เมอร์เซเดส: ก่อนน้องกระทิงจะยิ่งใหญ่ พี่ก็เคยมาก่อนนะ

11 ธันวาคม 2566 - 09:39

Mercedes-AMG-F1-team-story-SPACEBAR-Hero.jpg
  • สัญลักษณ์ดาวสามแฉกของค่ายรถยนต์ เชื่อว่าใครก็น่าจะรู้กันดีว่านี่คือแบรนด์ ‘เมอร์เซเดส เบนซ์’

  • ซึ่งอีกหนึ่งพาร์ทสำคัญของพวกเขานอกจากการผลิตรถยนต์ก็คือทีมรถแข่งฟอร์มูล่าวันกับทีม ‘เมอร์เซเดส-เอเอ็มจี เปโตรนาส เอฟวัน’

สัญลักษณ์ตราดาวสามแฉกของค่ายรถยนต์ เชื่อว่าใครก็น่าจะรู้กันดีว่านี่คือแบรนด์ดังจากเมืองเบียร์ ประเทศเยอรมนี อย่าง ‘เมอร์เซเดส เบนซ์’ หนึ่งในค่ายยอดฮิตของคนไทยที่เราเห็นบนถนนบ้านเราค่อนข้างเยอะพอสมควร ซึ่งอีกหนึ่งพาร์ทสำคัญของพวกเขานอกจากการผลิตรถยนต์ก็คือทีมรถแข่งฟอร์มูล่าวันกับทีม ‘เมอร์เซเดส-เอเอ็มจี เปโตรนาส เอฟวัน’ แล้วก่อนที่ทีมอย่าง ‘น้องกระทิง’ เรดบูลล์ เรซซิ่ง จะยิ่งใหญ่แบบทุกวันนี้ได้ เมอร์เซเดส ก็เคยผ่านช่วงเวลานั้นมาก่อนแล้ว 

และในวันนี้เราจะพาทุกคนย้อนไปดูจุดเริ่มต้นของทีม เมอร์เซเดส เอฟวัน ตั้งแต่วันแรกของทีม จนถึงช่วงที่ประสบความสำเร็จแบบสุดๆ กับนักขับอย่าง ‘เซอร์ลูอิส’ ลูอิส แฮมิลตัน มาจนถึงตอนนี้ที่ตกเป็นลูกไล่ของ เรดบูลล์ เรซซิ่ง ตลอดช่วง 2-3 ปีหลัง ถ้าพร้อมแล้ว ติดตามไปกับ Spacebar VIBE ได้เลยครับ 

จุดเริ่มต้นในชื่อลูกศรสีเงิน

Mercedes-AMG-F1-team-story-SPACEBAR-Photo01.jpg

จุดเริ่มต้นของทีม ‘เมอร์เซเดส เอฟวัน’ เกิดขึ้นตั้งแต่ปี 1930 ที่ทาง Daimler-Benz และ Mercedes-Benz Silver Arrows ครองการแข่งขันกรังด์ปรีซ์หลายรายการในยุโรป ที่มีผู้จัดการทีมระดับตำนานอย่าง อัลเฟรด นอยเบาเออร์ พาทีมคว้าแชมป์ ยูโรเปี้ยน กรังด์ปรีซ์ แชมเปียนชิพ ทุกรายการตั้งแต่ปี 1934 ไปจนถึงตอนที่พวกเขาถอนตัวจากการแข่งในปี 1939 ช่วงก่อนเริ่มสงครามโลกครั้งที่สอง ซึ่งจากการแข่งขันที่เกิดขึ้นทำให้ เมอร์เซเดส เบนซ์ ได้สร้างรถยนต์ระดับตำนานขึ้นมาหลายคันทั้ง W25 (1934-36), W125 (1937), W154 (1938-39) และ W165 (1939) 

แล้วความแปลกอีกอย่างคือที่มาของฉายา ‘ลูกศรสีเงิน’ ที่ทางเมอร์เซเดสได้มาเป็นเพราะว่า เมื่อก่อนวงการมอเตอร์สปอร์ตรถแข่งแต่ละประเทศจะต้องมีเอกลักษณ์ที่ชัดเจน และต้องจำได้ในทันที เช่น รถจากอิตาลีจะใช้สีแดง, รถจากอังกฤษจะใช้สีเขียวเข้ม, รถจากฝรั่งเศสจะใช้สีน้ำเงิน และรถจากเยอรมันจะใช้สีขาวสลับกับสีเงิน ซึ่งทางเมอร์เซเดสเองก็ใช้สีเงินแบบไม่ได้ตั้งใจ เพราะในการแข่งขันที่ Nürburgring เมื่อปี 1934 รถพวกเขาทาสีขาวอยู่ แต่น้ำหนักตัวรถเกินเกณฑ์ที่กำหนดไปประมาณ 1 กิโลกรัม ทำให้ อัลเฟรด นอยเบาเออร์ ผู้จัดการทีมตัดสินใจให้ทีมขูดสีออกจนเห็นพื้นผิวอะลูมิเนียมสีเงิน จนน้ำหนักเป็นไปตามกฎ และสามารถชนะการแข่งขันครั้งนั้นได้ด้วย เลยทำให้พวกเขาได้ชื่อเล่นว่า Silver Arrows หรือ ลูกศรสีเงิน 

