‘พระองค์พีระ’ ถึง ‘อเล็กซ์ อัลบอน’ ใครจะเป็นนักขับไทยคนต่อไป

6 ธ.ค. 2565 - 07:14

  • คนไทยต้องรอเกือบ 70 ปีจากยุคของ ‘พระองค์พีระ’ มาถึงวันที่ ‘อเล็กซ์ อัลบอน’ นักแข่งสัญชาติไทยคนแรกที่ขึ้นโพเดียมในการแข่งขันรถสูตรหนึ่ง

  • เพราะอะไรเราจึงไม่สามารถพัฒนานักขับแบบรุ่นสู่รุ่นในรายการรถสูตรหนึ่งได้ และจะมีโอกาสเห็นนักขับไทยคนต่อไปต่อจาก ‘อเล็กซ์ อัลบอน’ หรือไม่

Sportspeople-Alexander-Albon-Birabongse-Bhanudej-Formula-1-SPACEBAR-Thumbnail
เมื่อช่วงต้นซีซันศึกรถยนต์สูตรหนึ่งชิงแชมป์โลกฤดูกาล 2022 แฟนกีฬาชาวไทยได้คึกคักกันอีกครั้ง หลัง ‘อเล็กซานเดอร์ อัลบอน อังศุสิงห์’ ได้โอกาสคืนสู่แทร็กเอฟวันรอบ 2 กับทีมวิลเลี่ยมส์ ถือเป็นนักขับไทยคนที่ 2 ต่อจาก พระวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าพีรพงศ์ภาณุเดช ที่คนไทยเรียกขานพระนามว่า ‘พระองค์พีระ’ ผู้เคยโลดแล่นบนเวทีมอเตอร์สปอร์ตโลกในช่วงทศวรรษ 1950 
 
ไม่เพียงเท่านั้น หนุ่มไทยเชื้อสายอังกฤษ ‘อเล็กซ์ อัลบอน’ ยังสร้างประวัติศาสตร์ในฤดูกาล 2020 เมื่อเขาเป็นนักแข่งสัญชาติไทยคนแรกที่ขึ้นโพเดียมในการแข่งขันรถสูตรหนึ่งได้สำเร็จ 
 
หากสังเกตการแข่งขันกีฬาชนิดอื่นในระดับนานาชาติ เราจะได้เห็นนักกีฬาไทยเข้าร่วมแข่งขันต่อเนื่องแบบรุ่นสู่รุ่น ทว่า ‘ฟอร์มูล่า วัน’ วงการกีฬาไทยต้องรอเกือบ 70 ปี ถึงจะมีนักขับไทยเข้าแข่งขัน เหตุใดจึงเป็นเช่นนั้น และจะมีโอกาสเห็นนักขับไทยคนต่อไปต่อจาก ‘อเล็กซ์ อัลบอน’ หรือไม่
 
https://images.ctfassets.net/i3o8p9lzd06f/6tsfut3nQosTYwikj6rnDM/044ca6e5820d7b787e4cd5d975cedc2b/Sportspeople-Alexander-Albon-Birabongse-Bhanudej-Formula-1SPACEBAR-Photo01
‘เอฟวัน’ กีฬาสำหรับคนรวยจริงหรือ 
ขึ้นชื่อว่า ‘มอเตอร์สปอร์ต’ แน่นอนว่าเป็นกีฬาที่ต้องอาศัยมอเตอร์ในการขับเคลื่อน ‘รถ’ จึงเปรียบได้กับอุปกรณ์ประจำตัวของนักกีฬาไปโดยปริยาย ซึ่งปฏิเสธไม่ได้ว่ามันคืออุปกรณ์กีฬาที่แพงที่สุดเมื่อเทียบกับกีฬาชนิดอื่นๆ และผู้ที่มีความพร้อมในด้านการเงินย่อมได้เปรียบในช่วงเริ่มต้นเมื่อเข้าสู่วงการนี้ 
 
ขณะเดียวกันทีมแข่งเอฟวันกว่าครึ่ง ก็ใช้นโยบายหาสปอนเซอร์จากนักขับ เพื่อให้ทีมสามารถดำเนินการแข่งขันต่อได้ในแต่ละฤดูกาล นั่นหมายถึงนักขับที่จะมาร่วมทีม ถ้าไม่ใช่เงินส่วนตัว อาจจะต้องมีสปอนเซอร์ติดตัวมาด้วย ซึ่งครั้งหนึ่งนักขับระดับนิกิ เลาด้า เคยต้องกู้เงินธนาคาร เพื่อให้ได้ขับเอฟวันมาแล้ว 
 
