เทควันโดเคยเป็นกีฬาต่อสู้ที่รุนแรงกว่าที่เห็นในการแข่งขันทุกวันนี้

4 กันยายน 2566 - 03:44

real-taekwondo-is-more-beautiful-than-you-think-SPACEBAR-Thumbnail
  • รู้จักกับ Old School Taekwondo เทคนิคการต่อสู้ของเทควันโดก่อนปี 2012 ที่มีความหลากหลายในท่วงท่า ปัจจุบันกลับเปลี่ยนไปเพราะกติกาการนับคะแนน

เทควันโด ศิลปะการต่อสู้จากเกาหลีถูกบรรจุเป็นกีฬาโอลิมปิกอย่างเป็นทางการเมื่อปี 2000 และจัดการแข่งขันการต่อสู้ในโอลิมปิกปีนั้นไปเลยที่ประเทศออสเตรเลีย ด้วยท่วงท่าการวาดขาที่แข็งแรงและความคล่องแคล่วของร่างกาย เทควันโดได้กลายเป็นกีฬาและศิลปะการต่อสู้ที่เป็นที่สนใจของคนทั่วโลก จนถึงในปัจจุบันเทควันโดก็ยังได้รับความสนใจอย่างไม่ขาดสาย 

กีฬาเทควันโดในสายคนชมทั่วไปอาจนึกถึงแค่การใช้ลูกเตะมากกว่าการต่อย ซึ่งถ้าว่ากันตามจริงนั้นเทควันโดมีการฝึกฝนทั้งการเตะและต่อยไม่ต่างจากคาราเต้ ความแตกต่างคือเทควันโดมีการสืบสายวิถีการเตะที่จริงจังกว่าจากศิลปะการต่อสู้ที่เรียกว่า ‘แท็กคยอน’ (Taekkyon) ซึ่งเป็นการต่อสู้ที่มีอายุยาวนานสืบย้อนไปตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ 14-17 ในเกาหลี และด้วยการฝึกวิถีแห่งแท็กคยอนทำให้เทควันโดขึ้นชื่อว่าเป็นการจต่อสู้เน้นท่อนขามากกว่าลำแขน
https://images.ctfassets.net/i3o8p9lzd06f/6AJix1PuvN06ab63D1o8do/8e51446d3157e7434b18e84b5cad2b12/ezgif.com-webp-to-jpg__9___1_
Photo: Olympics
แต่ถ้าจะให้สังเกตบนเวทีการแข่งขันเทควันโดในปัจจุบัน คนดูจะพบความแตกต่างอย่างเห็นได้ชัด และอาจเกิดเป็นคำถามว่า ทำไมกีฬาการต่อสู้ที่มีการฝึกอย่างเข้มแข็ง และฝึกกระบวนท่าเตะมากมาย ทำไมกลับดู ‘ไม่ค่อยมีอะไร’ บนเวทีแข่งขันจริง การเตะบนเวทีแข่งขันเทควันโดนั้นกลับเป็นเพียงการเตะเพื่อแตะ และเหมือนไม่ค่อยมีแรงเลยสักนิด เรื่องนี้เป็นผลพวงจากกฎกติกาย้อนกลับไปเมื่อ 10 ปีที่แล้ว 

เดิมทีกีฬาเทควันโดมีความแข็งแกร่งอย่างมาก เกือบเรียกได้ว่าโหดเฉียดๆ กับมวยไทยเลยก็ว่าได้ ทุกวันนี้เราสามารถหาวิดีโอการแข่งขันด้วยลูกเตะเทควันโดจริงๆ ด้วยคำว่า ‘Old school Taekwondo’ (เทควันโดแบบดั้งเดิม) ในคลิปการแข่งขันนี้จะพบว่าผู้เข้าแข่งขันจะวิ่งเข้าใส่คู่ต่อสู้ด้วยความก้าวร้าว รวมถึงลูกเตะที่รุนแรงจนตัวแทบปลิว แถมยังมีการกระโดดเตะลอยอากาศอีกด้วย เรียกได้ว่าเรียนท่าเตะมามากแค่ไหน ก็ใช้ออกมาแทบหมด การแข่งทำนองนี้ยังปรากฎให้เห็นในกีฬาโอลิมปิกปี 2000, 2004, 2008 และสิ้นสุดในปี 2012 หลังมีการเปลี่ยนวิธีการนับคะแนน และกติกา

Old school vs Modern TKD (1999 vs 2021)



