เหตุผลของการ ‘เปลี่ยนโค้ช’
ในยามที่สถานการณ์ของทีมฟุตบอลเข้าขั้นแย่สุดๆ แม้จะเห็นกันชัดๆ ว่าบรรดานักเตะเล่นไม่เอาอ่าวเพียงไหน สิ่งที่บรรดาเจ้าของทีมจะพิจารณาเป็นสิ่งแรกก็คือการปลดผู้รับผิดชอบผลงานโดยรวมของทีมอย่างผู้จัดการทีม หรือ โค้ชออกก่อน เพราะมันเป็นการเปลี่ยนแปลงที่แม้จะเสี่ยง แต่ในขณะเดียวกันก็ทำได้ง่ายที่สุด มันคือการห้ามเลือดแบบฉับพลัน ก่อนที่อะไรๆ จะแย่ไปกว่าเดิมลองจินตนาการหากคุณเป็นเจ้าของบริษัท แล้วมีแผนกหนึ่งทำงานได้ไม่ตรงเป้า คุณจะเลือกลองปลดคนคุมงานออกก่อนแล้วจ้างหัวหน้าคนใหม่มาลองกันสักตั้ง หรือจะไล่พนักงานออกทั้งแผนกเลย อันไหนเป็นการตัดสินใจที่ง่ายกว่ากัน

การ ‘เปลี่ยนแปลง’ สร้างความ ‘ตื่นเต้น’ ให้เราได้เสมอ
การเปลี่ยนแปลงไม่ว่าเรื่องใดๆ ก็ตาม ไม่ว่าจะเล็กจะน้อยขนาดไหน ย่อมส่งผลให้เรารู้สึกกระตือรือร้น เพื่อเตรียมพร้อมรับมือกับความเปลี่ยนแปลงนั้นๆ เรื่องของกีฬาฟุตบอลก็เช่นกัน การเปลี่ยนโค้ชใหม่ หมายถึงบรรยากาศใหม่ วิธีคิดใหม่ๆ ความสดชื่นของการเปลี่ยนแปลงนี้ ยอมส่งผลให้บรรดานักเตะที่อาจจะซังกะตายกับวิถีทางแบบเดิมๆ ของโค้ชคนเก่า มีแรงกระฉับกระเฉงลุกขึ้นมาใส่แรงเต็มที่ตั้งแต่แมทช์แรก เพื่อสร้างความประทับใจให้กับนายใหม่ของพวกเขากีฬาคือเกมที่ว่ากันด้วยการแข่งขันของมนุษย์ ‘จิตวิทยา’ จึงสำคัญไม่แพ้ ‘วิธีการ’
แน่นอนว่าโค้ชคนใหม่มักมาพร้อมปรัชญาใหม่ วิธีการใหม่ๆ ซึ่งเป็นสิ่งที่นักเตะต้องอาจจะใช้เวลาในการซึมซัม อาจจะหลายอาทิตย์หรือหลายเดือน แต่สิ่งที่แก้กันได้โดยไม่ต้องอาศัยระยะเวลามากนักคือเรื่องของ ‘จิตวิทยา’ เพราะสุดท้ายฟุตบอลเป็นเกมกีฬาของสิ่งมีชีวิตที่ละเอียดอ่อนอย่างมนุษย์ ที่สภาพจิตใจส่งผลต่อทุกการกระทำในชีวิต ดังนั้นบางทีแม้วิธีการอาจจะยังไม่เข้าที แต่จิตวิทยาดี มีความมุ่งมั่น ก็คว้าชัยชนะได้เช่นกันซึ่งการปลดโค้ชนี่ก็ส่งผลโดยตรงต่อเรื่องจิตวิทยาแบบเต็มๆ ทั้งความสดชื่นที่บรรดานักเตะได้รับจากโค้ชใหม่ดังที่กล่าวไปข้างต้น หรือการยกเอาความตึงเครียดของโค้ชคนเก่าที่ผลงานร่อแร่ออกไปจากห้องแต่งตัวก็ส่งผลต่อจิตวิทยาเช่นกัน
