เฟอร์รารี่, เมอร์เซเดส, แอสตัน มาร์ติน, เรดบูล เรซซิ่ง, แมคลาเรน เชื่อว่าชื่อทีมเหล่านี้คือชื่อที่คุ้นหูของคนที่ติดตามการแข่งขันรถสูตรหนึ่งชิงแชมป์โลก หรือ ฟอร์มูล่าวัน มากที่สุด เพราะบรรดาทีมทั้งหมดนี้คือยักษ์ใหญ่ในปัจจุบันที่อยู่บนหัวตารางแทบจะทุกซีซัน แต่ก็ยังมีอีกหนึ่งทีมที่ผ่านอะไรมาเยอะ ทั้งอดีตอันหอมหวาน เคยเป็นแชมป์โลกผู้ผลิตมากถึง 9 สมัย เป็นรองแค่ทีมม้าลำพองเพียงทีมเดียว สู่ช่วงขาลงอันขมปี๋ แบบที่เก็บคะแนนไม่ได้แม้แต่แต้มเดียวก็เคยมาแล้ว ซึ่งทีมนั้นก็คือ วิลเลียมส์ เรซซิ่ง ที่ปัจจุบันมี ‘AA23’ อเล็กซานเดอร์ อัลบอน อังศุสิงห์ นักแข่งสัญชาติไทยสังกัดอยู่ในเวลานี้
และในวันนี้เราจะพาทุกคนย้อนไปดูตั้งแต่อดีตของทีม วิลเลียมส์ เรซซิ่ง จนถึงปัจจุบันที่กำลังมีแววว่าจะกลับมาได้ในอนาคต การเดินทางตลอดเกือบ 5 ทศวรรษ ของทีมแข่งสัญชาติอังกฤษผ่านอะไรมาบ้าง ติดตามได้เลยครับ
จุดเริ่มต้นจากวัยรุ่นบ้ารถ
‘วิลเลียมส์ เรซซิ่ง’ หรือชื่อเดิม ‘วิลเลียมส์ กรังด์ปรีซ์ เอ็นจิเนียริ่ง’ ก่อตั้งขึ้นโดย ‘เซอร์ แฟรงค์ วิลเลียมส์’ ผู้ล่วงลับ ย้อนกลับไปในสมัยที่เขาเป็นเด็ก แฟรงค์เป็นเด็กหนุ่มที่หลงใหลในรถยนต์เป็นทุนเดิม และเมื่อโตขึ้นในช่วงปลายทศวรรษ 1950 เขาได้มีโอกาสนั่งรถ จากัวร์ XK150 ซึ่งในเวลานั้นถือเป็นรถสปอร์ตตัวท็อปๆ ที่ทั้งเร็วและทรงพลัง แล้วก็ยิ่งเพิ่มความคลั่งไคล้ในโลกของความเร็วมากขึ้นไปอีก จนในปี 1966 แฟรงค์ได้ทุบกระปุกเอาเงินเก็บทั้งหมดที่ได้จากการทำงานซื้อขายอะไหล่รถยนต์ และเป็นพนักงานร้านขายของชำ มาก่อตั้งทีม ‘แฟรงค์ วิลเลียมส์ เรซซิ่ง คาร์’
แต่อย่างที่บอกไปว่าเขาเอาเงินเก็บทั้งหมดมาลงทุน นั่นหมายความว่าแฟรงค์ไม่ได้ร่ำรวยถึงขนาดมีเงินถุงเงินถังมาลงทุนสู้คนอื่นได้ บวกกับช่วงที่เขาทำทีม แฟรงค์ วิลเลียมส์ เรซซิ่ง คาร์ ทีมแทบจะไม่ประสบความสำเร็จเลย ทำไปทำมาจนเงินเขาเริ่มหมด สุดท้ายก็ต้องขายหุ้นกว่า 60 เปอร์เซ็นต์ให้กับ วอลเตอร์ วูลฟ์ เศรษฐีชาวแคนาดาให้เข้ามาเป็นเจ้าของแทน และเปลี่ยนชื่อทีมเป็น วูลฟ์-วิลเลียมส์ เรซซิ่ง ซึ่งแฟรงค์ก็ทำงานในฐานะลูกจ้างได้ไม่นาน ในช่วงจบฤดูกาล 1976 เขาก็โดนวูลฟ์ปลดจากตำแหน่งผู้จัดการทีม ทำให้เขาไม่พอใจมาก และถอนตัวจากทีมไปในที่สุด
แฟรงค์ว่างงานได้ไม่นาน สุดท้ายความหลงใหลที่เขามีต่อวงการมอเตอร์สปอร์ต ก็ทำให้เขากลับมาสู่วงการฟอร์มูล่าวันอีกหนในปี 1977 กับทีมที่ชื่อว่า วิลเลียมส์ กรังด์ปรีซ์ เอ็นจิเนียริ่ง โดยแฟรงค์ได้ดึง แพททริค เฮด ยอดวิศวกรฝีมือดีของอังกฤษ เข้ามาร่วมเป็นผู้ก่อตั้ง และเป็นหัวหน้าวิศวกรของทีม ซึ่งฐานทัพของทีมตั้งอยู่ในโกรฟ ย่านอ็อกซ์ฟอร์ดเชียร์ และเป็นที่ตั้งปัจจุบันของทีม วิลเลียมส์ เรซซิ่ง