อย่างไรก็ดีคงไม่สามารถสรุปได้ว่า ‘เอฟวัน’ คือกีฬาที่จำกัดไว้เฉพาะคนรวยเท่านั้น นักขับที่มีฝีมือหากพิสูจน์ให้สปอนเซอร์ได้เห็นก็มีโอกาสแจ้งเกิดได้เช่นกัน และเมื่อทำผลงานในสนามได้ดี ก็จะมีโอกาสขยับขึ้นสู่ทีมชั้นนำ ที่เมื่อถึงเวลานั้น ทีมพร้อมที่จะจ่ายค่าจ้างให้คุณโดยไม่เรียกร้องสปอนเซอร์ใดๆ 
 
ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเจนที่สุดคือ ลูอิส แฮมิลตัน แชมป์โลกเอฟวัน 7 สมัย ที่เข้าสู่วงการได้ทั้งที่บ้านไม่ได้มีฐานะ แต่มีคุณพ่อแอนโธนี ที่เก็บหอมรอมริบเงินส่วนตัวทำรถคาร์ทให้กับลูกชายตั้งแต่อายุได้ 5 ขวบ และแข่งขันไล่ระดับจากรถระดับเล็ก จนฝีมือเข้าตาทีมแข่งดังอย่างแม็คลาเรน-เมอร์เซเดส ในเวลานั้น 
 
‘อัลบอน’ ฝีมือขับ + สปอนเซอร์ฝั่งไทย
 
https://images.ctfassets.net/i3o8p9lzd06f/7eVNUlUkY3JOAEFWacfFne/f23920030ad7b3d83bbca9cd46196e41/Sportspeople-Alexander-Albon-Birabongse-Bhanudej-Formula-1SPACEBAR-Photo02
ในยุคที่ทีมเรดบูลเรซซิ่ง ครองความยิ่งใหญ่คว้าแชมป์โลก 4 สมัยติดต่อกันจาก เซบาสเตียน เวทเทลในช่วงปี 2010 ถึง 2013 มีการปลุกกระแสทีมแข่งไทย โดยเครื่องดื่มกระทิงแดง ที่มีคนไทยเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ในผลิตภัณฑ์เรดบูลทั่วโลก และมีแนวคิดทั้งการที่จะสร้างสนามแข่งเอฟวันในไทย รวมถึงสร้างนักขับไทยสู่เวทีแข่งระดับโลก 
 
ชื่อของ อเล็กซานเดอร์ อัลบอน อังศุสิงห์ กลายเป็นหนึ่งในตัวเต็งอันดับต้นๆ ที่ได้รับการคาดหมายว่าจะมีโอกาสเป็นนักขับไทยคนที่ 2 ต่อจากพระองค์พระเมื่อเกือบ 70 ปีก่อน ซึ่งในตอนนั้น ไทยเบฟ ไทยทาเลนท์ คือสปอนเซอร์ฝั่งไทยลำดับแรกๆ ที่หนุนอัลบอนตั้งแต่การแข่งขัน ฟอร์มูล่าทรี ในปี 2014 
 
ประกอบกับการที่อเล็กซ์ คือผลผลิตของเรดบูลอคาเดมี่ ที่สร้างนักขับระดับเยาวชนปั้นสู่ทีมแข่งชุดใหญ่ ก็ทำให้อยู่ในสายตาของเรดบูลมาโดยตลอด รวมไปถึงกระทิงแดง ซึ่งเป็นธุรกิจไทยที่มีหุ้นใหญ่อยู่ในเรดบูล ก็ยิ่งต้องการนักขับสายเลือดไทยขึ้นมาเพื่อให้ไทยมีส่วนร่วมในวงการมอเตอร์สปอร์ตมากขึ้น 
 
แม้การก้าวไปสู่เอฟวันของอเล็กซ์ จะมาจากกำลังสนับสนุนที่ดี แต่หากไม่มีฝีมือการันตี โดยเฉพาะการที่เจ้าตัวได้โชว์ศักยภาพการขับของตัวเองในการแข่งขัน เอฟทรี และ เอฟทู ในยุโรป ทีมแข่งระดับโลกอย่างเรดบูลก็ไม่มีทางเลือกนักขับไทยของเราเข้าสู่ทีมเช่นกัน ซึ่งนั่นคือความลงตัวกับการได้เห็นนักขับไทยคนที่ 2 บนเวทีเอฟวัน 
 
