เปิดประวัติ ‘มวยไทย’ ศิลปะการต่อสู้แบบไทยที่ก้าวไกลไปถึงสากล

31 มี.ค. 2566 - 07:49

  • เปิดประวัติความเป็นมาของกีฬาประจำชาติ ‘มวยไทย’

a-brief-history-of-mauy-thai-SPACEBAR-Hero
‘มวยไทย’ นับเป็น ‘ศิลปะการต่อสู้’ แขนงหนึ่งที่เปี่ยมไปด้วยมนต์เสน่ห์ และ่ไม่ว่าใครได้เห็นเป็นต้องสะดุดตา ด้วยลีลาอันตื่นเต้นเร้าใจ โดยเดิมทีมีต้นกำเนิดมาจากประเทศไทย เป็นศาสตร์สำหรับใช้ในการต่อสู้และป้องกันตัว ที่นอกจากจะเป็นจุดขายให้กับชาวต่างชาติได้หลั่งไหลมาเที่ยวในประเทศไทยแล้ว มวยไทยยังเป็นดั่งวัฒนธรรมของชาวไทยที่มีสืบต่อกันมาอย่างยาวนาน ส่วนเรื่องราวประวัติศาสตร์ของมวยไทยที่ก้าวไกลไปถึงสากลเริ่มต้นจากจุดไหน เราไปทำความรู้จักกันเลย! 

ประวัติมวยไทย 

มวยไทยได้รับการสืบทอดมาจากมวยโบราณ เป็นศาสตร์แห่งการโจมตีที่ใช้ทักษะทั้ั้ง 8 คือ สองมือ สองเท้า สองศอก และสองเข่า หรือเป็นที่รู้จักกันในชื่อ ‘นวอาวุธ’ ซึ่งบางตำราที่มีการใช้ศรีษะและบั้นท้ายประกอบการโจมตีไปด้วยจะเรียกว่า ‘ทศอาวุธ’ ซึ่งจะแบ่งออกเป็นแต่ละสายตามท้องถิ่น เช่น มวยท่าเสา (ภาคเหนือ), มวยโคราช (ภาคอีสาน), มวยไชยา (ภาคใต้), มวยลพบุรีและมวยพระนคร (ภาคกลาง), หลายท่านอาจจะเคยได้ยินคำที่ว่า “หมัดหนักโคราช ฉลาดลพบุรี ท่าดีไชยา ไวกว่าท่าเสา”  
 
ในอดีตมีตำนานพระมหากษัตรติย์หรือขุนนางที่ร่วมเข้าแข่งขันเพื่อทดสอบฝีมืออย่าง พระเจ้าเสือ (ขุนหลวงสรศักดิ์), พระเจ้าตากสินมหาราช, พระยาพิชัยดาบหัก, ครูดอก แขวงเมืองวิเศษไชยชาญ จนเมื่อไทยเสียกรุงแก่พม่า ก็ได้ปรากฏชื่อ ‘นายขนมต้ม’ ครูมวยของชาวอยุธยาขึ้นมา ในขณะที่เขาเป็นเชลยศึก และยังได้สร้างชื่อเสียงเรื่องความเก่งกาจเหี้ยมหาญของวิชามวยไทยไปทั่ว  
 
ในสมัยอยุธยาตอนปลาย ได้มีการจัดตั้งกรมทนายเลือกและกรมตำรวจหลวงขึ้นมา เพื่อมีหน้าที่ในการคุ้มครองกษัตริย์ราชวงศ์ โดยได้มีการฝึกหัดวิชาการต่อสู้ทั้งมวยไทยและมวยปล้ำตามแบบอย่างเปอร์เซีย (อิหร่าน) จึงมีครูไทยและนักมวยที่มีฝีมือเข้ามารับราชการจำนวนมาก ซึ่งในกองทัพกู้ชาติของพระเจ้าตากก็ล้วนประกอบไปด้วยนักมวยและครูมวยที่มีชื่อเสียงในยุคนั้น ถึงกับได้มีการจัดตั้งเป็นหน่วยรบพิเศษ 3 กอง คือ กองทนายเลือก, กองพระอาจารย์, กองแก้วจินดา ซึ่งได้ทำการรบกับพม่าที่บ้านนางแก้ว จังหวัดราชบุรี จนได้ชื่อว่า ‘มวยไทยกู้ชาติ’
https://images.ctfassets.net/i3o8p9lzd06f/5BpSXVNdiRzMbvZ4kkRPgg/3908710e94433e794a3a8781c7b4d6ee/a-brief-history-of-mauy-thai-SPACEBAR-Photo01

รัตนโกสินทร์ยุคเฟื่องฟูของมวยไทย  

กีฬามวยไทยได้รับความนิยมมากในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น และเฟื่องฟูที่สุดในสมัยรัชกาลที่่ 5 โดยได้มีการจัดงานประลองแข่งขันมวยไทยเพื่อพระราชทานยศถาบรรดาศักดิ์ ทั้งยังให้กรมศึกษาธิการบรรจุหลักสูตรการสอนมวยไทยไว้เป็นวิชาบังคับในโรงเรียนฝึกหัดครูพลศึกษา  
 