ตัดกลับมาที่การแข่งรถ หลังจากสงครามโลกครั้งที่ 2 ยุติลง เมอร์เซเดส-เบนซ์ ก็หวนคืนสู่การแข่งขันมอเตอร์สปอร์ตอีกครั้งกับการแข่งขันฟอร์มูล่าวัน ปี 1954 ภายใต้ผู้นำทีมคนเดิมก็คือ อัลเฟรด นอยเบาเออร์ โดยใช้รถเมอร์เซเดส-เบนซ์ W196 ที่มีเทคโนโลยีล้ำสมัย แถมพวกเขายังได้ ฮวน มานูเอล ฟานจิโอ แชมป์โลกปี 1951 ที่ย้ายทีมกลางฤดูกาลมาจาก มาเซราติ และมาลงแข่งกับทีมครั้งแรกที่ เฟรนช์ กรังด์ปรีซ์ และชนะสนามนั้นได้ทันที และคว้าชัยได้อีก 3 สนามในปีนั้น จนสามารถจบฤดูกาลได้ด้วยการเป็นแชมป์โลกนักขับ แล้วพวกเขาก็ยังประสบความสำเร็จต่อเนื่องในปีถัดมา คว้าแชมป์โลกได้อีกปี แต่จากอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นในการแข่งขัน 24 Hours of Le Mans ที่ทาง Pierre Levegh นักแข่งของเมอร์เซเดสขับรถชนกลุ่มผู้ชม ทำให้มีผู้เสียชีวิตกว่า 80 คน ก็ทำให้ทางเมอร์เซเดสตัดสินใจถอนทีมออกจากการแข่งขันมอเตอร์สปอร์ตทั้งหมด รวมไปถึงฟอร์มูล่าวันด้วย ปิดฉากช่วงเวลาแรกของทีมไปโดยปริยาย 

การรีเทิร์นกลับมาพร้อมกับความยิ่งใหญ่ในยุคของชายที่ชื่อ ลูอิส แฮมิลตัน

Mercedes-AMG-F1-team-story-SPACEBAR-Photo02.jpg

หลังจากที่ถอนตัวออกไปจากวงการกีฬามอเตอร์สปอร์ต เมอร์เซเดส ก็ไม่ได้มีส่วนร่วมใดๆ อีกเลยจนกระทั่งปี 1993 ที่พวกเขาหวนคืนสู่วงการเอฟวันอีกครั้งในฐานะซัพพลายเออร์เครื่องยนต์ให้กับทีมเซาเบอร์ ก่อนที่จะเปลี่ยนมาอยู่กับทีมแมคลาเรน และสามารถคว้าแชมป์โลกร่วมกันได้ในปี 1998, 1999 และ 2008 จากนั้นพวกเขาก็กลับมาเข้าร่วมการแข่งขันฟอร์มูล่าวันแบบเต็มตัวอีกครั้งในฐานะผู้ผลิตในปี 2010 จากการเข้ามาซื้อทีม Brawn GP ซึ่งก็เป็นทีมที่เมอร์เซเดสผลิตเครื่องยนต์ให้ในปี 2009 โดยในปีแรกทีมได้ดึง มิคาเอล ชูมัคเกอร์ ที่รีไทร์ไปแล้วให้กลับมาแข่งกับทีมเป็นเวลา 3 ฤดูกาล แต่ก็ไม่ได้ประสบความสำเร็จมากนัก 

จนกระทั่งในปี 2013 เมอร์เซเดสได้ดึง ลูอิส แฮมิลตัน นักขับดาวรุ่งพุ่งแรงชาวอังกฤษในเวลานั้น ที่เคยได้แชมป์โลกกับแมคลาเรนมาแล้วเมื่อปี 2008 ให้มาขับกับทีม โดยในปีแรกแม้ว่าจะเป็นเหมือนช่วงเวลาปรับตัวของแฮมิลตัน แต่เขาก็โชว์ฟอร์มได้ไม่ขี้เหร่เลย เมื่อสามารถจบอันดับที่ 4 บนตารางคะแนนนักขับปีนั้นได้ ด้วยการคว้าชัยชนะได้ที่ ฮังกาเรียน กรังด์ปรีซ์ และยืนบนโพเดียมได้ถึง 5 สนาม ในขณะที่เพื่อนร่วมทีมอย่าง นิโค รอสเบิร์ก ก็ทำผลงานได้ดีใช้ได้ จบอันดับที่ 6 ส่งผลให้เมอร์เซเดสจบอันดับที่ 2 บนตารางคะแนนทีมผู้ผลิตได้เป็นครั้งแรกนับตั้งแต่กลับมาสู่ฟอร์มูล่าวัน 