ก้าวสู่ยุครุ่งเรืองแบบสุดขีด
วิลเลียมส์ เรซซิ่ง ใช้เวลาอยู่เกือบๆ 3 ปีเต็ม ก่อนที่จะได้สัมผัสชัยชนะเป็นครั้งแรกในปี 1979 จากนักแข่งชาวสวิตเซอร์แลนด์อย่าง เคลย์ เรกาซโซนี ในบริติช กรังด์ปรีซ์ บนสนามซิลเวอร์สโตน โฮมเรซของทีมด้วย นับเป็นชัยชนะครั้งสำคัญของวิลเลียมส์ เรซซิ่ง แถมยังจบในอันดับ 2 บนตารางคะแนนทีมผู้ผลิตด้วย และเหนือสิ่งอื่นใดนี่ยังเป็นความสุข ความอิ่มเอมใจแบบสุดๆ ของชายที่ชื่อ แฟรงค์ วิลเลียมส์ ด้วย หลังจากที่เขาทุ่มเททั้งชีวิตให้กับการทำทีมแข่งรถทีมนี้มายาวนานกว่า 13 ปี
แล้วก็ไม่ต้องรอนานเพราะในฤดูกาลถัดมาปี 1980 วิลเลียมส์ เรซซิ่ง ก็ประสบความสำเร็จแบบสุดขีด พวกเขาคว้าแชมป์โลกได้ทั้ง 2 ประเภท ตั้งแต่ประเภทนักขับที่ อลัน โจนส์ นักแข่งฝีมือดีชาวออสเตรเลีย จบอันดับ 1 บนตารางคะแนนที่ 67 คะแนน ทิ้งห่างอันดับ 2 อย่าง เนลสัน ปิเกต์ นักแข่งชาวบราซิลที่ได้ 54 คะแนน ไปแบบขาดลอย แถมทาง คาร์ลอส รอยเตอร์มันน์ นักแข่งชาวอาร์เจนไตน์ ยังคว้าอันดับ 3 ในปีเดียวกัน ทำให้ วิลเลียมส์ เรซซิ่ง คว้าแชมป์โลกประเภททีมผู้ผลิตไปได้เป็นครั้งแรกด้วย
ต้องบอกว่าในช่วงยุค 80’ ถือเป็นยุคทองของทีมวิลเลียมส์ เรซซิ่ง อย่างแท้จริง เพราะในปีถัดมาพวกเขาคว้าแชมป์โลกทีมผู้ผลิตได้เป็นปีที่สองติดต่อกัน ต่อด้วยในปี 1986 และ 1987 ในขณะที่ทางฝั่งนักขับก็ได้แชมป์โลกไปอีก 2 หน ในปี 1982 จาก เกเก้ รอสเบิร์ก นักแข่งชาวฟินแลนด์ และ เนลสัน ปิเกต์ นักแข่งชาวบราซิล หลังจากนั้นทีมวิลเลียมส์ยังได้แชมป์ผู้ผลิตไปอีก 5 สมัย ในปี 1992, 1993, 1994, 1996 และ 1997 ส่วนแชมป์โลกนักขับก็ได้เพิ่มอีก 4 สมัย ในปี 1992, 1993, 1996 และ 1997
ในขณะที่ตลอดเวลาที่ทีมวิลเลียมส์ประสบความสำเร็จ พวกเขาร่วมมือกับบรรดาผู้ผลิตเครื่องยนต์หลายต่อหลายราย แต่ที่ประสบความสำเร็จสุดๆ คือ เรโนลต์ บริษัทรถยนต์จากแดนน้ำหอม ประเทศฝรั่งเศส โดยพวกเขาคว้าแชมป์ร่วมกันทั้งหมด 5 สมัย ในช่วงยุค 90’ จาก 9 สมัยที่ทีมทำได้ นอกจากนี้ยังคว้าแชมป์ร่วมกับ ฟอร์ด 2 สมัย และ ฮอนด้า 2 สมัย ในช่วงยุค 80’ ที่เป็นยุคทองของพวกเขา
มีรุ่งก็ต้องมีร่วง และอนาคตที่รอวันกลับมา
