื้อบ้าน ซื้อรถได้ ถือเป็นที่พอใจแล้ว ทว่าทัศนคติดังกล่าวไม่ได้อยู่ในหัวของ "เจ" ชนาธิป สรงกระสินธ์ แต่อย่างใด 
 
นักเตะระดับทีมชาติไทยล้วนแล้วเป็นระดับตัวท็อปของไทยลีกทั้งสิ้น แต่การก้าวไปสู่ระดับเอเชียและระดับโลกมาตรฐานไทยลีกอาจยังไม่พอ ซึ่งหากนักเตะไทยเลือกทิ้งความสบายกับการรับเงินเดือนในลีกบ้านเกิด และตั้งเป้าค้าแข้งในลีกที่แข็งแกร่งกว่าเหมือนชนาธิป โดยไม่เกี่ยงว่าจะเป็นเอเชียหรือยุโรป ก็เชื่อว่าน่าจะส่งผลดีกับทีมชาติไม่มากก็น้อย 
 
ณ เวลานี้ มูลค่าและมาตรฐานของไทยลีก อาจเป็นเบอร์หนึ่งในย่านอาเซียน แต่ตราบใดที่ยังไม่มีการสร้างนักเตะไทยระดับท็อปป้อนสู่ทีมช้างศึกได้ ก็อาจทำให้ลีกที่ดีที่สุดในย่านนี้สวนทางกับฟอร์มการเล่นของทีมชาติไทยต่อไป คล้ายกับทีมชาติอังกฤษที่ยังไปไม่ถึงแชมป์ระดับเมเจอร์นับจากปี 1966 ทั้งที่พรีเมียร์ลีกเป็นลีกเบอร์ 1 ของโลกนั่นเอง 

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์