เดิมทีการนับคะแนนเทควันโดใช้วิธีแบบอนาล็อกอิเล็กทรอนิกส์ที่เรียกว่า Protector and Scoring System (PSS) ใช้เซ็นเซอร์ติดตามจุดๆ ต่าง เช่น เท้า ลำตัว และศีรษะ ตัวเซนเซอร์จะวัดจากแรงที่กระทบเข้ามา และจะส่งข้อมูลขึ้นเป็นคะแนนบนบอร์ดไฟ เพราะฉะนั้นถ้าผู้แข่งขันใช้แรงมากเท่าไร คะแนนยิ่งเพิ่มมากขึ้นตามกำลัง ซึ่งทำให้เกิดปัญหาตามมาด้วย อย่างแรกคือผู้แข่งขันเริ่มมีความมุ่งมั่นจะใช้กำลังกับคู่ต่อสู้เพื่อที่ตนจะได้คะแนนสูงๆ อย่างรวดเร็ว บางคนพยายามไม่ปะทะเกี่ยวกับคู่ต่อสู้มากาก และคอยหาจังหวะโจมตีด้วยกำลังแบบทีเดียว ซึ่งทั้งหมดก่อให้เกิดปัญหาทางร่างกายด้วย กรณีนี้ยกตัวอย่างการแข่งขันระหว่าง แอนเจล มาทอส (Angel Matos) จากคิวบา และอาร์มัน ชิลมานอฟ (Arman Chilmanov) จากคาซัคสถาน มาทอสบาดเจ็บที่ขา (จากคำสัมภาษณ์เหมือนนิ้วเท้าข้างซ้ายหัก) จนต้องนั่งพักเป็นเวลานาน จนกรรมการเริ่มตักเตือน มาทอสเกิดอาการโมโหจึงเดินเข้าเตะเข้าไปศีรษะกรรมการ มาทอสและโค้ชถูกแบนออกจากโอลิมปิกทันที รวมถึงจาก WTF หรือ World Taekwondo ด้วย นี่เป็นเหตุการณ์หลักที่ทำให้กีฬาเทควันโดเป็นที่จับตามองของคณะกรรมการโอลิมปิก
https://images.ctfassets.net/i3o8p9lzd06f/4xco4msomwqsovRo1DAjQS/f1b4411e43b772ad4c16ad9d3fc5b1a8/real-taekwondo-is-more-beautiful-than-you-think-SPACEBAR-Photo01
Photo: AFP
หลังจากปี 2012 โอลิมปิกร่วมมือกับ WTF ในการหาวิธีนับคะแนนใหม่ นั่นก็คือ ‘เข้าที่ไหนก็ได้คะแนน’ พร้อมกับอาศัยวิดีโอย้อนหลังในการยืนยันอีกรอบ โดยมีเกณฑ์คือ 1 คะแนนสำหรับการต่อยไปที่ลำตัว, 2 คะแนนสำหรับเตะไปที่ลำตัว, 4 คะแนนสำหรับเตะแบบ Turning Kick ไปที่ลำตัว, 3 คะแนนสำหรับเตะไปที่ศีรษะ, 5 คะแนนสำหรับเตะแบบ Turning Kick ไปที่ศีรษะ การนับคะแนนด้วยวิธีนี้ทำให้ผู้แข่งขันพยายามหลีกเลี่ยงไม่ให้คู่ต่อสู้เข้าใกล้ระยะที่เสี่ยงต่อจุดทำคะแนน และหากจะกลับไปใช้วิธีแบบ Old School ก็นับว่ามีช่องโหว่เกินไปสำหรับการนับคะแนนการแข่งขันในปัจจุบัน เราจึงเห็นการแข่งขันเทควันโดที่ดูไม่ค่อยน่าตื่นเต้นเหมือนแต่ก่อน เพราะวิธีการเปลี่ยนไปตามกติกานั่นเอง 

ทุกวันนี้ยังคงมีบางสำนักที่กำลังสอนเทควันโดแบบดั้งเดิมในฐานะศิลปะป้องกันตัวที่ใช้ได้จริง บางสำนักรู้สึกเสียดายที่เทควันโดถูกลดทอนจากศิลปะป้องกันตัวเป็นเพียงกีฬาที่ไม่ได้แสดงถึงความแข็งแกร่งตามที่ควรจะเป็น แต่ไม่ว่าเทควันโดจะมีคุณค่าอย่างไรก็คงต้องขึ้นอยู่สายตาและมุมมองของแต่ละคน บางทีเราอาจต้องมองแยกระหว่างเทควันโดที่เป็นศิลปะป้องกันตัว และเทควันโดที่เป็นกีฬาแข่งขันไปเลย

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์