และลูอิส แฮมิลตัน ก็ไม่ได้ทำให้ยอดทีมจากเยอรมันต้องรอคอยความสำเร็จนาน เพราะเขาใช้เวลาปรับตัวแค่ปีเดียวก็พาเมอร์เซเดสบินสูงได้ทันที โดยในฤดูกาล 2014 เขาโชว์ฟอร์มสุดโหดด้วยการคว้าแชมป์ไปทั้งหมด 11 สนาม ส่วนเรซที่ไม่ได้แชมป์เขาก็ยืนบนโพเดียมไปทั้งหมด 5 สนาม และรีไทร์ไป 3 สนาม บวกกับ นิโค รอสเบิร์ก ที่ก็จบอันดับ 2 บนตารางคะแนนนักขับได้ ทำให้เมอร์เซเดสได้ตำแหน่งแชมป์โลกทีมผู้ผลิตไปแบบชนิดที่ทิ้งห่าง เรดบูลล์ เรซซิ่ง ทีมอันดับ 2 ไปแบบไม่เห็นฝุ่น แล้วก็ครองความสำเร็จในฐานะแชมป์โลกทีมผู้ผลิตรวดเดียวยาวๆ ถึง 8 ปีเต็ม ตั้งแต่ปี 2014 – 2021 

กฎที่เปลี่ยนแปลงไปกับความยากลำบากของเมอร์เซเดส

Mercedes-AMG-F1-team-story-SPACEBAR-Photo03.jpg

หลังจากครองบัลลังก์ความยิ่งใหญ่มายาวนานทั้งในส่วนของนักขับที่คว้าแชมป์โลกรวดเดียวมา 7 ปี รวมไปถึงการคว้าแชมป์โลกประเภทผู้ผลิต 8 ปีติดต่อกัน พอมาถึงปี 2022 ก็เป็นฤดูกาลที่ทางเมอร์เซเดสต้องพบกับความยากลำบากเป็นครั้งแรกในรอบเกือบ 10 ปี เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงกฎที่เพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะในส่วนของปีหน้า และ Ground Effect หรือส่วนของพื้นรถ ที่ทำให้ทีมดังจากเยอรมันต้องประสบกับปัญหาเข้าไปแบบเต็มๆ 

การเปลี่ยนแปลงที่ว่านี้คือการปรับ ‘ขนาด’ ของพื้นรถ จากเดิมที่ใช้พื้นรถแบบเต็มๆ ก็ได้เปลี่ยนดีไซน์ให้มีขนาดที่เล็กลงกว่าเดิม ซึ่งทั้งสองส่วนนั้นจะช่วยในเรื่องของการเพิ่มแรงกด Downforce ที่จะทำให้ลดผลกระทบในเรื่องของลมใต้ท้องรถเวลาขับตามคันหน้า และมีผลต่อรถคันหลังน้อยลง ทำให้การแข่งขันสูสีมากขึ้น และเมอร์เซเดสเจอปัญหาเรื่องนี้เต็มๆ ทำให้พวกเขามีปัญหาเรื่องระบบ Aerodynamic ตลอดทั้งซีซัน

Mercedes-AMG-F1-team-story-SPACEBAR-Photo04.jpg

มันส่งผลชัดเจนขนาดที่ว่าในซีซัน 2022 ทีมสามารถคว้าชัยชนะได้แค่หนเดียวเท่านั้นในการแข่งขันที่เซา เปาโล ประเทศบราซิล และคนที่ทำได้ก็คือ จอร์จ รัสเซล นักขับรุ่นน้องที่เพิ่งเข้ามาใหม่ และก็ทำให้ ลูอิส แฮมิลตัน ไม่สามารถคว้าชัยชนะในสนามใดๆ ได้เลยเป็นครั้งแรกในอาชีพนักขับฟอร์มูล่าวันของเขา และยาวนานต่อเนื่องมาจนถึงฤดูกาลปัจจุบันที่เพิ่งจบลงไป ส่งให้ทีมกระทิง เรดบูลล์ เรซซิ่ง กุมความยิ่งใหญ่ตลอด 2 ปีที่ผ่านมา แต่ในปีนี้พวกเขาก็พยายามพัฒนารถอย่างต่อเนื่องมาตลอด แก้ไขปัญหาที่เจอได้เรื่อยๆ ไปทีละนิดละหน่อย จนสุดท้ายก็ทำให้ทีมมีผลงานดีขึ้น สามารถกลับมาปาดหน้าคว้าอันดับที่ 2 ของทีมผู้ผลิตได้ในสนามสุดท้าย ซึ่งต้องบอกว่าตอนนี้เริ่มจะสูสีขึ้นมาบ้างแล้ว คงต้องมารอดูกันว่าในฤดูกาลหน้าทีม ‘ลูกศรสีเงิน’ จะต่อกรทีมอื่นได้มากขนาดไหน โดยเฉพาะเรดบูลล์ที่มาแย่งความยิ่งใหญ่ของพวกเขาไป และเฟอร์รารี่ที่เป็นคู่ปรับสำคัญมาตลอดในช่วงสองปีนี้  

เวลาเกือบๆ 2 เดือนในการพัฒนารถก่อนเริ่มซีซันใหม่เท่านั้นที่จะตอบได้

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์