แน่นอนว่าวงการกีฬาทุกวันนี้ไม่ว่าจะเป็นประเภทไหน ยังไงก็มักเชื่อมโยงกับธุรกิจเสมอ และกับศึกรถสูตรหนึ่ง หรือ ฟอร์มูล่าวันก็เช่นกัน จำนวนเม็ดเงินที่ต้องใช้ขั้นต่ำต่อการลงแข่งในหนึ่งฤดูกาลก็ต้องมี 100 ล้านเหรียญสหรัฐ นั่นทำให้บรรดาทีมอิสระมักจะสู้ทีมผู้ผลิตแท้ๆ ที่มีเงินทุนหนาค่อนข้างยาก ส่งผลให้ช่วงยุค 2000’ ผลงานของวิลเลียมส์ เรซซิ่ง มักจะขึ้นๆ ลงๆ อยู่ตลอด บางช่วงก็ทำได้ดีจบหัวตาราง บ้างก็หล่นไปอยู่กลางตาราง หรือหนักจนถึงขลุกอยู่ท้ายตารางเลยก็มีให้เห็น
ในช่วงซีซัน 2019 และ 2020 ถือเป็นยุคที่วิลเลียมส์ เรซซิ่ง ดิ่งลงเหวแบบหัวทิ่มพื้น เพราะในปี 2019 พวกเขาเก็บคะแนนสะสมไปได้เพียงแค่ 1 คะแนน และถ้าคิดว่านี่หนักแล้ว ในปี 2020 พวกเขาตกต่ำยิ่งกว่านั้น เพราะเก็บคะแนนไม่ได้เลยแม้แต่แต้มเดียว ถือเป็นอีกหนึ่งปีที่ย่ำแย่สุดๆ ของพวกเขา และเมื่อไม่มีผลงานที่ดี เงินทุนย่อมหดหายไปตามๆ กัน จนในที่สุด แคลร์ วิลเลียมส์ ลูกสาวของ แฟรงค์ วิลเลียมส์ ที่เข้ามาสืบทอดตำแหน่งต่อจากผู้เป็นพ่อ จำใจต้องยอมขายทีมให้กับ โดริลตัน แคปิตอล กลุ่มทุนจากสหรัฐอเมริกา เพื่อให้ทีมเดินหน้าต่อไปได้ สิ้นสุดการบริหารงานของตระกูลวิลเลียมส์ไปโดยปริยาย
สำหรับปัจจุบันและอนาคตของวิลเลียมส์ เรซซิ่ง แฟนๆ ของทีมนี้อาจจะได้เห็นการกลับมาลืมตาอ้าปากได้อีกครั้ง เมื่อทาง สหพันธ์รถยนต์ระหว่างประเทศ หรือ FIA ผู้ดูแลการแข่งขันฟอร์มูล่าวัน ได้ออกมาประกาศจำกัดงบประมาณของแต่ละทีม เพื่อที่จะลดช่องว่างระหว่างทีมใหญ่และทีมเล็กลง โดยในปี 2021 อยู่ที่ 145 ล้านเหรียญ ก่อนที่ในปีถัดมาจะเหลือ 140 ล้านเหรียญ และในปีล่าสุดอยู่ที่ 135 ล้านเหรียญ
โดยในปี 2021 พวกเขากลับมาทำแต้มได้อีกครั้งจากนักขับคนเก่งอย่าง จอร์จ รัสเซล ที่ทำไปได้ 16 คะแนน และ นิโคลัส ลาติฟี่ 7 คะแนน ทำให้ทีมเก็บคะแนนในปีนั้นได้ 23 คะแนน ส่วนในปีถัดมา รัสเซล ได้ขยับไปขับให้กับทีมใหญ่อย่าง เมอร์เซเดส ทำให้วิลเลียมส์ดึง อเล็กซานเดอร์ อัลบอน อังศุสิงห์ นักแข่งสัญชาติไทยเข้ามาร่วมทีม และด้วยการเปลี่ยนแปลงทำให้ในซีซัน 2022 พวกเขาเก็บได้แค่ 8 คะแนน จบอันดับสุดท้ายอีกรอบ
แต่ในฤดูกาลปัจจุบัน ด้วยการพัฒนาฝีมือของ อเล็กซ์ อัลบอน แบบก้าวกระโดด บวกกับการพัฒนารถที่ดูจะเป็นไปในทิศทางที่ดีขึ้นก็ทำให้วิลเลียมส์เริ่มกลับมาทำคะแนนได้อีกครั้ง โดยเวลานี้ทำไปได้แล้ว 21 คะแนน อยู่อันดับ 7 บนตารางคะแนน และเหลืออีก 6 เรซให้ได้เก็บคะแนนเพิ่ม สุดท้ายสิ่งที่เราเห็นทั้งหมดมันแสดงให้เห็นว่า วิลเลียมส์ เรซซิ่ง คือทีมที่ขับเคลื่อนด้วยแพสชั่นมากกว่าเงินมาตลอดเกือบ 5 ทศวรรษ ตามความตั้งใจของผู้ก่อตั้งทีมอย่าง เซอร์ แฟรงค์ วิลเลียมส์ และยังคงยืนหยัดอยู่ได้จนถึงทุกวันนี้