‘เด็กไทย’ ต้องไปแข่งยุโรปก่อนอายุ 20 
แม้การแข่งขันเอฟวัน จะถูกกำหนดให้กระจายสนามแข่งขันไปเกือบทุกทวีปในทั่วทุกมุมโลก แต่ฐานที่มั่นของทั้ง 10 ทีมแข่งในปัจจุบันล้วนอยู่ในทวีปยุโรปแทบทั้งสิ้น โดยเฉพาะในอังกฤษและอิตาลี ส่งผลให้รายการแข่งขันที่เป็นเวทีสร้างนักขับตั้งแต่รุ่นเยาวชน ทั้งหมดจัดขึ้นในทวีปยุโรป 
 
หากย้อนดูประวัติศาสตร์ของมอเตอร์สปอร์ตตั้งแต่ยุคอดีตสมัยพระองค์พีระ ที่ทรงศึกษา ณ มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ ในอังกฤษ ก็มีจุดเริ่มในการเข้าสู่วงการความเร็วขณะมีพระชันษา 21 ปี ด้วยการเริ่มแข่งรถครั้งแรก ที่สนามบรู๊คแลนด์ส ในปี 1935 เช่นเดียวกับอเล็กซ์ อัลบอน ที่เติบโตและแข่งรถในอังกฤษตั้งแต่การแข่งขันรถคาร์ท

ครั้งหนึ่ง มาร์ค เว็บเบอร์ อดีตนักขับเรดบูล ชาวออสเตรเลีย เคยให้ความเห็นว่า โอกาสที่นักขับนอกทวีปยุโรปจะก้าวไปเป็นนักขับเอฟวัน อย่างแรกคือการเข้าไปแข่งขันในยุโรปให้ได้เร็วที่สุด และไม่ควรมีอายุเกิน 20  ปี เนื่องจากในยุโรปจะมีการแข่งขันรถล้อเปิดระดับมาตรฐานจากสหพันธ์ยานยนต์นานาชาติ (เอฟไอเอ) ตั้งแต่รุ่นเล็กขึ้นไปจนถึงระดับฟอร์มูล่า วัน 
 
หากไล่ดูไลน์อัพนักขับเอฟวันที่ไม่ใช่ชาวยุโรป ส่วนใหญ่ล้วนเดินทางเข้าแข่งขันในยุโรปในช่วงอายุราว 14-17 ปี อาทิ เซอร์จิโอ เปเรซ นักขับทีมเรดบูล ชาวเม็กซิกัน ที่มาแข่งฟอร์มูล่า บีเอ็มดับเบิลยู ในเยอรมนี ตั้งแต่อายุ 14 ปี ส่วนแดเนียล ริคคิอาร์โด นักขับออสซี่ ทีมแม็คลาเรน ไปแข่งในยุโรปตอนอายุ 17 ปี เช่นเดียวกับ ยูกิ ซึโนดะ นักขับดาวรุ่งชาวญี่ปุ่น ทีไปแข่งในยุโรปตอนอายุ 17 ปี เช่นกัน 
 
การได้เข้าไปโชว์ฝีมือการขับ ตั้งแต่ฟอร์มูล่า ทู และต่อยอดไปสู่ ฟอร์มูล่า ทรี ซึ่งเปรียบเป็นบันไดขั้นสุดท้ายก่อนเข้าสู่ฟอร์มูล่า วัน นอกจากจะทำให้บรรดาแมวมองของทีมแข่งได้เห็นผลงานอย่างต่อเนื่องแล้ว ขณะเดียวกันยังทำให้สปอนเซอร์ของแต่ละทีมมีความเชื่อมั่นในตัวนักขับด้วยเช่นกัน หากนักขับดาวรุ่งคนนั้นๆ ได้รับโอกาสเข้าสู่ทีม 
 
ปัจจุบัน หลังจากหมดยุคของอเล็กซ์ อัลบอน ก็ยังไม่มีนักขับสายเลือดไทยรายใด ก้าวไปสู่ซีรีย์อันเป็นพื้นฐานของเอฟวันในยุโรป อาทิ ฟอร์มูล่า ทู และ ฟอร์มูล่า ทรี ได้อีกเลย ฉะนั้นอาจต้องใช้เวลาอีกสักระยะ ที่วงการความเร็วไทย จะมีนักขับไทยคนที่ 3 ที่จะนำธงไตรรงค์ไปโบกสะบัดบนสนามแข่งขันเอฟวันอีกครั้ง   

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์