ได้มีการชกมวยถวายพระที่นั่งเป็นประจำไปจนถึงสมัยรัชกาลที่ 6 ณ วังสวนกุหลาย ทั้งการต่อสู้ประลองระหว่างนักมวยกับครูมวยชาวไทยด้วยกัน และการต่อสู้ระหว่างนักมวยกับครูมวยต่างชาติ หรือแม้กระทั่งระหว่างมวยเลี่ยะผะ (กังฟู) จากชาวจีนโพ้นทะเลนามว่า นายจี่ฉ่าง กับ นายยัง หาญทะเล ศิษย์เอกของ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ ที่มีท่าจรดมวยแบบมวยโคราช ซึ่งจะเน้นการยืดตัวตั้งตระหง่านพร้อมที่จะรุกและรับโดยเน้นการใช้เท้าและหมัดเหวี่ยง  
 
ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 7 เป็นยุคแรกของการแข่งขันมวยไทยโดยใช้การพันมือด้วยเชือก จนกระทั่งนายแพ เลี้ยงประเสริฐ นักมวยจากท่าเสา จังหวัดอุตรดิตถ์ ต่อยนายเจียร์ นักมวยจากเขมร จนถึงแก่ความตาย จึงได้มีการกำหนดกฎกติกาใหม่ในการชกโดยการใช้นวมสวมแทน และหลังจากนั้นก็ได้มีเวทีลวยพินีและเวทีมวยราชดำเนินกำเนิดขึ้นมาจนอยู่ถึงปัจจุบัน  

อาชีพของชาวไทย สิ่งบันเทิงใจของชาวต่างชาติ  

ในปี พ.ศ. 2552 ประเทศไทยมีนักมวยเยาวชนทีมีอายุต่ำกว่า 15 ปี เป็นจำนวนมากกว่า 20,000 คน ซึ่งส่วนมากจะเป็นเยาวชนที่ที่อยู่ในพื้นที่ชนบท แม้บางคนจะมีความรักและชื่นชอบมวยไทยอยู่บ้างแต่ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า ส่วนใหญ่มีความจำเป็นในการเรียนรู้่เรียนศิลปะแม้มวยไทยเพื่อความอยู่รอด หรือเพื่อใช้สร้างรายได้แบ่งเบาภาระแก่ครอบครัว และแม้มวยไทยจะมีผลดีแต่ก็ยังมีผลเสียทั้งทางตรงและทางอ้อมได้ด้วยเช่นกัน อาทิ ผลกระทบทางสมองของเด็ก 
https://images.ctfassets.net/i3o8p9lzd06f/7gy3TqJCS1cWI1RuZSebum/1834f60c4b1cabbca3986c964d189095/a-brief-history-of-mauy-thai-SPACEBAR-Photo02
มวยไทยเริ่มมีชื่อเสียงในช่วงปลายคริสต์ศตวรรษที่ 20 และมีชื่อเสียงอย่างมากในต่างประเทศตอนต้นของคริสต์ศตวรรษที่ 21 ผ่านการถ่ายทอดของสื่อต่างๆ ทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศ อันช่วยส่งเสริมมวยไทยในวัฒนธรรมสมัยนิยม เช่น ภาพยนตร์ และวิดีโอเกมเป็นต้น กลายเป็นกีฬาบันเทิงใจที่ต่างชาติต้องหลั่งใหลเข้ามาชมสักครั้งในชีวิต ที่นอกจากจะได้ชมศิลปะแม่ไม้มวยไทยการต่อสู้แบบหมัดต่อหมัด แข้งต่อแข้งแล้ว ยังมีศิลปะการร่ายรำไหว้ครูมวยไทยให้ได้รับชมอีกด้วย

ความนิยมของมวยไทยในหมู่ชาวต่างขาตินั้นสูงขึ้นกว่าในอดีต วัดได้จากการเก็บสถิติของการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยในปี พ.ศ. 2559 โดยผลสำรวจพบว่ามีชาวต่างชาติที่เดินทางเข้ามาในประเทศไทยเพื่อเรียนมวยไทยจำนวนมากกว่า 50,000 คน ซึ่งประกอบไปด้วย สหราชอาณาจักร, ออสเตรเลีย, ฝรั่งเศษ, เยอรมัน, สวีเดน, รัสเซีย, เดนมาร์ก, ญี่ปุ่น, นิวซีแลนด์, และ สเปน ซึ่งความนิยมดังกล่าวส่งผลดีต่อเศรษฐกิจไทยเป็นอย่างมาก โดยในปี พ.ศ. 2561 มวยไทยได้สร้างรายได้เข้าประเทศกว่าหนึ่งแสนล้านบาท โดยมีค่ายมวยในประเทศไทยเป็นจำนวนถึง 5,100 แห่ง และยังส่งต่อค่ายมวยยังประเทศอื่นๆ อีกมากมาย จนปัจจุบัน ‘มวยไทย’ ได้เป็น ‘กีฬาสากล’ ที่มีการจัดการแข่งขันขึ้นทั่วโลก
https://images.ctfassets.net/i3o8p9lzd06f/18vbWe8UaFzOqynD8NL7Ee/bd3c01216764cef0ee111a084076e008/a-brief-history-of-mauy-thai-SPACEBAR-Photo03

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์