เช่นในกรณี อย่างการประกาศลาออกของยอดกุนซือชาวเยอรมันอย่าง เยอร์เกน คล็อปป์ ในฤดูกาลสุดท้ายของเขากับ โบรุสเซีย ดอร์ทมุนด์ หลังจากพาทีมประสบความสำเร็จมามากมาย แต่ในปีสุดท้าย ผลงานของพวกเขาตกต่ำอย่างน่าใจหาย จมลงไปถึงโซนตกชั้น จน คล็อปป์ ซึ่งเป็นที่รักของแฟนบอลและชาวเมือง ที่เขารู้ตัวว่าอย่างไรก็คงไม่มีใครกล้าไล่เขาออกแน่ จึงประกาศลาออกเองหลังจบฤดูกาลดังกล่าว ซึ่งไม่เชื่อก็ต้องเชื่อ ราวกลับจิตวิทยาย้อนกลับ หลังการประกาศช็อคแฟนบอล บรรดานักเตะกลับมาสู้ถวายหัวให้ทีม ‘เสือเหลือง’ กลับมาจบอันดับ 7 และเข้าชิงบอลถ้วย เดเอฟเบ โพคาล ได้สำเร็จ แม้จะเป็นฝ่ายพ่ายไปก็ตาม

สุดท้ายวัดกันที่ ‘คุณสมบัติ’ ของโค้ชที่เข้ามา
แต่ผลงานที่เปรี้ยงปร้างหลังเปลี่ยนโค้ชนั้น มีสถิติออกมาแล้วว่าเกินกว่าครึ่งมักจะคงไว้ไม่ได้ตลอด เพราะความสดชื่นของการเปลี่ยนแปลงย่อมมีหมดไป แต่โค้ชที่ดีควรจะทำให้ทีมของคุณเคยชินกับความรู้สึกของการเป็นผู้ชนะให้ได้ ซึ่งบางทีความเก่งอย่างเดียวอาจจะไม่พอ โค้ชเก่งๆ มากมายต่างเคยล้มเหลวกับการคุมทีมซักทีมในช่วงชีวิตอยู่แล้วแต่คุณสมบัติที่ทีมฟุตบอลต้องการจากโค้ชคนใหม่ในระยะยาว คือความเหมาะสมหรือความเข้ากันได้มากกว่า อาทิเช่น การที่กุนซือเจ้าของฉายา “ทิงเกอร์แมน” เคลาดิโอ รานิเอรี่ ที่บางคนตราหน้าว่าตกยุค หรือหมดมุกแล้ว แต่กลับพาเลสเตอร์ ซิตี้ คว้าแชมป์พรีเมียร์ลีกได้ราวกับเทพนิยาย ด้วยกลุ่มนักเตะชุดนั้นที่ย้อนหลังไปไม่กี่ปีแทบจะไม่มีใครรู้จักพวกเขา ซึ่งในขณะเดียวกัน ถ้าให้กุนซือชาวอิตาลีไปคุมทีมใหญ่ในขณะนั้น สไตล์รับรอสวนแทคติกเหนียวแน่นของเจ้าตัว อาจจะทำให้นักฟุตบอลซูเปอร์สตาร์บางคนกระด่างกระเดื่องขึ้นจนผลงานออกมาย่ำแย่ก็เห็นมาแล้วบ่อยๆ
หรือถ้าย้อนกลับไปในเรื่องของ เยอร์เกน คล็อปป์ นับตั้งแต่ที่เขาก้าวออกมาจากที่ดอร์ทมุนด์ ไม่ว่าบรรดาโค้ชที่เข้ามาสานงานต่อกับเขาจะมีดีกรีระดับไหน ก็ยังไม่มีใครพาเสือเหลืองทำผลงานได้ดีเท่าคล็อปป์ได้อีกเลยจวบจนวันนี้
ดังนั้นการเปลี่ยนโค้ชแต่ละครั้ง อาจจะได้ผลงานที่ดีมาในช่วงแรกๆ ก็จริง แต่สุดท้ายแล้ว ถ้าหากยังไม่เจอโค้ชที่ ‘ใช่’ ก็ไม่ต่างกับการจุดพลุที่สร้างความสว่างได้แค่ชั่วคราว